ครรภ์เป็นพิษ เกิดจากอะไร อันตรายต่อเด็กและแม่ท้องหรือไม่?

ครรภ์เป็นพิษ เป็นภาวะที่สามารถเกิดขึ้นได้กับแม่ท้องทั่วไป โดยมีข้อมูลระบุว่าในแม่ท้อง 100 จะมีคนมีอาการครรภ์เป็นพิษถึง 4 คน ซึ่งอาการที่เกิด 

 1955 views

ครรภ์เป็นพิษ เป็นภาวะที่สามารถเกิดขึ้นได้กับแม่ท้องทั่วไป โดยมีข้อมูลระบุว่าในแม่ท้อง 100 จะมีคนมีอาการครรภ์เป็นพิษถึง 4 คน ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นจะไม่รุนแรง แต่สำหรับแม่ท้องที่มีอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ขึ้นไป อาจมีความเสี่ยงครรภ์เป็นพิษอย่างรุนแรงได้ ทำให้ต้องคลอดลูกออกมาเร็วที่สุด วันนี้เราจึงนำข้อมูลสาระดี ๆ มาส่งต่อ เพื่อให้คุณแม่ได้รู้ทัน และเฝ้าระวังในภาวะนี้ค่ะ

ครรภ์เป็นพิษ คืออะไร?

ภาวะครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia) คือภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ที่เป็นอันตราย เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยมีความดันสูงผิดปกติ ร่วมกับมีภาวะโปรตีน หรือไข่ขาวปะปนอยู่ในปัสสาวะ และทำให้ไตทำงานผิดปกติ โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะเกิดกับแม่ท้องที่มีอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ขึ้นไป แต่บางครั้งก็สามารถเกิดขึ้นได้กับแม่ท้องที่อายุครรภ์น้อยกว่านั้น ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันเวลา อาจส่งผลให้เกิดอาการชัก และภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงตามมาได้

ครรภ์เป็นพิษ เกิดจากอะไร?

แม้ว่าครรภ์เป็นพิษจะเป็นภาวะที่เกิดขึ้นกับแม่ท้องทั่วโลก แต่ก็ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าเกิดขึ้นจากปัจจัยใด โดยผู้เชี่ยวชาญได้สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากหลอดเลือดทั่วร่างกายหดตัว และนำไปสู่ภาวะความดันโลหิตสูง จนทำให้มีปริมาณเลือดที่ไหลเวียนน้อยลงจนทำให้เกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ ซึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภาวะนี้นั้น มีดังนี้

  • กรรมพันธุ์
  • มดลูกได้รับเลือดไม่เพียงพอ
  • หลอดเลือดมีความเสียหาย
  • ระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ
  • มีโรคประจำตัวเรื้อรัง
  • ตั้งครรภ์ครั้งแรก หรือในขณะที่อายุน้อย
  • เคยมีอาการครรภ์เป็นพิษมาก่อน
  • การรับประทานอาหารบางชนิด
  • ตั้งครรภ์จากการปฏิสนธินอกร่างกาย

ครรภ์เป็นพิษ

ผู้ที่เสี่ยงต่อครรภ์เป็นพิษ

  • แม่ท้องที่มีบุตรยาก
  • แม่ทั้งที่ตั้งครรภ์ครั้งแรก
  • แม่ท้องที่ตั้งครรภ์ลูกแฝด
  • แม่ท้องที่ตั้งครรภ์ในขณะที่อายุต่ำกว่า 35 ปี
  • แม่ท้องที่เป็นโรคอ้วน และเส้นเลือดไม่ค่อยดี
  • แม่ท้องที่มีกรรมพันธุ์หรือคนในครอบครัวเคยมีอาการครรภ์เป็นพิษ
  • แม่ท้องที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไต หรือไทรอยด์ เป็นต้น

ครรภ์เป็นพิษ อาการเป็นอย่างไร?

ภาวะครรภ์เป็นพิษอาจมีอาการที่แตกต่างกันไป ซึ่งอาจไม่พบอาการอย่างชัดเจน หรือมีอาการเล็กน้อย ซึ่งหากคุณแม่มีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ปัสสาวะน้อยผิดปกติ
  • ปวดท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่
  • หายใจไม่อิ่มหรือหายใจลำบาก
  • ตรวจพบโปรตีนหรือไข่ขาวในปัสสาวะ
  • ปวดศีรษะอย่างรุนแรง รับประทานยาแล้วยังไม่ดีขึ้น
  • ความดันโลหิตสูงตั้งแต่ 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป
  • น้ำหนักตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว มีอาการบวมตามใบหน้า มือ ข้อเท้า เป็นต้น
  • สายตาพร่ามัว สูญเสียการมองเห็นชั่วคราว หรือมีปัญหาทางสายตาอื่น ๆ

