โรคคลั่งผอม อันตรายที่อาจเกิดขึ้น กับแม่หลังคลอด ที่ไม่พอใจหุ่นตัวเอง

เมื่อพูดถึงเรื่องหลังคลอดแล้ว อีกหนึ่งเรื่องที่ปล่อยผ่านไปไม่ได้ นั่นก็คือเรื่องของการลดหุ่น เพราะช่วงที่ตั้งครรภ์ตั้งแต่วันแรกจนก่อนคล 

 610 views

เมื่อพูดถึงเรื่องหลังคลอดแล้ว อีกหนึ่งเรื่องที่ปล่อยผ่านไปไม่ได้ นั่นก็คือเรื่องของการลดหุ่น เพราะช่วงที่ตั้งครรภ์ตั้งแต่วันแรกจนก่อนคลอด คุณแม่ย่อมน้ำหนักเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวอยู่แล้ว และเมื่อเวลาผ่านไปหลังคลอด อาจจะหมกมุ่นในการลดน้ำหนัก จนกลายเป็น โรคคลั่งผอม ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เมื่อคุณแม่ไม่พอใจในรูปร่างของตนเอง และเกิดการลดน้ำหนักจนเกินความพอดี

วันนี้ Mamastory จะพาไปทำความรู้จักกับโรคนี้ ซึ่งในทางการแพทย์แล้ว นับเป็นหนึ่งในอาการทางจิตเวช ที่อาจเกิดปัญหาขึ้นได้ เมื่อผู้ป่วยเกิดการต่อต้านการรักษา

โรคคลั่งผอม



โรคคลั่งผอมคืออะไร ?

โรคคลั่งผอม (Anorexia) หรือ โรคการกินผิดปกติ ที่นับเป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพจิต ที่แม่ตั้งครรภ์อาจจะเจอได้ เมื่อพ้นช่วงคลอดลูกไปแล้ว หรือแม่ที่อยู่ในช่วงระยะพักฟื้น ที่ไม่พอใจในหุ่นของตัวเอง โดยแม่ท้องอาจจะมีการปรับพฤติกรรมการกินอาหาร ที่ผิดปกติจนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน

โรคอะนอเร็กเซีย (Anorexia) เป็นหนึ่งในอาการทางจิตเวช ที่หลายคนอาจจะได้ยินว่าโรคคลั่งผอมมากกว่า ซึ่งอาการดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับอาหารที่กินเข้าไป แต่เกี่ยวกับความคิดที่ไปให้ความสำคัญ ทางด้านรูปลักษณ์หรือน้ำหนักตัวมากจนเกินพอดี

ซึ่งอาการที่เห็นได้ชัดคือ รูปร่างของคนนั้นผอมจนเกินพอดี, ใช้ยาลดน้ำหนักผิดวิธี, ออกกำลังกายมาก หรือหักโหมในการลดน้ำหนัก รวมไปถึงอาการไม่อยากอาหาร การล้วงคอหลังมื้ออาหาร

ภายนอกอาจจะดูว่าเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ อาจจะไม่อันตราย แต่ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อเป็นโรคหรืออาการที่เกี่ยวกับจิตเวช นับเป็นเรื่องที่ไม่สามารถรักษาได้ง่าย ๆ ซึ่งในบางผู้ป่วยอาจจะมีโรคอื่นแทรกซ้อนร่วมด้วย เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล และจากการกินน้อยทานน้อย ยังส่งผลรุนแรงที่สุดถึงขั้นอาจจะเสียชีวิตก็เป็นได้

โรคคลั่งผอม




สาเหตุของโรคคลั่งผอม

โดยส่วนใหญ่แล้ว โรคคลั่งผอมเป็นโรคที่มีความเสี่ยงได้รอบด้าน อาจจะมาจากสิ่งเร้าต่าง ๆ หรือความคิดของเจ้าตัว ที่ต้องการให้รูปร่างสมส่วน แต่ขาดความพอดี เนื่องจากเปรียบเทียบจนเยอะเกินไป ซึ่งสามารถแยกปัญหาได้ดังนี้

