ในช่วงวัยหนึ่งที่สำคัญของทารกกับจุดเริ่มต้นของความซุกซน พัฒนาการทารก 12 เดือนเป็นช่วงที่ทารกเริ่มมีการจดจำ แยกแยะ เกิดข้อสงสัย และเรียนรู้หยิบจับได้มากขึ้น ในวัยนี้จะมีพัฒนาการไหนที่โดดเด่น ทารกน้อยเติบโตตามวัยเหมาะสมหรือไม่ ลองมาศึกษาจากบทความนี้กัน
พัฒนาการทารก 12 เดือน ช่วงวัยที่น่าตื่นเต้น
ในช่วงที่ทารกกำลังเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ คุณพ่อคุณแม่ที่กำลังดูความเปลี่ยนแปลงของทารกคงรู้สึกตื่นเต้น และภูมิใจในทุกช่วงเวลา แต่ช่วงเวลาแห่งความสำคัญเมื่อลูกน้อยกำลังจะมีอายุครบ 12 เดือน หรือ 1 ปี ครบรอบปีแรกของลูกน้อย ที่คุณพ่อคุณแม่คงอยากรู้แล้วว่า เมื่อลูกอายุถึง 12 เดือน จะมีพัฒนาการไปในรูปแบบไหน ลูกจะโตมากขึ้นหรือยัง มีอะไรบ้างที่ต้องรู้เกี่ยวกับทารกในวัยนี้ ซึ่งเป็นทางผ่านที่สำคัญในการเติบโตไปยังช่วงอายุอื่นต่อไป การรู้จักพัฒนาการของทารกวัยนี้ ยังสามารถช่วยให้ผู้ปกครองสามารถวางแผนดูแล หรือปรับเปลี่ยนกิจวัตรประจำวัน เพื่อการเลี้ยงดูลูกให้เหมาะสมมากขึ้นได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : 7 วิธีช่วย ฝึกทารกทรงตัว ทั้งนั่ง และเดิน ให้ลูกน้อยมีพัฒนาการสมวัย
วิดีโอจาก : theAsianparent Thailand
ทารกอายุ 12 เดือนมีพัฒนาการอย่างไรบ้าง ?
เด็กทารกในช่วงอายุนี้ จะแสดงพัฒนาการออกมาได้ชัดเจนมากขึ้น เริ่มเอื้อต่อการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ในเบื้องต้น ผู้ปกครองสามารถใช้ข้อนี้เพื่อทำกิจกรรมง่าย ๆ เสริมพัฒนาการให้ลูกได้ หรือปล่อยให้ลูกเรียนรู้ด้วยตนเองก่อนจะยื่นมือเข้าช่วย ที่สังเกตได้มากขึ้นว่าทารกกำลังเข้าสู่วัยซน คือ กล้ามเนื้อที่แข็งแรงขึ้นหยิบจับสิ่งของได้ดีกว่าเดิม หรือมีความเข้าใจ สามารถแยกแยะได้ นอกจากนี้ยังมีพัฒนาการด้านอื่น ๆ ดังนี้
1. พัฒนาการทางด้านร่างกาย
ทารกจะมีน้ำหนักตามมาตรฐานอยู่ที่ประมาณ 8 – 10 กิโลกรัม และมีความสูงเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 70 – 77 เซนติเมตร แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับพัฒนาการของทารกแต่ละคนด้วย เนื่องจากเด็กบางคนโตเร็ว แน่นอนว่าก็ต้องมีเด็กโตช้าด้วยเช่นกัน ในช่วงวัยนี้ ทารกจะสามารถทรงตัวได้ดีขึ้น เด็กบางคนเดินได้คล่องขึ้น แต่ก็ยังมีบางคนที่อาจจะคลานอยู่ หรือฝึกเดินโดยใช้เฟอร์นิเจอร์ภายในบ้านช่วยในการเดินก็มี
กล้ามเนื้อของทารกวัยนี้เริ่มพัฒนามากขึ้น เพียงพอที่จะหยิบจับสิ่งต่าง ๆ ทำให้ลูกน้อยอาจดูซนไปบ้าง เพราะต้องการลองสัมผัส จับนั่นจับนี่อยู่ตลอดเวลา โดยในช่วงนี้อาจสังเกตความถนัดของลูกได้ ว่าลูกถนัดมือซ้าย หรือมือขวา จากการสังเกตว่าลูกใช้มือไหนมากกว่ากันในการหยิบสิ่งของ
2. พัฒนาการด้านความรู้ / ความเข้าใจ
ในช่วงวัยนี้สามารถเรียนรู้ และมีความเข้าใจในระดับหนึ่ง เพียงพอที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ในระดับเบื้องต้นได้อย่างเข้าใจมากขึ้น ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับหัวข้อ หรือเรื่องที่ทารกเรียนรู้ สำหรับเรื่องที่เหมาะกับเด็กวัยนี้ คือ เรื่องสี เรื่องจำนวน และเรื่องรูปร่างต่าง ๆ หรือทำความเข้าใจเกี่ยวกับสถานที่ต่าง ๆ แบบไม่ซับซ้อน
ประกอบกับพัฒนาการด้านร่างกายที่เรากล่าวไปแล้ว ทารกจะชี้สิ่งต่าง ๆ มากขึ้น คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้ประโยชน์จากความสงสัยของลูก ในการให้ความรู้ ว่าสิ่งที่ลูกชี้เรียกว่าอะไร มีสีอะไร รูปร่างเป็นแบบไหน เป็นต้น
