รู้ทัน อาการครรภ์เป็นพิษ อันตรายที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์

สิ่งหนึ่งที่แม่ท้อง ต้องระมัดระวัง และคอยสังเกตตัวเองให้ดีขณะตั้งครรภ์เลยก็คือ อาการครรภ์เป็นพิษ ซึ่งถืออันตรายที่ไม่ควรมองข้ามเลยล่ะ เพ 

 1202 views

สิ่งหนึ่งที่แม่ท้อง ต้องระมัดระวัง และคอยสังเกตตัวเองให้ดีขณะตั้งครรภ์เลยก็คือ อาการครรภ์เป็นพิษ ซึ่งถืออันตรายที่ไม่ควรมองข้ามเลยล่ะ เพราะถ้าหากแม่ท้องมีอาการครรภ์เป็นพิษแล้วอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่รุนแรงตามมา และอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต ทั้งแม่และทารกในครรภ์ได้เลยนะ วันนี้ Mamastory ขอนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับอาการครรภ์เป็นพิษ พร้อมทั้งวิธีสังเกตตนเองว่าเข้าข่ายหรือไม่ รับมืออย่างไรจะได้รักษาทัน ตามไปอ่านกันเลย

ครรภ์เป็นพิษ

มารู้จัก อาการครรภ์เป็นพิษกัน!

อาการครรภ์เป็นพิษ หรือ Preeclampsia เป็นชื่อเรียกของภาวะแทรกซ้อนที่มักจะพบบ่อยในหญิงตั้งครรภ์ ที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 20 สัปดาห์ขึ้นไป สาเหตุของครรภ์เป็นพิษ ยังไม่เป็นที่ทราบอย่างแน่ชัด แต่มีข้อสันนิษฐานอยู่บางประการ ดังนี้  

  • เกิดจากปัจจัยบางอย่างที่ไปขัดขวาง ไม่ให้เลือดไปเลี้ยงมดลูกและรก ทำให้รกทำงานได้ไม่ดีจึงเกิดครรภ์เป็นพิษขึ้นมา 
  • เกิดจากการทำงานของรกที่มีความผิดปกติ ทำให้มีสารบางชนิดไปกระตุ้นให้หลอดเลือดหดตัวอย่างรุนแรง ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้น
  • มีโปรตีนในปัสสาวะ ซึ่งสามารถทราบได้โดยการตรวจคัดกรอง
  • ปัจจัยอื่น ๆ ทางด้านร่างกายของแม่ท้อง เช่น การมีโรคประจำตัว

ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นขณะแม่ท้องมีภาวะครรภ์เป็นพิษ เช่น

  • แม่ท้องอาจมีอาการชัก 
  • ทารกในครรภ์พัฒนาช้า หรือไม่พัฒนาเลย
  • ทารกเสียชีวิตในครรภ์ 
  • น้ำท่วมปอด 
  • คลอดก่อนกำหนด
  • ตับและไตทำงานผิดปกติ 
  • มีเลือดออกในสมอง หรือมีเลือดออกระหว่างตั้งครรภ์ 


ระดับความรุนแรงของภาวะครรภ์เป็นพิษ

ระดับความรุนแรงของภาวะครรภ์เป็นพิษมีด้วยกัน 3 ระดับ ได้แก่

  1. ระดับที่ไม่รุนแรง หรือ Non – Severe Pre – Eclampsia : คือคุณแม่อาจมีความดันสูง 140/90 เป็นต้นไป แต่ไม่เกิน 160/110 มิลลิเมตรปรอท และไม่ได้มีภาวะแทรกซ้อนอื่นใด
  2. ระดับรุนแรง หรือ Severe Pre – Eclampsia : เป็นระดับที่ แม่ท้องมีความดันสูง 160/110 มิลลิเมตรปรอท เป็นต้นไป และเริ่มตรวจพบความผิดปกติของอวัยวะต่าง ๆ เช่น ตับ หรือ ไต อักเสบ เป็นต้น 
  3. ระดับรุนแรงและมีภาวะชักร่วมด้วย หรือ Eclampsia : ในระดับนี้คุณแม่จะมีอาการชัก เกร็ง หรือหมดสติ ในบางรายอาจมี เลือดออกในสมอง 

ครรภ์เป็นพิษในแม่ท้อง ไม่ว่าจะอยู่ในระดับใด ก็ควรมีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพราะถือว่าเป็นภาวะที่อันตรายต่อทั้งแม่และเด็ก การตรวจหาภาวะครรภ์เป็นพิษนั้นก็สามารถทำได้โดย การตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ หรืออัลตราซาวนด์ 
บทความที่เกี่ยวข้อง : ภาวะขาดน้ำในทารก อาการ และความเสี่ยงที่ต้องระวัง

ใครบ้างที่เสี่ยงครรภ์เป็นพิษ ?

