อีกหนึ่งอาการอันตราย กรดไหลย้อน (GERD) หนึ่งในอาการอันตรายที่สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงวัยตั้งแต่ทารกเด็กวัยรุ่นผู้ใหญ่และวัยชราภาวะที่น้ำย่อยจากกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นไปจนมีผลเสียที่กระทบต่อสุขภาพของผู้ป่วยหากปล่อยไว้อาจก่อให้เกิดพยาธิสภาพของหลอดอาหารขึ้นได้
วันนี้ Mamastory จะพาไปรู้จักกับภาวะอันตรายอย่างกรดไหลย้อนกันค่ะ ซึ่งอาการนี้โดยส่วนมาก มักเป็นหลังจากการทานอาหารมื้อหนัก ส่วนจะมีอาการและสาเหตุ รวมไปถึงวิธีป้องกันเบื้องต้นอย่างไร ถ้าพร้อมแล้วดูได้เลยค่ะ !
โรคกรดไหลย้อน คืออะไร ?
โรคกรดไหลย้อน (gastroesophageal reflux disease: GERD) เป็นโรคที่เกิดจากการไหลย้อนในกระเพาะอาหาร ไม่ว่าจะเป็นกรด หรือแก๊สไหลย้อนขึ้นไปที่หลอดอาหาร จนทำให้เกิดอาการกระทบต่อคุณภาพชีวิต รบกวนการชีวิตประจำวัน และเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้
โดยปกติร่างกายคนเรา จะมีการไหลย้อนขในกระเพาะอาหารอยู่บ้าง โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหาร แต่ผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีปริมาณกรดที่ย้อนมากหรือบ่อยกว่าคนทั่วไป หรือหลอดอาหารมีความไวต่อกรดมากขึ้น โดยสาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต ทำให้มีอาการแสบร้อนลิ้นปี่ ลามขึ้นมาบริเวณหน้าอกหรือลำคอ หลังจากทานอาหารมื้อหนักและเรอมีกลิ่นเปรี้ยว
อาการโรคกรดไหลย้อน
- หลังมื้ออาหารรู้สึกแสบร้อน บริเวณลิ้นปี่ กลางหน้าอก
- รู้สึกเปรี้ยวหรือขม ในปากและคอ
- มีเศษอาหารย้อนขึ้นมาในปากและคอ
- รู้สึกจุกเสียด แน่นท้องที่ลิ้นปี่
นอกจากอาการตามข้างต้นแล้ว ผู้ป่วยที่เป็นโรคกรดไหลย้อนอาจจะมีอาการต่อเนื่องอื่น ๆ ที่เป็นผลกระทบต่อเนื่อง ซึ่งอาการเหล่านี้อาจเป็นเพราะกรดที่ไหลย้อนขึ้นมา ได้แก่
- อาการเจ็บหน้าอก ที่ไม่ได้เกิดจากโรคหัวใจ
- เสียงเปลี่ยน หรือเสียงแหบเรื้อรัง
- ไอเรื้อรังทั้งที่ไม่ได้ป่วย
- เวลากลืนอาหาร รู้สึกเหมือนมีก้อนจุกในคอ
- มีอาการช่องปากอื่น เช่น ฟันผุ มีกลิ่นปาก
สาเหตุการเป็นโรคกรดไหลย้อน
อย่างที่บอกข้างต้นว่า การเป็นโรคนี้โดยส่วนใหญ่แล้ว มาจากพฤติกรรมส่วนตัวของตนเองทั้งนั้น โดยสามารถแบ่งแยกสาเหตุได้ดังนี้
บทความที่เกี่ยวข้อง : เครียดลงกระเพาะ อาการเป็นอย่างไร รับมือด้วยวิธีไหนได้บ้าง?
