เอกสารและขั้นตอน ไปฝากครรภ์ ต้องเตรียมตัวอย่างไร และควรรู้อะไรบ้าง!

การตั้งครรภ์เป็นอีกหนึ่งขั้นตอนที่หลายคนสงสัย การเปลี่ยนตัวเองเพื่อดูแลลูกน้อย เป็นเรื่องที่หลายคนกังวล ยิ่งไปกว่านั้นหากครอบครัวไหนที่ 

 1480 views

การตั้งครรภ์เป็นอีกหนึ่งขั้นตอนที่หลายคนสงสัย การเปลี่ยนตัวเองเพื่อดูแลลูกน้อย เป็นเรื่องที่หลายคนกังวล ยิ่งไปกว่านั้นหากครอบครัวไหนที่เป็นการตั้งท้องครั้งแรก ยิ่งมีความสงสัยเป็นอย่างมาก ไปฝากครรภ์จะต้องเตรียมตัวอย่างไร เอกสารและขั้นตอน ไปฝากครรภ์ มีอะไรบ้างที่ต้องใช้ ซึ่งในวันนี้ Mama Story มีคำตอบมาให้ทุกครอบครัว เพื่อตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับการฝากครรภ์กันค่ะ

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า การฝากครรภ์ไม่ใช่เรื่องที่ต้องเตรียมตัวอะไรเป็นพิเศษ คุณแม่สามารถรับประทานอาหาร และดื่มเครื่องดื่มได้ตามปกติ ซึ่งหลังจากการกรอกประวัติลงทะเบียนแล้ว จะเป็นการพบแพทย์เพื่อซักประวัติและตรวจร่างกายนั่นเองค่ะ!

ทำความเข้าใจ การฝากครรภ์

การฝากครรภ์ ก็คือการตรวจสุขภาพของแม่ท้องและทารกในครรภ์ ที่เริ่มตั้งแต่วันแรกที่รู้ตัวว่าท้อง ไปจนถึงวันที่คลอดค่ะ ซึ่งการฝากครรภ์เป็นเสมือนการดูแล การเฝ้าระวัง และการติดตามอาการของการตั้งครรภ์ โดยที่อาจจะเกิดความผิดปกติได้ระหว่างการตั้งครรภ์ ซึ่งแพทย์ที่ดูแลจะให้ความรู้ และคำแนะนำที่เกี่ยวข้องกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการปฏิบัติตัวระหว่างการตั้งท้อง โดยจะมีการนัดตรวจสุขภาพ และติดตามอาการตลอดการตั้งครรภ์ค่ะ

เอกสารและขั้นตอน ไปฝากครรภ์



การฝากครรภ์พิเศษคืออะไร ?

การฝากครรภ์พิเศษ ก็คือการฝากครรภ์กับคุณหมอเพียงท่านเดียว โดยคุณหมอท่านนี้จะเป็นผู้ทำคลอดให้ด้วย ซึ่งการฝากครรภ์นี้มักเป็นขั้นตอนของโรงพยาบาลเอกชน ดังนั้นเมื่อไปฝากครรภ์ในโรงพยาบาลเอกชนจะเป็นการฝากพิเศษโดยอัตโนมัติ เปรียบเสมือนมีสูตินรีแพทย์ประจำตัวไปจนถึงตอนคลอดเลยค่ะ

บทความที่เกี่ยวข้อง : คลอดลูกในน้ำ ดีอย่างไร ช่วยให้คลอดลูกง่ายจริงไหม?

