เมื่อพูดถึงเรื่องการป่วยของลูก หนึ่งในอาการไม่สบายท้อง ที่มักทำให้พ่อแม่เป็นกังวลก็คือ ลูกอาเจียน เด็กบางคนอาเจียนขณะมีไข้หรือเริ่มไม่สบาย และมีอาการปวดท้อง หากลูกอาเจียน ไม่อยากให้แม่วางใจว่า เป็นเพียงไข้หวัดธรรมดาหรือกินอาหารผิดประเภท ยิ่งบ้านไหนที่ลูกมีอาการบ่อย อาจจะทำให้วิตกกังวลว่าเป็นสัญญาณอันตราย หรือเด็กกำลังเป็นโรคร้ายแรงก็ได้ค่ะ วันนี้ Mamastory มีสาระดี ๆ เกี่ยวกับอาการอาเจียนในทารกมาฝากค่ะ
ลูกอาเจียนเกิดจากอะไร ?
กว่า 70% ของเด็ก ที่มีอาการไม่สบายท้อง มักจะแสดงออกมาด้วยการอาเจียน ยิ่งบางครั้งลูกอาเจียนบ่อย พ่อแม่ยิ่งตั้งคำถามพร้อมอยากรู้สาเหตุเป็นธรรมดา แต่การอาเจียนของทารก เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการแพ้นม แพ้อาหาร กลืนอากาศ หินนมหรืออาหารมากเกินไป ก็เป็นสาเหตุของการอาเจียนได้ทั้งนั้น ซึ่งนอกจากนี้แล้วยังมีสาเหตุอื่นด้วย ได้แก่
- ไวรัสลงกระเพาะ (Viral Gastroenteritis) : เกิดจากการติดเชื้อ ในกระเพาะอาหาร ส่งผลให้ทารกท้องเสียและอ้วก โดยอาการทั้งสองจะเกิดขึ้นภายใน 12-24 ชั่วโมงต่อกัน ไม่ทิ้งช่วงนาน
- แพ้อาหาร (Food Allergy) : ทารกบางคนอาจแพ้อาหารบางชนิดจนส่งผลให้อ้วกออกมา
- ไอแรงจนอ้วก (Hard Coughing) : ทารกบางรายมีอาการไอเรื้อรังและต่อเนื่อง พบได้บ่อยในเด็กที่เป็นกรดไหลย้อน หากรุนแรงขึ้นอาจจะส่งผลให้ทารกอาเจียนได้
- การติดเชื้ออื่น ๆ (Infactions) : การที่ลูกอาเจียนอาจเป็นหนึ่งในสัญญาณอันตราย ที่กำลังบอกว่าลูกติดเชื้อในร่างกายก็ได้ เช่น ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ, ติดเชื้อที่หูชั้นกลาง, โรคปอดบวม หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
ลูกอาเจียน กับลูกแหวะนม แตกต่างกันอย่างไร ?
บางครอบครัวอาจจะเข้าใจว่า การที่ลูกอาเจียน กับการที่ลูกแหวะนม เป็นอาการเดียวกันและไม่เป็นอันตราย แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทั้งสองอาการนี้ค่อนข้างมีความแตกต่างกันมาก ลูกแหวะนม คือการที่ภายในท้อง เกิดการไหลเวียนย้อนกลับของอาหาร แต่จะไม่ออกทางปาก อาจมีออกจมูกบ้าง คล้ายกับกรดไหลย้อน แต่การที่ลูกอาเจียน คือการสำรอกเอาอาหาร หรือของเหลวทุกอย่างออกมาทางปากโดยเฉพาะ
สาเหตุที่ลูกอาเจียนบ่อย
1. ลูกอาเจียนเพราะท้องเสีย
สามารถพบได้บ่อยหากท้องเสียแล้วมีการร่วมด้วย สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังคือ มีอาการซึม ปวดหัว ไข้ร่วมด้วยหรือไม่ หากลูกอ้วกแล้วท้องเสียร่วมกัน ควรพาลูกไปพบแพทย์ หากปล่อยไว้จะยิ่งทำให้ร่างกายเสียน้ำและเกลือแร่
2. ลูกอาเจียนแล้วมีเลือดปน
