โรคเฮอร์แปงไจนา (Herpangina) โรคติดต่อเชื้อไวรัสที่ต้องระวังในเด็ก !

ช่วงวัยของเด็กที่อาจจะมีภูมิคุ้มกันต่ำ อาจทำให้เด็กติดเชื้อไวรัสได้ง่าย โดยเฉพาะตามโรงเรียนหรือสถานรับเลี้ยงเด็ก โรคเฮอร์แปงไจนา (Herpangina) ก็ 

 924 views

ช่วงวัยของเด็กที่อาจจะมีภูมิคุ้มกันต่ำ อาจทำให้เด็กติดเชื้อไวรัสได้ง่าย โดยเฉพาะตามโรงเรียนหรือสถานรับเลี้ยงเด็ก โรคเฮอร์แปงไจนา (Herpangina) ก็เป็นอีกหนึ่งโรคติดต่อจากเชื้อไวรัส ที่มักพบได้มากในเด็กเล็กที่อายุไม่เกิน 5 ปี และยังไม่มียาหรือวัคซีนป้องกัน วันนี้ Mamastory จะพาไปรู้จักกับโรคนี้ให้มากขึ้น ว่ามีสาเหตุเกิดจากอะไร และมีอันตรายมากแค่ไหน หากพร้อมแล้ว ไปดูพร้อมกันเลยค่ะ

โรคเฮอร์แปงไจนา คืออะไร ?

โรคเฮอร์แปงไจนา (Herpangina) คือ โรคตุ่มแผลในปากเด็ก โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งเป็นชนิดเดียวกันกับโรคมือ เท้า ปาก มักระบาดในช่วงฤดูฝน โรคนี้จะติดต่อได้ในสถานที่ที่มีเด็กรวมกันจำนวนมาก เช่น โรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็ก พบมากในเด็กเล็ก แพร่ง่ายโดยผ่านทางน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ อุจจาระ หรือการแพร่เชื้อที่ปนเปื้อนมา

ซึ่งไวรัสกลุ่มนี้มีศักยภาพสูงมากในการก่อโรค การได้รับเชื้อเพียงไม่กี่ตัว ก็สามารถเกิดการติดเชื้อได้ ลักษณะอาการใกล้เคียงโรคเท้าปากอาจทำให้สับสนได้ พบได้บ่อยในช่วงฤดูฝนและฤดูร้อน ปัจจุบันโรคเฮอร์แปงไจนา ยังไม่มีวัคซีนในการป้องกันและไม่มียาต้านไวรัสที่จะรักษา แพทย์จะให้รักษาตามอาการ โรคนี้ไม่รุนแรง สามารถหายได้เองภายใน 7-10 วัน



โรคเฮอร์แปงไจนา



สาเหตุของโรคเฮอร์แปงไจนา

โรคเฮอร์แปงไจนา เกิดจากการติดเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) เกิดในระบบทางเดินอาหารเป็นส่วนมาก ซึ่งไวรัสในกลุ่มนี้มีหลายชนิด หากป่วยเป็นโรคนี้ครั้งหนึ่งก็จะทำให้มีภูมิคุ้มกัน ไม่เป็นโรคจากสายพันธุ์เดิมได้ แต่ก็มีโอกาสเป็นซ้ำจากการติดไวรัสสายพันธุ์อื่น

เฮอร์แปงไจนาเป็นโรคติดต่อได้จากการสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย สารคัดหลั่ง และอุจจาระ บางครั้งอาจสัมผัสแล้วนำมือเข้าปากก็สามารถทำให้ติดเชื้อได้ โดยผู้ป่วยจะมีอาการหลังได้รับเชื้อประมาณ 3-14 วัน ซึ่งผู้ป่วยจะแพร่เชื้อได้ตั้งแต่วันแรกที่ติดเชื้อไปจนกว่าจะหายจากโรค

กลุ่มเสี่ยงโรคเฮอร์แปงไจนา

โดยส่วนใหญ่แล้วกลุ่มเสี่ยงของโรคนี้ จะพบมากในเด็กที่อายุน้อยกว่า 5-10 ปี และเจอในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากยังไม่มีภูมิต้านทานเชื้อ โดยเฉพาะเด็กที่ไปโรงเรียนอนุบาล อาจเล่นของเล่นรวมกัน หยิบจับสิ่งของรวมกัน แล้วนำมือเข้าปาก เผลอรับประทานเข้าไป สามารถทำให้ติดเชื้อได้

โรคเฮอร์แปงไจนา



อาการเฮอร์แปงไจนา

อาการของโรคแตกต่างกันไปในเด็กแต่ละคน โดยทั่วไปอาการไม่รุนแรงที่พบได้คือ มีไข้แบบเฉียบพลัน ไข้อาจสูงถึง 40 องศา รับยาลดไข้แล้วไม่ดีขึ้น เด็กบางคนอาจมีอาการชัก กลืนลำบาก ปวดศีรษะ ปวดตามตัว อาจมีอาเจียน อาการเด่นคือ จะมีเจ็บบริเวณเพดานปากและคอ ต่อมาจะมีจุดแดง ๆ บริเวณเพดานอ่อน ลิ้นไก่ และอาจมีตุ่มแดงที่ทอนซิล หรือบริเวณในลำคอด้วยก็ได้ อาจเป็นแผลตรงกลางตุ่มน้ำ หรืออาจมีการอักเสบได้

บทความที่เกี่ยวข้อง : โรคทอนซิลโตในเด็ก ปัญหาที่ห้ามละเลย หากไม่อยากให้ลูกเจ็บหนักกว่าเคย !

