คนท้องกินเยอะขึ้นเพราะอะไร กินแบบไหนถึงไม่อ้วน ?

คนท้องมีหลายอย่างที่ปรับเปลี่ยนไป โดยเฉพาะที่สังเกตได้ชัดเจน คือ พฤติกรรมการกิน ที่กินเยอะขึ้น อยากกินหลายเมนูมากขึ้น ซึ่งไม่ควรตามใจปากม 

 1838 views

คนท้องมีหลายอย่างที่ปรับเปลี่ยนไป โดยเฉพาะที่สังเกตได้ชัดเจน คือ พฤติกรรมการกิน ที่กินเยอะขึ้น อยากกินหลายเมนูมากขึ้น ซึ่งไม่ควรตามใจปากมากเกินไป เพราะการรับสารอาหารที่ไม่ถูกต้อง จะส่งผลเสียต่อคุณแม่ และทำให้ลูกน้อยได้รับสารอาหารน้อยลง และไม่มีประโยชน์อีกด้วย

คนท้องจะกินเยอะขึ้น จริงหรือไม่ ?

เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์จะต้องมีสารอาหารในร่างกายเพียงพอสำหรับตัวของคุณแม่ และแน่นอนว่าต้องเพียงพอสำหรับลูกน้อยในครรภ์ด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้หากทานเท่าเดิมสารอาหารจะไม่พอ จึงไม่แปลกที่คุณแม่จะมีความต้องการทานอาหารที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติ ยิ่งถ้าคุณแม่ท้องลูกแฝด จะยิ่งต้องการทานอาหารในปริมาณที่มากขึ้นไปอีก จึงทำให้คุณแม่อาจเสี่ยงต่อน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นได้

เมื่อคุณแม่ต้องทานมากขึ้น แต่มีคุณแม่หลายคนที่ไม่ต้องการให้ตนเองมีน้ำหนักเกินเกณฑ์ ซึ่งอาจต้องมาตามลดอีกหลังจากคลอดลูก การทานอาหารสำหรับในคนท้องจึงมีความสำคัญ ในการเลือกทานอาหารที่ต้องมีทั้งสารอาหารที่ร่างกายต้องการ และมีพลังงานไม่มากเกินไปในแต่ละมื้อจนทำให้น้ำหนักขึ้นนั่นเอง

บทความที่เกี่ยวข้อง : คนท้องอารมณ์แปรปรวน รับมืออย่างมืออาชีพ ทำอย่างไร ?

วิดีโอจาก : โตไปด้วยกัน Family Journey

คนท้องจะกินตามใจอยากไม่ได้

เมื่อมีอาการแพ้ท้อง คุณแม่หลายคนอาจอยากทานของแปลก หรือมีความต้องการทานอาหารบางเมนูมากเป็นพิเศษ และคงเป็นปกติที่คนรอบตัวจะหามาให้ทานตามความต้องการทุกครั้ง ในหลายครั้งก็อาจมีปริมาณมากเสียจนเกินไป จริง ๆ แล้วการกระทำแบบนี้ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง เนื่องจากสารอาหารที่คุณแม่ควรได้รับ ก็ไม่ต่างจากคนทั่วไปเท่าไหร่นัก นั่นคือยึดหลักง่าย ๆ แต่ทำได้ยาก “ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่” และให้ความสำคัญกับสารอาหารบางประเภทที่สำคัญกับคนท้อง เช่น โฟลิก เป็นต้น

เนื่องจากการทานอาหารที่มีรสชาติอร่อยแต่มีสารอาหารไม่ครบถ้วน มักจะมีแต่น้ำตาล และคาร์โบไฮเดรต ตามขนมต่าง ๆ ซึ่งสารอาหารเหล่านี้ไม่สามารถส่งต่อสู่ทารกในครรภ์ได้ดีเพียงพอ ในทางตรงกันข้ามจะยิ่งทำให้คุณแม่มีน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นจนเสี่ยงโรคอ้วน หรือโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ด้วยนั่นเอง

