โรคเบาหวาน (Diabetes) สาเหตุ อาการ และความเชื่อผิด ๆ

เมื่อพูดถึงการเจ็บป่วย หนึ่งในโรคที่หลายคนได้ยินชื่อบ่อยก็คือ โรคเบาหวาน (Diabetes) หนึ่งในโรคที่มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว วันนี้ Mamastory  

 968 views

เมื่อพูดถึงการเจ็บป่วย หนึ่งในโรคที่หลายคนได้ยินชื่อบ่อยก็คือ โรคเบาหวาน (Diabetes) หนึ่งในโรคที่มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว วันนี้ Mamastory จะพาทุกคนไปรู้จักกับโรคนี้ให้เพิ่มขึ้นค่ะ !

โรคเบาหวาน คืออะไร ?

โรคเบาหวาน (Diabetes) คือโรคที่เกิดจากความผิดปกติในร่างกาย จากการทำงานของฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ที่มนุษย์ควรต้องมีในร่างกาย เพื่อนำน้ำตาลในกระแสเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนอื่น ซึ่งในปัจจุบันมีจำนวนผู้ป่วยเบาหวานเพิ่มขึ้นทั่วโลกอย่างรวดเร็ว วงการแพทย์เห็นข้อเท็จจริงที่ว่า เบาหวานสามารถป้องกันได้ จึงเริ่มมีการปรับมุมมองว่า ไม่จำเป็นต้องรักษาอย่างเดียว หากมีการป้องกันความเสี่ยงที่ดีพร้อม

เมื่อร่างกายเกิดภาวะดื้ออินซูลิน ทำให้กระบวนการดูดซึมน้ำตาลในกระแสเลือด ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จนเกิดเป็นการที่มีน้ำตาลสะสมในเลือดปริมาณสูง จนทำให้ไตไม่สามารถดูดน้ำตาลได้หมด จึงกลายเป็นโรคเบาหวานในที่สุด หากปล่อยไว้จนนานเกินไป และไม่ได้รับการรักษาที่ถูกวิธี จะส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงได้

ในประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยโรคเบาหวาน ที่มีแนวโน้มจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยคาดว่าผู้ป่วยรายใหม่ของโรคเบาหวาน อาจจะมีจำนวนมากถึงปีละ 3 แสนคน และในกลุ่มคนที่อายุยังน้อย หรือกลุ่มที่อายุ 15 ปีขึ้นไป ก็มีโอกาสที่จะป่วยเป็นโรคเบาหวาน ในจำนวนที่มากขึ้นด้วย

โรคเบาหวาน



สาเหตุของโรคเบาหวาน

ซึ่งโรคเบาหวานมีหลายประเภท แบ่งออกได้ถึง 4 ชนิด โดยส่วนใหญ่แล้วการที่ผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน อาจมาจากสาเหตุที่มีคนในครอบครัว มีประวัติป่วยเป็นโรคเบาหวานมาก่อน อีกทั้งในผู้ที่อายุ 45 ปีขึ้นไป ที่มีน้ำหนักตัวมาก ก็อาจเป็นโรคเบาหวานได้เช่นกัน รวมไปถึงผู้ที่มีทานอาหารไม่มีประโยชน์ ไม่ออกกำลังกาย รวมไปถึงผู้ที่มีปัญหาเรื่องความดันโลหิตสูง หรือไขมันในเลือดสูง ก็อาจเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานได้เช่นกัน

ประเภทของโรคเบาหวาน

  • เบาหวานชนิดที่ 1 : เป็นอาการที่เกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยที่ตับอ่อนไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้ ทำให้เกิดภาวะขาดอินซูลิน
  • เบาหวานชนิดที่ 2 : มักเป็นอาการป่วยเบาหวาน ที่มาจากกรรมพันธุ์ โดยที่ร่างกายเกิดภาวะการลดลงของการสร้างอินซูลิน มีอาการร่วมกับภาวะดื้ออินซูลิน จนป่วยเป็นเบาหวานในที่สุด
  • เบาหวานขณะตั้งครรภ์ : เป็นโรคเบาหวานที่พัฒนาขึ้นขณะที่ตั้งครรภ์ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน โดยจะหายไปหลังจากการคลอดลูก ซึ่งมีโอกาสที่จะพัฒนาเป็นกรรมพันธุ์สู่ลูกในอนาคต
  • เบาหวานชนิดพิเศษ : สาเหตุของชนิดนี้ อาจเกิดจากการทำงานผิดปกติของตับอ่อน หรือเนื่องจากการทำงานที่ผิดปกติของอินซูลินตั้งแต่เกิด เป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อย



นอกจากนี้ยังมีโรคเบาหวานที่สามารถพบได้ แต่ไม่บ่อยอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น โรคเบาหวานที่เกิดจากกรรมพันธุ์แบบโมโนเนจิด และเบาหวานจากการรักษาโรคอื่นด้วยยา รวมไปถึงการป่วยเบาหวานเพราะโรคอื่น ๆ อีกด้วย