1. ปัญหาจากสภาพจิตใจของตนเอง

ในข้อนี้นับเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจากความรู้สึกที่ไม่ดี ความกังวล ที่มีมากจนเกินไป อาจจะมีสาเหตุร่วมจากความซึมเศร้า, การคิดมาก, ความวิตกกังวล, ความเครียด ที่เป็นสาเหตุหลัก ทำให้ผู้ป่วยไม่มีความมั่นใจ และต้องการที่จะลดน้ำหนัก ในบางรายอาจจะมีอาการล้วงคอร่วมด้วย

2. ปัญหาที่มาจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว

สำหรับข้อนี้ ผู้ป่วยบางคนอาจจะไม่ได้สนใจหุ่นตัวเอง แต่ด้วยสิ่งแวดล้อมที่ทำให้รู้สึก จึงทำให้สนใจในหุ่นหรือน้ำหนักตัวเอง มากเกินความพอดี กลายเป็นความกดดันว่าจะต้องผอม เช่น อยู่ในวงเพื่อนที่จำกัดน้ำหนัก ถูกกลั่นแกล้งเพราะรูปร่าง หรือใช้หุ่นในการทำอาชีพ ซึ่งสาเหตุเหล่านี้ อาจจะทำให้ผู้ป่วยเป็นโดยไม่รู้ตัว และคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา จนกลายเป็นความกดดันว่าฉันจะต้องผอม

3. ปัญหาจากครอบครัวหรือพันธุกรรม

มีการตั้งสมมติฐานว่า ถึงจะสภาพจิตใจปกติ ไม่ได้คิดมากเรื่องหุ่นหรือรูปร่าง แต่ความชอบบางอย่าง หรืออิทธิพลภายในครอบครัว ก็อาจจะเป็นตัวกำหนดให้เคร่งในน้ำหนักจนเกินพอดี เช่น ในข่าวที่พ่อแม่ต้องการให้ลูกผอม หากลูกน้ำหนักเกินเกณฑ์จะถูกลงโทษ ทำให้ลูกวิตกกังวล กลัวจะไม่ได้ความรัก กลายเป็นความเช่นผิด ๆ ว่าหากอ้วน จะทำให้ไม่มีคนรัก เคร่งแต่การลดน้ำหนัก กลายเป็นวงจรที่ทำให้ไม่มีความสุข และเป็นการปลูกฝังความเชื่อผิด ๆ

บทความที่เกี่ยวข้อง : โรคขี้แมว (Toxoplasmosis) อันตรายต่อแม่ท้องที่ต้องพึงระวัง

อาการที่สังเกตได้จากการเป็นโรคคลั่งผอม

  • รู้สึกเมื่อยล้า ไม่มีแรง คล้ายเป็นลมได้ง่าย และมีอาการบ่อย
  • ผิวหนังผิดปกติ ผิวหนังแห้ง นิ้วซีด แขนขาบวม
  • หัวใจทำงานผิดปกติ เช่น เต้นผิดปกติ หรือ หัวใจเต้นช้าลง
  • เลือดมีความผิดปกติ เช่น จำนวนเลือดน้อย ความดันโลหิตต่ำ
  • ไม่สามารถทนความหนาวได้ นอนหลับยาก มีอาการท้องผูก
  • ประจำเดือนมาไม่ปกติ

สำหรับอาการที่สังเกตได้ชัดเจนที่สุด คือการที่น้ำหนักตัวลดลงฮวบฮาบ และตัวผู้ป่วยก็ยังคงลดความอ้วนต่อ ไม่ได้หยุดลดน้ำหนักแต่อย่างใด ทั้งที่อาจจะผอมมากจนเห็นกระดูกชัด ไม่มีกล้ามเนื้อหรือไขมัน ซึ่งในส่วนของอารมณ์จะพบว่า คนนั้นจะมีอาการหงุดหงิดง่าย อารมณ์ไม่คงที่ มีความซึมเศร้าบ่อย ๆ สนใจและใคร่รู้เรื่องการลดน้ำหนักตลอดเวลา

วิธีรักษาอาการโรคคลั่งผอม

สามารถเข้ารับการรักษาได้ด้วย “การบำบัด” โดยการบำบัดนี้จะมีเป้าหมายเพื่อ ให้ผู้ป่วยเปลี่ยนความคิด ที่มีต่อเรื่องน้ำหนักและรูปร่าง พร้อมกับการปรับให้น้ำหนัก กลับมาอยู่ในเกณฑ์ปกติ ก่อนที่ร่างกายจะเป็นอันตราย ซึ่งโรคนี้เป็นหนึ่งในโรคทางจิตเวช ปัญหาแรก ๆ ที่ต้องเจอก็คือ การที่ผู้ป่วยไม่ยอมรับการรักษา

