หลังจากที่คุณแม่คลอดลูก หลายคนจึงอยากทำหมันเพราะรู้สึก ว่าตัวเองมีลูกเพียงพอแล้ว แต่ก็ยังไม่ทราบว่าการทำหมันนั้น เป็นการคุมกำเนิดด้วยวิธีใด และต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง วันนี้ Mama Story จะพาคุณแม่ทุกท่านมารู้จักการทำหมันหญิง ซึ่งเป็นวิธีการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพ และความปลอดภัยสูง ถ้าพร้อมแล้ว ตามมาดูกันได้เลยค่ะ
ทำหมันหญิงอันตรายไหม?
การทำหมัน เป็นการผ่าตัดแบบง่าย ๆ และใช้เวลาไม่นาน จัดเป็นการผ่าที่ค่อนข้างปลอดภัยเป็นอย่างมาก รวมทั้งการทำหมันหญิงนั้น ยังไม่มีผลกระทบใด ๆ ต่อร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นประจำเดือน ความรู้ทางเพศ และความต้องการเพศ เพราะการทำหมันหญิงเป็นแค่การผูก และตัดท่อนำไข่เท่านั้น ดังนั้นคุณแม่จึงไม่ต้องกังวลใจนะคะ
ทำหมันหญิงแล้วยังมีโอกาสท้องไหม?
การทำหมันหญิง เป็นวิธีการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูงเกือบ 100% อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคุณแม่จะทำหมันไปแล้ว ก็ยังมีโอกาสตั้งครรภ์ได้ แต่ก็อาจพบได้น้อยที่จะมีโอกาสตั้งครรภ์หลังจากการทำหมัน เว้นแต่ในกรณีที่คุณแม่ต้องการมีลูกอีกคน ก็สามารถไปแก้หมันเพื่อทำให้มีลูกได้ แต่คุณแม่ก็ต้องใช้เวลาดูแลตัวเอง และใช้เวลาเพื่อให้สามารถตั้งครรภ์ได้อีกครั้ง
นอกจากนี้การตั้งครรภ์หลังจากการทำหมัน อาจทำให้เกิดการตั้งครรภ์ในมดลูก หรือตั้งครรภ์นอกมดลูกก็ได้ ดังนั้นหากคุณแม่มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดหลังจากการแก้หมัน ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจมีการตั้งครรภ์นอกมดลูกที่เป็นอันตรายเกิดขึ้นได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : ท้องนอกมดลูก เกิดจากอะไร อาการแบบไหนเสี่ยงต่อการท้องนอกมดลูก?
ประเภทของการทำหมันหญิง
การทำหมันหญิงสามารถแบ่งออกได้ 2 ประเภทตามระยะเวลาของการทำหมัน ดังต่อไปนี้
1. การทำหมันหลังคลอด หรือการทำหมันเปียก
การทำหมันหลังคลอด (Postpartum) เป็นการทำหมันในระยะหลังการคลอด ซึ่งจะนิยมทำให้ช่วง 24-48 ชั่วโมงหลังจากคลอดบุตร แต่ไม่ควรทำหลังจาก 7 วัน เพราะอาจทำให้ผ่าตัดยาก และต้องใช้เวลาในการพักผ่อนจนกว่าร่างกายจะเป็นปกติ โดยขั้นตอนการทำหมันประเภทนี้ แพทย์จะกรีดเปิดแผลบริเวณใต้สะดือ จากนั้นจึงตัด และผูกท่อนำไข่ แต่สำหรับวิธีการผ่าคลอด จะสามารถทำไปพร้อมกับการผ่าคลอดเช่นเดียวกันได้ ถือเป็นวิธีการคุมกำเนิดที่นิยมทำกันมาก โดยจะทำทันทีหลังจากคุณแม่คลอดบุตรเรียบร้อยแล้ว
2. การทำหมันปกติ หรือการทำหมันแห้ง
การทำหมันปกติ (Interval Sterilization) จะเป็นการคุมกำเนิดในช่วงเวลาใดก็ได้ แต่การผ่าตัดประเภทนี้อาจมีความยากในการหาท่อนำไข่มากกว่าการทำหมันหลังคลอด โดยขั้นตอนการทำหมันนั้น จะคล้ายคลึงกับการทำหมันหลังคลอด แพทย์จะผ่าตัดทางหน้าท้องเหนือกระดูกหัวหน่าว และใช้วิธีผูก และตัดท่อนำไข่ โดยทั่วไปแล้วการผ่าตัดด้วยวิธีนี้ จะใช้เวลาไม่เกิน 30 นาที และมักจะใช้วิธีการดมยาสลบ ทั้งนี้คุณแม่ที่ต้องการทำหมันแห้ง ควรทำหลังจากมีรอบเดือนแล้ว เพื่อให้อยู่ในภาวะที่เตรียมพร้อมสำหรับการทำหมัน นอกจากนี้ยังต้องตรวจสุขภาพก่อน เพื่อให้ร่างกายมีความพร้อมในการทำการผ่าตัดอีกด้วย
การเตรียมตัวก่อนทำหมันหญิง
ก่อนการทำหมัน คุณแม่ต้องแน่ใจว่าจะไม่มีลูกคนต่อไป และต้องปรึกษากับคนในครอบครัวเสียก่อน เพราะการแก้หมันนั้น มีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก และอาจแก้ไม่สำเร็จได้ นอกจากนี้คุณแม่จะต้องพูดคุยกับแพทย์เสียก่อน เพื่อให้แพทย์ได้ชี้แจงถึงผลดี ผลเสีย และความเสี่ยงในการผ่าตัด เนื่องจากการทำหมัน เป็นวิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูงมาก คุณแม่ที่มีอายุน้อย หรือไม่เคยผ่านการมีบุตรมาก่อน จึงจำเป็นต้องปรึกษากับสามี และแพทย์ให้แน่ใจอย่างชัดเจน
