อีกหนึ่งปัญหาผิวที่ผู้หญิงหลายคนหนักใจ คือปัญหาฝ้าบนผิวหน้า เพราะรอยฝ้านั้น มักเกิดขึ้นเป็นรอยสีน้ำตาล หรือสีดำอย่างชัดเจน จนอาจทำให้ผู้หญิงหลายคนหมดความมั่นใจ และไม่อยากเผยผิวหน้า วันนี้ Mama Story จะพาทุกท่านมารู้จักกับอาการฝ้าให้มากขึ้น พร้อมบอกวิธีการรักษา และการป้องกันฝ้าแบบไม่มีผลข้างเคียง ว่าแต่จะมีวิธีใดบ้าง ตามไปดูกันเลย
ฝ้าคืออะไร?
ฝ้า (Melasma) คือ อาการทางผิวหนังที่ทำให้เกิดรอยด่างสีน้ำตาล หรือสีดำ บริเวณผิวหนัง เนื่องจากร่างกายผลิตเม็ดสีออกมามากจนเกินไป ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นบนใบหน้า โหนกแก้ม เหนือริมฝีปาก และคาง โดยฝ้ามักเกิดจากแสงยูวี และการเพิ่มระดับฮอร์โมนเพศหญิงบางชนิด ฝ้าเป็นอาการที่สามารถพบได้บ่อย ๆ และมักเกิดขึ้นกับผู้ที่มีผิวคล้ำ โดยเฉพาะผู้ที่อายุ 20-40 ปี นอกจากนี้คุณแม่ตั้งครรภ์ อาจมีอาการฝ้าเกิดขึ้น เพราะระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างไรก็ตามฝ้าอาจไม่ได้ส่งผลกระทบใด ๆ ต่อร่างกาย นอกจากทำลายความมั่นใจ และความสวยงามของผู้ป่วย
บทความที่เกี่ยวข้อง : ตาปลา เกิดจากอะไร รักษาตาปลาด้วยวิธีไหนให้หมดปัญหากวนใจผิว?
ฝ้าเกิดขึ้นอย่างไร?
ฝ้าเกิดจากการที่เซลล์ผิวหนังผลิตเม็ดสี และเมลานินออกมามากจนเกินไป ทำให้เกิดเป็นรอยฝ้าขึ้น ซึ่งปกติแล้วกระบวนการสร้างเม็ดสี มักจะมีเอนไซม์ที่ทำให้สารในเซลล์ผิวหนังกลายเป็นเม็ดสี แต่ด้วยสาเหตุบางอย่าง อาจทำให้เม็ดสีถูกสร้างมากขึ้น จนเกิดเป็นฝ้านั่นเอง ซึ่งระดับความรุนแรงการเม็ดสีนั้น อาจเกิดขึ้นได้จากรอยสีน้ำตาลไปจนถึงสีเทา ทำให้การรักษาฝ้าต้องใช้วิธีการผลิตสารยับยั้งเอนไซม์ที่ผลิตเม็ดสีนั่นเอง อย่างไรก็ตามปัจจุบันแพทย์ยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่ชัดเจนของการเกิดฝ้า แต่เราสามารถพิจารณาปัจจัยที่ทำให้เกิดการสร้างเม็ดสี ดังนี้
- แสงแดด และรังสียูวี : แสงแดด และยูวีส่งผลให้เซลล์ผิวหนังทำงานผิดปกติ จนทำให้ปริมาณเอนไซม์บนผิวเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งบริเวณที่เกิดฝ้าจากแสงแดดนั้น ได้แก่ หน้าผาก โหนกแก้ม เหนือริมฝีปาก และคาง
- สีผิว : ผู้ที่มีผิวสีเข้ม มีโอกาสในการเกิดฝ้าได้มากกว่าผู้ที่มีผิวขาว
- อายุ และเพศ : อาการฝ้ามักเกิดขึ้นในช่วงอายุ 20-40 ปี และมักพบบ่อยในเพศหญิง มากกว่าเพศชาย
- ภาวะที่เกี่ยวกับฮอร์โมน : ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับฮอร์โมน เช่น การเป็นโรคไทรอยด์ การรับประทานยาคุมกำเนิด การรักษาด้วยฮอร์โมน และการตั้งครรภ์ อาจทำให้เกิดฝ้าขึ้นหน้าได้
