โลหิตจางตอนท้อง รับมืออย่างไรให้ปลอดภัย ควรดูแลตัวเองแบบไหน

ในช่วงระหว่างการตั้งครรภ์ นับเป็นการใช้ชีวิตที่ต้องดูแลตัวเองเป็นสองเท่าค่ะ เพราะนอกจากดูแลตัวเองแล้ว คุณแม่ยังต้องดูแลทารกน้อยที่อยู่ใ 

 1106 views

ในช่วงระหว่างการตั้งครรภ์ นับเป็นการใช้ชีวิตที่ต้องดูแลตัวเองเป็นสองเท่าค่ะ เพราะนอกจากดูแลตัวเองแล้ว คุณแม่ยังต้องดูแลทารกน้อยที่อยู่ในครรภ์อีกด้วยค่ะ ดังนั้นการเรียนรู้เกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยที่สำคัญอย่าง โลหิตจางตอนท้อง ก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องทำค่ะ

วันนี้ Mama Story จะพาคุณพ่อคุณแม่ไปทำความเข้าใจกับอาการโลหิตจางระหว่างการตั้งครรภ์ อาการป่วยสำคัญที่ห้ามละเลย พร้อมวิธีดูแลตัวเองให้ปลอดภัย เพื่อไม่ให้เกิดเรื่องอันตรายกับคุณแม่และน้องน้อยค่ะ

โรคโลหิตจาง คืออะไร​ ?

โลหิตจาง (Anemia) หรือภาวะซีด เป็นภาวะที่มีปริมาณเม็ดเลือดแดงในเลือดน้อยกว่าปกติ ทำให้ผลิตออกซิเจนได้น้อยกว่าปกติ ส่งผลให้ร่างกายมีอาการผิดปกติ เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ภาวะนี้พบได้บ่อยในบุคคลทั่วไป โดยอาการแสดงอาจมากหรือน้อยแตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระดับเม็ดเลือดแดงในร่างกายและความสามารถในการปรับตัวต่อภาวะโลหิตจางของแต่ละคน

โลหิตจางตอนท้อง



โลหิตจางตอนท้อง คืออะไร ?

โลหิตจาง หรือภาวะที่มีฮีโมโกลบินต่ำกว่าปกติ ค่าปกติของความเข้มข้นของเลือด ในผู้ชายจะมีฮีโมโกลบินประมาณ 15 กรัมต่อเลือด 100 มิลลิลิตร หรือกรัมเปอร์เซ็นต์ สำหรับผู้หญิงค่าปกติจะประมาณ 14 กรัมเปอร์เซ็นต์ในภาวะที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ ถ้าค่าต่ำกว่า 11 กรัมเปอร์เซ็นต์ จัดว่าเป็นโรคเลือดจาง

บทความที่เกี่ยวข้อง : ท้องแล้ว ไวต่อกลิ่น ปกติหรือไม่ ? แม่ท้องรับมือได้อย่างไร?

ในระหว่างตั้งครรภ์ถ้ามีฮีโมโกลบินต่ำกว่า 11 กรัมเปอร์เซ็นต์ ในไตรมาสที่หนึ่ง และสาม และต่ำกว่า 10.5 กรัมเปอร์เซ็นต์ ในไตรมาสที่สอง ก็ถือว่าเป็นโรคโลหิตจาง เพราะในระยะการตั้งครรภ์นี้จะมีปริมาตรน้ำเลือดเพิ่มขึ้น ทำให้ความเข้มข้นของเลือดลดลงกว่าปกติ

โรคโลหิตจาง แบ่งเป็นกี่ประเภท

  • โลหิตจางแบบปกติที่เกิดจากการตั้งครรภ์ เพราะปริมาณน้ำเลือด จะเพิ่มมากกว่าปริมาณเม็ดเลือดแดง ส่งผลให้เลือดจางกว่าปกติขณะตั้งครรภ์
  • โรคโลหิตจาง จากการขาดธาตุเหล็ก สารอาหารต่าง ๆ และโลหิตจางจากโรคทางพันธุกรรม เช่น ธาลัสซีเมีย เป็นต้น

โดยในกลุ่มแรกโลหิตจางแบบปกติพบได้บ่อย ไม่เป็นอันตรายต่อคุณแม่ตั้งครรภ์ แต่ในกลุ่มที่เกิดจากการขาดธาตุเหล็ก หรือจากพันธุกรรมจะมีผลต่อทารกในครรภ์ เพราะโดยปกติเม็ดเลือดเป็นตัวนำสารอาหารและออกซิเจนไปยังทารก เมื่อไหร่ก็ตามที่เม็ดเลือดมีปริมาณน้อยลง หรือรูปร่างผิดปกติจะทำให้การนำสารอาหารและออกซิเจนไปยังลูกก็จะน้อยลง ทำให้เด็กเติบโตช้า คลอดก่อนกำหนด และเมื่อคลอดครบกำหนด ก็อาจมีน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ปกติได้