ฝากครรภ์สำคัญอย่างไร

ต้องเข้าใจก่อนว่าการฝากครรภ์ ไม่ควรคิดว่าเป็นเรื่องยุ่งยากหรือเสียเวลา เพราะการฝากครรภ์เป็นการดูแลสุขภาพครรภ์ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ไปจนถึงก่อนคลอด เป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่ง คุณแม่มือใหม่ที่เริ่มตั้งครรภ์ควรพบแพทย์เพื่อฝากครรภ์ทันทีเมื่อทราบว่าตัวเองตั้งครรภ์ และเข้ารับการตรวจครรภ์ตามที่แพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ ไม่จำกัดแค่ว่าท้องแรก แต่ไม่ว่าจะเป็นท้องที่ 2 หรือ 3 ก็ควรต้องฝากครรภ์ทั้งสิ้น

การฝากครรภ์เป็นเรื่องที่แพทย์จะช่วยดูแลให้สุขภาพของผู้ตั้งครรภ์และทารกแข็งแรงปลอดภัย พร้อมทั้งให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพครรภ์อย่างถูกต้อง แพทย์จะนัดตรวจความเจริญเติบโตและความผิดปกติของทารก ในครรภ์ทุกระยะของการตั้งครรภ์ และจะนัดตรวจถี่ขึ้นเมื่อช่วงอายุครรภ์มากขึ้น ทั้งนี้การฝากครรภ์จะช่วยให้แพทย์เห็นความผิดปกติในระหว่างตั้งครรภ์ และสามารถรักษาได้ทันเวลา เช่น โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ โรคลมชัก ครรภ์เป็นพิษ เป็นต้น

ประโยชน์ของการฝากครรภ์

1. เพื่อส่งเสริมสุขภาพร่างกาย และจิตใจของคุณแม่

เพราะระหว่างการตั้งครรภ์ แพทย์จะทำหน้าที่ดูแลโดยหวังว่า จะทำให้คุณแม่มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงที่สุด โดยจะให้คำแนะนำและตอบคำถามที่ควรปฏิบัติระหว่างการตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารการกิน การออกกำลังกาย การปฏิบัติตน และอื่น ๆ ที่อาจจะเป็นปัญหา ซึ่งคุณแม่สามารถสอบถามหรือให้คุณหมอตรวจได้ว่ามีความผิดปกติหรือไม่

2. เพื่อตรวจสอบว่าการตั้งครรภ์ดำเนินไปอย่างปกติหรือไม่

ระหว่างการฝากครรภ์ แพทย์จะช่วยวินิจฉัยโรคบางอย่างที่เกิดขึ้น ในระหว่างตั้งครรภ์ที่อาจเป็นอันตรายต่อคุณแม่และลูกน้อยได้เช่นครรภ์เป็นพิษโรคโลหิตจางซิฟิลิสติดเชื้อเอดส์ฯลฯรวมทั้งตรวจดูว่าท่านอนของทารกในครรภ์ผิดปกติหรือไม่

เอกสารและขั้นตอน ไปฝากครรภ์



3. ช่วยป้องกันอาการแทรกซ้อนในระหว่างการตั้งครรภ์

เพื่อให้การตั้งครรภ์เป็นปกติ และคลอดลูกได้ตามปกติมากที่สุดถ้ามีโรคแทรกซ้อนหมอก็จะช่วยให้เกิดอันตรายน้อยที่สุดติดเชื้อน้อยที่สุดหรือเสียเลือดน้อยที่สุด

4. ช่วยป้องกันอันตรายที่เกิดขึ้นกับทารกในครรภ์

เพราะการฝากครรภ์นั้น สามารถช่วยลดอัตราการแท้งบุตร การคลอดลูกก่อนกำหนด ลูกเสียชีวิตในท้อง หรือคลอดลูกแล้วเสียชีวิตได้มาก และยังช่วยป้องกันการอักเสบติดเชื้อในตัวลูกน้อยได้อีกด้วย

5. ช่วยดูแลทารกในครรภ์

ทำให้ลูกน้อยในครรภ์เติบโตสมบูรณ์ แข็งแรง และมีน้ำหนักตัวที่เหมาะสม ตามคำแนะนำของแพทย์



เอกสารและขั้นตอน ไปฝากครรภ์

ในเรื่องของการฝากครรภ์สำหรับคุณแม่ป้ายแดง คำถามแรกที่ผุดขึ้นมาเลย คือ ควรไปฝากครรภ์ที่ไหนดีนะ ซึ่งหลักเกณฑ์ในการเลือกสถานที่นั้นไม่ได้กำหนดเอาไว้ตายตัว แต่สามารถพิจารณาตามความเหมาะสม และความสะดวก ได้ดังนี้

