หนองในแท้ (Gonorrhea) โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่เกิดได้ทั้งชายและหญิง !

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ นับเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญของประเทศไทย เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ชี้ให้เห็นว่า หลายคนขาดความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง  

 742 views

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ นับเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญของประเทศไทย เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ชี้ให้เห็นว่า หลายคนขาดความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง เกี่ยวกับการป้องกันตนเองจากการติดโรค ซึ่งการขาดความตระหนักรู้นี้ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญมีกลุ่มเยาวชนอายุ 15-24 ปี เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อมากที่สุด วันนี้ Mamastory จะพาไปทำความเข้าใจกับ หนองในแท้ (Gonorrhea) หนึ่งในโรคติดต่อทางเพศ ที่พบได้มากกว่า 50% ของผู้ติดเชื้อ ว่ามีอาการ สาเหตุ และวิธีรักษาอย่างไรบ้าง

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์คืออะไร ?

เดิมทีแล้วโรคนี้ถูกเรียกว่า “กามโรค” (venereal diseases) ซึ่งในปัจจุบัน มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น และมีการติดเชื้อที่หลายโรคเพิ่มขึ้น จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์” (sexually transmitted infections, STIs) เป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากการติดต่อ ผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ป่วยโดยตรง หรือผู้ที่ได้รับเชื้อทางอ้อม โดยการติดเชื้อทางการมีเพศสัมพันธ์ นับรวมไปถึงการร่วมเพศทางช่องคลอด ทางปาก และทางทวารหนัก โดยมีโรคที่มักพบได้บ่อยได้แก่ ซิฟิลิส, หนองในแท้, หนองในเทียม, เริม และเอชพีวี

โรคหนองในแท้คืออะไร ?

หนองในแท้ หรือ Gonorrhea เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่สามารถเกิดขึ้นได้ ทั้งในเพศชายและเพศหญิง โรคนี้นับเป็นการติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้กว่า 50% นับเป็นอันดับต้น ๆ ของกลุ่มโรคติดต่อ มีสาเหตุการเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Neisseria Gonorrhoeae โดยการติดเชื้อหนองในแท้ ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นที่อวัยวะเพศ ทวารหนัก ลำคอ เป็นส่วนมาก

โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้ป่วยโรคนี้มักมีอาการติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ กับผู้ที่ติดเชื้อของโรคนี้ หรือติดเชื้อจากการสัมผัสของเหลวในร่างกาย หรือสารคัดหลั่ง รวมไปถึงการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัย ซึ่งโรคนี้หากผู้ติดเชื้อกำลังตั้งครรภ์ สามารถติดต่อจากแม่ไปสู่ทารกในช่วงระหว่างคลอดได้

หนองในแท้



อาการของหนองในแท้

โดยปกติแล้ว โรคหนองในแท้มักแสดงอาการในเวลา 2 สัปดาห์ หลังจากได้รับเชื้อ แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีผู้ป่วยที่ไม่มีอาการจนเวลาผ่านไปหลายเดือน ซึ่งมีผู้หญิงกว่าครึ่งที่ป่วยโรคนี้และไม่แสดงอาการ ส่วนในผู้ชายมี 1 ใน 10 ที่ป่วยติดเชื้อ แต่ไม่มีอาการแสดงที่ชัดเจน ทำให้ไม่รู้ตัวและไม่ได้รับการรักษาที่ถูกวิธี อาการของโรคหนองใน ทั้งชายและหญิงจะมีอาการคล้ายกัน หากติดเชื้อบริเวณทวารหนัก ในช่องคอ ดวงตา หรือข้อต่อ จะแสดงอาการแตกต่างกันไปตามบริเวณที่ติดเชื้อ ดังนี้

  1. หนองในบริเวณทวารหนัก : มีอาการรู้สึกปวดหรือเจ็บ อาจมีของเหลวขับออกมาบริเวณทวารหนัก
  2. หนองในบริเวณลำคอ : มีอาการเจ็บคอ ต่อมน้ำเหลืองโต
  3. หนองในบริเวณดวงตา : มีอาการระคายเคืองที่ดวงตา ตาบวม มีของเหลวไหลออกจากดวงตา
  4. หนองในบริเวณข้อต่อ : บวมแดง รู้สึกปวดขณะเคลื่อนไหวบริเวณข้อต่อที่ติดเชื้อ



