ซีลีเนียม ดีอย่างไรกับคนท้อง ร่างกายขาดอาจเป็นอันตรายจริงหรือ ?

หลาย ๆ คนมักมองข้ามแร่ธาตุที่ชื่อว่า ซีลีเนียม เพราะร่างกายไม่ได้ต้องการเยอะเท่ากับสารอาหารชนิดอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม หากร่างกายขาดซีลีเนียม  

 1498 views

หลาย ๆ คนมักมองข้ามแร่ธาตุที่ชื่อว่า ซีลีเนียม เพราะร่างกายไม่ได้ต้องการเยอะเท่ากับสารอาหารชนิดอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม หากร่างกายขาดซีลีเนียม อาจทำให้ป่วยง่าย มีลูกได้ยาก หรือร่างกายทำงานบกพร่อง ซีลีเนียม ถือเป็นสารอาหารชนิดหนึ่ง ที่จำเป็นกับคนท้องและเด็กในครรภ์ คุณแม่ควรรับประทานให้เพียงพอในแต่ละวัน อาหารประเภทไหน ที่มีซีลีเนียมบ้าง ซีลีเนียมให้ประโยชน์อะไรแก่คนท้อง วันนี้ Mama Story หาคำตอบมาให้แล้ว ติดตามอ่านได้จากบทความนี้

ซีลีเนียม คืออะไร ?

ซีลีเนียมเป็นแร่ธาตุที่มีความจำเป็นต่อคนเรา เพราะช่วยในการสืบพันธุ์ ช่วยสังเคราะห์ดีเอ็นเอ ช่วยป้องกันร่างกายจากการติดเชื้อ และช่วยไม่ให้ร่างกายเกิดความเสียหายได้ง่าย แต่หลาย ๆ คนก็มักจะมองข้าม เพราะซีลีเนียมเป็นแร่ธาตุที่ร่างกายไม่ได้ต้องการมากเท่าสารอาหารอื่น อย่างไรก็ตาม เราไม่ควรปล่อยให้ร่างกายขาดซีลีเนียม เพราะอาจทำให้เกิดความผิดปกติขึ้นกับร่างกาย หรือเจ็บป่วยได้ง่าย

ซีลีเนียม



ทำไมคนท้องต้องกินซีลีเนียม ?

ซีลีเนียม เปรียบเสมือนเกราะป้องกันโรคภายในร่างกาย มีประโยชน์ไม่แพ้วิตามินหรือแร่ธาตุอื่น แถมยังช่วยป้องกันโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก โรคมะเร็งปอด และโรคมะเร็งลำไส้ได้อีกด้วย รวมทั้งยังช่วยบรรเทาอาการที่เกิดกับวัยทอง ขจัดรังแคบนหนังศีรษะ ลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของเนื้อเยื่อในร่างกาย และช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายเรา

บทความที่เกี่ยวข้อง : แคลเซียม สำหรับเด็ก สำคัญอย่างไร กินปริมาณเท่าไหร่ถึงจะดี ?

ในช่วงที่ตั้งครรภ์ คุณแม่จะมีภูมิคุ้มกันร่างกายที่ต่ำลงจึงอาจเจ็บป่วยได้ง่าย แต่การทานซีลีเนียม จะช่วยคุณแม่ป้องกันโรค ช่วยไม่ให้เจ็บป่วยได้ง่าย และช่วยให้ต่อมไทรอยด์ทำงานได้เป็นปกติ ซึ่งปริมาณซีลีเนียมที่คนท้องควรทานต่อวันนั้น จะอยู่ที่ 0.06 มิลลิกรัมต่อวัน และหากให้นมลูกอยู่ ก็ควรทาน 0.07 มิลลิกรัมต่อวัน

หากขาดอาจก่อให้เกิดโรคคีชาน (Keshan disease) ที่มีอาการอ่อนเพลีย ไม่แข็งแรง และการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจที่ผิดปกติ และโรคคาชีน-เบค (Kashin-Beck disease) ที่ทำให้เกิดความผิดปกติของกระดูกและข้อ โดยมีอาการปวดข้อเรื้อรัง ข้อแข็ง งอลำบาก นอกจากนี้ยังมีส่วนร่วมในการทำงานของต่อมไทรอยด์ ดังนั้น หากมารดามีประวัติที่อยู่ในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการขาดสารไอโอดีน ควรมีการตรวจการขาดซีลีเนียมด้วย หรืออาจจะเลือกที่จะเสริมไอโอดีนไปพร้อมกับซีลีเนียมเลยก็ได้