- หลอดอาหารส่วนปลาย คลายตัวทั้งที่ยังไม่กลืน
- หูรูดหลอดอาหารส่วนปลาย มีความดันลดต่ำกว่าปกติ กระเพาะอาหารเลื่อนเข้าไปในหลอดอาหาร
- กระเพาะอาหารหรือหลอดบีบตัวผิดปกติ ทำให้อาหารค้างในกระเพาะนานกว่าปกติ
- เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย หรือเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม
- พฤติกรรมรายวัน เช่น กินเสร็จแล้วนอนทันที กินของมันและทอดมากเกินไป
- ภาวะเครียด ทำให้หลอดอ่อนไหวต่อกรด เมื่อมีกรดไหลย้อนแม้เพียงเล็กน้อย จะมีอาการแสดงทันที
- ปัจจัยอื่น เช่น โรคอ้วน การตั้งครรภ์ สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม การรับประทานยาบางชนิด เป็นต้น
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เป็นกรดไหลย้อน
1. ความผิดปกติของหูรูดปลายหลอดอาหาร
เป็นส่วนที่ทำหน้าที่ป้องกันกรดไหลย้อนจากกระเพาะอาหาร มีความดันของหูรูดต่ำหรือเปิดบ่อยกว่าคนปกติ ความผิดปกติเหล่านี้อาจเกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน และยาบางชนิด
2. ความผิดปกติในการบีบตัวของหลอดอาหาร
ข้อนี้ทำให้อาหารที่ทานเข้าไป เคลื่อนตัวลงช้าหรืออาหารที่ไหล ย้อนขึ้นมาจากกระเพาะได้ เนื่องจากอาหารค้างนานกว่าปกติ
3. ความผิดปกติของการบีบตัวของกระเพาะอาหาร
เมื่อกระเพาะอาหารบีบตัวผิดปกติ จะทำให้อาหารค้างในกระเพาะนานกว่าปกติ เป็นการเพิ่มโอกาสไหลย้อนของอาหาร สู่หลอดอาหารมากขึ้น อีกทั้งอาหารประเภทไขมันสูงและช็อกโกแลต จะทำให้กระเพาะอาหารบีบตัวลดลง
4. พฤติกรรมในการดำเนินชีวิต
ในข้อนี้รวมไปถึงการเข้านอนทันทีหลังรับประทานอาหาร รับประทานอาหารปริมาณมากในหนึ่งมื้อ สูบบุหรี่ ดื่มน้ำอัดลมหรือแอลกอฮอล์ ความเครียด
5. โรคอ้วน
การที่ผู้ป่วยกรดไหลย้อน ตกอยู่ในภาวะที่มีโรคอ้วน จะทำให้เพิ่มแรงกดต่อกระเพาะอาหาร และทำให้กรดไหลย้อนกลับ
6. การตั้งครรภ์
เนื่องจากฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นขณะตั้งครรภ์ ทำให้หูรูดหลอดอาหารอ่อนแอลง รวมถึงมดลูกที่ขยายตัว จะเพิ่มแรงกดต่อกระเพาะอาหาร
พฤติกรรมเสี่ยงเป็นกรดไหลย้อน
- รับประทานอาหารไม่เป็นเวลา รับประทานแล้วนอนทันที
- ชอบรับประทานผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวเป็นประจำ
- ดื่มสุรา น้ำอัดลม สูบบุหรี่
- ผู้หญิงตั้งครรภ์ มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน หรือโรคอ้วน
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคผิวหนังแข็ง
- รับประทานยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันโลหิตสูงบางชนิด ยาแก้โรคซึมเศร้า เป็นต้น
ข้อแตกต่างระหว่างกรดไหลย้อน กับกระเพาะอักเสบ
สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคกระเพาะ มักมาพบแพทย์ด้วยอาการปวดแน่นท้องแสบท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่ อีกทั้งผู้ป่วยส่วนใหญ่จะถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ หรืออาจมีอาการอาเจียนเป็นเลือดได้
ผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหาร ไม่มีอาการแสบร้อนหน้าอกถึงคอ เหมือนผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อน จริงอยู่ที่ในผู้ป่วยบางราย อาจจะมีอาการเรอบ่อย และมีน้ำขย้อนขึ้นมาได้บ้าง หลังทานอาหารอิ่มใหม่ ๆ ซึ่งอาการเหล่านี้ทำให้เกิดความลำบาก ในการวินิจฉัยแยกโรคในผู้ป่วย
วิธีรักษาโรคกรดไหลย้อน
- ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการทานอาหาร
- ทานยาตามแพทย์สั่ง
- การเย็บหูรูดหลอดอาหาร โดยไม่ต้องผ่าตัดด้วยเทคนิค TIF
- การตัดเย็บหูรูดหลอดอาหาร
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา
- ไม่สวมเสื้อผ้าที่รัดรูปจนเกินไป
โรคกรดไหลย้อน เป็นหนึ่งในโรคที่หากปล่อยไว้ อาจจะกลายเป็นภาวะเรื้อรังได้ และอาจส่งผลให้เกิดแผล หรือมีอาการรุนแรงจนหลอดอาหารตีบ ในผู้ป่วยบางรายอาจร้ายแรงจนเกิดความเสี่ยงเป็นมะเร็งหลอดอาหารได้ ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้โรคลุกลามและเรื้อรัง หากมีอาการดังกล่าว ควรรีบไปรับการตรวจวินิจฉัย เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
น้ำตาลในเลือดสูง รับมืออย่างไร! สัญญาณสู่เบาหวานขณะตั้งครรภ์
ต้อกระจก อาการเป็นอย่างไร อันตรายไหม รักษาด้วยวิธีใดได้บ้าง?