หน้าเป็นฝ้า เกิดจากอะไร รักษาฝ้าอย่างไรให้หายขาด?

อีกหนึ่งปัญหาผิวที่ผู้หญิงหลายคนหนักใจ คือปัญหาฝ้าบนผิวหน้า เพราะรอยฝ้านั้น มักเกิดขึ้นเป็นรอยสีน้ำตาล หรือสีดำอย่างชัดเจน จนอาจทำให้ผู้ 

 887 views

อีกหนึ่งปัญหาผิวที่ผู้หญิงหลายคนหนักใจ คือปัญหาฝ้าบนผิวหน้า เพราะรอยฝ้านั้น มักเกิดขึ้นเป็นรอยสีน้ำตาล หรือสีดำอย่างชัดเจน จนอาจทำให้ผู้หญิงหลายคนหมดความมั่นใจ และไม่อยากเผยผิวหน้า วันนี้ Mama Story จะพาทุกท่านมารู้จักกับอาการฝ้าให้มากขึ้น พร้อมบอกวิธีการรักษา และการป้องกันฝ้าแบบไม่มีผลข้างเคียง ว่าแต่จะมีวิธีใดบ้าง ตามไปดูกันเลย

ฝ้าคืออะไร?

ฝ้า (Melasma) คือ อาการทางผิวหนังที่ทำให้เกิดรอยด่างสีน้ำตาล หรือสีดำ บริเวณผิวหนัง เนื่องจากร่างกายผลิตเม็ดสีออกมามากจนเกินไป ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นบนใบหน้า โหนกแก้ม เหนือริมฝีปาก และคาง โดยฝ้ามักเกิดจากแสงยูวี และการเพิ่มระดับฮอร์โมนเพศหญิงบางชนิด ฝ้าเป็นอาการที่สามารถพบได้บ่อย ๆ และมักเกิดขึ้นกับผู้ที่มีผิวคล้ำ โดยเฉพาะผู้ที่อายุ 20-40 ปี นอกจากนี้คุณแม่ตั้งครรภ์ อาจมีอาการฝ้าเกิดขึ้น เพราะระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างไรก็ตามฝ้าอาจไม่ได้ส่งผลกระทบใด ๆ ต่อร่างกาย นอกจากทำลายความมั่นใจ และความสวยงามของผู้ป่วย

บทความที่เกี่ยวข้อง : ตาปลา เกิดจากอะไร รักษาตาปลาด้วยวิธีไหนให้หมดปัญหากวนใจผิว?

ฝ้า

ฝ้าเกิดขึ้นอย่างไร?

ฝ้าเกิดจากการที่เซลล์ผิวหนังผลิตเม็ดสี และเมลานินออกมามากจนเกินไป ทำให้เกิดเป็นรอยฝ้าขึ้น ซึ่งปกติแล้วกระบวนการสร้างเม็ดสี มักจะมีเอนไซม์ที่ทำให้สารในเซลล์ผิวหนังกลายเป็นเม็ดสี แต่ด้วยสาเหตุบางอย่าง อาจทำให้เม็ดสีถูกสร้างมากขึ้น จนเกิดเป็นฝ้านั่นเอง ซึ่งระดับความรุนแรงการเม็ดสีนั้น อาจเกิดขึ้นได้จากรอยสีน้ำตาลไปจนถึงสีเทา ทำให้การรักษาฝ้าต้องใช้วิธีการผลิตสารยับยั้งเอนไซม์ที่ผลิตเม็ดสีนั่นเอง อย่างไรก็ตามปัจจุบันแพทย์ยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่ชัดเจนของการเกิดฝ้า แต่เราสามารถพิจารณาปัจจัยที่ทำให้เกิดการสร้างเม็ดสี ดังนี้