  1. เลือกสถานที่ใกล้และสะดวกที่สุด เพื่อความสะดวกในการเดินทาง
  2. ฝากครรภ์กับคุณหมอที่ไว้ใจ โดยพิจารณาจาก ประสบการณ์ของแพทย์ ประวัติการทำงาน
  3. รพ.รัฐ หรือ รพ.เอกชน เลือกตามงบประมาณและความต้องการความสะดวกสบาย



ในส่วนของเอกสารที่ต้องใช้ ก็คือ บัตรประชาชนของคุณแม่ และคุณพ่อ, ประวัติการเจ็บป่วย อาทิ การแพ้ยา การคลอดลูก โรคประจำตัว การแท้งบุตร โดยเฉพาะประวัติความเสี่ยงต่อโรคทางพันธุกรรม จะเป็นสิ่งที่สำคัญมาก และข้อมูลการมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย โดยนับจากวันแรกของการมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย

เอกสารและขั้นตอน ไปฝากครรภ์



ขั้นตอนการฝากครรภ์

  1. แพทย์จะซักถามประวัติอย่างละเอียด เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ที่เท่าไร ลักษณะการคลอด ในกรณีไม่ใช่ท้องแรก เคยแท้งหรือไม่ โรคประจำตัว ประวัติการเจ็บป่วย ยาที่กินเป็นประจำ ฯลฯ
  2. แพทย์จะตรวจร่างกายอย่างละเอียด วัดความดันโลหิต ดูการบวมตามร่างกาย ตรวจปริมาณน้ำตาล โปรตีนในปัสสาวะ
  3. ตรวจครรภ์ โดยการคลำความสูงของมดลูกว่า สมควรหรือเหมาะสมกับอายุครรภ์หรือไม่
  4. ฟังการเต้นของหัวใจทารก หรืออัลตราซาวนด์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอายุครรภ์ที่เหมาะสม
  5. แพทย์สั่งจ่ายยาบำรุง พร้อมทั้งนัดวันตรวจครรภ์ครั้งหน้า

การฝากครรภ์ ต้องตรวจอะไรบ้าง ?

โดยในการฝากครรภ์ ไม่ว่าจะเป็นครรภ์ที่เท่าไร สิ่งที่แพทย์จะตรวจเมื่อเป็นการฝากครรภ์ครั้งแรก จะมีการตรวจร่างกาย และสุขภาพครรภ์ ดังต่อไปนี้

ตรวจปัสสาวะ

สิ่งแรกที่ต้องทำเมื่อไปฝากครรภ์ ก็คือการตรวจปัสสาวะ เพื่อดูว่ามีน้ำตาลในปัสสาวะบ้างหรือไม่ เพื่อให้แน่ใจว่าคุณแม่ไม่ได้เป็นเบาหวานแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ และดูว่ามีโปรตีนหรือไม่ ถ้ามีจะบ่งว่าไตทำงานไม่ปกติ ถ้าตรวจพบในช่วงหลังของครรภ์ ร่วมกับมีความดันโลหิตสูง แสดงว่ามีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะมีอาการครรภ์เป็นพิษ

ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง 

การวัดส่วนสูงเป็นการบอกถึงขนาดเชิงกรานคร่าว ๆ ถ้าคุณแม่ตัวเล็กอาจทำให้คลอดยากได้ ถ้าไม่ได้สัดส่วนกับขนาดของลูก และคุณแม่อาจต้องชั่งน้ำหนักทุกครั้งเมื่อมาฝากครรภ์ เพื่อดูว่าน้ำหนักเพิ่มตามเกณฑ์หรือไม่