นอกจากนี้ก่อนการผ่าตัดนั้น แพทย์ควรแจ้งเกี่ยวกับการใช้ยา สมุนไพร และอาหารเสริมทุกชนิด เช่น ยาแอสไพริน ยาวาร์ฟาริน ยาในกลุ่มแก้ปวด เพราะอาจทำให้เลือดออกมากในระหว่างผ่าตัดได้ เมื่อคุณแม่ได้ปรึกษากับแพทย์ว่าต้องดมยาสลบ ก็ควรงดดื่มน้ำ และรับประทานอาหารก่อนเข้ารับการผ่าตัด 8 ชั่วโมง รวมทั้งไม่ควรสวมเสื้อผ้าที่รัดรูป หรือแน่นจนเกินไป เพื่อให้ถอดเปลี่ยนได้ง่ายค่ะ
ผลข้างเคียงจากการทำหมันหญิง
หลังจากการทำหมัน คุณแม่อาจรู้สึกเหนื่อย หรือคลื่นไส้ไปประมาณ 2 วัน เนื่องจากการใช้ยาสลบ อีกทั้งยังอาจรู้สึกเจ็บแผลที่ท้อง และอวัยวะภายในอาจได้รับการบาดเจ็บร่วมด้วย เช่น มดลูก ลำไส้ หลอดเลือดแดง และกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 7 วัน ถึงจะหายเป็นปกติ นอกจากนี้คุณแม่อาจมีอาการปวดท้องน้อยเนื่องจากพังผืดบริเวณที่ตัดท่อนำไข่ อย่างไรก็ตามอันตรายจากการทำหมันหญิงนั้น อาจพบได้น้อยมาก เพราะปัจจุบันมีเครื่องมือที่ทันสมัย และปลอดภัยเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม สำหรับคุณแม่ที่เคยผ่าตัดบริเวณกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน ช่องท้อง หรือมีภาวะอ้วน และโรคเบาหวาน อาจต้องระมัดระวัง และดูแลตัวเองเป็นพิเศษ เพราะอาจเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่าคุณแม่ทั่วไป
บทความที่เกี่ยวข้อง : แม่ท้องปวดท้องน้อยเกิดจากอะไร อันตรายหรือเปล่า ?
การดูแลตัวเองหลังทำหมันหญิง
- ห้ามเปิดแผล และระมัดระวังไม่ให้แผลผ่าตัดถูกน้ำ เพราะอาจจะทำให้เกิดการอักเสบ และการติดเชื้อได้ รวมทั้งควรงดการอาบน้ำ และเช็ดตัวแทนจนกว่าจะครบกำหนดเปิดแผล
- งดมีเพศสัมพันธ์ประมาณ 6-8 สัปดาห์ หรือตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อภายในโพรงมดลูก
- หลังจากทำหมันแล้ว ควรหลีกเลี่ยงการยกของหนัก ทำงานหนัก เดินนาน ๆ และออกกำลังกาย เพราะอาจส่งผลให้บริเวณแผลมีการกระทบกระเทือน ควรรอจนกว่าแผลจะหายสนิทดี
- หากมีอาการปวดแผล สามารถกินยาแก้ปวดธรรมดาตามที่แพทย์สั่งได้
- หลังจากทำหมัน หากมีอาการปวดท้องมาก กินยาแล้วไม่หาย หรือมีน้ำ และเลือดออกจากแผลผ่าตัด ต้องรีบไปพบแพทย์ เพราะแผลอาจเกิดการติดเชื้อได้
เมื่อไหร่ที่ควรไปพบแพทย์?
โดยทั่วไปแล้ว คุณแม่อาจมีอาการปวดหลังจากผ่าตัด แพทย์อาจมีการจ่ายยาแก้ปวด เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดเหล่านั้นได้ แต่สำหรับคุณแม่บางคนที่เกิดความไม่รู้สึกสบายตัวหลังการทำหมันได้ โดยหากคุณแม่ที่มีอาการดังต่อไปนี้ติดต่อกันนานหลายวัน ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัย
- ตะคริว
- ปวดไหล่
- เวียนศีรษะ
- ท้องอืด ท้องเฟ้อ
การทำหมันหญิง เป็นวิธีการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูง และช่วยคุมกำเนิดได้ดีมาก ฉะนั้นหากคุณแม่ต้องการทำหมันเพื่อคุมกำเนิดจริง ๆ ควรปรึกษากับสามี ครอบครัว และแพทย์ให้ดี เพราะการแก้หมันนั้น มีค่าใช้จ่ายสูง และหลังจากแก้แล้ว ก็มีโอกาสที่จะไม่สามารถกลับมามีลูกได้ ดังนั้นคุณแม่จึงควรมั่นใจจริง ๆ ว่าตนเองไม่ต้องการมีลูกแล้ว เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมาเสียใจในภายหลังค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
คนท้องปวดหลัง อันตรายไหม บรรเทาอาการด้วยวิธีใดได้บ้าง?
ท่านอนคนท้องที่ปลอดภัย ท้องอ่อน ท้องแก่ ต้องนอนแบบไหน?
คนท้องห้ามกินอะไร เครื่องดื่มที่ควรหลีกเลี่ยงช่วงท้องมีอะไรบ้าง?