ตั้งครรภ์ 30 สัปดาห์ พัฒนาการทารกในครรภ์เป็นอย่างไรบ้าง ?

วันนี้เราจะพาไปคลายข้อสงสัยกันค่ะว่าสำหรับช่วง ตั้งครรภ์ 30 สัปดาห์ นั้นลูกน้อยมีขนาดตัวเท่าไหร่ และพัฒนาการลูกน้อยในครรภ์จะเป็นอย่างไร แล 

 1893 views

วันนี้เราจะพาไปคลายข้อสงสัยกันค่ะว่าสำหรับช่วง ตั้งครรภ์ 30 สัปดาห์ นั้นลูกน้อยมีขนาดตัวเท่าไหร่ และพัฒนาการลูกน้อยในครรภ์จะเป็นอย่างไร แล้วคุณแม่ในช่วงอายุครรภ์ 30 สัปดาห์ จะมีอาการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง มาตามไปดูพร้อมกันเลย!

 

ตั้งครรภ์ 30 สัปดาห์เท่ากับกี่เดือน ?

การตั้งครรภ์ 30 สัปดาห์นั้นเท่ากับว่าคุณแม่ท้องได้ 7 เดือนแล้ว หรืออยู่ในช่วงไตรมาสที่ 3 นั่นเองค่ะ ลูกน้อยในท้องของคุณแม่ก็จะตัวโตยิ่งขึ้น และมีพัฒนาการต่าง ๆ เพิ่มมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย

 

ตั้งครรภ์ 30 สัปดาห์

พัฒนาการของทารกในครรภ์อายุ 30 สัปดาห์

  • อวัยวะเพศ ทารกในครรภ์มีการแบ่งเพศชายหญิงขึ้นอย่างชัดเจน ในทารกเพศหญิงจะมีการพัฒนาช่องคลอดขึ้นมาจนเป็นร่องลึก ในทารกเพศชายจะมีการพัฒนาลูกอัณฑะขึ้นมา
  • ทารกสามารถขยับนิ้ว กำมือ และมีการพัฒนาลายนิ้วมือที่เป็นลักษณะเฉพาะตัวของตัวเองขึ้นมา
  • ทารกเริ่มลืมตา และระบบนัยน์ตาพัฒนาขึ้นเกือบสมบูรณ์ แต่สีของนัยน์ตายังไม่ใช่สีที่ถาวร ซึ่งต้องหลังจากทารกคลอดออกมาแล้ว 2-3 เดือน ถึงจะมีการปรากฏขึ้นมาว่าสีนัยน์ตาที่แท้จริงเป็นสีไหน เช่น ดำ น้ำตาล ฟ้า เขียว เป็นต้น
  • เซลล์สมองและระบบประสาท ช่วงนี้สมองของทารกพัฒนาขึ้นจนโตเต็มกะโหลกศีรษะ และมีร่องหยักบนเนื้อสมอง ส่วนเซลล์ประสาทเชื่อมโยงเครือข่ายกันอย่างสมบูรณ์ เริ่มมีไขมันห่อหุ้มเส้นประสาทเหมือนกับที่ไขสันหลัง
  • ทารกเริ่มมีผิวที่หนาขึ้น เพราะมีไขมันใต้ผิวหนังมากขึ้นมาก
  • ต่อมไขมันใต้ผิวหนังเริ่มทำงาน
  • ขนอ่อนตามร่างกายเริ่มหลุดร่วง มีเหลือไว้เฉพาะที่บริเวณไหล่ และหลัง
  • ทารกจะปัสสาวะลงในน้ำคร่ำประมาณวันละครึ่งลิตร
  • ทารกในครรภ์มักจะขยับตัวประมาณ 10 ครั้ง ภายใน 2 ชั่วโมง
  • ทารกในครรภ์ตัวจะยาวเกือบ 16 นิ้ว และมีน้ำหนักประมาณ 1.5 กิโลกรัม

บทความที่เกี่ยวข้อง : ตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ พัฒนาการทารกในครรภ์ ไตรมาสที่ 1

ตั้งครรภ์ 30 สัปดาห์

 

ตั้งครรภ์ 30 สัปดาห์ ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง ?