ซีลีเนียม



ซีลีเนียม อาหารชนิดไหนมีซีลีเนียมบ้าง

ซีลีเนียมหาได้จากน้ำและอาหารที่ได้จากพืช แม้ว่าร่างกายคนท้อง จะไม่ได้ต้องการซีลีเนียมเยอะเท่ากับแร่ธาตุอื่น ๆ อย่างแคลเซียม หรือ สังกะสี แต่ก็ยังต้องรับประทานเพื่อให้ร่างกายสามารถทำงานได้ตามปกติอยู่

สำหรับคนท้องนั้น ควรจะรับประทานอาหารที่ให้ซีลีเนียมอย่างถั่วบราซิล ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลเกรน อัลมอนด์ ซีเรียลอาหารเช้า ธัญพืช แตงกวา กระเทียม บร็อกโคลี่ หัวหอม มะเขือเทศ ไข่ หอย เครื่องในสัตว์ เนื้อวัวและเนื้อแกะที่เลี้ยงด้วยหญ้า ไก่ หรือไก่งวง

หากร่างกายขาดซีลีเนียม จะเกิดอะไรขึ้น

หากปล่อยให้ร่างกายขาดซีลีเนียมเป็นเวลานาน อาจทำให้เด็กในท้องขาดออกซิเจน ระบบประสาทและภูมิคุ้มกันเสียหาย เกิดมามีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์ หรือปัญญาอ่อนได้ ส่วนคุณแม่เองก็อาจแท้งบุตรได้ง่าย เม็ดเลือดแดงแตกง่าย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มองเห็นไม่ค่อยชัด แก่ก่อนวัยอันควร หากคนทั่วไปขาดซีลีเนียม อาจมีระบบสืบพันธุ์ที่ไม่มีประสิทธิภาพ มีลูกได้ยาก หรือมีน้ำอสุจิเสื่อมคุณภาพและไม่แข็งแรง

บทความที่เกี่ยวข้อง : วิตามินบี 3 สำคัญอย่างไร ช่วยป้องกันการแท้งจริงมั้ย แม่ท้องต้องอ่าน!

ซีลีเนียมให้โทษต่อคนท้องหรือไม่ ?

หากทานซีลีเนียมมากเกินกว่าปริมาณที่แนะนำต่อวัน อาจทำให้ร่างกายมีซีลีเนียมสะสมเยอะเกินไป เนื่องจากว่าซีลีเนียมจะละลายได้เฉพาะในไขมัน ซึ่งก็แปลว่าซีลีเนียมจะถูกเก็บไว้ในตับ และเนื้อเยื่อไขมันมากเป็นพิเศษ จะยังไม่ผ่านเข้าสู่ร่างกายทันที เหมือนกับสารอาหารอื่น ๆ ที่ละลายได้ในน้ำ

ซีลีเนียม



ซึ่งการที่ร่างกายมีซีลีเนียมสะสมเยอะ ก็จะทำให้ร่างกายทำงานผิดปกติ จนอาจเป็นอันตรายต่อคุณแม่และเด็กในครรภ์ได้ นอกจากนี้ หากรับประทานซีลีเนียมในปริมาณสูงมาก ๆ ก็อาจทำให้มีลมหายใจเหม็น เล็บหักง่าย มีรสขมในปาก ผิวเหลือง และมีระบบทางเดินอาหารที่ไม่ปกติได้ ซึ่งอาหารที่มีซีลีเนียมอยู่สูง ได้แก่อาหารแปรรูปนั่นเอง

อีกทั้งปริมาณซีลีเนียมในน้ำนม มีความสัมพันธ์กับปริมาณซีลีเนียมในอาหารที่มารดาได้รับ การใส่ใจในการรับประทานอาหาร ที่มีซีลีเนียมให้เพียงพอต่อร่างกาย ในช่วงระหว่างที่ให้นมบุตรจึงเป็นเรื่องสำคัญ

ภาวะขาดซีลีเนียม

ภาวะผิดปกติที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายได้รับเกลือแร่หรือธาตุอาหารซีลีเนียม (Selenium) ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ซึ่งซีลีเนียมเป็นเกลือแร่ที่มีอยู่ในดินและหิน ดังนั้นแหล่งอาหารซีลีเนียมสำหรับคน คือ พืช และเนื้อสัตว์ที่กินพืชนั้น ๆ ดังนั้น ในประเทศที่ดินมีปริมาณซีลีเนียมต่ำ ประชาชนโดยเฉพาะเด็ก ๆ มักจะมีภาวะขาดซีลีเนียม

ภาวะขาดซีลีเนียม พบได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ โอกาสเกิดในทั้งสองเพศใกล้เคียงกัน ประเทศที่มีซีลีเนียมในดินต่ำ และไม่มีการเสริมซีลีเนียมในอาหาร ประชาชนโดยเฉพาะในเด็กจึงอาจมีภาวะขาดซีลีเนียม เช่น ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน เป็นต้น