อาการของฝ้า
โดยทั่วไปนั้น ฝ้ามักเกิดขึ้นบริเวณใบหน้า โดนมักจะขึ้นทั้งสองฝั่งของใบหน้า และมีขนาดเท่ากัน อย่างไรก็ตาม ฝ้าสามารถเกิดขึ้นบริเวณอื่น ๆ ที่ร่างกายโดนแสงแดดได้ เช่น แขน หรือลำคอ ก็สามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน นอกจากนี้ฝ้ายังสามารถแบ่งออกได้ 3 ประเภท ดังต่อไปนี้
- ฝ้าในชั้นหนังกำพร้า (Epidermal Melasma) : ฝ้าชนิดนี้มักมีลักษณะเป็นรอยด่างสีน้ำตาลเข้ม และสามารถเห็นขอบได้อย่างชัดเจน ซึ่งฝ้าชนิดนี้สามารถรักษาให้หายได้
- ฝ้าในชั้นหนังแท้ (Dermal Melasma) : ฝ้าในชั้นหนังแท้ เป็นฝ้าที่เป็นรอยด่างสีน้ำตาล ไม่มีขอบฝ้าที่ชัดเจน และยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้
- ฝ้าผสม (Mixed Melasma) : สำหรับฝ้าผสม จะมีลักษณะของฝ้าทั้ง 2 ประเภทดังกล่าวผสมกัน โดยฝ้าประเภทนี้มักพบได้บ่อยที่สุด และสามารถรักษาให้หายได้บางบริเวณเท่านั้น
ภาวะแทรกซ้อนของฝ้า
โดยปกติแล้ว ฝ้าอาจส่งผลเสียใด ๆ ที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย นอกจากส่งผลกระทบต่อความมั่นใจ และความสวยของเรา อย่างไรก็ตามผู้ป่วยอาจเกิดอาการแทรกซ้อนจากการรักษาได้ เช่น ผิวหนังอักเสบจากการแพ้ยา หรือกรดบางชนิด และผิวหนังอาจถูกทำร้ายด้วยสารเคมี จนอาจเกิดเป็นแผลนูน และรอยดำ
การรักษาฝ้า
แม้ว่าฝ้าบางประเภทจะค่อย ๆ จางหายไปเอง เช่น ฝ้าที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน การตั้งครรภ์ และการใช้ยาบางชนิด แต่ฝ้าบางประเภท ก็อาจใช้ระยะเวลาในการรักษาหลายปี หรือไม่สามารถรักษาให้หายได้ ทำให้แพทย์ต้องใช้หลายวิธีในการรักษาฝ้า โดยจะพิจารณาจากประเภทของฝ้าที่เกิดขึ้นหลัก ๆ โดยวิธีการรักษาฝ้านั้น มีดังนี้
1. การใช้ยา
แพทย์จะให้ผู้ป่วยใช้ยาที่เป็นครีม เจล หรือโลชั่น ที่มีส่วนผสมในการยับยั้งเอมไซน์ที่เป็นตัวการในการสร้างเม็ดสีบนผิวนั่นเอง โดยสารที่ให้ผลดีแก่การรักษานั้น เช่น สารไฮโดรควิโนน (Hydroquinone) สารเตรทติโนอิน (Tretinoin) และยาสเตอรอยด์ที่มีระดับความแรงปานกลาง นอกจากนี้แพทย์อาจใช้สารอื่น ๆ ในการรักษาร่วมด้วย เช่น กรดอะซีลาอิก (Azelaic Acid) ซีสทีอามีน (Cysteamine) เมไทมาโซล (Methimazole) และสารสกัดจากถั่วเหลือง (Soybean Extract) เป็นต้น ทั้งนี้นอกจากการทายาแล้ว แพทย์อาจให้ผู้ป่วยรับประทานยาบางชนิดที่ช่วยรักษาอาการฝ้าด้วย
บทความที่เกี่ยวข้อง : โรคอีสุกอีใส เกิดจากอะไร อาการแบบไหนที่แสดงว่าลูกเป็นอีสุกอีใส?