อาการของโรคเบาหวาน

เบาหวานในระยะแรกจะไม่แสดงอาการผิดปกติ บางรายอาจตรวจพบโรคเมื่อพบภาวะแทรกซ้อนแล้ว อาการของเบาหวานแต่ละชนิดอาจคล้ายกัน คือ กระหายน้ำมาก ปากแห้ง ปัสสาวะบ่อย หิวบ่อย น้ำหนักลดหรือเพิ่มผิดปกติ สายตาพร่ามัว เห็นภาพไม่ชัด เหนื่อยง่าย ชาที่มือและขา

เบาหวานที่พบได้บ่อยที่สุด คือเบาหวานชนิดที่ 2 ที่เกิดจากกรรมพันธุ์และการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งมักเกิดในกลุ่มคนที่มีอายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไป อย่างไรก็ตามปัจจุบันพบว่า โรคเบาหวานเกิดในกลุ่มคนที่มีอายุน้อยลงเรื่อย ๆ เช่น อายุ 20-30 ปี ที่สัมพันธ์กับการรับประทานอาหาร หรือการออกกำลังกายที่ลดลง

ดังนั้นการควบคุมเบาหวานให้อยู่ในระดับปกติจึงมีความสำคัญ มากรวมถึงการค้นหาโรคเบาหวานในกลุ่มเสี่ยง เพื่อป้องกันและรักษา ทั้งนี้อาการของโรคเบาหวานประเภทที่ 1 จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่โรคเบาหวานประเภทที่ 2 จะแสดงอาการค่อยเป็นค่อยไป ส่วนเบาหวานขณะตั้งครรภ์ มักเกิดขึ้นในช่วงอายุครรภ์ประมาณ 24-28 สัปดาห์

โรคเบาหวาน



ปัจจัยเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน

  1. ประวัติครอบครัวเป็นเบาหวาน
  2. น้ำหนักเกินหรืออ้วน
  3. ไขมันในเลือดสูง
  4. ความดันโลหิตสูง
  5. ประวัติเบาหวานขณะตั้งครรภ์
  6. ประวัติคลอดบุตรน้ำหนักเกิน 4 กิโลกรัม
  7. ความผิดปกติของฮอร์โมน ที่ทำให้ไม่มีการตกไข่ตามรอบเดือน
  8. อายุเพิ่มขึ้น

บทความที่เกี่ยวข้อง : เบาหวานขณะตั้งครรภ์ อันตรายอย่างไร เสี่ยงต่อลูกในท้องหรือไม่?



การรักษาโรคเบาหวาน

การรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานของแต่ละประเภท จะมีลักษณะที่ต่างออกไป สำหรับผู้ป่วยประเภทที่ 1 จำเป็นต้องได้รับการฉีดอินซูลินเข้าไปทดแทน ควบคู่กับการออกกำลังกายและการคุมอาหาร

ส่วนผู้ป่วยประเภทที่ 2 ในระยะแรก สามารถรักษาได้ด้วยการคุมอาหาร ออกกำลัง และคุมน้ำหนัก แต่ถ้าหาไม่ดีขึ้นอาจจะต้องได้รับยา หรือฉีดอินซูลินทดแทน

ในขณะเดียวกันแม่ท้องที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ จะได้รับการควบคุมอาหารตั้งแต่ครั้งแรก ในการฝากครรภ์กับแพทย์ พร้อมทั้งคำแนะนำในการออกกำลังกาย เพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นเบาหวานในระยะยาว

ภาวะแทรกซ้อนในโรคเบาหวาน

เมื่อภาวะน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ อาจจะส่งผลให้คนไข้มีภาวะอักเสบ หรือภาวะหลอดเลือดอุดตันได้ง่ายกว่าคนทั่วไป อีกทั้งยังส่งผลถึงภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยอาจส่งผลให้เกิดภาวะติดเชื้อ หรือภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย ซึ่งสามารถแบ่งภาวะแทรกซ้อนที่สามารถพบได้บ่อย ดังนี้

1. ภาวะแทรกซ้อนทางตา

โดยที่รู้จักกันในชื่อ “เบาหวานขึ้นตา” เป็นภาวะที่น้ำตาลในเลือดสูง จนส่งผลต่อจอประสาทตา และเกิดอาการเสื่อ หากปล่อยไว้ไม่ได้รักษา อาจทำให้เกิดจอประสาทตาลอกและตาบอดได้ในที่สุด และยังเสี่ยงต่อภาวะต้อกระจก และต้อหินได้มากกว่าคนทั่วไป