  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว ตัวอย่างเช่น โรคไทรอยด์ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคภูมิแพ้ตัวเอง และผู้ที่มีโรคอ้วน จะทำให้เสี่ยงหัวใจตีบได้ง่าย 
  • คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ แต่อายุมากกว่า 35 ปี 
  • ผู้ที่มีกรรมพันธุ์หรือคนในครอบครัวมีประวัติเคยมีครรภ์เป็นพิษ 
  • ผู้ที่มีลูกมากกว่า 1 คน หรือผู้ที่ตั้งครรภ์ลูกแฝด 
  • ผู้ที่มีบุตรยาก 

7 สัญญาณเตือนครรภ์เป็นพิษ

  1. มีการบวมตามร่างกาย โดยเฉพาะส่วนมือและเท้า 
  2. ความดันโลหิตสูง ถึง 140/90 มิลลิเมตรปรอท
  3. ตาพร่ามัว เห็นแสงวูบวาบ 
  4. ตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะได้
  5. ปวดหัว ปวดหรือรู้สึกจุกเสียด ใต้ลิ้นปี่หรือชายโครงขวา
  6. ลูกในครรภ์ตัวเล็กกว่าปกติ และดิ้นน้อย 
  7. แม่น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเร็วผิดปกติ ทำให้มีขนาดตัวที่ใหญ่ขึ้น 

รู้ก่อน! ป้องกันและรักษาได้

แม่ท้องที่คิดว่าตนเข้าข่ายเสี่ยงครรภ์เป็นพิษ ควรเข้าปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการตรวจคัดกรองโรค โดยแพทย์จะใช้การตรวจปัสสาวะ เจาะเลือด หรืออัลตราซาวนด์เพื่อดูการเจริญเติบโต ของทารกในครรภ์ และแพทย์ก็จะทำการประเมินเพื่อหาแนวทางรักษาต่อไป โดยมักจะคำนึงถึงอายุครรภ์ร่วมด้วย เนื่องจากหากจะต้องการให้ทารก ออกมามีสุขภาพแข็งแรง ไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่จะเป็นอันตรายต่อตัวทารก ทารกจำเป็นต้องอยู่ในครรภ์มารดาให้ได้นานที่สุด เพื่อให้ทารกได้มีพัฒนาการให้ได้มากที่สุด
บทความที่เกี่ยวข้อง : 10 วิธีการเตรียมตัวก่อนคลอด มีอะไรบ้างที่คุณแม่ควรเตรียมให้พร้อม


อาการครรภ์เป็นพิษ

เพราะฉะนั้นหากอายุครรภ์น้อย แพทย์อาจเลือกที่จะให้ยากระตุ้นปอด และพยายามประคับประคองให้ทารกอยู่ในท้องแม่ให้ได้นานที่สุด หรือสำหรับผู้ที่มีอายุครรภ์มากเพียงพอที่จะสามารถทำการคลอดได้แล้ว แพทย์ก็อาจพิจารณาให้ทำการคลอดโดยทันที เพื่อนำทารกไปดูแลอย่างใกล้ชิดต่อไป ในแม่ท้องบางรายคุณหมออาจพิจารณาให้ยาแอสไพริน เพื่อช่วยละลายลิ่มเลือด หรือมีการให้แมกนีเซียมเพื่อป้องกันอาการชัก

การป้องกันภาวะครรภ์เป็นพิษนั้นยังไม่มีอย่างแน่ชัด แต่ในส่วนของการป้องกันเบื้องต้น คุณแม่ต้องหมั่นสังเกตร่างกายของตนเอง ว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ หากสงสัยอย่ารีรอ ให้รีบไปปรึกษาแพทย์เพื่อหาแนวทางการรักษา และหากคุณแม่คนไหนเป็นครรภ์เป็นพิษแล้ว หากอยู่ในระดับที่ไม่รุนแรงมาก ก็ไม่ต้องเป็นกังวลไปค่ะ คอยไปเช็กสุขภาพครรภ์ให้สม่ำเสมอ หากมีอะไรจะได้รักษาได้ทัน



หวังว่าความรู้เกี่ยวกับ ครรภ์เป็นพิษ จะเป็นประโยชน์กับแม่ท้องไม่มากก็น้อย เข้าใจดีว่าภาวะครรภ์เป็นพิษ อาจจะดูน่ากลัวสำหรับแม่ ๆ แต่อย่าได้กังวลไปนะคะ คอยรักษาตนเองให้มีสุขภาพที่ดี ดื่มน้ำ ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และพักผ่อนให้เพียงพอ และเข้ารับการตรวจอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยป้องกันและรักษาภาวะครรภ์เป็นพิษได้ ปลอดภัยทั้งแม่และลูกน้อยอย่างแน่นอนค่ะ

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : 

กำเดาไหลตอนท้อง อันตรายไหม แม่ท้องเลือดกำเดาไหลทำไงดี?

คนท้องฟังเพลง แล้วส่งผลดีต่อลูกในท้องอย่างไร? เพลงสำหรับคนท้อง

ท้องแฝด ภาวะครรภ์เสี่ยงสูง ความเสี่ยงที่อันตรายกว่าที่คิด

ที่มา : 1 , 2 , 3