ซึ่งโรคนี้แพทย์จะวินิจฉัยจากลักษณะรอยแผลในปาก โดยจะมีลักษณะเฉพาะแตกต่างจากแผลจากโรคอื่น ทั้งนี้แพทย์จะซักประวัติอาการป่วย เพิ่มเติมอย่างละเอียด อย่างไรก็ตามอาการต่าง ๆ รวมไปถึงไข้จะลดลงภายใน 2-4 วัน ก่อนที่แผลจะค่อย ๆ หายภายใน 1 สัปดาห์ แต่ที่สำคัญคือต้องระวังภาวะแทรกซ้อน ที่สามารถเจอได้จากโรคนี้ เช่น ก้านสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ที่ส่งผลต่อการเสียชีวิต แต่ภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวพบไม่บ่อยนัก

การรักษาโรคเฮอร์แปงไจน่า

ปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสที่จะรักษาโรคนี้ได้ แต่ตัวโรคสามารถหายเองได้ภายใน 7-10 วัน และเด็กสามารถดีขึ้นได้ด้วยการรักษาตามอาการ มีวิธีการรักษาตามอาการ ดังนี้

  • หากมีไข้ เช็ดตัวจนกว่าไข้จะลด
  • ให้ยาลดไข้ พาราเซตามอลหรือไอบูโพรเฟน เพื่อลดความเจ็บแผลในปาก
  • ให้เด็กจิบและดื่มน้ำเย็นบ่อย ๆ หรือดื่มนมเย็นที่มีรสไม่หวานมาก
  • ให้อาหารจืดหรืออ่อน และย่อยง่าย



เมื่อไรควรนำเด็กพบแพทย์

หากเด็กที่ป่วยโรคเฮอร์แปงไจนา มีอาการไข้ขึ้นสูงและเด็กไม่ยอมกินอะไรเลย ควรพาไปพบแพทย์ เพราะเข้าข่ายอาการที่มากขึ้น โดยแพทย์อาจใช้ยาที่มีส่วนผสมของยาชา เพื่อลดอาการคออักเสบ นอกจากนั้น เมื่อเด็กมีอาการมาก ได้แก่ ไข้ไม่ลดลงภายใน 3 วัน หรือไข้สูง มีภาวะขาดน้ำ ซึมลง ควรรีบพบแพทย์เพื่อไม่ให้เกิดอาการช็อก

โรคเฮอร์แปงไจนา



โรคเฮอร์แปงไจนา กับโรคมือ เท้า ปาก ต่างกันอย่างไร ?

แม้ว่าจะเป็นโรคที่เกิดจาก การติดเชื้อไวรัสกลุ่มเดียวกัน แต่อาการที่แสดงออกจะต่างกัน โดยโรค มือ เท้า ปาก จะมีไข้ มีผื่น ตุ่มน้ำใสหรือเม็ดแดงในปาก ฝ่ามือ ฝ่าเท้า หากอาการหนักอาจช็อกจนเสียชีวิตได้ แต่โรคเฮอร์แปงไจนาจะไม่พบผื่นบริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า อาการที่แสดงออกช่วงแรกจะไม่ชัดเจน แต่ทั้ง 2 โรคนี้ หากเด็กมีไข้สูงและไม่ดีขึ้น รับประทานอาหารไม่ได้ หายใจหอบ มีอาการแขนขาอ่อนแรงหรือชัก ผู้ปกครองควรรีบพาเด็กมาพบแพทย์โดยเร็ว

การป้องกันโรคเฮอร์แปงไจนา

วิธีป้องกันโรคนี้ที่ดีที่สุด คือ พยายามอย่าอยู่ใกล้คนที่มีเชื้อ ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำสะอาด ระวังการสัมผัสน้ำลาย ข้าวของเครื่องใช้ทั้งของลูกตัวเอง และเด็กคนอื่น ๆ หากลูกไม่สบายควรให้หยุดเรียน 7 วัน สร้างสุขลักษณะนิสัยให้เด็ก ด้วยการสอนให้ล้างมือก่อนทานอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง ที่สำคัญไม่ควรนำเด็กไปในชุมชน พื้นที่สาธารณะ ที่มีคนอยู่จำนวนมาก เพื่อลดการติดต่อของโรค

อย่างที่บอกในข้างต้นค่ะ ว่าโรคเฮอร์แปงไจนา ยังไม่มีวัคซีนในการป้องกันโรค คุณพ่อคุณแม่จะต้องดูแลเรื่องสุขอนามัย หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ ผู้ที่ดูแลเด็กที่ป่วยเป็นโรคนี้ ต้องล้างมือก่อนและหลังการสัมผัสเด็ก และที่สำคัญ ไม่ว่าลูกจะงอแงแค่ไหน หากลูกมีอาการป่วยเพียงนิดเดียว ก็ต้องให้ลูกหยุดเรียน เพื่อลดการแพร่เชื้อให้เด็กคนอื่นค่ะ

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

โรคไอกรน (Pertussis) ในเด็กเล็ก ป้องกันได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์แม่ !

โรคบาดทะยัก โรครุนแรงต่อระบบประสาท กว่าจะฟื้นตัวใช้เวลานาน !

โรคผิวเผือก (Albinism) โรคถ่ายทอดทางพันธุกรรม ที่อาจเกิดได้กับเด็กแรกเกิด

ที่มา : 1, 2