ระดับความรุนแรงของโรค

  • ครรภ์เป็นพิษระดับไม่รุนแรง : แม่ท้องจะมีความดันโลหิตสูงกว่าปกติ โดยเมื่อวัดความดันจะสูงถึง 140/92 มิลลิเมตรปรอท แต่ไม่เกิน 160/110 มิลลิเมตรปรอท และอาจจะยังไม่พบภาวะแทรกซ้อน
  • ครรภ์เป็นพิษระดับรุนแรง : แม่ท้องจะมีความดันโลหิตสูงกว่า 160/110 มิลลิเมตรปรอท หรือตรวจพบความผิดปกติของร่างกาย เช่น ไตทำงานลดลง เกล็ดเลือดต่ำ หรือตับอักเสบ เป็นต้น
  • ครรภ์เป็นพิษระดับรุนแรง และมีภาวะชัก : แม่ท้องจะมีอาการเกร็ง ชัก หรือหมดสติ ซึ่งอาจมีเลือดออกในสมองได้ ดังนั้นจึงต้องรีบพาไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด เพราะอาจเสี่ยงต่อร่างกาย และลูกน้อยในครรภ์

ภาวะแทรกซ้อนของครรภ์เป็นพิษ

ภาวะแทรกซ้อนของครรภ์เป็นพิษสามารถเกิดขึ้นได้กับแม่และเด็ก ซึ่งอาจมีภาวะที่รุนแรง ดังต่อไปนี้

  • ภาวะแทรกซ้อนของแม่ท้อง : เกล็ดเลือดต่ำ ตับอักเสบ มีอาการชัก ไตวายเฉียบพลัน เลือดออกในสมอง น้ำท่วมปอด หากรุนแรงมากอาจมีโอกาสเสียชีวิตได้
  • ภาวะแทรกซ้อนของลูกน้อย : ตัวเล็ก น้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ รกลอกตัวก่อนคลอด เติบโตช้าในครรภ์ หากรุนแรงมากอาจมีโอกาสเสียชีวิตในครรภ์ได้

ครรภ์เป็นพิษ

การรักษาครรภ์เป็นพิษ

ภาวะครรภ์เป็นพิษ สามารถรักษาให้หายด้วยการผ่าคลอดเท่านั้น โดยอาการป่วยต่าง ๆ จะหายไปหลังจากคลอด ทั้งนี้แพทย์จะต้องพิจารณาปัจจัยหลาย ๆ อย่าง และต้องดูแล ประคับประคองแม่ท้องเป็นอย่างดี เพื่อให้ลูกในครรภ์ปลอดภัย หากแม่มีอายุครรภ์มากกว่า 37 สัปดาห์ แพทย์จะแนะนำให้คลอดทันทีเพื่อไม่ให้ผู้ป่วยมีการแย่ลง และเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ โดยแพทย์จะมีวิธีการรักษาผู้ป่วยจนกว่าจะคลอด ดังนี้

  • การรักษาครรภ์เป็นพิษระดับไม่รุนแรง : แม่ท้องสามารถกลับบ้านได้หลังตรวจ แต่ต้องไปพบแพทย์ตามนัดเสมอ รวมทั้งยังต้องตรวจครรภ์ และร่างกายเป็นประจำ ทั้งนี้แม่ท้องควรนอนพักผ่อนให้มาก ๆ ดื่มน้ำบ่อย ๆ และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีรสเค็ม
  • การรักษาครรภ์เป็นพิษระดับรุนแรง : สำหรับแม่ท้องที่มีอาการรุนแรง จะต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล เพื่อให้แพทย์ได้เฝ้าติดตามอาการอย่างใกล้ชิด รวมทั้งผู้ป่วยจะได้รับยาลดความดันโลหิต ยาป้องกันการชัก และยาชนิดอื่น ๆ ตามแต่อาหาร คุณแม่จึงควรทำตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นตัวเร็วที่สุด

วิธีป้องกันครรภ์เป็นพิษ

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการป้องกันภาวะครรภ์เป็นพิษได้ แต่คุณแม่สามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยการตรวจคัดกรอง และประเมินความเสี่ยง รวมทั้งยังควรไปฝากครรภ์ และไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง ก็จะช่วยลดความเสี่ยงได้ นอกจากนี้คุณแม่ยังสามารถป้องกันภาวะครรภ์เป็นพิษ ได้ดังนี้

  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ออกกำลังกายเบา ๆ อย่างสม่ำเสมอ
  • ยกขาสูงในระหว่างนั่งหรือนอนบ่อย ๆ
  • ดื่มน้ำให้มาก ประมาณ 6-8 แก้วต่อวัน
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสเค็ม
  • รับประทานยาหรืออาหารเสริมตามที่แพทย์สั่ง
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารไขมันสูง เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน

แม้ว่าครรภ์เป็นพิษจะสามารถเกิดขึ้นได้กับแม่ท้องทุกคน แต่คุณแม่ไม่ควรเครียดจนเกินไป และควรไปตรวจคัดกรองประเมินความเสี่ยงในการเกิดภาวะนี้เป็นประจำ ซึ่งหากตรวจพบไว ก็สามารถรักษาได้เร็วขึ้น นอกจากนี้การไปฝากครรภ์ และไปพบแพทย์ตามนัด ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษได้เช่นกันค่ะ

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

มะเร็งเต้านม โรคร้ายใกล้ตัวผู้หญิง สาเหตุ อาการ และวิธีการรักษา

โรคมือ เท้า ปาก โรคระบาดใกล้ตัวเด็ก สาเหตุ อาการ และวิธีการรักษา

ซิฟิลิส โรคร้ายที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สาเหตุ อาการ และวิธีการรักษา

ที่มา : 1, 2, 3, 4