ปัจจุบันมีการบำบัดได้หลายรูปแบบ เพื่อรองรับผู้ป่วย ซึ่งการรักษาเหล่านี้จะเลือกใช้ ตามความเห็นของแพทย์แล้ว เช่น จิตบำบัดสัมพันธภาพระหว่างบุคคล (Interpersonal Therapy: IPT), ความคิดและพฤติกรรมบำบัด (Cognitive Behavioural Therapy: CBT) หรือ การจัดการปมขัดแย้ง (Focal Psychodynamic Therapy: FPT) เป็นต้น ในส่วนของคนรอบตัว ก็มีส่วนอย่างมากในการผลักดัน และคอยดูแลอย่างใกล้ชิด ให้กำลังใจตลอดการรักษา

โรคคลั่งผอม



อันตรายหากคนท้องเป็นโรคคลั่งผอม

ถึงแม้ว่าโรคคลั่งผอม เป็นโรคที่ไม่ค่อยพบเจอมากนักในประเทศไทย แต่ไม่ว่าโรคนี้เกิดขึ้นกับใคร อย่างไรก็ต้องระวังให้มาก โดยเฉพาะในแม่ตั้งครรภ์ยิ่งต้องระวัง เพราะหากคุณแม่เป็นโรคนี้ มีความเป็นไปได้สูง ที่จะส่งต่ออันตรายถึงลูกในครรภ์ หากคุณแม่มีแนวโน้มเป็นโรคนี้ มีความเป็นไปได้ที่จะอดอาหาร ทำให้ไม่ทานอาหารอย่างเพียงพอ ทารกไม่ได้รับสารอาหารที่ควรได้ มีแนวโน้มที่จะเสียชีวิต ระหว่างอยู่ในครรภ์ได้

หากคุณแม่ตั้งครรภ์ เป็นผู้ที่ชอบในความผอม หรือคลั่งผอมขนาดหนัก มีโอกาสที่จะสร้างโรคอื่นนอกจากการแท้งด้วย เช่น ภาวะโลหิตจาง โรคทางหัวใจ ระบบย่อยผิดปกติ ไปจนถึงอาจจะมีความรู้สึกอยากฆ่าตัวตาย เพราะน้ำหนักเกินความรับได้ของตนเอง

จริงอยู่ที่หลายคนอาจจะเคยเห็น หรือเคยได้ยินชื่อโรคนี้ จากการนำเสนอข่าวตามโซเชียลมีเดีย แต่โดยส่วนใหญ่แล้วในแม่ท้องจะยังไม่เจอมากเท่าไร เต็มที่อาจจะมีคุณแม่ที่ชื่นชอบการออกกำลังกาย แต่ถ้ายังคงอยู่ในความพอดี ไม่หักโหมจนเกินไป ออกเอาสุขภาพ ไม่ได้ตะบี้ตะบันลดน้ำหนัก อย่างไรก็ยังไม่น่าห่วงเท่าไรนัก เพราะโดยธรรมชาติแล้ว แม่ท้องหลายคนมีความอยากอาหารมากกว่าปกติ ยังคงสามารถรับประทานอาหารได้อย่างเต็มที่ แต่ถ้าเมื่อไรโรคนี้หรืออาการนี้ เกิดขึ้นกับคุณแม่หลังคลอด อาจจะต้องจับตามองการลดน้ำหนักให้มากกว่าเดิม เพราะอาจจะมีแนวโน้มที่เกินพอดีได้เช่นกันค่ะ

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

10 วิธีการเตรียมตัวก่อนคลอด มีอะไรบ้างที่คุณแม่ควรเตรียมให้พร้อม

เอกสารและขั้นตอน ไปฝากครรภ์ ต้องเตรียมตัวอย่างไร และควรรู้อะไรบ้าง!

คลอดธรรมชาติดีอย่างไร ทำอย่างไรจึงจะคลอดแบบธรรมชาติได้ ?

ที่มา : 1