ทารกผิวลอก พ่อแม่ไม่ต้องกังวล เป็นภาวะปกติในทารกแรกเกิด

ต้องบอกก่อนเลยว่า การที่ ทารกผิวลอก โดยส่วนใหญ่แล้ว ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลใจ เพราะการดูแลเบื้องต้นอย่างเพียงพอ ก็สามารถทำให้หายได้ ในเวลา 

 1381 views

ต้องบอกก่อนเลยว่า การที่ ทารกผิวลอก โดยส่วนใหญ่แล้ว ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลใจ เพราะการดูแลเบื้องต้นอย่างเพียงพอ ก็สามารถทำให้หายได้ ในเวลาเพียงแค่ไม่กี่วัน แต่อย่างไรก็ตามสาเหตุที่ผิวลอกนั้น เกิดได้จากหลายสาเหตุ เพราะเมื่อหากเป็นอาการผิดปกติ เช่น โรคสะเก็ดเงิน, กลาก, เกลื้อน, ผิวหนังเกล็ดปลา ที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาที่ถูกวิธี อาจจะเป็นเรื่องใหญ่ได้

วันนี้ Mamastory จะพาคุณพ่อคุณแม่ไปดูสาเหตุ ที่ทารกอาจผิวลอกได้ พร้อมกับภาวะที่ไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา ที่พ่อแม่อาจจะไม่เคยรู้ สำหรับทารกแรกเกิดค่ะ หากพร้อมแล้ว ค่อย ๆ ดูไปพร้อมกันได้เลยค่ะ !

ทารกผิวลอก



ทำไมทารกถึง ผิวหนังลอก

การที่คลอดครบกำหนด ปกติผิวหนัง 1-2 วันแรกยังไม่ลอก หลังวันที่ 2 เริ่มปรากฏให้เห็น มักพบการลอกที่มือและเท้า และจะหายไปเองภายใน 2-3 สัปดาห์ หลังคลอด ไม่ต้องให้การรักษาใด ๆ ทั้งนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตผิวลูกน้อย และอาการร่วมอื่น ๆ เช่น มีไข้ ร้องไห้งอแงไม่มีสาเหตุ หากผิดปกติจะได้รับมือ และหาทางแก้ไขได้ทันท่วงที



สาเหตุที่ทารกผิวลอก

  • สภาพอากาศแห้ง
  • อุณหภูมิที่เย็นจัด
  • การให้ทารกแช่ตัวในน้ำอุ่นนานเกินไป
  • โรคผิวหนังอักเสบ
  • โรคผิวหนังเกล็ดปลาแบบสามัญ
  • อาการแพ้
  • โรคในระบบภูมิคุ้มกัน เช่น โรคคาวาซากิ โรคสะเก็ดเงิน
  • การติดเชื้อที่ผิวหนัง หรือรูขุมขน
  • ผิวไหม้แดด
  • โรคผิวหนัง เช่น กลาก
  • การแพ้ผลิตภัณฑ์สำหรับผิวหนัง หรือทำความสะอาดผิวหนัง



ทารกผิวลอก เป็นอันตรายหรือไม่

โดยทั่วไปแล้ว ทารกผิวลอกไม่ถือว่าอันตรายร้ายแรงเท่าใดนัก การบรรเทาอาการหรือป้องกันเบื้องต้น ก็สามารถช่วยให้อาการดีขึ้นได้ภายในไม่กี่วัน แต่หากเกิดจากโรคผิวหนัง อาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาเฉพาะทาง กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และใช้ระยะเวลาสักพักกว่าที่สุขภาพผิวหนังจะดีขึ้น