ตรวจเลือด 

เมื่อไปฝากครรภ์ คุณแม่จะต้องถูกเจาะเลือดที่บริเวณข้อพับ เพื่อตรวจดูความเข้มข้นของเลือด ส่วนประกอบของเลือด กรุ๊ปเลือด โรคเลือดธาลัสซีเมีย และตรวจหาโรคติดเชื้อบางอย่าง เช่น ไวรัสตับอักเสบ ซิฟิลิส หัดเยอรมัน และเอดส์

วัดความดันโลหิต

การวัดความดันโลหิต จะทำทุกครั้งที่ไปฝากครรภ์ โดยจะมีตัวเลข 2 ค่าค่าแรกเป็นความดันโลหิตขณะที่หัวใจบีบตัวดันให้โลหิตสูบฉีดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายส่วนค่าหลังเป็นความดันโลหิต

ตรวจหน้าท้อง หรือ อัลตราซาวนด์ 

การฝากครรภ์จะมีการตรวจหน้าท้องของคุณแม่ เพื่อดูท่าของทารกว่าอยู่ท่าใด ส่วนนำเป็นศีรษะหรือไม่ ประมาณขนาดและน้ำหนักของทารกในครรภ์ เพื่อตรวจให้แน่ใจว่า ท่าของทารกไม่เป็นอันตรายต่อตัวทารกเองและตัวคุณแม่เองด้วย

บทความที่เกี่ยวข้อง : ทำหมันหญิง เป็นอย่างไร คุณแม่อยากทำหมันต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง?

ฝากครรภ์กี่ครั้ง

สำหรับการฝากครรภ์นั้น แพทย์จะแบ่งเป็น 3 ไตรมาส และจะมีการตรวจที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้



ไตรมาสแรก (0-14 สัปดาห์) นัดตรวจทุก 1 เดือน 

  • ตรวจปัสสาวะ เพื่อยืนยันการตั้งครรภ์
  • ตรวจการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด หรือกระเพาะปัสสาวะ
  • ตรวจเลือด สำหรับฝากครรภ์ครั้งที่ 1
  • ตรวจเลือด เพื่อคัดกรองความผิดปกติทางพันธุกรรม หรือวัดสารเคมีบ่งชี้ดาวน์ซินโดรม
  • ตรวจอัลตราซาวนด์ เพื่อกำหนดอายุครรภ์ และคัดกรองความผิดปกติทารกเบื้องต้น



ไตรมาสที่ 2 (15-28 สัปดาห์) นัดตรวจทุก 1 เดือน 

  • ตรวจเลือดคัดกรองภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์
  • ตรวจเลือด สำหรับฝากครรภ์ครั้งที่ 2
  • เจาะน้ำคร่ำ ตรวจโครโมโซมของทารกในครรภ์ (กรณีมีความเสี่ยง)
  • ตรวจอัลตราซาวนด์ ดูเพศ และพัฒนาการของทารกในครรภ์



ไตรมาสที่ 3 (29-42 สัปดาห์) นัดตรวจทุก 2 สัปดาห์ 

  • สอนนับลูกดิ้น
  • ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และบาดทะยัก
  • ตรวจเลือด สำหรับฝากครรภ์ครั้งที่ 3
  • ตรวจอัลตราซาวนด์ คำนวณน้ำหนักตัว และตรวจสุขภาพทารก

เอกสารและขั้นตอน ไปฝากครรภ์



การฝากครรภ์ ถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์มาก ไม่ใช่แค่การตรวจสุขภาพร่างกายของคุณแม่ แต่แพทย์จะตรวจพัฒนาการการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ เพื่อคอยดูความผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้นได้ และเพื่อรักษาได้อย่างทันท่วงทีค่ะ!

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

ผ่าคลอดแล้ว ท้องต่อไปจะต้องผ่าอีกไหม ครรภ์แบบไหนต้องผ่าคลอด ?

คลอดธรรมชาติดีอย่างไร ทำอย่างไรจึงจะคลอดแบบธรรมชาติได้ ?

7 สัญญาณเตือนก่อนคลอด มีอาการอะไรบ้างที่คุณแม่ห้ามพลาด

ที่มา : 1, 2