อาการหนองในผู้ชาย

  • ขณะปัสสาวะมีอาการแสบขัด
  • หลังจากมีเพศสัมพันธ์ จะมีหนองเหลืองหรือเขียว ไหลออกจากปลายอวัยวะเพศ
  • ถุงอัณฑะบวม
  • ปลายหนังหุ้มอวัยวะเพศอักเสบ
  • ปวด ฟกช้ำ บริเวณลูกอัณฑะข้างใดข้างหนึ่ง
  • หนองในที่ลำคอไม่แสดงอาการชัดเจน
  • มีของเหลวออกจากทวารหนัก



หนองในแท้



อาการหนองในผู้หญิง

  • ช่วงมีประจำเดือนจะเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนกว่าชาย
  • ขณะปัสสาวะมีอาการแสบขัด
  • มีของเหลวออกจากช่องคลอดมากผิดปกติ
  • ประจำเดือนมาไม่ปกติ
  • ปวดอุ้งเชิงกรานขณะมีเพศสัมพันธ์
  • ตกขาว สีเหลือง หรือสีเขียวผิดปกติ
  • ช่วงที่ไม่มีประจำเดือน มักมีเลือดออกจากช่องคลอด
  • เจ็บหรือฟกช้ำ บริเวณท้องน้อย แต่พบได้ไม่บ่อย
  • มีเลือดออกระหว่างรอบเดือนและหลังการมีเพศสัมพันธ์ หรือประจำเดือนมามากผิดปกติ ซึ่งเป็นอาการที่พบได้น้อย



ปัจจัยเสี่ยงติดเชื้อหนองในแท้

  1. อายุยังน้อย
  2. มีการเปลี่ยนคู่นอนใหม่
  3. มีคู่นอนหลายคน
  4. ใช้คู่นอนร่วมกับผู้อื่น
  5. ไม่ใช้ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์
  6. ติดยาเสพติด
  7. เคยตรวจพบว่าเป็นโรคหนองในมาก่อน
  8. ป่วยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่น เช่น โรคซิฟิลิส



ภาวะแทรกซ้อนของโรคหนองใน

1. ภาวะมีบุตรยากในเพศหญิง

เชื้อหนองในสามารถแพร่กระจายไปยังมดลูกและท่อนำไข่ เป็นสาเหตุของการติดเชื้อและอักเสบในอุ้งเชิงกราน ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดพังผืดที่ท่อนำไข่ เสี่ยงต่อการท้องนอกมดลูก, อาการปวดเชิงกรานระยะยาว, ภาวะมีบุตรยาก รวมถึงภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ การติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานถือเป็นการติดเชื้อชนิดร้ายแรงที่ต้องได้รับการรักษาโดยด่วน

บทความที่เกี่ยวข้อง : ท้องนอกมดลูก เกิดจากอะไร อาการแบบไหนเสี่ยงต่อการท้องนอกมดลูก?

2. ภาวะมีบุตรยากในเพศชาย

โรคหนองในที่ไม่ได้รับการรักษา อาจส่งผลให้อัณฑะอักเสบ ซึ่งเป็นการอักเสบของท่อม้วนขนาดเล็ก ในส่วนหลังของลูกอัณฑะที่มีท่ออสุจิอยู่ โดยภาวะนี้หากไม่ได้รับการรักษา สามารถนำไปสู่การเกิดภาวะมีบุตรยากในที่สุด

3. การติดเชื้อแพร่ไปยังข้อต่อและส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย

เชื้อแบคทีเรียต้นเหตุของโรคหนองในแท้ สามารถแพร่กระจายผ่านกระแสเลือด ส่งผลให้มีการติดเชื้อที่อวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย อาจมีการติดเชื้อบริเวณข้อต่อ ที่ทำให้มีอาการเจ็บผิวหนัง ปวดข้อต่อ เป็นไข้ ผื่นขึ้น บวม และรู้สึกเมื่อยตามมา

4. เสี่ยงต่อติดเชื้อเอชไอวีหรือเชื้อเอดส์

โรคหนองในจะส่งผลให้ผู้ป่วย ไวต่อการติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งเป็นนำไปสู่โรคเอดส์ และผู้ที่ติดเชื้อทั้งโรคหนองในแท้และโรคเอชไอวี จะสามารถแพร่กระจายโรคนี้ ไปสู่คู่นอนได้เร็วกว่าปกติ

