หลังจากคลอดลูก ร่างกายคุณแม่อาจต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ อย่าง หนึ่งในนั้นคือ น้ำคาวปลา ซึ่งเป็นอาการที่มีของเหลวถูกขับออกมาจากช่องคลอด คุณแม่มือใหม่หลายคนอาจสงสัย และกังวลใจว่าน้ำคาวปลาเกิดจากอะไร กี่วันถึงจะหาย และดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อมีน้ำคาวปลา อย่าพึ่งตกใจไปนะคะ วันนี้ Mama Story จะพาคุณแม่ไปทำความรู้จักกับอาการ น้ำคาวปลาหลังคลอดค่ะ ถ้าพร้อมแล้ว ไปดูกันเลย
น้ำคาวปลาคืออะไร?
น้ำคาวปลา (Lochia) คือ เลือด และเศษเนื้อเยื่อที่ถูกขับออกมาจากช่องคลอดหลังจากคลอดลูก มีลักษณะคล้ายกับประจำเดือน และอาจมีกลิ่นเหม็นอับ คุณแม่หลายคนอาจต้องเผชิญกับอาการนี้หลังจากที่คลอดลูก โดยปริมาณน้ำคาวปลาที่ถูกขับออกมา จะขึ้นอยู่วิธีการคลอด และปัจจัยต่าง ๆ ของร่างกายคุณแม่ ซึ่งน้ำคาวปลามักจะไหลออกมาทันทีหลังคลอด และไหลออกมาเป็นระยะต่อไปอีกประมาณ 4-6 สัปดาห์หลังคลอด ดังนั้นคุณแม่จึงควรดูแลรักษาความสะอาดให้มากขึ้น เพื่อป้องกันการติดเชื้อ และปัญหาสุขภาพที่อาจตามมาได้
ลักษณะของน้ำคาวปลา
โดยทั่วไปแล้ว น้ำคาวปลาสามารถแบ่งออกได้ 3 ระยะ ซึ่งจะมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้
- น้ำคาวปลาแดง : จะเกิดขึ้นหลังจากคลอดลูก 3-5 วัน โดยจะมีสีแดงคล้ำ เพราะเป็นส่วนของเลือด และเศษเนื้อเยื่อ
- น้ำคาวปลาเหลืองใส : มักเกิดขึ้นหลังจากน้ำคาวปลาแดงประมาณ 10 วันหลังคลอดลูก โดยจะมีสีชมพูไปจนถึงสีเหลืองใส ซึ่งน้ำคาวปลาในช่วงนี้จะเป็นส่วนน้ำเหลือ เยื่อเมือก เม็ดเลือดแดง และเม็ดเลือดขาว
- น้ำคาวปลาขาว : เกิดขึ้นหลังจากน้ำคาวปลาเหลืองใส โดยสีของน้ำคาวปลาขาวจะเป็นสีเหลืองขุ่น ไปจนถึงสีขาว โดยจะเป็นส่วนของเม็ดเลือดแดงน้อย เม็ดเลือดขาว เมือก ไขมัน และเซลล์เยื่อบุช่องคลอด
บทความที่เกี่ยวข้อง : ตกเลือดหลังคลอด อันตรายไหม ป้องกันได้อย่างไรบ้าง?
น้ำคาวปลาต่างจากประจำเดือนอย่างไร?
แม้ว่าน้ำคาวปลาจะมีลักษณะคล้ายกับประจำเดือน แต่จริง ๆ แล้วก็ของเหลวทั้งสองอย่างนี้ ก็มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน เนื่องจากเลือด และมูกที่ไหลออกมาจากช่องคลอดนั้น ไม่ได้เกิดจากการมีรอบเดือน และเกิดจากการคลอดลูก รวมทั้งน้ำคาวปลา ยังไหลออกมามากกว่าประจำเดือน และมีระยะเวลาในการหลั่งนานกว่าประจำเดือน ทำให้ทั้งสองอย่างนี้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง นอกจากนี้ น้ำคาวปลายังมีเศษของเนื้อเยื่อ หรือรกที่อาจไหลออกมาด้วย ขณะที่เลือดประจำเดือนไม่มีเนื้อเยื่อเหล่านี้ไหลออกมา ทั้งสองเหล่านี้จึงมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดค่ะ
เมื่อไหร่น้ำคาวปลาจะหายไป?