บทความที่เกี่ยวข้อง : โฟลิก สำคัญต่อคุณแม่ตั้งครรภ์อย่างไร? คนท้องเริ่มกินโฟลิกได้ตอนไหน

คนท้องควรมีน้ำหนักเท่าไหร่จึงเรียกว่า “ไม่อ้วน”

เมื่อแม่ท้องต้องทานอาหารมากขึ้นกว่าปกติ จะให้น้ำหนักเท่าเดิมคงเป็นไปไม่ได้ เป็นเรื่องธรรมดาที่น้ำหนักจะต้องขึ้น แต่ควรรักษาน้ำหนักให้ขึ้นไปตามเกณฑ์ที่ถูกต้องตาม BMI ดังนี้

  • น้ำหนักตัวน้อย (ค่า BMI < 18.5) ปกติแล้วจะมีน้ำหนักขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ 15-18 กิโลกรัม
  • ในกลุ่มน้ำหนักตัวปานกลาง (ค่า BMI 18.5 – 22.90) จะมีน้ำหนักขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ 12-15 กิโลกรัม
  • คุณแม่ที่มีน้ำหนักตัวมาก (BMI 23 – 24.90 ขึ้นไป) ไม่ควรมีน้ำหนักขึ้นในช่วงตั้งครรภ์เกิน 10 กิโลกรัม


โดยน้ำหนักของคุณแม่จะค่อย ๆ ลดลงไปเองหลังจากคลอดลูกน้อย และจะลดลงอย่างรวดเร็วมากขึ้นในช่วงที่ให้นมลูก เนื่องจากจะมีการใช้พลังงานที่เพิ่มมากขึ้น

คนท้อง กินเยอะ


คนท้องกินอย่างไรให้ไม่อ้วน ?

  • เน้นทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นโปรตีน และวิตามินจากผักและผลไม้
  • หากคุณแม่ชอบทานจริง ๆ ให้ควบคุมปริมาณให้น้อยลง
  • ทานเมนูอาหารที่มีประโยชน์และช่วยลดอาการหิวได้ดี เช่น ปลาแซลมอน, อะโวคาโด, อัลมอนด์ และไข่ไก่ เป็นต้น
  • หากทานอาหาร 3 มื้อแล้วยังรู้สึกหิว ให้แบ่งทานเป็นมื้อย่อย 5-6 มื้อ / วัน จะช่วยบรรเทาความอยากอาหารได้ดี
  • เพิ่มทางเลือกในการทานอาหารมากขึ้น เช่น เตรียมอาหาร ขนมเพื่อสุขภาพ สำหรับการทานแก้หิว พยายามเลือกขนมที่ผลิตมาจากผลไม้ เช่น ผลไม้อบแห้ง หรือแคร็กเกอร์ที่ทำจากธัญพืช เป็นต้น
  • ออกกำลังกายเพื่อเผาผลาญพลังงาน การออกกำลังกายที่คนท้องสามารถทำได้ เช่น การเล่นโยคะ หรือว่ายน้ำ เป็นต้น เลี่ยงการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ, แอโรบิก และวิ่ง ก่อนตัดสินใจควรปรึกษาแพทย์ เพราะยังต้องมีเรื่องที่ต้องระวัง และคำนึงด้านความปลอดภัยด้วย


แม่ท้องอาจมีความต้องการทานอาหารที่มากขึ้น และอาจต้องการเมนูอาหารที่ไม่ค่อยมีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่คนรอบตัวและคุณแม่เองต้องตระหนักถึงประโยชน์ และความสมบูรณ์ของสารอาหารต่อทารกในครรภ์ด้วยเสมอ

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

โยคะคนท้อง ดีต่อคุณแม่อย่างไร ช่วยให้คลอดลูกง่ายจริงไหม?

คนท้องปวดหลัง อันตรายไหม บรรเทาอาการด้วยวิธีใดได้บ้าง?

5 วิธีแก้คลื่นไส้อาเจียน ปัญหาน่าปวดหัวของคุณแม่ตั้งครรภ์

ที่มา : 1 2 3