สำหรับคุณแม่ที่มีปัญหาในเรื่องของน้ำนมน้อย วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักพืชสมุนไพรไทย ที่ทุกคนนิยมนำมาทำอาหารไทยทานกันอย่าง ใบกะเพรา กันค่ะ นอกจากจะช่วยกระตุ้นน้ำนม แล้วกะเพรายังมีคุณประโยชน์มากมายในหลาย ๆ ด้านต่อสุขภาพมาก ๆ มาตามไปดูพร้อมกันเลยค่ะ
ทำความรู้จัก ใบกะเพรา
กะเพรา จะเป็นไม้ล้มลุก เป็นไม้พุ่มเตี้ยที่มีความสูงประมาณ 1 – 3 ฟุต ก้านจะเป็นขน รูปใบเรียวมีลักษณะเรียวปลายมน รอบขอบใบเป็นหยัก กะเพราจะมี 3 พันธุ์ คือ กะเพราแดง และ กะเพราขาว ส่วนใหญ่คนจะนิยมนำกะเพราไปปรุงในอาหารไทยหลากหลายเมนู ซึ่งจะต้องเลือกเฉพาะส่วนใบกะเพราเท่านั้น ซึ่งกะเพราจะเป็นผักที่มีให้เลือกซื้อตลอดปี อีกทั้งยังมีสรรพคุณหลากหลาย มีทั้งฤทธิ์ช่วยขับลมในกระเพาะ แก้อาการจุกเสียดท้อง และช่วยดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ได้เป็นอย่างดี และยังช่วยในการย่อยอาหาร เป็นต้น
ความแตกต่างของ ใบกะเพรา แต่ละชนิด ?
-
กะเพราแดง
กะเพราแดงเป็นพืชล้มลุก มีลักษณะเป็นทรงพุ่ม มีความสูงเฉลี่ยไม่เกิน 70 เซนติเมตร ดอกกะเพราแดงจะออกเป็นช่อ ซึ่งดอกจะมีสีขาวแกมม่วงแดง และใบกะเพราแดงจะเป็นใบเดี่ยว รูปร่างใบมีลักษณะเป็นรูปรี สีคล้ำ ๆ ออกม่วง ๆ ขอบใบหยัก กลิ่นจะหอมแรงกว่ากะเพราทั่วไป
-
กะเพราขาว
เป็นพืชล้มลุก ที่มีลักษณะเป็นทรงพุ่ม ใบจะมีลักษณะทรงรีเล็ก ๆ ขอบใบเป็นรอยหยักเล็ก ๆ ใบสีเขียว มีความบอบบาง ช้ำง่ายและเหี่ยวง่าย มีกลิ่นหอมแรงเฉพาะตัว
บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง : คนท้องกินน้ำขิงได้ไหม ขิงแบบไหนให้ดีต่อแม่ท้อง
ประโยชน์ของใบกะเพรา
- ช่วยลดระดับไขมันในร่างกาย และปริมาณคอเลสเตอรอล ทำให้ระดับของน้ำตาลลดลง ช่วยรักษาและป้องกันโรคเบาหวาน
- ใบกะเพราสามารถช่วยไล่ยุงได้ ด้วยการใช้ทั้งใบสดและกิ่งสด เอาใบมาขยี้แล้ววางใกล้ตัว ๆ จะช่วยไล่ยุงและแมลงได้
- ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร ซึ่งกะเพราจะช่วยลดการเกิดกรด แล้วเพิ่มการหลั่งสารเยื่อเมือกในกระเพาะอาหาร ซึ่งช่วยป้องกันไม่ให้เยื่อบุกระเพาะอาหารถูกทำลายได้
- ช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง ช่วยขับลม หรืออาการจุกเสียดแน่นท้อง ช่วยลดการบีบตัวของลำไส้
- แก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย โดยการนำใบกะเพราไปตำผสมกับเหล้าขาว แล้วเอามาทาบริเวณที่ถูกสัตว์มีพิษกัดต่อย
- ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรค และช่วยฆ่าเชื้อจุลินทรีย์บางชนิดได้
- ช่วยทำให้ร่างกายอบอุ่นและป้องกันอาการหวัดได้
- ช่วยดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ในเมนูอาหาร
- ช่วยเพิ่มน้ำนมให้คุณแม่หลังคลอด
- ช่วยแก้อาการคลื่นไส้อาเจียน
- สามารถนำใบกะเพราไปใช้ประกอบเมนูอาหารได้อย่างหลากหลาย
- รากของกะเพราสามารถใช้แก้โรคธาตุพิการโดยการนำมาต้มชงดื่ม
กะเพรากระตุ้นน้ำนมได้จริงไหม ?
