5 วิธีแสดงความคิดเห็น สอนลูกให้พูดอย่างระวังและมีสติ

อยากฝึกลูกแสดงความคิดเห็นควรเริ่มเลยในตอนนี้ วิธีแสดงความคิดเห็น ทำอย่างไรให้ลูกพูดได้ แสดงออกกับคู่สนทนาอย่างสุภาพ เป็นมิตร และให้เกียร 

 1110 views

อยากฝึกลูกแสดงความคิดเห็นควรเริ่มเลยในตอนนี้ วิธีแสดงความคิดเห็น ทำอย่างไรให้ลูกพูดได้ แสดงออกกับคู่สนทนาอย่างสุภาพ เป็นมิตร และให้เกียรติกัน เรารู้วิธีที่จะสอน มาลองสอนลูกไปพร้อม ๆ กันเลยดีกว่า



การแสดงความคิดเห็น คืออะไร

ถ้าจะฝึกลูกจะต้องเข้าใจก่อนว่า การแสดงความคิดเห็น หมายถึง การแสดงมุมมองของเราที่มีต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งทั้งในแบบการพูด หรือการเขียนออกมา โดยความคิดเห็นเหล่านั้นอาจส่งผลต่อผู้ฟัง หรือคู่สนทนา และสามารถมีผลกระทบในแง่บวก หรือลบตามมา ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับรูปแบบ และลักษณะการแสดงออกของเราว่าดีไหม ให้เกียรติอีกฝ่าย หรือทำร้ายจิตใจอีกฝ่ายนั่นเอง



วิธีแสดงความคิดเห็น 2


5 วิธีแสดงความคิดเห็น ให้ลูกเริ่มต้นได้อย่างมีคุณภาพ

เมื่อลูกเริ่มโตการสนทนาพูดคุยกันจะต้องกลายมาเป็นทักษะพื้นฐาน รวมไปถึงการพูดในสิ่งที่ตนเองคิดต่อเรื่องหนึ่ง ๆ หรือก็คือการแสดงความคิดเห็นนั่นเอง ซึ่งการที่จะฝึกให้ลูกได้แสดงความคิดเห็นอย่างถูกต้อง ควรฝึกตั้งแต่ลูกเริ่มสื่อสารพูดเป็นประโยคฟังคำพูดเข้าใจได้แล้ว ยิ่งฝึกแต่เด็ก จะทำให้ลูกเป็นคนที่พูดคุยอย่างมีมารยาท ไม่แทงใจดำคนอื่น โดยมีขั้นตอนการแสดงความคิดเห็นที่เรายกมาให้ 5 วิธีที่ลองเอาไปสอนลูกน้อยกันได้

บทความที่เกี่ยวข้อง : การเลี้ยงลูกเชิงรุก คืออะไร ต่างกับการเลี้ยงแบบอื่นอย่างไร ?



1. คิดก่อนแสดงความคิดเห็น

ก่อนพูดความคิดเห็น ขั้นตอนแรกที่ห้ามขาดโดยเด็ดขาด นั่นคือกระบวนการคิดก่อนจะพูด ควรหรือไม่ควรพูดในประเด็นไหน ถ้าเป็นเรื่องที่คู่สนทนายังไม่พร้อมที่จะพูดคุย ควรรอเวลาก่อน หรือคุยเรื่องอื่นไปก่อน ลูกต้องลูกว่าสิ่งที่ตนเองพูดออกไป จะมีผลกระทบแง่ลบตามมาไหม ลูกต้องคิดแบบนี้ก่อน หากรู้ว่าถ้าพูดคำนี้ จะทำให้อีกฝ่ายไม่พอใจ ก็ไม่ควรพูด และสิ่งสำคัญที่ลูกจะต้องเข้าใจ คือ คำพูดเป็นนายของเรา หากพูดออกไปโดยไม่คิด ผลที่ตามมาจะกลับมาควบคุมตัวเราอีกทีหนึ่งอยู่ดี หากพูดดีสิ่งดี ๆ ก็จะตามมาเช่นกัน



2. เน้นย้ำเรื่องภาษาที่ใช้พูด

การแสดงความคิดเห็นเกิดขึ้นได้หลายโอกาส บางครั้งการแสดงความคิดเห็นอาจถูกมองว่าเป็นการถกเถียง อาจนำไปสู่การทะเลาะกันได้ เพื่อเลี่ยงความขัดแย้งสิ่งที่ลูกจะต้องระวัง คือ น้ำเสียง และถ้อยคำภาษาที่ใช้ ควรพูดด้วยน้ำเสียงนุ่มนวลมากกว่าการใช้เสียงหนัก และระมัดระวังคำพูดที่อาจกระทบจิตใจคู่สนทนา เลี่ยงการใช้คำที่รุนแรง หรือไม่ใช้คำเล่น ๆ ไม่จริงจัง เพราะจะแสดงถึงการไม่เคารพคู่สนทนาได้



วิธีแสดงความคิดเห็น 2


3. ห้ามพูดแทรก หรือพูดโดยฟังเรื่องไม่จบ

การแสดงความคิดเห็นอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนหนึ่งคือความอดทน และมีมารยาทในการรับฟังหัวข้อต่าง ๆ วัยเด็กนั้นมีความอดทนไม่มาก อยากพูดก็พูดเลย ซึ่งผู้ปกครองต้องระวัง ควรเน้นย้ำกับลูกว่า ไม่ควรพูดแทรกคนอื่น รอให้คนอื่นพูดจบก่อน เวลาฟังอะไรก็ควรฟังให้จบก่อนวิจารณ์ หรือแสดงความคิดเห็น