เวลาที่ลูกอาเจียนแล้วมีเลือดปน ถือว่าเสี่ยงอันตรายมาก อาจเกิดจากกระเพาะอาหารอักเสบ หรือเกิดจากหลอดอาหารอักเสบ ซึ่งในกรณีที่ลูกอ้วกแล้วมีเลือดปนออกมา คุณพ่อคุณแม่ควรรีบพาลูกไปเช็กอาการกับแพทย์ทันที
3. ลูกอาเจียนพร้อมกับปวดศีรษะ
เมื่ออาเจียนแล้วมีอาการอื่นร่วมด้วย คุณแม่ควรสังเกตดูว่า ถ้าลูกอาเจียนแล้วมีไข้ขึ้นสูง ร้องงอแงมาก และถ้าลูกโตพอที่จะสื่อสารรู้เรื่อง แล้วบอกว่ามีอาการปวดหัว หรือปวดศีรษะด้วย ให้ระวังอาจเกิดจากการมีภาวะติดเชื้อในสมอง หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
4. ลูกอาเจียนมากและบ่อยครั้ง
เมื่อการอาเจียนเกิดขึ้นกับเด็กเล็กบ่อย ๆ อาจจะทำให้ร่างกายเสียสมดุล และต่อต้านอาหารหรือยาที่กินเข้าไป เมื่อลูกมีอาการอาเจียนระหว่างวันบ่อย ๆ อย่าปล่อยไว้นาน ให้รีบพาลูกไปหาหมอ เพราะไม่เช่นนั้นอาจจะมีอาการ ขาดน้ำและสารอาหารอย่างรุนแรงได้
5. ลูกอาเจียนเพราะอิ่มมากเกินไป
ทารกที่ยังดื่มนมแม่ บางครั้งอาจจะได้รับปริมาณที่มากเกินไป (Over Feeding) จนทำให้ลูกอิ่มมาก นมล้นกระเพาะจึงอาเจียนออกมา หากเกิดอาการดังกล่าวบ่อย ๆ อาจไม่น่าห่วงไร แต่ถ้าหากมีอาการหนัก จนถึงขั้นเกิดเป็นภาวะกรดไหลย้อน คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องระวังเพิ่มขึ้นกว่าเดิม
บทความที่เกี่ยวข้อง : ลูกมีผื่นแดง ปัญหาผิวที่แม่ป้องกันได้ แค่เพียงรู้สาเหตุ !
สัญญาณอันตรายจากการอาเจียน
การอาเจียนในทารก โดยปกติแล้วไม่นับเป็นเรื่องปกติ หากเป็นอาการระยะสั้น เช่น 1-2 วัน หากหลังจากนั้นไม่มีอาการ ก็นับได้ว่าหายเป็นปกติ แต่ถ้าหากทารกมีการอาเจียนนานกว่าปกติ หรือเอาสิ่งแปลกปลอมอื่นออกมาด้วย อาจจะเป็นสัญญาณอันตรายที่ควรระวังก็ได้ ซึ่งสามารถจำแนกเป็นส่วนสำคัญได้ดังนี้
- ลูกอาเจียนถี่และพุ่ง
ในทารกที่อายุน้อยกว่า 2 เดือน ที่มีอาการอาเจียนพุ่ง อาจเป็นสัญญาณบอกว่า เกิดความผิดปกติของโครงสร้างระบบทางเดินอาหาร หรือกระเพาะอาหารตีบ สำหรับทารกที่มีอาเจียนลักษณะนี้ อาจทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ
- ลูกอาเจียนมีสีเขียวหรือเหลืองปน
ในทารกที่มีอาการอาเจียน แล้วมีสีเขียว หรือสีเหลืองปนเขียวออกมาด้วย อาจเกิดจากการที่น้ำดีปนออกมา ซึ่งเป็นสัญญาณของลำไส้อุดตัน หากมีอาการแบบนี้ ควรได้รับการดูแลจากแพทย์โดยทันที
- อาเจียนพร้อมกับถ่ายผิดปกติ
ทารกที่มีอาการอ้วกพร้อมกับท้องเสีย แสดงว่าอาจจะมีการติดเชื้อในลำไส้ หรือในทางเดินอาหารได้ แต่ถ้าหากทารกมีอาการท้องอืด ไม่ขับถ่าย อาจจะเกิดจากภาวะลำไส้อุดตัน ต้องรีบพาลูกไปพบแพทย์
ลูกอาเจียนเสี่ยงเป็นโรคอะไร ?