โดยปกติแล้ว น้ำคาวปลามักจะไหลออกมาทันทีหลังคลอด และจะเริ่มหลั่งหลังจากคลอดลูกแล้ว 3 วัน จากนั้นจะมีการขับออกมาเรื่อย ๆ จนครบ 6 สัปดาห์ แต่ก็อาจมีปัจจัยบางอย่างที่ทำให้น้ำคาวปลา ขับออกมามากกว่าปกติในบางช่วง โดยคุณแม่สามารถสังเกตได้จากช่วงเวลา ดังต่อไปนี้
- ตอนตื่นนอน
- ออกกำลังกาย
- ปัสสาวะ หรืออุจจาระ
- ขณะในนมลูก ซึ่งเป็นช่วงที่ร่างกายผลิตฮอร์โมนออกซิโทซิน (Oxytocin) ออกมา ทำให้กระตุ้นการหดตัวของมดลูก
นอกจากนี้ คุณแม่อาจพบลิ่มเลือดก้อนเล็ก ๆ ปนออกมากับน้ำคาวปลา แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวล ดังนั้นคุณแม่จึงควรระวัง และหมั่นสังเกตอาการตัวเองอยู่ตลอดเวลา เพราะความผิดปกติจากน้ำคาวปลานั้น อาจเป็นสัญญาณของการตกเลือด หรือการติดเชื้อก็ได้
วิธีดูแลตัวเองเมื่อมีน้ำคาวปลา
หากคุณแม่พบว่ามีน้ำคาวปลาไหลออกมาหลังจากคลอดลูก คุณแม่สามารถดูแลตัวเองง่าย ๆ ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- อาบน้ำอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง เป็นประจำ
- ปัสสาวะให้บ่อยขึ้น แม้จะไม่รู้สึกปวดปัสสาวะก็ตาม
- ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังเปลี่ยนผ้าอนามัย เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- หากคุณมีแผลฝีเย็บ ควรดูแลบริเวณแผลเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- ใช้ผ้าอนามัยแผนใหญ่พิเศษ เพราะในช่วงแรกน้ำคาวปลาจะไหลออกมามาก
- ซื้อผ้าอนามัยเตรียมไว้ หรือเปลี่ยนไปใช้ผ้าอนามัยสำหรับคุณแม่หลังคลอดโดยเฉพาะ
- งดการใช้ผ้าอนามัยแบบสอด หรือถ้วยอนามัยจนกว่าจะถึงเวลานัดตรวจหลังคลอด เพราะอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
คุณแม่ควรใช้ยาขับน้ำคาวปลาไหม?
คุณแม่บางคนอาจมีความกังวลใจมาก และอยากกินยาขับน้ำคาวปลา แต่ก็ไม่แน่ใจว่าควรกินยาไหม อย่างไรก็ตาม น้ำคาวปลามีกระบวนการหลั่ง และขับออกมาตามธรรมชาติ คุณแม่ไม่จำเป็นต้องกินยาขับ เพราะไม่มียาใดที่ใช้ขับน้ำคาวปลาโดยตรง ยิ่งไปกว่านั้น หากคุณแม่กินยาเหล่านั้นเข้าไป ก็อาจส่งผลต่อการผลิตน้ำนมของคุณแม่ได้ อาจส่งผลให้เสียต่อลูกน้อยที่กินนมแม่ ดังนั้น หากคุณแม่จะใช้ยาขับน้ำคาวปลา ควรปรึกษากับแพทย์ก่อนเพื่อความปลอดภัยของร่างกายค่ะ
น้ำยาปลายังไม่หาย มีเพศสัมพันธ์ได้ไหม?
โดยปกติแล้ว แพทย์จะแนะนำให้คุณแม่มีเพศสัมพันธ์หลังคลอดหลังจาก 4-6 สัปดาห์หลังคลอด เพื่อให้แผลผ่าคลอดได้แห้งสนิท และให้คุณแม่ได้มีเวลาพักฟื้นมากขึ้น ดังนั้นในช่วงหลังคลอด คุณแม่จึงควรงดการมีเพศสัมพันธ์ไปก่อน เพื่อให้ร่างกายได้ขับน้ำคาวปลาออกมาจนหมด หากคุณแม่มีเพศสัมพันธ์ในช่วงที่น้ำคาวปลาหลั่งออกมานั้น ก็อาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อที่เป็นอันตรายได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : อยู่ไฟหลังคลอดคืออะไร ยังจำเป็นอยู่ไหมสำหรับคุณแม่ยุคใหม่ ?
เมื่อไหร่ที่ควรไปพบแพทย์?
หากคุณแม่มีอาการผิดปกติเกี่ยวกับน้ำคาวปลา หรือมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยต่อไป โดยอาการผิดปกติที่มักปรากฏกับน้ำคาวปลานั้น มีดังนี้
- ตาพร่ามัว ใจสั่น
- อ่อนแรง หน้ามืด
- น้ำคาวปลามีกลิ่นเหม็นรุนแรง
- เป็นไข้ หรือปวดท้องบริเวณส่วนล่าง
- น้ำคาวปลาไหลออกมาเรื่อย ๆ เกิน 6 สัปดาห์
- หัวใจเต้นผิดปกติ วิงเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม
- น้ำคาวปลากลับมาเป็นสีแดงสดหลังจากเริ่มจางได้ 2-3 วัน
- น้ำคาวปลามีลิ่มเลือดขนาดใหญ่ไหลออกมานานหลายชั่วโมง
- น้ำคาวปลาไหลออกมามากจนต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยทุกชั่วโมง
หากคุณแม่มีน้ำคาวปลาหลังคลอด ไม่ควรตกใจไปนะคะ เพราะอาการเหล่านี้ เป็นอาการปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้หลังคลอด แต่หากคุณแม่พบว่าน้ำคาวปลามีปริมาณมาก มีกลิ่นเหม็น หรือมีลิ่มเลือดใหญ่ปนอ่อนมาด้วย ควรรีบไปเข้าพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ นอกจากนี้ ในช่วงที่คุณแม่มีน้ำคาวปลา ควรรักษาความสะอาดเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันการติดเชื้อหลังคลอด
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
คลอดลูกในน้ำ ดีอย่างไร ช่วยให้คลอดลูกง่ายจริงไหม?
ผมร่วงหลังคลอด รักษาอย่างไร ทำไมคุณแม่ผมร่วงหลังคลอดลูก?
ท้องผูกหลังคลอด เกิดจากอะไร คุณแม่รับมือการอาการนี้ได้อย่างไรบ้าง?