เนื่องจากบางเรื่องอาจมีใจความสำคัญอยู่ในตอนท้าย การด่วนสรุปเร็วเกินไป จะทำให้การแสดงความคิดเห็นผิดพลาดได้ และการพูดแทรกลูกต้องเข้าใจว่าในสังคมทั่วไป ถือเป็นการกระทำที่ไม่มีมารยาท หากเผลอทำออกไป ลูกต้องพูดขอโทษให้เป็น



4. ต้องบอกว่าเป็นแค่ความคิดเห็นของเราเท่านั้น

เมื่อลูกต้องการแสดงความคิดเห็น ลูกจะต้องเข้าใจว่าการแสดงความคิดเห็นไม่ใช่การบังคับ ไม่ใช่การพูดออกไปแล้วคนอื่นจะต้องยอมรับ หรือทำตามเสมอไป การแสดงความคิดเห็นเป็นเพียงการบอกอีกฝ่ายว่าในมุมมองของเราเป็นอย่างไร ถ้าเป็นเราจะทำอย่างไร เราคิดอย่างไรเท่านั้น ส่วนผู้ฟังรับรู้แล้วจะนำไปคิดต่อ จะนำไปทำตามหรือไม่อย่างไร ลูกจะต้องเข้าใจว่าเราไม่มีสิทธิอะไรไปบังคับคู่สนทนา



5. ไม่ควรตัดสินประเด็นที่พูดคุย

จุดประสงค์ที่มีคนมาถามความเห็นของลูก คือ เขาต้องการรู้ว่าเราคิดแบบไหน ไม่ใช่ให้เราไปตัดสินเขา การแสดงความคิดเห็นโดยตรงว่า “เธอผิด” “เธอมั่ว” เป็นการแสดงความคิดเห็นที่ไม่ถูกต้อง ลูกต้องสื่อความหมายชัดเจนในมุมมองของตนเอง เช่น ใช้คำว่า “ถ้าในมุมมองของเรา อาจจะทำแบบนี้แทน..” เป็นต้น ซึ่งความหมายโดยรวม ก็คือเราไม่เห็นด้วย ถ้าเป็นเราจะไม่ทำ จะทำอย่างอื่น แต่ไม่มีคำที่ทำให้ผู้ฟังไม่สบายใจ หรือรู้สึกว่าตนเองถูกตัดสินว่าผิดนั่นเอง



วิดีโอจาก : PRAEW



พ่อแม่เป็นกุญแจสำคัญในการแสดงความคิดเห็น

หนึ่งในหลักการสำคัญในการสอน คือ ตัวของผู้ปกครองเอง เด็กเล็กไปจนถึงวัยเรียน มีพฤติกรรมขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะผู้ปกครอง และเพื่อนของลูก กรณีที่ลูกอยู่บ้าน การพูดคุยแสดงความคิดเห็นจะสะท้อนสิ่งที่ผู้ปกครองทำให้ลูกเห็นมาตลอด หากลูกชอบพูดแทรก หรือใช้ถ้อยคำตรงไปตรงมาทำร้ายจิตใจ ก็อาจมาจากผู้ปกครองพูดแบบนั้นให้ลูกได้ยินบ่อย ๆ นั่นเอง ดังนั้นการฝึกที่ดีต้องมาจากผู้ปกครองก่อน ดังนี้



  • ระวังภาษาเมื่ออยู่บ้าน : ควรต้องระวังคำพูด หากมีเด็กเล็กอยู่ใกล้ ๆ ผู้ปกครองอาจรู้กันดีกว่าแค่พูดเล่น หยอกเล่น แต่สำหรับเด็กเขาไม่ได้รู้ ไม่ได้เข้าใจแบบนั้น
  • เวลาพูดคุยกับลูกควรให้ลูกตอบโต้เสมอ : เมื่อพูดคุยอะไร แม้เรื่องทั่วไป การถามว่า “ลูกคิดอย่างไรกับเรื่องนี้” หรือ “ควรทำอย่างไรดี” เพื่อให้ลูกตอบ จะทำให้ลูกคุ้นชินกับการแสดงความคิดเห็นได้มากขึ้น
  • อธิบายสิ่งที่ลูกตอบว่าดีหรือไม่ : เมื่อลูกแสดงความคิดเห็นออกมา ก็ไม่ควรปล่อยให้การสนทนาจบ ผู้ปกครองควรพูดคุยกับลูกอย่างเป็นมิตรว่าสิ่งที่ลูกคิดถูกต้องหรือไม่ อย่างไร


วิธีแสดงความคิดเห็น ตามที่เราได้สอนไปนั้น เป็นเทคนิคพื้นฐานที่ทำได้ไม่ยาก แต่สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญด้วย นั่นคือการฝึกลูกให้ลองแสดงสิ่งที่ตนเองคิดบ่อย ๆ เพื่อให้ลูกเข้าใจในการพูดคุย รวมไปถึงการใช้ภาษาได้อย่างถูกต้อง หากมีอะไรผิดพลาด การที่ผู้ปกครองอยู่ใกล้ ๆ จะสามารถช่วยแก้ไขได้ทันนั่นเอง



บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

เคล็ดลับ ! สอนลูกให้มั่นใจในตัวเอง ด้วยวิธีง่าย ๆ ทำตามไม่ยาก

6 เทคนิคพัฒนาสมองเด็ก ทำได้ง่าย ๆ ทุกที่ทุกเวลา

เคล็ดลับ! ฝึกลูกเขียนหนังสือ ด้วยวิธีง่าย ๆ เริ่มต้นจากอะไร ?

ที่มา : 1, 2