5. ภาวะแทรกซ้อนในทารก

การได้รับเชื้อหนองในแท้จากแม่ระหว่างตั้งครรภ์ อาจส่งผลต่อการมองเห็นของทารกจนทำให้ตาบอด และเกิดการติดเชื้อรุนแรงที่อวัยวะอื่น ๆ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตของทารกได้

โดยส่วนใหญ่แล้ว มักพบว่าโรคนี้มีอาการแทรกซ้อน เช่น การเกิดฝีบริเวณอวัยวะเพศ ลูกอัณฑะอักเสบในผู้ชาย ส่วนผู้หญิงจะพบว่าปากมดลูกอักเสบ มีหนองที่ปากมดลูก นอกจากนี้ยังมีการติดเชื้อบริเวณปีกมดลูกและรังไข่ รวมไปถึงอาจพบภาวะแทรกซ้อนในการตั้งครรภ์ได้ด้วย นอกจากนี้ยังพบว่า บางคนยังมีการอื่นที่พบบ่อยอย่าง การติดเชื้อบริเวณข้อ การอักเสบของเอ็นรอบข้อ ผิวหนังอักเสบ การติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ และเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น

หนองในแท้



โรคหนองในแท้ กับแม่ตั้งท้อง

โรคหนองในแท้ สามารถแพร่เชื้อจากหญิงตั้งครรภ์ไปยังทารกในช่วงรหว่างคลอดได้ ซึ่งในขณะที่คลอดลูก ทารกจะคลอดออกมาผ่านการสัมผัสเยื่อบุช่องคลอด ทารกที่ได้รับผลกระทบ มักจะแสดงอาการติดเชื้อที่ดวงตาในช่วง 2 สัปดาห์แรก ซึ่งสามารถทำให้ตาทารกบวมแดง มีของเหลวเหนียวข้นคล้ายหนองไหลออกมา หรือถึงขั้นทำให้ทารกตาบอด นอกจากนี้ อาจเกิดการติดเชื้อรุนแรงกับอวัยวะอื่น ๆ ซึ่งเป็นอันตรายต่อทารกได้

หญิงตั้งครรภ์ที่มีอาการ หรือสงสัยว่าอาจติดเชื้อ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม รวมทั้งผู้ป่วยที่คิดว่า อาจมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ แม้จะไม่มีอาการที่แสดงเด่นชัด หรือเคยมีอาการแต่หายไปได้เอง อย่างไรก็ควรหาหมอเพื่อทำการตรวจรักษา เนื่องจากโรคหนองในแท้ที่ไม่ได้รับการตรวจรักษา อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง และเกิดการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้


วิธีการป้องกันและลดความเสี่ยงการติดหนองใน

  1. สวมถุงยางอนามัยทุกครั้ง เมื่อมีเพศสัมพันธ์
  2. หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนคู่นอนบ่อย
  3. หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนที่ไม่รู้จัก
  4. งดการใช้ของใช้ส่วนตัว ร่วมกับผู้ป่วย
  5. เลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยโรคหนองใน หรือผู้ที่เคยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น
  6. ตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจำอย่างน้อย 1 ครั้ง/ปี



ถึงแม้ว่าโรคหนองใน จะเป็นโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ที่สามารถรักษาให้หายได้ ด้วยการกินหรือฉีดยาปฏิชีวนะให้ครบตามแพทย์สั่ง และสามารถป้องกันด้วยการให้ความสำคัญ กับการพาคู่นอนมาตรวจรักษา แต่การป้องกันหลักด้วยการสวมถุงยางอนามัยทุกครั้ง ที่มีเพศสัมพันธ์ และไม่ควรเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ ก็ย่อมเป็นการป้องกันและลดความเสี่ยงได้ดีกว่า การที่ต้องป่วยและมารักษาอย่างแน่นอน

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

ต่อมบาร์โธลินอักเสบ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่ผู้หญิงควรรู้จัก

ซิฟิลิส โรคร้ายที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สาเหตุ อาการ และวิธีการรักษา

ติดเชื้อหลังคลอด ภาวะแทรกซ้อนต่อแม่เด็ก สาเหตุสำคัญที่แม่ท้องเสียชีวิต!

ที่มา : 1