ติดเชื้อหลังคลอด ภาวะแทรกซ้อนต่อแม่เด็ก สาเหตุสำคัญที่แม่ท้องเสียชีวิต!

ต้องบอกก่อนเลยว่า นอกจากการเป็นคุณแม่แล้ว หลังจากการคลอดลูกไปแล้ว สิ่งที่น่าห่วงนอกจากการเลี้ยงเบบี๋แล้ว การติดเชื้อหลังคลอดของแม่ท้อง ก 

 833 views

ต้องบอกก่อนเลยว่า นอกจากการเป็นคุณแม่แล้ว หลังจากการคลอดลูกไปแล้ว สิ่งที่น่าห่วงนอกจากการเลี้ยงเบบี๋แล้ว การติดเชื้อหลังคลอดของแม่ท้อง ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่น่าห่วงค่ะ แล้วจะมีอาการติดเชื้อจากอะไรบ้าง สาเหตุและวิธีรับมือต้องทำอย่างไร วันนี้ Mamastory จะพาไปเรียนรู้ ให้ลึกซึ้งกว่าเดิมค่ะ !



การติดเชื้อหลังคลอดคืออะไร ?

การติดเชื้อหลังคลอด หมายถึง การติดเชื้อของอวัยวะเพศหลังคลอด เป็นอาการแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้บ่อย รองจากการตกเลือดหลังคลอด และความดันโลหิตสูงในช่วงตั้งครรภ์ เป็นสาเหตุการตายของทารกในครรภ์สูงถึง ร้อยละ 10 การติดเชื้อหลังคลอดในอุ้งเชิงกราน หลังจากที่เชื้อโรคเข้าสู่โพรงมดลูกแล้ว เข้าสู่บริเวณที่มีบาดแผลในโพรงมดลูก



รูปแบบการติดเชื้อหลังคลอด

  1. คลอดลูกแบบธรรมชาติ คือ คลอดออกทางช่องคลอด เชื้อมักจะเข้าไปบริเวณที่รกฝังตัว ซึ่งบริเวณนี้จะชุ่มไปด้วยเลือด และมีรูเปิดเล็ก ๆ มากมาย ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย
  2. คลอดแบบผ่าท้องคลอด เชื้อโรคจะเข้าไปบริเวณแผลผ่าตัด และจะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ถ้าอยู่ในสภาวะที่เหมาะสม เช่น มีสิ่งแปลกปลอมให้เชื้อเข้าไปเกาะ รวมถึงไหมที่ใช้เย็บแผล การบอบช้ำของแผลผ่าตัด ทำให้เกิดเนื้อตายมาก ถ้ามีเลือดคั่งค้างร่วมกับมีภูมิต้านทานของร่างกายที่อ่อนแอ จะทำให้เชื้อโรคเพิ่มจำนวนขึ้นได้ง่าย และลุกลามเข้าสู่โพรงมดลูก


ติดเชื้อหลังคลอด



สาเหตุการติดเชื้อหลังคลอด

กระบวนการของการเกิดการติดเชื้อของมดลูกหลังคลอด ได้แก่ มีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียเข้าไปในมดลูก โดยมีปัจจัยเสี่ยงคือ

  1. การเจ็บครรภ์และมีน้ำเดินเป็นเวลานาน
  2. การตรวจติดตามทารกในครรภ์ โดยเครื่องตรวจอิเล็กทรอนิกส์ในโพรงมดลูก
  3. การตรวจภายในบ่อยครั้ง ในช่วงระหว่างรอคลอด
  4. เด็กถ่ายขี้เทาในครรภ์มารดา
  5. มีการล้วงรก หรือการช่วยคลอด
  6. แม่ตั้งครรภ์เป็นเบาหวาน

ปัจจัยส่งเสริมที่อาจทำให้เกิดการติดเชื้อหลังคลอด ได้แก่ บาดแผลจากการผ่าตัด สารแปลกปลอม (foreign body) เนื้อเยื่อที่มีเลือดไปเลี้ยงน้อย และการสะสมของเลือดและน้ำเหลือง ในบริเวณที่ผ่าตัด ทำให้เกิดการแบ่งและเพิ่มจำนวนของแบคทีเรียเข้าไปในเนื้อเยื่อ และเกิดการติดเชื้อ

ซึ่งนอกจากนี้ภาวะติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน นับเป็นหนึ่งในปัญหาที่สำคัญที่สุด ของภาวะแทรกซ้อนหลังคลอด และเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตในมารดา ภาวะที่ติดเชื้อที่สำคัญอื่น ๆ เช่น เต้านมอักเสบ และฝีหนอง

บทความที่เกี่ยวข้อง : แม่ท้องกับภาวะ เชื้อราในช่องคลอด อันตรายหรือไม่ ส่งผลต่อทารกอย่างไร



อาการเมื่อติดเชื้อหลังคลอด

  1. มีการอักเสบของเยื่อบุโพรงมดลูกมีไข้ต่ำ ๆ
  2. ปวดถ่วงตรงบริเวณท้องน้อย และน้ำคาวปลามีกลิ่นเหม็น
  3. กรณีที่มีการติดเชื้อของแผล ทำให้มีการปวดบวม กดเจ็บบริเวณรอบ ๆ แผล ปัสสาวะแสบขัด ในกรณีที่มีการติดเชื้อเข้าสู่ระบบเลือด จะมีไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส หนาวสั่น ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย
  4. หากคุณแม่หลังคลอด มีอาการไข้ที่ขึ้นสูงมากจนผิดปกติ อาจจะรีบให้แพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุโดยด่วน