ปกติแล้วในระหว่างคลอดคุณแม่จะเสียเลือดไม่มากก็น้อย ซึ่งการคลอดธรรมชาติจะเสียเลือดประมาณ ไม่เกิน 500 ซีซี และผ่าคลอด เสียเลือดไม่เกิด 1,000 ซีซี ดังนั้น เมื่อเกิดภาวะโลหิตจาง เลือดไม่พอ ก็จะทำให้คุณแม่อ่อนเพลียมากหลังคลอดได้

การวินิจฉัยว่าเป็นภาวะโลหิตจางหรือไม่ ต้องตรวจเลือดเพิ่มเติม หลังจากนั้นสูติแพทย์ก็จะรักษาอาการตามสาเหตุ 

  • ถ้าเกิดจากการขาดธาตุเหล็ก เพียงแค่เพิ่มธาตุเหล็กให้คุณแม่ พัฒนาการของทารกในครรภ์ ก็จะเข้าสู่ภาวะปกติได้ภายใน 1 สัปดาห์
  • ถ้าเป็นภาวะโลหิตจางที่เกิดจากการเป็นพาหะหรือมีพันธุกรรมแฝงของธาลัสซีเมีย แพทย์จำเป็นต้องตรวจเลือดของคู่สมรสด้วย หากว่าที่คุณแม่เป็นพาหะของธาลัสซีเมียเพียงคนเดียว ทารกในครรภ์ก็จะเป็นปกติ แต่มีโอกาสเป็นพาหะหรือมีพันธุกรรมแฝงเหมือนแม่ ประมาณร้อยละ 50 แต่ถ้าตรวจพบว่า ว่าที่คุณพ่อเป็นพาหะของธาลัสซีเมียด้วย เด็กในท้อง จะมีโอกาสเป็นโรคธาลัสซีเมีย ร้อยละ 25

โลหิตจางตอนท้อง



อาการ โลหิตจางตอนท้อง

  • หน้ามืด เวียนศีรษะ เป็นลมง่าย อ่อนเพลีย ง่วงบ่อย

ผลกระทบของโลหิตจางระหว่างตั้งครรภ์

  • คุณแม่จะมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
  • หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น  ทำให้หัวใจล้มเหลวได้ง่าย
  • เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด
  • เสี่ยงต่อการแท้ง
  • เสียเลือดจากการคลอดหรือการตั้งครรภ์  ทำให้ช็อกหรือไตล้มเหลวได้ง่าย
  • ติดเชื้อได้ง่ายกว่าปกติ
  • ทารกโตช้าในครรภ์

สาเหตุที่แม่ตั้งครรภ์โลหิตจาง

  • ขาดธาตุเหล็ก
  • ขาดกรดโฟลิก เพราะกินอาหารไม่ครบถ้วน เช่น ไม่กินผักสด หรือพืชประเภทถั่ว
  • สูญเสียเลือดขณะตั้งครรภ์ เช่น มีภาวะรกเกาะต่ำ ทำให้เลือดออกทางช่องคลอดเป็นระยะ
  • ว่าที่คุณแม่เป็นพาหะหรือมีพันธุกรรมแฝงของธาลัสซีเมีย
  • มีความผิดปกติของไขกระดูก

วิธีดูแลเป็นภาวะโลหิตจาง

  1. คุณหมอจะเสริมธาตุเหล็กเพื่อช่วยลดอาการ และทำให้ปริมาณเม็ดเลือดแดงเพิ่มมากขึ้น ทำให้การนำอาหารไปยังทารกดีขึ้น
  2. รับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็ก เช่น ถั่ว งาดำ ผักใบสีเขียว เนื้อสัตว์ต่างๆเช่น เนื้อวัว เนื้อหมู ไก่ ไข่แดง
  3. รับประทานผลไม้ที่มีวิตามินซี เพื่อช่วยการดูดซึมของธาตุเหล็กให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น เช่น ส้ม มะนาว ฝรั่ง

โลหิตจางตอนท้อง



โรคโลหิตจาง ควรกินอะไร ?