วิธีปฏิบัติเบื้องต้น เมื่อทารกผิวลอก

  • งดอาบน้ำนาน : เพราะการให้ทารกอาบน้ำนาน ๆ จะทำให้สูญเสียน้ำมันธรรมชาติในชั้นผิวหนัง และไม่ควรให้ทารกแช่ในน้ำอุ่นนานจนเกินไปด้วย เสี่ยงที่จะทำให้ผิวแห้ง ผิวลอกได้เช่นกัน
  • ทามอยส์เจอไรเซอร์ : เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวหนังของทารก และช่วยลดอาการผิวลอก
  • ดื่มน้ำให้มาก ๆ : การดื่มน้ำอย่างสม่ำเสมอ ช่วยให้ผิวหนังชุ่มชื้น ลดปัญหาผิวลอกได้
  • หลีกเลี่ยงสภาพอากาศแห้งและเย็นจนเกินไป : ควรให้ทารกได้อยู่ในบริเวณที่อากาศถ่ายเท ไม่ร้อน แต่ก็ต้องไม่เย็นหรือแห้งจนเกินไป เพราะเสี่ยงที่จะทำให้ผิวแห้ง และผิวลอกตามมาได้
  • หลีกเลี่ยงสารเคมีอันตราย : เวลาเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สำหรับทารก ควรเลือกสินค้าที่มีสรรพคุณอ่อนโยน บอบบาง และไม่ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองผิว
  • เพิ่มความชื้นภายในบ้าน : โดยอาจใช้เครื่องเพิ่มความชื้น เพื่อทำให้ภายในบ้าน หรือที่อยู่อาศัยไม่แห้งจนทำให้ผิวหนังแห้ง



เมื่อใดควรไปพบคุณหมอ

ทารกผิวลอกโดยเฉพาะเด็กเล็ก และเด็กแรกเกิด มักพบได้โดยทั่วไป และอาการมักดีขึ้นตามลำดับ เมื่อได้รับการดูแลรักษาตามปกติ อย่างไรก็ตาม หากมีอาการดังต่อไปนี้ ควรไปพบคุณหมอ

  • ผิวหนังมีผื่นแดง หรือเป็นรอยจ้ำสีแดง
  • ผิวแตก
  • มีอาการคัน
  • มีอาการบวม
  • มีไข้
  • ผิวแห้ง ผิวลอก เป็นระยะเวลานาน และไม่ดีขึ้น



ทารกผิวลอก



เรื่องที่คุณไม่รู้เกี่ยวกับทารกแรกเกิด

เพราะทารกในช่วงแรกเกิดนั้น เป็นวัยที่มีภาวะต่าง ๆ เกิดขึ้นแบบนับไม่ถ้วน ซึ่งภาวะเหล่านั้น อาจจะทำให้พ่อแม่มือใหม่ เกิดความวิตกกังวลขึ้นได้ และข้างล่างนี้คือภาวะปกติ หรือ “ภาวะที่ไม่จำเป็นต้องรักษา” เพราะสามารถหายไปได้เอง !

บทความที่เกี่ยวข้อง : ภาวะตัวเหลืองในทารก คืออะไร สังเกตอย่างไรจึงรักษาได้ทัน



1. ผิวหนังลอก

ในช่วง 1-2 วันแรก สำหรับทารกที่คลอดครบกำหนดปกติ ผิวหนังจะยังไม่ลอกออก ก่อนจะพบว่าผิวลอกในช่วงวันถัดไป และมักพบที่มือและเท้า ก่อนที่จะหลุดหายไปเองในช่วง 2-3 สัปดาห์ต่อมา



ทารกผิวลอก



2. ตัวเหลือง

นับเป็นอาการที่พบได้บ่อยในทารกแรกเกิด ในช่วง 2-4 วันหลังคลอด ทารกจะมีสีผิวเหลือง เนื่องจากการทำงานของตับ ยังไม่สมบูรณ์เท่าไรนัก การขับถ่ายสารเหลืองในร่างกาย ยังทำได้ไม่เต็มที่ จึงเกิดการคั่งในกระแสเลือด วิธีป้องกันก็คือให้ทารกอยู่กับแม่ตลอดเวลา เพื่อที่จะได้ดูดนมแม่บ่อย ๆ เพราะนมแม่จะช่วยกระตุ้นการขับถ่าย แต่ถ้าหากพบว่าเหลืองมากกว่าปกติ และไม่หายในภายหลัง ควรพบแพทย์เพื่อทำการรักษา