3. พัฒนาการด้านสังคม และอารมณ์ของทารก
ทารกจะเริ่มเข้าใจแล้วว่าใคร คือ คนที่คุ้นเคย และใครเป็นคนที่แปลกหน้าไม่คุ้นเคย การกระทำของทารกจะมีความกล้าที่จะทำมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนอยู่กับพ่อแม่ และงอแง หรือกลัวว่าอยู่กับคนแปลกหน้า ในช่วงนี้ทารกจะเริ่มฝึกทำอะไรง่าย ๆ ด้วยตนเอง เช่น พยายามใส่รองเท้าเอง หรือทำอย่างอื่นที่ไม่ซับซ้อน เด็กจะต้องการทำด้วยตนเองมากขึ้น หากมีคนเข้าไปยุ่งด้วยอาจจะไม่พอใจ หากผู้ปกครองอยากช่วย อาจใช้วิธีคอยดูอยู่ห่าง ๆ และเข้าไปช่วยเมื่อทารกงอแงเท่านั้น
นอกจากนี้เด็กในช่วงวัยนี้อาจแสดงความหึงหวงสิ่งของตนเองมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นปัญหาหากเจอกับเด็กคนอื่น ในเรื่องนี้ผู้ปกครองต้องคอยสังเกต และค่อย ๆ สอนให้ลูกเข้าใจ ถึงการแสดงออก และการแบ่งปันอยู่เรื่อย ๆ เพื่อให้ทารกน้อยมีความเข้าใจทีละนิดทีละน้อยตามเวลา
4. พัฒนาการด้านโภชนาการ
ทารกในวัยนี้จะมีเริ่มมีความคิดที่จะอยาก หรือไม่อยากกินอาหารมากขึ้น จะเลือกอาหารที่ต้องการทาน ทำให้อาจลำบากสำหรับคุณแม่ที่จะต้องการบังคับให้ลูกทานอาหารที่มีประโยชน์ แต่รสชาติไม่อร่อย นอกจากนี้เด็กทารกวัยนี้ยังสนใจการเล่น มากกว่าที่จะกินอาหาร ซึ่งอาจทำให้ผู้ปกครองมีความกังวลว่าทารกอาจหิวแล้วไม่ยอมกิน แต่ในความเป็นจริงแล้ว เด็กวัยนี้จะแสดงความต้องการออกมาแบบตรง ๆ เมื่อเด็กหิวจะพยายามมาบอกเราเองว่าหิว
ภาพรวมของ พัฒนาการทารก 12 เดือน
- ชอบจับของ ใช้มือมากขึ้น เด็กบางคนมีความสงสัย ต้องการแกะของเล่น หรือสิ่งของออกจากกัน
- สามารถเลียนแบบกิริยาท่าทางของบุคคลรอบตัวได้มากขึ้น
- สามารถเรียนรู้รูปร่างลักษณะของสิ่งของ และการจับเล่น ใช้งานเบื้องต้น
- หากเจออุปสรรคที่ไม่ซับซ้อน ทารกวัยนี้จะพยายามแก้ปัญหาด้วยตนเอง
- มีความจำดีขึ้น เริ่มเรียนรู้รายละเอียดได้ สามารถจดจำสิ่งของ หรือหน้าตาของบุคคลรอบตัวได้
- เริ่มรู้ว่าตนเองใช้มือไหนถนัดกว่า จะพยายามใช้มือนั้นมากขึ้น
กระตุ้นพัฒนาการของทารกในวัยนี้อย่างไรดี ?
การช่วยให้ลูกมีพัฒนาการที่ดี เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องการอยู่แล้ว หากอยากหาวิธีกระตุ้นง่าย ๆ สามารถทำได้หลายวิธี ตัวอย่างเช่น ให้เรียนรู้การจดจำ การแยกแยะ อาจนำสิ่งของมาวางแล้วให้ลูกดู เพื่อให้ลูกแสดงความต้องการ แล้วคอยพูดกับลูก เพื่อเป็นการฝึกทักษะการพูด และการจดจำให้ดียิ่งขึ้น หรือการช่วยลูกฝึกการใช้กล้ามเนื้อมือ เช่น การจับมือลูกทำกิจกรรมง่าย ๆ เช่น จับมือวาดภาพง่าย ๆ หรือจับมือหวีผม เป็นต้น
ทารกในวัยนี้เป็นวัยที่กำลังจะเข้าสู่วัยเรียนรู้มากขึ้น สิ่งต่าง ๆ เริ่มกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้เด็กเกิดความสงสัย และการดูแลมากขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายจากการพยายามเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ หรือการเคลื่อนไหว ประกอบกับผู้ปกครองควรแบ่งเวลามาทำกิจกรรม สานสัมพันธ์กับลูกในวัยนี้ให้มากขึ้นด้วย
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
5 วิธีแก้ปัญหาเมื่อ ลูกทำร้ายตัวเองเวลาโมโห ก่อนสายเกินไป
7 วิธีแก้อาการหลังลูก “เบื่ออาหาร” ให้กลับมามีความสุขกับมื้ออาหารอีกครั้ง