เพราะในระหว่างการตั้งครรภ์ มีอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับแม่ท้องได้หลายอย่าง ตั้งแต่เรื่องอาหาร ภาวะแทรกซ้อน การออกกำลังกาย แต่สิ่งที่น่าห่วงที่สุดก็คือภาวะ เกล็ดเลือดต่ำระหว่างตั้งครรภ์ ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้กับแม่ท้อง หากตรวจเจอได้ช้ายิ่งอันตรายสูง
วันนี้ Mamastory จะพาไปดูเรื่องราวเกี่ยวกับภาวะแทรกซ้อนดังกล่าว แม่ท้องควรจะทำอย่างไรเมื่อตรวจเจอ หรือมีอาการใดบ้างที่เป็นสัญญาณเตือนได้ มาดูไปพร้อม ๆ กันค่ะ
เกล็ดเลือดต่ำระหว่างตั้งครรภ์ คืออะไร ?
เกล็ดเลือดคือส่วนหนึ่งของเลือด ทำหน้าที่ไม่ให้เลือดออกได้ง่าย แต่ถ้าหากคุณแม่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ก็จะทำให้เสี่ยงต่อการเลือดออกไม่หยุดจนทำให้เสียชีวิตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณแม่ต้องผ่าคลอด สำหรับผลเลือดที่แสดงถึง เกล็ดเลือดต่ำ สามารถเป็นได้หลายสาเหตุ ต้องได้รับการวินิจฉัยก่อนค่ะ ว่าเป็นโรคอะไร
โดยทั่วไป ในแม่ท้องสามารถพบเกล็ดเลือดต่ำได้เล็กน้อย ตั้งแต่ 100,000-149,000 เพราะในช่วงตั้งครรภ์ร่างกายจะบวมน้ำ ทำให้ผลเลือดและเกล็ดเลือดดูเหมือนเจือจางลง ทั้งที่ปริมาณเท่าเดิม ซึ่งอาการนี้อาจเปรียบให้เห็นภาพด้วยการละลายเกลือ 1 ช้อนในน้ำ ถ้าน้ำน้อยรสก็จะเข้ม ถ้าน้ำมาก รสก็จะจาง โดยที่จริง ๆ ยังมีเกลือ 1 ช้อนเท่าเดิม ซึ่งในกรณีนี้มักไม่ส่งผลเสียต่อมารดาและทารกในครรภ์
อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาและแจ้งกับสูติแพทย์ที่ฝากครรภ์ เพราะภาวะเกล็ดเลือดต่ำในหญิงตั้งครรภ์ ยังมีความเสี่ยงที่เป็นอันตราย เช่น ภาวะครรภ์เป็นพิษ หรือเกล็ดเลือดต่ำจากภูมิคุ้มกัน เพื่อแพทย์จะได้นัดติดตามและวางแผนการคลอดได้ถูกต้อง
สาเหตุของภาวะเกล็ดเลือดต่ำ คืออะไร
- ไขกระดูกสร้างเกล็ดเลือดได้น้อยลง
- การที่เกล็ดเลือดถูกทำลายมากกว่าปกติ เช่น ภาวะร่างกายสร้างแอนติบอดี้ต่อเกล็ดเลือด ทำให้เกล็ดเลือดโดนทำลาย
- เกิดจากกรณีที่คนไข้มีภาวะโรคตับ ม้ามโต เกล็ดเลือดส่วนหนึ่งจึงเข้าไปอยู่ในม้าม
แต่ในสำหรับแม่ท้อง สามารถแบ่งอาการหรือสาเหตุของโรคได้ดังนี้
1. โรค ITP หรือ Immune thrombocytopenia
เป็นโรคที่ภูมิต้านทานของร่างกายคุณแม่ทำลายเกล็ดเลือดในร่างกาย ซึ่งมาจากการติดเชื้อไวรัสสมัยเด็ก โดยปกติแล้วโรคนี้จะแสดงออกและตรวจเจอก่อนการตั้งครรภ์ แต่ก็มีกรณีที่ตรวจเจอทีหลังด้วยเช่นกัน แต่หากคุณแม่เป็นโรคนี้ มีโอกาสที่ลูกจะมีเกล็ดเลือดต่ำไปด้วย โดยอาการที่คุณแม่สามารถสังเกตตัวเองได้ก่อนก็คือ
- มีร่องรอยฟกช้ำได้ง่ายตามร่างกายในบริเวณต่าง ๆ
