อาการชักในเด็ก จากอาการไข้ รับมืออย่างไรให้ลูกปลอดภัย

อาการชักในเด็กเล็ก มีโอกาสพบได้เมื่อมีไข้ขึ้นสูง ถึงแม้จะเป็นอาการที่น่าเป็นห่วง แต่อาการมักเกิดในระยะสั้น ๆ หากมากกว่านั้นอาจเป็นสัญญาณ 

 1221 views

อาการชักในเด็กเล็ก มีโอกาสพบได้เมื่อมีไข้ขึ้นสูง ถึงแม้จะเป็นอาการที่น่าเป็นห่วง แต่อาการมักเกิดในระยะสั้น ๆ หากมากกว่านั้นอาจเป็นสัญญาณของโรคอื่น และการชักทั่วไป ไม่ได้ส่งผลเสียต่อพัฒนาการของเด็ก อย่างไรก็ตามการดูแลเด็กเมื่อเด็กชัก ต้องทำอย่างถูกต้อง และปลอดภัย เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายที่มากขึ้นกว่าเดิม

ทำไมลูกน้อยจึงมีอาการชัก ?

อาการนี้พบได้ในเด็กเล็กโดยเฉพาะอายุช่วง 6 เดือน – 5 ปี มีโอกาส 3 % ที่จะมีการชักเกิดขึ้น หากมีไข้ขึ้นสูงในช่วงอายุนี้ โดยจะมีการชักทั้งตัว หรือชักกระตุก และอาการจะเป็นอยู่ไม่เกิน 5 นาที ก่อนจะหยุดไปเอง แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจทำให้เด็กชักได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น ร่างกายขาดเกลือแร่, ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ, ติดเชื้อของระบบประสาท, เกิดการกระทบกระเทือนที่บริเวณศีรษะ หรือเป็นโรคลมชัก เป็นต้น

วิดีโอจาก : Mahidol Channel มหิดล แชนแนล

อาการไข้เป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ลูกชัก

เมื่อเด็กมีไข้ขึ้นสูง ควรรีบเข้าไปดูแลให้ไข้บรรเทาลงโดยเร็ว เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เด็กชัก ควรหมั่นวัดอุณหภูมิระหว่างดูแลลูกไม่ควรเกิน 37.2 องศาเซลเซียส ส่วนการช่วยลดไข้ให้ลูกน้อยนั้นสามารถทำได้โดยการเช็ดตัวให้ลูกด้วยผ้าชุบน้ำอุ่นหมาด ๆ เช็ดตัวเน้นมากขึ้น เพื่อให้เส้นเลือดขยายตัว เช็ดเรื่อย ๆ ประกอบกับให้ลูกทานยาลดไข้ทุก 4 ชั่วโมง

ทั้งนี้หากเด็กมีอาการชักขึ้นมาจะหายได้เองใน 5 นาที แต่อาจเกิดการชักขึ้นซ้ำได้อีก และหากชักนาน 15 นาที ขึ้นไป อาจเป็นสัญญาณของโรคลมชัก จึงควรพาลูกไปพบแพทย์ทันที ไม่ว่าจะชักกี่นาทีก็ตาม

บทความที่เกี่ยวข้อง : โรคไข้หวัดใหญ่ เกิดจากอะไร ป้องกันอย่างไรให้ห่างไกลจากโรค ?

เมื่อลูกมีอาการชักควรทำอย่างไร ?

  • จับตัวเด็กให้นอนตะแคงซ้าย หันศีรษะไปด้านใดด้านหนึ่ง บนพื้นที่ราบ ช่วยให้เด็กหายใจได้สะดวกมากขึ้น ป้องกันการสำลักอาหาร หรือสำลักน้ำลาย
  • สังเกตเสื้อผ้าที่เด็กสวมใส่ หากสังเกตว่ามีการรัดรูปมาก อาจทำให้หายใจไม่สะดวก ควรปลดให้หลวมขึ้น
  • ห้ามใช้วัตถุใด ๆ หรือนิ้วในการงัดบริเวณปากของเด็กเด็ดขาด ไม่ควรป้อนน้ำ หรือยาใด ๆ หากเด็กไม่รู้สึกตัว
  • พยายามเช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะบริเวณข้อพับ เช็ดลูบเข้าหาหัวใจ จะช่วยลดอาการไข้ได้เป็นอย่างดี
  • จดจำรูปแบบการชักของลูก เช่น ชักประมาณกี่นาที ตอนชักตื่นหรือหลับ มีอาการตรงจุดไหนเป็นพิเศษหรือไม่ หรือหากสะดวกควรถ่ายวิดีโอไว้ จะสามารถช่วยให้แพทย์วินิจฉัยได้ง่ายขึ้น
  • การนำตัวส่งโรงพยาบาลควรคำนึงถึงความรวดเร็ว ให้เลือกโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด นอกจากนี้อาการอาจมีระยะเวลาไม่นานแล้วหาย ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ ถึงหายแล้วก็ควรพาไปพบแพทย์โดยเร็ว


ทำอย่างไรไม่ให้ลูกมีอาการชักซ้ำ กลัวส่งผลต่อสมอง ?