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง ภาวะขาดซีลีเนียม

ซีลีเนียมเป็นธาตุอาหารสำคัญ แต่ร่างกายต้องการเพียงในปริมาณเล็กน้อยเป็นไมโครกรัมต่อวัน ดังนั้นโดยทั่วไปจึงไม่พบภาวะขาดซีลีเนียม

1. การขาดซีลีเนียมในอาหาร

แหล่งสำคัญของซีลีเนียม คือ ดิน ซึ่งจะมีซีลีเนียมแตกต่างกันในแต่ละภูมิประเทศ ซึ่งส่งผลให้ พืช และเนื้อสัตว์จากถิ่นนั้น ๆ มีปริมาณซีลีเนียมต่ำ เช่น ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศจีน เป็นต้น นอกจากนี้ยังอาจพบได้ในผู้ป่วย ที่ไม่สามารถกินอาหารได้ ต้องได้อาหารทางหลอดเลือดดำ ซึ่งมักขาดซีลีเนียมถ้าไม่ได้รับการเสริมอาหารด้วยซีลีเนียม

2. ลำไส้ดูดซึมซีลีเนียมได้ลดลง

ซึ่งมักเกิดร่วมกับการขาดวิตามิน เกลือแร่อื่น ๆ จากโรคเรื้อรังของลำไส้เล็ก เช่น ท้องเสียเรื้อรัง หรือลำไส้เล็กอักเสบเรื้อรัง หรือในผู้ป่วยที่ผ่าตัดกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก

บทความที่เกี่ยวข้อง : สังกะสี ดีต่อแม่ท้องอย่างไร กินปริมาณเท่าไหร่ถึงจะปลอดภัย ?

ภาวะขาดซีลีเนียมมีอาการอย่างไร?

  • ปวดกล้ามเนื้อ และกล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • อาการทางหัวใจจากกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ และภาวะหัวใจวาย
  • กระดูกและข้ออักเสบ ที่พบได้ตั้งแต่เป็นเด็ก
  • ติดเชื้อต่าง ๆ ได้ง่าย และอาการมักรุนแรงเมื่อติดเชื้อไวรัส
  • ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน ซึ่งถ้าเกิดกับทารกในครรภ์จะเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนแต่กำเนิด




ซีลีเนียม

ป้องกันภาวะขาดซีลีเนียมอย่างไร?

  • กินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบถ้วนในทุก ๆ วัน
  • ป้องกัน รักษา ควบคุม โรคที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง
  • เมื่อรู้ว่าต้องไปอยู่ในถิ่นที่มีซีลีเนียมในดินต่ำ ควรปรึกษาแพทย์ในเรื่องการเสริมอาหารด้วยซีลีเนียม

คำแนะนำในการทานซีลีเนียม

จริง ๆ แล้ว ซีลีเนียมนั้น มีให้รับประทานในรูปแบบอาหารเสริมเช่นเดียวกัน หากคุณแม่แพ้อาหาร หรือมีโรคประจำตัวใด ๆ ที่ทำให้ไม่สามารถทานอาหารที่แนะนำไปในข้างต้นได้ ให้ลองปรึกษากับคุณหมอ ว่าสามารถทานอาหารเสริม หรือทานอย่างอื่นทดแทนได้ไหม ทั้งนี้ ไม่ควรซื้ออาหารเสริมมาทานเองก่อนเด็ดขาด เพราะอาจเกิดอันตรายต่อร่างกายได้ เมื่อเข้าพบคุณหมอเสร็จแล้ว ก็ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมอ และเข้าพบคุณหมอตามนัดทุกครั้งนะคะ

ในช่วงที่อุ้มท้องเจ้าตัวเล็ก คุณแม่อาจจะต้องงดทานอาหารโปรด หรืองดอาหารที่เคยทานก่อนหน้านี้ แม้จะอยากทานมากแค่ไหน แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะทานได้ทุกอย่าง เพราะช่วงนี้ เป็นช่วงที่คุณแม่ต้องดูแลตัวเองเป็นพิเศษ ต้องหมั่นรับประทานอาหารที่ดีต่อครรภ์ และหลีกเลี่ยงอาหารที่เป็นอันตรายต่อลูกและตนเอง รวมทั้งต้องนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายขยับตัวเบา ๆ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อให้เจ้าตัวเล็กได้ออกมาลืมตาดูโลกในเดือนที่ 9 อย่างแข็งแรงและสมบูรณ์

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

โคลีน วิตามินสำคัญที่แม่ตั้งครรภ์ไม่ควรละเลย เพราะช่วยพัฒนาสมองทารก ?

วิตามินบี 2 ดีอย่างไร ทำไมแม่ตั้งครรภ์จึงต้องหมั่นทานและห้ามขาด

แม่ท้องกิน วิตามินซี ส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์หรือไม่ ?

ที่มา : 1, 2