2.ภาวะแทรกซ้อนทางไต

หรือที่เรียกว่า “เบาหวานลงไต” โดยในระยะแรกไตจะทำงานหนักขึ้น เพราะน้ำตาลในเลือดที่สูง และแรงดันเลือดที่ส่งไปยังไตสูงขึ้นตาม ในระยะนี้อาจจะยังไม่พบความผิดปกติที่ออกมาพร้อมกับปัสสาวะ แต่เมื่อเวลาผ่านไปอาจจะเริ่มพบ และไตมีการทำงานลดลง จนอาจเกิดเป็นภาวะไตวายเรื้อรัง จนต้องรักษาด้วยการล้างไตในที่สุด

3. ภาวะแทรกซ้อนทางเส้นประสาท

มักเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย เนื่องจากผู้ป่วยมีอาการชา ตามปลายมือและปลายเท้า บางรายอาจจะรู้สึกเหมือนมีเข็มทิ่มตลอดเวลา นอกจากนี้ยังรวมถึงการที่เหงื่อไม่ค่อยออก หรือออกง่ายกว่าปกติด้วย

4. เส้นเลือดแดงใหญ่อุดตัน

อาการนี้มักจะพบและเกิดขึ้นที่บริเวณขา โดยมีอาการปวดขามากเมื่อเดินหรือวิ่ง และจะดีขึ้นเมื่อได้พัก หากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษา อาจจะทำให้เกิดภาวะเส้นเลือดอุดตัน จนปลายเท้าขาดเลือด หากเกิดการติดเชื้อ และอาจต้องตัดทิ้งในที่สุด

5. เส้นเลือดหัวใจตีบ

เป็นภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่พบได้บ่อย ในกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน เมื่อเส้นเลือดที่เลี้ยงหัวใจตีบ จะส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรืออาจทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย เมื่อการบีบตัวลดลง อาจเกิดอาการหัวใจวาย เต้นผิดจังหวะ หรือเสียชีวิตฉับพลันได้

6. เส้นเลือดสมองตีบ

เป็นอีกหนึ่งภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เมื่อเกิดภาวะเส้นเลือดสมองตีบ จะส่งผลทำให้การทำงานของสมองลดลง หรือไม่ทำงาน และอาจส่งผลให้เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด หรือมีอาการชาครึ่งซีก



โรคเบาหวาน



ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับโรคเบาหวาน

  1. กินอาหารรสหวาน ไม่ได้ทำให้เป็นเบาหวานเสมอไป แต่ของหวานเป็นปัจจัยที่จะทำให้น้ำหนักตัวเพิ่ม ที่อาจเสี่ยงต่อภาวะดื้ออินซูลิน แต่ถ้ากินในปริมาณพอดีและออกกำลังกาย ก็จะสามารถป้องกันได้ในระดับหนึ่ง
  2. เบาหวานเป็นหนึ่งในโรคทางกรรมพันธุ์ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็น แต่ถ้าหากมีปัจจัยเสี่ยงสูง ก็อาจจะเป็นได้เช่นกัน เช่น กินอาหารที่มีแต่น้ำตาลและไขมันสูง ร่วมกับการปล่อยให้น้ำหนักตัวมาก ไม่ออกกำลังกาย และคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรค ก็อาจจะเป็นเบาหวานได้
  3. เบาหวาน ไม่ได้เป็นแค่ในเฉพาะผู้สูงอายุเท่านั้น แต่เบาหวานสามารถพบได้ในทุกช่วงอายุ



การป้องกันโรคเบาหวาน

เริ่มต้นจากการระวังระดับน้ำตาลในเลือด และรักษาในคอเลสเตอรอลให้อยู่ในระดับปกติ เน้นการกินอาหารที่มีประโยชน์ มีสารอาหารที่ครบถ้วน เลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ก็จะช่วยในการควบคุมระดับน้ำตาลได้ดี

โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรัง ที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ในกลุ่มผู้ป่วยที่เพิ่งเป็นได้ไม่นาน แต่มีผลข้างเคียงที่ไม่สามารถทำได้ทุกคน การรักษาเบาหวานด้วยการผ่าตัดให้หายขาด จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์เท่านั้น แม้จะเป็นโรคที่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ในร่างกาย แต่ถ้าหากผู้ป่วยทำความเข้าใจ และให้ความร่วมมือในการรักษา ก็จะสามารถช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หรือมีความใกล้เคียงกับผู้ที่ไม่ป่วย และไม่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตฉับพลันได้ค่ะ

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

เกล็ดเลือดต่ำระหว่างตั้งครรภ์ อันตรายที่ต้องควรระวัง หากเจอช้าแม่ท้องเสี่ยงเสียชีวิต !

กรดไหลย้อน (GERD) อาการอันตรายที่ควรต้องรู้ เพราะเกิดหลังการทานอาหาร !

น้ำตาลในเลือดสูง รับมืออย่างไร! สัญญาณสู่เบาหวานขณะตั้งครรภ์

ที่มา : 1