เนื่องจากใบกะเพราจะอุดมไปด้วยแคลเซียมและฟอสฟอรัสสูง ซึ่งมีคุณสมบัติแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลม และความร้อนจากใบกะเพรา ก็จะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ช่วยบำรุงน้ำนมให้กับคุณแม่หลังคลอด สำหรับเมนูที่แนะนำ คือ ผัดกะเพรา, แกงเลียงใส่ใบกะเพรา
บทความที่เกี่ยวข้อง : ผลไม้คนท้อง กินแล้วดีอย่างไร แม่ท้องกินผลไม้อะไรได้บ้าง?
การเลือกซื้อใบกะเพรา
กะเพราจะมีความฉุนที่มากน้อยแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับกะเพราแต่ละชนิด หากต้องการเลือกกะเพรามาทำอาหาร ควรเลือกโดยการขยี้ดมให้รู้ระดับความฉุนที่ต้องการ และเลือกใบกะเพราที่สด ไม่เหี่ยว และไม่แห้งกรอบ และเมื่อนำไปประกอบอาหารก็จะยิ่งทำให้หอมน่ากินมากยิ่งขึ้น และสำหรับการนำเอากะเพราไปประกอบอาหารนั้น ส่วนมากจะนิยมเลือกใช้เฉพาะส่วนใบเท่านั้น และสำหรับความแตกต่างระหว่างกะเพราขาวและกะเพราแดงนั้น จะสังเกตได้ในเรื่องของกลิ่น เพราะกะเพราแดงจะมีกลิ่นฉุนแรงกว่า เวลานำมาประกอบอาหารแล้วจะหอมแรงกว่ากะเพราขาว ดังนั้นการนำกะเพรามาประกอบอาหารจึงขึ้นอยู่ที่ความชอบของแต่ละคนว่าชอบแบบไหน
วิธีเก็บใบกะเพราให้อยู่ได้นาน ๆ
- ตั้งน้ำร้อนไว้จนเดือด นำใบกะเพราที่ล้างทำความสะอาดเรียบร้อยแล้ว ใส่ลงไปในน้ำเดือด ใช้เวลาลวกไม่นาน พอให้ใบกะเพราเปลี่ยนสีเป็นสีเข้มขึ้นมาก็สามารถใช้ได้แล้ว และทำการตักขึ้นสะเด็ดน้ำออก และนำไปใส่ในน้ำเย็นแช่ไว้
- ทำการแบ่งกะเพราที่แช่น้ำเย็นไว้ บีบคั้นเอาน้ำออก และปั้นเป็นก้อน ๆ และนำไปใส่ถุงซิปล็อกไว้ ก่อนปิดถุง พยายามไล่อากาศออกให้หมด จากนั้นก็นำกะเพราไปแช่แข็งแช่ช่องฟรีซ
ข้อควรระวังในการกินกะเพรา
- การนำใบกะเพรามาทาน ควรทำความสะอาด เพื่อไม่ให้มีสารตกค้างหลงเหลืออยู่ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการสะสมสารพิษในร่างกายได้
- เนื่องจากกะเพรามีฤทธิ์ชะลอการแข็งตัวของเลือด ดังนั้นจึงไม่ควรบริโภคในปริมาณมากก่อนวันเข้ารับการผ่าตัด ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงจากการผ่าตัด ดังนั้นจึงควรหยุดทาน
- เนื่องจากกะเพรามีฤทธิ์ร้อน การกินกะเพรามากเกินไปก็อาจทำให้เกิดอาการร้อนในได้
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ฟักทอง ช่วยบำรุงน้ำนมได้จริงไหม กินฟักทองแล้วมีประโยชน์อย่างไร?
คนท้องกินตำลึง ได้หรือไม่ ช่วยเพิ่มน้ำนมได้จริงหรือ
กุยช่าย มีประโยชน์ต่อคุณแม่อย่างไร ช่วยเพิ่มน้ำนมได้จริงไหม?