3. การแหวะนม

หลังการดูดนมของทารก การแหวะนมบ่อย ๆ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ ไม่ต้องกังวล เพราะหูรูดกระเพาะของทารกยังทำงานได้ไม่ดี ทำให้ทารกมีอาการแหวะนมเล็กน้อย ซึ่งอาจจะออกมาทั้งทางจมูกและปาก ส่วนน้ำนมที่ออกมา อาจมีลักษณะเป็นลิ่ม คล้ายกับเต้าหู้ เนื่องจากน้ำนมถูกน้ำย่อยในกระเพาะอาหารซึ่งเป็นขั้นตอนการย่อย

หากพ่อแม่เป็นกังวลเรื่องทารกแหวะนม สามารถป้องกันได้ด้วย การจับทารกเรอ หรือ การไล่ลม ร่วมกันการจัดให้ทารกนอนศีรษะสูง และตะแคงขวาหลังดูดนมประมาณครึ่งชั่วโมง ท่านอนนี้จะช่วยหูรูดของกระเพาะอาหารจะอยู่สูง ทำให้นมไหลออกมาได้น้อย ดูวิธีการจับทารกเรอ

  • นำทารกนั่งตักหลังตรง นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้รองใต้คางลูกส่วน 3 นิ้ว ที่เหลือไว้บริเวณใต้รักแร้ ลูบหลังหรือตบหลังเบา ๆ ลูกจะเรอออกมาเอง
  • อุ้มลูกพาดบ่าในท่านอนคว่ำ ให้คางลูกเกยบนไหล่คุณแม่พอดี ลูกจะเรอออกมาเองหรือ คุณแม่ตบหลังลูกเบา ๆ ลูกจะเรอเช่นกัน



4. การจาม

เป็นภาวะปกติที่พบได้ในทารกแรกเกิดทุกคน จะจามมากหรือน้อยก็ได้ ทั้งที่ไม่ได้เป็นหวัด ส่วนมากเกิดจากการมีฝุ่นละออง หรือน้ำเมือกในจมูกแห้ง ทำให้เกิดการระคายเคือง ทารกจะคันจมูกและจาม หรือบางครั้งอาจเกิดจากการใช้แป้งฝุ่นมากเกินไป

5. การสะดุ้งหรือผวา

เวลามีเสียงหรือเวลาสัมผัสทารก การสะดุ้งหรือผวาเป็นสิ่งที่พบในทารก เพราะแสดงถึงระบบประสาทได้ดี เป็นการทดสอบง่าย ๆ ว่าทารกได้ยินเสียง ทารกตอบสนองโดยการยกแขนหรือขา แบมือ และกางแขนออกแล้วโอบเข้าหากัน การตอบสนองแบบนี้พบเมื่อทารกหลับสนิท การผวาพบได้จนถึงอายุ 6 เดือน

6. การสะอึก

ภายหลังดูดนมทารกอาจจะมีอาการสะอึก เป็นเรื่องปกติที่สามารถพบได้ เนื่องจากว่าการทำงานของกะบังลม ยังไม่ปกติ และส่วนยอดของกระเพาะอาหารที่ขยายตัวจากน้ำนม และลมที่กลืนลงสู่กระเพาะสัมผัสกะบังลม หากทำการไล่ลมสักครู่อาการสะอึกจะหายเอง

อย่างที่บอกในตอนต้นค่ะ ว่าการที่ทารกผิวลอก เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับเด็กทุกคน แต่ถ้าหากยังไม่หายไป การพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาโรค นับเป็นเรื่องที่ตอบโจทย์มากที่สุด แต่ถ้าหากรอยผิวลอกหายไป และกลายเป็นสีผิวหนังปกติ ไม่ต้องกังวลค่ะ ลูกของเราไม่เป็นอะไรแน่นอน !

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

อาการชักในเด็ก จากอาการไข้ รับมืออย่างไรให้ลูกปลอดภัย

โรคทอนซิลโตในเด็ก ปัญหาที่ห้ามละเลย หากไม่อยากให้ลูกเจ็บหนักกว่าเคย !

มาดู น้ำตาลในเลือดผิดปกติ ภาวะที่พบได้บ่อยในเด็กทารกแรกเกิด

ที่มา : 1, 2, 3