- เหมือนมีผื่นบริเวณขา แต่ความจริงคือเป็นเลือดออกใต้ผิวหนัง
- มีเลือดออกปนในปัสสาวะหรืออุจจาระ
- มีเลือดออกตามเหงือกหรือมีเลือดกำเดาไหล
- กว่าเลือดจะหยุดในแต่ละครั้งใช้เวลานานกว่าคนอื่น
- ประจำเดือนออกมามากในแต่ละครั้ง
2. ครรภ์เป็นพิษ
เนื่องจากความดันเลือดสูง และมีโปรตีนปัสสาวะ คุณแม่ที่มีอาการของครรภ์เป็นพิษ สามารถทำให้ภาวะเกล็ดเลือดต่ำได้ แต่หลังจากที่คลอดลูกแล้ว ภาวะเกล็ดเลือดต่ำของคุณแม่ก็จะกลับมาเป็นปกติค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : โรคขี้แมว (Toxoplasmosis) อันตรายต่อแม่ท้องที่ต้องพึงระวัง
3. ภาวะเกล็ดเลือดต่ำเมื่อตั้งครรภ์
นับเป็นจำนวนร้อยละ 5-8 ของหญิงตั้งครรภ์ จะมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำในช่วงไตรมาสที่สาม และยังหาสาเหตุที่แน่ชัดไม่ได้ว่าทำไมถึงเกิดขึ้น แต่สันนิษฐานเบื้องต้นว่าเวลาที่คุณแม่ตั้งครรภ์ พลาสมาในเลือดจะเพิ่มขึ้นเกือบ 50% จึงอาจจะมาจากสาเหตุนี้ก็เป็นได้ โดยปริมาณเกล็ดเลือดจะเพิ่มขึ้นเป็นปกติ หลังจากที่คลอดลูกแล้ว นอกจากนี้ภาวะเกล็ดเลือดต่ำยังมีสาเหตุอื่นได้ด้วย เช่น
- ผลจากการใช้ยาบางประเภท เช่น ยาเจือจางเลือด
- การติดเชื้อที่ไต
- การดื่มแอลกอฮอล์มากไป
- มะเร็งบางชนิด
หากเกล็ดเลือดต่ำควรทำอย่างไร
ควรรีบมาปรึกษาแพทย์ แพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม เพื่อยืนยันสาเหตุเกล็ดเลือดต่ำว่าเกิดจากอะไร เพื่อให้การรักษาตรงตามสาเหตุนั้น ๆ ต่อไป ภาวะเกล็ดเลือดต่ำจะไม่อันตรายถึงชีวิต หากรู้เท่าทัน เข้ารับการรักษา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด หากอยู่ภายใต้การดูแลของคุณหมอ ภาวะเกล็ดเลือดต่ำช่วงตั้งครรภ์ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลนะคะ
อย่างที่บอกไปในตอนต้นค่ะ ว่าหากตรวจเจอได้เร็ว ก็จะสามารถรักษาและป้องกันได้ทันท่วงที ทั้งนี้ก่อนการมีลูก ควรปรึกษาแพทย์หรือทำการตรวจร่างกายก่อน เพื่อจะได้รู้ว่าร่างกายเราบกพร่องตรงไหน หรือมีความพร้อมแค่ไหนในการมีลูก จะได้ไม่ต้องส่งต่ออาการป่วยให้ลูกน้อยนะคะ แต่ถึงหากลูกจะป่วยไปแล้ว คุณพ่อคุณแม่ไม่จำเป็นต้องโทษตัวเองนะคะ เพราะเทคโนโลยีการรักษาสมัยนี้ มีความก้าวหน้าไปมากว่าอดีต อย่างไรก็สามารถตรวจและช่วยเหลือลูกได้แน่นอนค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
โรคคลั่งผอม อันตรายที่อาจเกิดขึ้น กับแม่หลังคลอด ที่ไม่พอใจหุ่นตัวเอง
ตั้งครรภ์ 3 เดือน ท้องแข็งเป็นก้อน อันตรายหรือไม่? เกิดจากอะไร?
ติดเชื้อหลังคลอด ภาวะแทรกซ้อนต่อแม่เด็ก สาเหตุสำคัญที่แม่ท้องเสียชีวิต!