เมื่อเกิดการชักแล้วหยุดไป อาจเกิดการชักซ้ำได้ การป้องกันอาการชักซ้ำ กรณียังพาลูกไปพบแพทย์ไม่ได้ด้วยเหตุใด ๆ ก็ตาม หรือกำลังเดินทางอยู่ ต้องให้ลูกทานยาในตอนที่ยังมีสติเท่านั้น ทุก 4 ชั่วโมง ประกอบกับคอยเช็ดตัว เป้าหมาย คือ ให้ไข้ของลูกน้อยลดลง จึงควรต้องสลับกันดูแลลูกระหว่างที่กำลังช่วยให้ไข้ลดลง นอกจากนี้ยังมีผู้ปกครองเข้าใจว่าเด็กเล็กชักบ่อย จะทำให้สมองเสียหายจนกลายเป็นโรคปัญญาอ่อนได้ ซึ่งไม่เป็นความจริง การที่เด็กชักไม่ได้ทำให้สมองเสียหายจนปัญญาอ่อน เพราะเมื่อหายแล้ว อาการของเด็กจะปกติ ไม่ได้มีผลกระทบอะไร หากรักษา และปฐมพยาบาลอย่างถูกต้อง

ถึงแม้จะไม่ได้ส่งผลใดต่อสมอง แต่การตรวจการทำงานของสมองก็เป็นสิ่งที่ควรทำผ่านการตรวจสุขภาพ ผู้ปกครองอาจปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจที่เหมาะสม โดยส่วนมากแล้วมักจะเป็นการตรวจด้วย Electroencephalography (EEG) ซึ่งเป็นการการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง

อาการชัก


สิ่งที่ไม่ควรทำหากลูกกำลังชัก

  • ห้ามทำการเขย่าตัวเด็ก กรณีเด็กหมดสติ เพราะต้องการให้เด็กตื่นจากการชัก และไม่ควรงัดดึงแขน / ขาเด็ก อาจทำให้เกิดอาการบาดเจ็บได้
  • ห้ามนำช้อนมางัดปากเด็กเด็ดขาด เพราะของแข็ง อาจทำให้ฟันของเด็กหัก และหลุดเข้าหลอดลมได้ อาจเป็นสาเหตุที่รุนแรงที่สุดถึงขั้นเสียชีวิตได้
  • หากไม่จำเป็นไม่ควรป้อนยาระหว่างชัก เพราะมีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้เด็กมีอาการสำลัก ทำให้อาการของเด็กแย่ขึ้นได้


อันตรายจากการชักที่ต้องระวัง

การชักทั้งตัว และมีอาการหมดสติร่วมด้วย มีความเสี่ยงที่จะเกิดการสำลัก หรือมีอาการอุดตันหลอดลม ทำให้สมองขาดออกซิเจนได้ ทำให้สมองเสียหายในเวลาต่อมา เมื่อเด็กชักทั้งตัวมีโอกาสค่อนข้างน้อย ที่เด็กจะกัดลิ้นตัวเอง ซึ่งในสื่อ เช่น ภาพยนตร์ หรือคลิปวิดีโอทั่วไปที่มักหาช้อนมาให้เด็กกัดแทนลิ้นตนเอง หรือเอามืองัดปาก ถือว่าเป็นการกระทำที่เสี่ยงมาก ตามที่กล่าวไป เพราะอาจเพิ่มโอกาสต่อการเกิดอันตรายได้มากขึ้นไปอีก

เมื่อลูกน้อยมีอาการไข้ แม้เพียงน้อยนิด ต้องรีบหาทางบรรเทาอาการไข้ทันที วิธีนี้ถือว่าดีที่สุดที่จะทำให้ลูกไม่ชักจากอาการไข้สูง ทำให้ลดอาการเสี่ยงอื่น ๆ ที่ร้ายแรง อันเกิดจากการชักได้ด้วย

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

โรคคอตีบ คืออะไร ป้องกันลูกน้อยอย่างไรให้ห่างไกลจากโรค?

ตาแดง เกิดจากอะไร คุณแม่รับมืออย่างไรเมื่อลูกมีอาการตาแดง?

ทารก “ท้องอืด” เกิดจากสาเหตุใด คุณแม่รับมือกับอาการนี้ได้อย่างไรบ้าง?

ที่มา : 1, 2, 3, 4