ภาวะไข้หลังคลอด

ภาวะเป็นไข้หลังคลอด (Puerperal fever) หรือ ภาวะที่สตรีมีไข้หลังคลอด มากกว่าหรือเท่ากับ 38.0 องศาเซลเซียส ในช่วง 2 ใน 10 วันแรกหลังคลอด โดยที่แม่ที่มีไข้ภายใน 24 ชม. หลังคลอดทางช่องคลอด มีเพียง 20% ที่ได้รับการวินิจฉัยว่า มีภาวะติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน ต่างจากสตรีที่ได้รับการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง

หากมีไข้สูงมากกว่าหรือเท่ากับ 39 องศา เซลเซียสภายใน 24 ชม. มีความสัมพันธ์กับภาวะติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน ซึ่งภาวะไข้หลังคลอด ส่วนมากเกิดจากการติดเชื้อของระบบอวัยวะสืบพันธุ์ แต่ยังมีสาเหตุอื่นที่จำเป็นต้องวินิจฉัยแยกโรค เช่น

ติดเชื้อหลังคลอด



  • ภาวะคัดเต้านม : ซึ่งมักจะพบในสตรีที่ไม่ได้ให้นมบุตร โดยไข้ Breast fever มักจะไม่สูงเกิน 39 องศาเซลเซียส ในช่วง 2-3 วันแรกหลังคลอด และมักหายไปภายใน 24 ชม.
  • กระเพาะปัสสาวะอักเสบ : พบได้ไม่บ่อย เนื่องจากการขับปัสสาวะจะกลับมาเป็นปกติในช่วงหลังคลอด อาจเกิดภาวะกรวยไตอักเสบ อาการแสดงอาจจะนำมาด้วยภาวะไข้ ตามด้วยการเจ็บบริเวณแอ่งกระดูกสันหลังกับแนวซี่โครงสุดท้าย หรือคลื่นไส้อาเจียน
  • แผลผ่าตัดติดเชื้อ
  • ระบบทางเดินหายใจเกิดปอดแฟบ ตามหลังการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง ซึ่งมีสาเหตุจากภาวะที่มีการหายใจผิดปกติช่วงผ่าตัด



การวินิจฉัย อาการติดเชื้อหลังคลอด

ภาวะติดเชื้อหลังคลอดมักวินิจฉัยจากอาการแสดง อาการที่สำคัญคือ ภาวะไข้ โดยส่วนใหญ่มักจะอยู่ในช่วง 38-39 องศาเซลเซียส อาจมีอาการหนาวสั่น ซึ่งบ่งบอกถึงการมีเชื้อแบคทีเรีย หรือสารพิษของเชื้ออยู่ในกระแสเลือด อาการอื่น ๆ ที่มักพบ คือ อาการปวดท้อง น้ำคาวปลาคล้ายหนองหรือมีกลิ่น แต่การติดเชื้อบางชนิดน้ำคาวปลา มักมีปริมาณน้อยและไม่มีกลิ่น การตรวจร่างกายอาจจะพบมดลูกกดเจ็บ หรือกดเจ็บบริเวณเนื้อเยื่อรอบ ๆ ช่องคลอดและตัวมดลูก หรืออาจไม่มีอาการแสดงใด ๆ



การรักษาการติดเชื้อหลังคลอด

การติดเชื้อที่ไม่รุนแรงหลังการคลอดทางช่องคลอด การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะแบบรับประทานหรือทางกล้ามเนื้อ อาจจะเพียงพอ สำหรับการติดเชื้อระดับปานกลางหรือรุนแรง แนะนำให้ใช้ยาปฏิชีวนะแบบฉีดทางหลอดเลือดดำ ชนิดสเปกตรัมกว้าง เพราะการติดเชื้อมักเกิดจากเชื้อหลายชนิดร่วมกัน ส่วนใหญ่เกือบ 90% มักอาการดีขึ้นใน 48-72 ชม. ในกรณีที่ไม่ดีขึ้น แนะนำให้หาสาเหตุเพิ่มเติม ถ้าอาการดีขึ้น ไม่มีไข้อย่างน้อย 24 ชม. พิจารณาให้กลับบ้านได้ โดยถ้าไม่มีเชื้อแบคทีเรียขึ้นในผลเพาะเชื้อเลือด ไม่จำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะแบบรับประทานต่อ



สำหรับแม่ท้องที่เคยติดเชื้อหลังคลอด อาจจะกำลังสงสัยว่า หากคราวหน้าท้องอีกครั้ง จะมีอาการติดเชื้ออีกมั้ย ต้องบอกเลยว่าหากมีโอกาสเป็นซ้ำได้ หากเงื่อนไขของแม่ตรงตามสาเหตุและปัจจัยเสี่ยง แต่ถ้าไม่ต้องการมีลูกอีกในอนาคต หลังคลอดแล้วควรคุมกำเนิดตั้งแต่ช่วง 6 สัปดาห์หลังคลอดค่ะ


บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

รู้ทัน อาการครรภ์เป็นพิษ อันตรายที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์

5 สัญญาณคลอดก่อนกำหนด แม่ท้องรู้ไว้ จะได้รับมือทัน!

น้ำตาลในเลือดสูง รับมืออย่างไร! สัญญาณสู่เบาหวานขณะตั้งครรภ์

ที่มา : 1, 2