2. การเลเซอร์หรือการผลัดผิว
หากพบว่าใช้ยาแล้วไม่ได้ดี แพทย์จะให้ผู้ป่วยใช้การเลเซอร์ หรือผลัดเซลล์ผิวเพื่อรักษาฝ้า ซึ่งวิธีนี้จะเป็นการรักษาที่รวดเร็ว และให้ประสิทธิภาพได้ดี โดยวิธีการเลเซอร์หรือการผลัดเซลล์ผิวนั้น มีดังนี้
- การขจัดผิวหนังชั้นนอกออกด้วยสารเคมี (Chemical Peel)
- การศัลยกรรมขัดผิวหนัง (Dermabrasion)
- การกรอผิวด้วยผงผลึกแร่ (Microdermabrasion)
- การทำ IPL
อย่างไรก็ตาม วิธีการรักษาทั้งหมดดังกล่าว อาจไม่สามารถขจัดฝ้าให้หายไปทั้งหมด หรือป้องกันการเกิดฝ้าซ้ำได้ ดังนั้นแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงการโดนแสงแดด การใช้เครื่องสำอางบางชนิด หรือการกินยาคุมกำเนิดที่ส่งผลต่อฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรน เป็นต้น นอกจากนี้ หากผู้ป่วยอยู่ในช่วงการตั้งครรภ์ และให้นมบุตร แพทย์จะไม่แนะนำให้รักษาฝ้าในช่วงนี้ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อลูกในครรภ์ได้
การป้องกันฝ้า
แม้ว่าฝ้าบางชนิดจะไม่สามารถควบคุมได้ แต่คุณสามารถหลีกเลี่ยง และป้องกันตัวเองจากปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจทำให้เกิดฝ้าขึ้น โดยเฉพาะการสัมผัสแสงแดด โดยคุณแม่สามารถป้องกันการเกิดฝ้า ได้ดังนี้
- สวมเสื้อผ้าที่ปกปิดอย่างมิดชิด
- สัมผัสแสงแดดในช่วงเช้าชั่วครู่
- ทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF เหมาะสม
- รับประทานอาหารเสริมสำหรับผู้ที่ขาดวิตามินดี
- เลือกใช้เครื่องสำอาง และครีมบำรุงผิวสำหรับกลางวัน
- กางร่ม หรือสวมหมวก เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดโดยตรง
แม้ว่าฝ้า จะไม่ส่งผลอันตรายใด ๆ ต่อผิวหนัง แต่ก็อาจทำให้คุณแม่ขาดความมั่นใจ และไม่กล้าโชว์ผิวได้ ดังนั้นคุณแม่สามารถไปพบแพทย์เพื่อรับยา หรือเลเซอร์ผิว เพื่อช่วยขจัดฝ้าให้หายไปได้ ทั้งนี้คุณแม่สามารถหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงยูวีโดยตรงโดยการทาครีมกันแดด และสวมเสื้อผ้าที่มิดชิด ไม่สัมผัสกับแสงแดดเป็นเวลานาน ก็จะช่วยป้องกันการเกิดฝ้าได้ค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ลูกน้อย “ขาโก่ง” รักษาอย่างไร จำเป็นต้องดัดขาหรือไม่?
โรคมือ เท้า ปาก โรคระบาดใกล้ตัวเด็ก สาเหตุ อาการ และวิธีการรักษา
ซิฟิลิส โรคร้ายที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สาเหตุ อาการ และวิธีการรักษา