  • แสงแดด และรังสียูวี : แสงแดด และยูวีส่งผลให้เซลล์ผิวหนังทำงานผิดปกติ จนทำให้ปริมาณเอนไซม์บนผิวเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งบริเวณที่เกิดฝ้าจากแสงแดดนั้น ได้แก่ หน้าผาก โหนกแก้ม เหนือริมฝีปาก และคาง
  • สีผิว : ผู้ที่มีผิวสีเข้ม มีโอกาสในการเกิดฝ้าได้มากกว่าผู้ที่มีผิวขาว
  • อายุ และเพศ : อาการฝ้ามักเกิดขึ้นในช่วงอายุ 20-40 ปี และมักพบบ่อยในเพศหญิง มากกว่าเพศชาย
  • ภาวะที่เกี่ยวกับฮอร์โมน : ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับฮอร์โมน เช่น การเป็นโรคไทรอยด์ การรับประทานยาคุมกำเนิด การรักษาด้วยฮอร์โมน และการตั้งครรภ์ อาจทำให้เกิดฝ้าขึ้นหน้าได้

อาการของฝ้า

โดยทั่วไปนั้น ฝ้ามักเกิดขึ้นบริเวณใบหน้า โดนมักจะขึ้นทั้งสองฝั่งของใบหน้า และมีขนาดเท่ากัน อย่างไรก็ตาม ฝ้าสามารถเกิดขึ้นบริเวณอื่น ๆ ที่ร่างกายโดนแสงแดดได้ เช่น แขน หรือลำคอ ก็สามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน นอกจากนี้ฝ้ายังสามารถแบ่งออกได้ 3 ประเภท ดังต่อไปนี้

  • ฝ้าในชั้นหนังกำพร้า (Epidermal Melasma) : ฝ้าชนิดนี้มักมีลักษณะเป็นรอยด่างสีน้ำตาลเข้ม และสามารถเห็นขอบได้อย่างชัดเจน ซึ่งฝ้าชนิดนี้สามารถรักษาให้หายได้
  • ฝ้าในชั้นหนังแท้ (Dermal Melasma) : ฝ้าในชั้นหนังแท้ เป็นฝ้าที่เป็นรอยด่างสีน้ำตาล ไม่มีขอบฝ้าที่ชัดเจน และยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้
  • ฝ้าผสม (Mixed Melasma) : สำหรับฝ้าผสม จะมีลักษณะของฝ้าทั้ง 2 ประเภทดังกล่าวผสมกัน โดยฝ้าประเภทนี้มักพบได้บ่อยที่สุด และสามารถรักษาให้หายได้บางบริเวณเท่านั้น

ภาวะแทรกซ้อนของฝ้า

โดยปกติแล้ว ฝ้าอาจส่งผลเสียใด ๆ ที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย นอกจากส่งผลกระทบต่อความมั่นใจ และความสวยของเรา อย่างไรก็ตามผู้ป่วยอาจเกิดอาการแทรกซ้อนจากการรักษาได้ เช่น ผิวหนังอักเสบจากการแพ้ยา หรือกรดบางชนิด และผิวหนังอาจถูกทำร้ายด้วยสารเคมี จนอาจเกิดเป็นแผลนูน และรอยดำ

การรักษาฝ้า

แม้ว่าฝ้าบางประเภทจะค่อย ๆ จางหายไปเอง เช่น ฝ้าที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน การตั้งครรภ์ และการใช้ยาบางชนิด แต่ฝ้าบางประเภท ก็อาจใช้ระยะเวลาในการรักษาหลายปี หรือไม่สามารถรักษาให้หายได้ ทำให้แพทย์ต้องใช้หลายวิธีในการรักษาฝ้า โดยจะพิจารณาจากประเภทของฝ้าที่เกิดขึ้นหลัก ๆ โดยวิธีการรักษาฝ้านั้น มีดังนี้

1. การใช้ยา

แพทย์จะให้ผู้ป่วยใช้ยาที่เป็นครีม เจล หรือโลชั่น ที่มีส่วนผสมในการยับยั้งเอมไซน์ที่เป็นตัวการในการสร้างเม็ดสีบนผิวนั่นเอง โดยสารที่ให้ผลดีแก่การรักษานั้น เช่น สารไฮโดรควิโนน (Hydroquinone) สารเตรทติโนอิน (Tretinoin) และยาสเตอรอยด์ที่มีระดับความแรงปานกลาง นอกจากนี้แพทย์อาจใช้สารอื่น ๆ ในการรักษาร่วมด้วย เช่น กรดอะซีลาอิก (Azelaic Acid) ซีสทีอามีน (Cysteamine) เมไทมาโซล (Methimazole) และสารสกัดจากถั่วเหลือง (Soybean Extract) เป็นต้น ทั้งนี้นอกจากการทายาแล้ว แพทย์อาจให้ผู้ป่วยรับประทานยาบางชนิดที่ช่วยรักษาอาการฝ้าด้วย

บทความที่เกี่ยวข้อง : โรคอีสุกอีใส เกิดจากอะไร อาการแบบไหนที่แสดงว่าลูกเป็นอีสุกอีใส?