1. โรคไข้สมองอักเสบ
ลูกที่มีอาการอาเจียนพร้อมกับปวดหัว ไข้ขึ้นสูง อาจเกิดจากภาวะความดันในสมองสูง ส่วนหนึ่งของโรคไข้สมองอักเสบ สามารถพบได้บ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี โดยเริ่มจากเบื่ออาหาร กระสับกระส่าย คอแข็ง ปวดต้นคอ ตาไวต่อแสง หากพบอาการลักษณะนี้ต้องพาลูกไปพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยอย่างละเอียดทันที เพื่อเช็กอาการให้แน่ใจว่า ลูกมีความเสี่ยงหรือเป็นไข้สมองอักเสบหรือไม่
2. ทอนซิลอักเสบ หลอดลมอักเสบ
หากลูกอาเจียน มีไข้สูง แต่ไม่ปวดหัว อาจเป็นไปได้ที่มีภาวะติดเชื้อในเด็ก ที่ไม่เป็นอันตรายร้ายแรง แต่ถ้าหากลูกมีความเสี่ยงสูง ที่จะเป็นโรคทอนซิลอักเสบ ควรรีบพาลูกไปหาหมอโดยเร็ว เพราะหากเป็นแล้วมีโอกาสที่จะเรื้อรังไปจนวัยผู้ใหญ่
3. กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
สัญญาณที่บ่งบอกถึงโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ คืออาการไข้ขึ้น ปวดท้องน้อย อาเจียน บางรายอาจจะมีเลือดปนในปัสสาวะ ถึงแม้จะรักษาให้หายแล้วก็ยังต้องระวัง เพราะในอนาคตอาจจะเป็นซ้ำได้ และสามารถเป็นได้บ่อยครั้ง
4. โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
จริงอยู่ที่เด็กทุกคนจะได้รับวัคซีนป้องกันอยู่แล้ว อีกทั้งยังไม่ค่อยพบโรคนี้ในประเทศมากนัก แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้เช่นกัน อีกทั้งยังเป็นโรคที่ร้ายแรง เพราะอาจจะทำให้เกิดความพิการหรือเสียชีวิตได้ ทั้งยังสามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ต้องรักษาทันทีด้วย เช่น ปอดอักเสบ โลหิตเป็นพิษ เส้นเลือดในสมองแตก หรือภาวะเลือดออกในสมองจากอุบัติเหตุ
วิธีปฏิบัติเมื่อลูกอาเจียน
การอาเจียนในทารก อาจเกิดขึ้นได้เป็นครั้งคราว บางรายอาจจะไม่น่าเป็นห่วงเท่าไร แต่โดยปกติแล้ว เมื่อลูกอาเจียนไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด พ่อแม่ควรสังเกตเผื่อไว้ เนื่องจากการอาเจียน สามารถใช้วินิจฉัยโรคได้ เมื่อลูกอาเจียนสิ่งที่พ่อแม่ควรทำมีดังนี้
- เมื่อลูกอาเจียน แม่ไม่ควรหยุดให้นมเด็ดขาด เพราะการหยุดให้นมนั้น มีความเสี่ยงที่จะขาดสารอาหารและน้ำได้ เว้นแต่ว่าทารกมีอาการขาดน้ำ ควรพบแพทย์ทันที เพื่อปรึกษาในเรื่องการใช้ผงน้ำตาลเกลือแร่สำหรับทารก
- หากทารกอาเจียนหลังกินนม โดยออกทั้งปากและจมูก อาจทำให้เป็นเยื่อบุโพรงจมูกอักเสบ เป็นหวัด มีน้ำมูก หรือมีเสียงครืดคราดในท้องได้ หากมีอาการเหล่านี้นานเกินกว่า 3 วัน ควรพบแพทย์ทันที
- เมื่อทารกอาเจียนและสำลักนมเข้าหลอดลมนับเป็นการอาเจียนที่อันตรายอาจส่งผลให้ลูกไออย่างแรงเมื่อลูกมีอาการสำลักควรรีบจับลูกคว่ำหน้าให้ท่าศีรษะต่ำเพื่อให้นมออกทางปากแทนจมูก
- หากทารกอาเจียนถี่ หรืออาเจียนต่อเนื่องกว่า 12 ชั่วโมง และไม่ดีขึ้น ควรรีบพาไปพบแพทย์ ซึ่งพ่อแม่ต้องมีสติและปฐมพยาบาลเบื้องต้นก่อน เพื่อไม่ให้เกิดเหตุอันตราย
สิ่งที่สำคัญคือ พ่อแม่ต้องไม่ลืมว่า การที่ลูกอาเจียนหรืออ้วกบ่อย ๆ ไม่ใช่การป่วยเป็นโรคใด เพียงแต่เป็นผลกระทบของร่างกายเท่านั้น แต่ในบางครั้งก็อาจเป็นสัญญาณอันตรายได้เช่นกัน ดังนั้นการรักษาไม่ใช่แค่ให้กินยาแก้อาเจียน หรือรอให้หยุดไปอย่างเดียว แต่ต้องมีการสังเกต เพื่อวินิจฉัยโรคให้ได้โดยละเอียด ไม่เช่นนั้นอาจจะเป็นอันตรายเกินแก้ได้ ดังนั้นไม่ว่าจะแหวะนม หรืออ้วกเล็กน้อย อย่างไรพ่อแม่ก็ต้องสังเกตเผื่อไว้นะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
โรคลมบ้าหมู หรือ โรคลมชักในเด็ก พ่อแม่รู้เท่าทัน ลูกรักก็ปลอดภัย !
โรคคลั่งผอม อันตรายที่อาจเกิดขึ้น กับแม่หลังคลอด ที่ไม่พอใจหุ่นตัวเอง
ท่าทารกในครรภ์ มีลักษณะเป็นอย่างไร? ลูกนอนท่าไหนคลอดง่าย
ที่มา : 1