  • เรื่องของการนอน ซึ่งอาจจะทำให้นอนลำบากมากยิ่งขึ้น เนื่องจากท้องของคุณแม่ก็เริ่มขยายใหญ่ขึ้น เวลาลูกดิ้น ก็อาจจะทำให้นอนไม่ค่อยหลับ และไม่สบายตัว 
  • อาการปวดหลัง อาการปวดหลังถือเป็นอาการส่วนใหญ่ที่คุณแม่ท้องต้องพบเจอ เนื่องจากน้ำหนักของอายุครรภ์ที่มากขึ้น และจะมีอาการปวดกระดูกเชิงกรานมากยิ่งขึ้นอีกด้วย เพราะฮอร์โมนในร่างกายจะทำการคลายข้อต่อที่เชื่อมกระดูกเชิงกรานทั้งสองข้าง เพื่อรองรับน้ำหนักและเตรียมพร้อมเชิงกรานสำหรับการคลอด
  • เนื่องจากท้องที่โตมากขึ้น ทำให้คุณแม่หายใจตื้นขึ้น และเร็วขึ้น เพราะมดลูกโตจนดันกะบังลมทำให้ปอดมีพื้นที่เล็กลง เพื่อไม่ให้ปอดทำงานหนักเกินไป คุณแม่ควรนั่งและนอนเหยียดหลังตรงเพื่อให้ปอดขยายตัวได้มากขึ้นจะหายใจได้สะดวกขึ้น
  • ปัสสาวะบ่อย ก็จะเป็นอีกหนึ่งอาการที่คุณแม่ท้อง 30 สัปดาห์ ต้องเผชิญ เพราะเมื่อท้องเริ่มใหญ่ นั่นเท่ากับว่าร่างกายของทารกก็จะโตขึ้น ทำให้เกิดการกดทับที่กระเพาะปัสสาวะ นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้คุณแม่ปัสสาวะบ่อยขึ้น
  • อาการอ่อนเพลีย พออายุครรภ์เริ่มเยอะขึ้น ขนาดท้องก็จะยิ่งใหญ่ขึ้น และน้ำหนักตัวก็จะเพิ่มมากขึ้นด้วย ก็จะยิ่งทำให้คุณแม่รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยล้าง่ายกว่าปกติ

บทความที่เกี่ยวข้อง : อาการคน ท้อง 7 เดือน และพัฒนาการทารกในครรภ์ เป็นอย่างไร ?

 

เคล็ดลับดูแลตัวเองสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ 30 สัปดาห์

อาหารการกิน

คุณแม่ควรเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ที่หลากหลาย ครบทั้ง 5 หมู่ และต้องทานในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่น้อยหรือมากจนเกินไป ในเรื่องของอาหารที่ทาน สำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ 30 สัปดาห์ นั้นจะต้องใส่ใจมากเป็นพิเศษไม่แพ้เดือนอื่น ๆ ที่ผ่านมาเลยค่ะ ควรทานอะไรบ้างนั้น ไปดูพร้อมกันเลยค่ะ