ฝ้า

2. การเลเซอร์หรือการผลัดผิว

หากพบว่าใช้ยาแล้วไม่ได้ดี แพทย์จะให้ผู้ป่วยใช้การเลเซอร์ หรือผลัดเซลล์ผิวเพื่อรักษาฝ้า ซึ่งวิธีนี้จะเป็นการรักษาที่รวดเร็ว และให้ประสิทธิภาพได้ดี โดยวิธีการเลเซอร์หรือการผลัดเซลล์ผิวนั้น มีดังนี้

  • การขจัดผิวหนังชั้นนอกออกด้วยสารเคมี (Chemical Peel)
  • การศัลยกรรมขัดผิวหนัง (Dermabrasion)
  • การกรอผิวด้วยผงผลึกแร่ (Microdermabrasion)
  • การทำ IPL

อย่างไรก็ตาม วิธีการรักษาทั้งหมดดังกล่าว อาจไม่สามารถขจัดฝ้าให้หายไปทั้งหมด หรือป้องกันการเกิดฝ้าซ้ำได้ ดังนั้นแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงการโดนแสงแดด การใช้เครื่องสำอางบางชนิด หรือการกินยาคุมกำเนิดที่ส่งผลต่อฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรน เป็นต้น นอกจากนี้ หากผู้ป่วยอยู่ในช่วงการตั้งครรภ์ และให้นมบุตร แพทย์จะไม่แนะนำให้รักษาฝ้าในช่วงนี้ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อลูกในครรภ์ได้

การป้องกันฝ้า

แม้ว่าฝ้าบางชนิดจะไม่สามารถควบคุมได้ แต่คุณสามารถหลีกเลี่ยง และป้องกันตัวเองจากปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจทำให้เกิดฝ้าขึ้น โดยเฉพาะการสัมผัสแสงแดด โดยคุณแม่สามารถป้องกันการเกิดฝ้า ได้ดังนี้

  • สวมเสื้อผ้าที่ปกปิดอย่างมิดชิด
  • สัมผัสแสงแดดในช่วงเช้าชั่วครู่
  • ทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF เหมาะสม
  • รับประทานอาหารเสริมสำหรับผู้ที่ขาดวิตามินดี
  • เลือกใช้เครื่องสำอาง และครีมบำรุงผิวสำหรับกลางวัน
  • กางร่ม หรือสวมหมวก เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดโดยตรง

แม้ว่าฝ้า จะไม่ส่งผลอันตรายใด ๆ ต่อผิวหนัง แต่ก็อาจทำให้คุณแม่ขาดความมั่นใจ และไม่กล้าโชว์ผิวได้ ดังนั้นคุณแม่สามารถไปพบแพทย์เพื่อรับยา หรือเลเซอร์ผิว เพื่อช่วยขจัดฝ้าให้หายไปได้ ทั้งนี้คุณแม่สามารถหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงยูวีโดยตรงโดยการทาครีมกันแดด และสวมเสื้อผ้าที่มิดชิด ไม่สัมผัสกับแสงแดดเป็นเวลานาน ก็จะช่วยป้องกันการเกิดฝ้าได้ค่ะ

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

ลูกน้อย “ขาโก่ง” รักษาอย่างไร จำเป็นต้องดัดขาหรือไม่?

โรคมือ เท้า ปาก โรคระบาดใกล้ตัวเด็ก สาเหตุ อาการ และวิธีการรักษา

ซิฟิลิส โรคร้ายที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สาเหตุ อาการ และวิธีการรักษา

ที่มา : 1, 2, 3