  1. ข้าว : ข้าวเสริมธาตุเหล็ก ข้าวสายพันธุ์ 313 และข้าวหอมนิล จัดได้ว่ามีคาร์โบไฮเดรตสูง และยังมีธาตุเหล็ก กรดโฟลิก  และคลอโรฟิลล์ ซึ่งเป็นสารที่มีโมเลกุลคล้ายกับฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง จึงเหมาะมากสำหรับผู้ที่ต้องการธาตุเหล็ก
  2. ธัญพืช : เช่น ถั่วแดง ถั่วดำ อัลมอนด์ ลูกเดือย เม็ดฟักทอง เป็นต้น เป็นแหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ ทั้งโปรตีน เส้นใยอาหารวิตามินบีสารต้านอนุมูลอิสระ ธาตุเหล็ก สังกะสี ทองแดง และแมกนีเซียม
  3. พืชผักใบสีเขียวเข้ม : เช่น ผักบุ้ง หน่อไม้ฝรั่ง ผักโขม คะน้า บรอกโคลี แต่อาหารเหล่านี้ควรรับประทานร่วมกับอาหารที่มีวิตามินซีสูง เช่น มะละกอ ส้ม หรือฝรั่ง เพื่อช่วยให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้ดี
  4. เลือด ตับ เนื้อสัตว์ต่าง ๆ
  5. พริก กระเทียม และขมิ้น : ช่วยให้การไหลเวียนของเลือดเป็นไปได้ดี และยังช่วยลดความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

เป็นเลือดจางห้ามกินอะไร ?

เนื่องจากร่างกายของผู้ป่วยเลือดจางต้องกินอาหารเพื่อลดการขาดสารอาหารที่สำคัญต่อการสร้างเม็ดเลือดแดง จึงมีอาหารบางประเภทที่อาจขวางกั้นการดูดซึมอาหารเหล่านั้นที่ควรหลีกเลี่ยง

  • อาหารที่ไม่ควรทานพร้อมกันหากทานยาเสริมธาตุเหล็กไม่ควรทานพร้อมกับการดื่มนม ไม่ควรดื่มชากาแฟหลังมื้ออาหารที่ทานผักใบเขียว
  • อาหารที่ผู้ป่วยเลือดจางควรหลีกเลี่ยง : ผักใบเขียวเข้มรสฝาดทั้งสมุนไพร ขี้เหล็ก ขมิ้นชัน กระถิน  เป็นต้น รวมถึงต้องจำกัดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ด้วย โดยผู้ชายควรดื่มไม่เกิน 2 แก้วส่วนผู้หญิงไม่ควรดื่มเกิน 1 แก้วต่อวัน

การป้องกันไม่ให้เป็นโลหิตจาง

ก่อนการตั้งครรภ์ควรตรวจเช็กร่างกาย ตรวจหาภาวะโลหิตจาง หากเป็นโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ควรรับประทานอาหารเสริมให้ร่างกายเป็นปกติ ส่วนโรคโลหิตจางจากโรคธาลัสซีเมีย ควรมีการตรวจคัดกรองว่าลูกมีความเสี่ยงหรือไม่ โดยการตรวจเลือดของพ่อและแม่

สำหรับคุณแม่ที่ไม่มีภาวะโลหิตจาง ก็จำเป็นต้องเสริมธาตุเหล็กเช่นเดียวกัน การกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ตามปกติ ไม่สามารถชดเชยธาตุเหล็กให้เพียงพอกับพัฒนาการของลูกในท้องได้ เพราะธาตุเหล็กเป็นสารอาหารที่ร่างกายดูดซึมได้น้อย เพียงร้อยละ 10 ของปริมาณที่กินเข้าไปเท่านั้น

การที่คุณแม่มีภาวะโลหิตจางขณะตั้งครรภ์นั้น เลือดที่ไปเลี้ยงรกจะมีออกซิเจนน้อยกว่าปกติ จึงอาจจะเกิดผลกระทบต่อทารกได้ เช่น ทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์ น้ำหนักตัวแรกคลอดน้อยผิดปกติ ส่งผลต่อพัฒนาการ ตลอดจนอาจทำให้ทารกเสียชีวิตในครรภ์ได้ หากคุณแม่พบว่าตนเองมีภาวะโลหิตจางขณะตั้งครรภ์ก็ไม่ต้องกังวลใจ แต่ควรตรวจเช็กสุขภาพอย่างใกล้ชิดตลอดการตั้งครรภ์ ซึ่งนอกจากการเสริมธาตุเหล็กแล้ว การเสริมอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงก็มีความสำคัญค่ะ

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

แม่ท้องเวียนศีรษะ อันตรายไหม ต้องรับมืออย่างไรดี

คนท้องเครียด ร้องไห้ จะเป็นอะไรไหม? แม่ท้องเครียดมากทำไงดี?

คนท้องทำงานหนัก พักผ่อนน้อย เสี่ยงแท้งลูกจริงไหม?

ที่มา : 1, 2, 3