  • คาร์โบไฮเดรต ถือเป็นสารอาหารที่ให้พลังงานหลักที่ร่างกายคุณแม่ตั้งครรภ์ต้องการมากที่สุด ซึ่งคาร์โบไฮเดรตนั้นแบ่งเป็น 2 ประเภท คือคาร์โบไฮเดรตกลุ่มที่เป็นน้ำตาลหรือที่เรียกว่า คาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว และคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ได้แก่ ข้าวกล้อง, ธัญพืช, ขนมปังโฮลวีต, ถั่ว และผลไม้ต่าง ๆ ที่มีกากใย เป็นต้น ซึ่งเวลาทานจะช่วยให้อยู่ท้องนานกว่า และให้พลังงานอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นคุณแม่ควรเลือกทานคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนเนื่องจากเป็นประเภทที่ดีต่อสุขภาพนั่นเองค่ะ
  • โปรตีน ถือเป็นสารอาหารสำคัญส่วนหนึ่งที่จะช่วยในการบำรุงทารกในครรภ์ให้มีสุขภาพแข็งแรง ช่วยในการพัฒนาระบบประสาทและสมอง อาหารที่มีโปรตีนสูงที่เหมาะสำหรับคนท้อง ได้แก่ เนื้อสัตว์ ไข่ หรือถั่วต่าง ๆ เป็นต้นค่ะ
  • ธาตุเหล็ก ถือเป็นสารอาหารอีกหนึ่งชนิดที่จำเป็นสำหรับคนท้อง ซึ่งจะช่วยป้องกันภาวะโลหิตจางระหว่างตั้งครรภ์ อาหารที่มีธาตุเหล็ก ได้แก่ เนื้อแดง ไข่แดง ตับ งา และผักสีเขียวเข้ม เป็นต้น
  • โอเมก้า 3 อาหารที่มีโอเมก้า 3 ถือว่าเป็นอาหารบำรุงครรภ์ที่สำคัญต่อคุณแม่มากเช่นเดียวกัน เนื่องจากจะช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน สมอง และดวงตา และยังช่วยควบคุมอารมณ์ที่แปรปรวนขณะตั้งครรภ์อีกด้วย อาหารที่มีโอเมก้า 3 ก็จะเป็นอาหารจำพวกปลา เช่น แซลมอน ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน ปลาทู เป็นต้น
  • วิตามินเอ มีประโยชน์ต่อร่างกายหลาย ๆ ด้าน เช่น ช่วยในการเจริญเติบโต และพัฒนาระบบต่าง ๆ ของทารก เช่นระบบประสาท หัวใจ ปอด กระดูก และระบบภูมิคุ้มกันร่างกายด้วย อีกทั้งยังช่วยป้องกันการติดเชื้อในช่วงหลังคลอดอีกด้วย อาหารที่มีวิตามินเอจะเป็นจำพวกผัก ผลไม้ สีเหลือง ส้ม เขียว
  • แคลเซียม ถือว่าเป็นสารอาหารสำคัญสำหรับแม่ท้องมาก ๆ เพราะแคลเซียมนั้นเป็นส่วนประกอบสำคัญของกระดูก และฟัน และการทำงานต่าง ๆ ของเซลล์ในร่างกาย และแคลเซียมยังถูกดึงไปใช้เสริมสร้างกระดูกทารกในครรภ์ ดังนั้นคุณแม่ควรทานอาหารที่มีแคลเซียมในปริมาณที่เพียงพอต่อร่างกาย อาหารที่มีแคลเซียม เช่นจำพวก นม หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เช่น ชีส โยเกิร์ต เป็นต้น แนะนำให้ทานในปริมาณที่พอเหมาะนะคะ 

 

อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงสำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์

สำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ในเรื่องของอาหารนั้นถือเป็นสิ่งที่สำคัญเป็นอย่างมากที่จะต้องระมัดระวัง เพราะอาจจะส่งผลกระทบต่อลูกในท้องได้ ดังนั้นอาหารส่วนใหญ่ที่คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงก็จะเป็นอาหารจำพวก ที่ไม่สุกหรือกึ่งดิบ หรือของหมักดอง ส่วนใหญ่ที่ผ่านกรรมวิธีการทำที่ไม่สะอาด อาหารที่มีน้ำตาลมาก หรือแอลกอฮอล์เพราะอาหารเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของลูกในครรภ์ได้

 

การออกกำลังกาย

การออกกำลังกายจะช่วยให้การทำงานของปอด หัวใจ กระดูก และกล้ามเนื้อ ของคุณแม่แข็งแรง และคุณแม่ควรออกกำลังกายอย่างถูกวิธีและพอดีด้วยนะคะ ไม่ควรออกกำลังกายแบบหักโหมเกินไป สำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ 30 สัปดาห์ หรือไตรมาสที่ 3 แนะนำให้ออกกำลังกายเฉพาะ ได้แก่ การเดิน การว่ายน้ำ หรือโยคะ เป็นต้น ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินสภาพร่างกาย และภาวะตั้งครรภ์เสี่ยงก่อนการออกกำลังกายด้วยนะคะ เพื่อความปลอดภัยของทั้งตัวคุณแม่และลูกในท้องค่ะ

เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับข้อมูลเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ 30 สัปดาห์ที่เรานำมาฝากกันวันนี้ หวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ในช่วง 30 สัปดาห์หรือไตรมาสที่ 3 กันนะคะ

 

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : 

ตั้งครรภ์ 42 สัปดาห์ ครรภ์เกินกำหนด ทำอย่างไรดี ?

ครรภ์ 37 สัปดาห์ ช่วงแรกของกำหนดคลอด มีอะไรที่สำคัญบ้าง ?

ตั้งครรภ์ 14 สัปดาห์ พัฒนาการทารกในครรภ์ ไตรมาสที่ 2

ที่มา : 1 , 2 , 3 , 4