เป็นกังวลไหมเมื่อ ทารกคลานถอยหลัง ทำไมลูกไม่คลานเหมือนลูกคนอื่น ทำไงดี แบบนี้อันตรายไหม ควรกังวลมากไหม ผู้ปกครองใจเย็น ๆ ก่อน ปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ แก้ปัญหาได้ด้วยการช่วยฝึกลูกให้ปรับตัว ฝึกให้ลูกใช้กล้ามเนื้อแขน และขาบ่อย ๆ การคลานของลูกจะปกติเอง
สาเหตุที่ทำให้ ทารกคลานถอยหลัง ?
หากเทียบตามมาตรฐานพัฒนาการของทารก จะเริ่มฝึกคลานตามธรรมชาติเมื่อมีอายุได้ 7 – 10 เดือน ซึ่งเป็นช่วงที่ทั้งกระดูก และกล้ามเนื้อมีความแข็งแรง สามารถเริ่มทำงานร่วมกันได้ ซึ่งการคลานถอยหลังของทารกนั้น สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย และเป็นปัญหาที่สามารถพบเจอได้ทั่วไป ตัวอย่างเช่น
- โครงสร้างร่างกายของทารกส่วนบนมีขนาดใหญ่กว่าส่วนล่าง
- พัฒนาการของกล้ามเนื้อแขนดีกว่าพัฒนาการของกล้ามเนื้อขา เมื่อใช้แขนดันจึงถอยหลัง
- ร่างกายยังคงต้องการเวลาที่จะปรับตัวให้เกิดการเคลื่อนไหวที่เหมาะสมอยู่
ถึงแม้ว่าจะเป็นพัฒนาการของทารกที่สามารถพบเจอได้ และมีสาเหตุหลายอย่าง แต่การปล่อยไว้เลยก็อาจไม่ใช่ผลดี การช่วยแก้ไขเพื่อให้ลูกมีพัฒนาการถูกต้องแข็ง สามารถคลานได้ถูกวิธี ก็เป็นหน้าที่สำคัญของผู้ปกครองเช่นเดียวกัน
บทความที่เกี่ยวข้อง : พัฒนาการทารก 12 เดือน เป็นอย่างไร ทารกที่กำลังเข้าสู่วัยซน
วิดีโอจาก : พี่กัลนมแม่ Pekannommae mother and child care
4 เทคนิคช่วยฝึกพัฒนาการเคลื่อนไหว แก้ปัญหาคลานถอยหลัง
ทารกที่กำลังฝึกฝนการคลานอย่างถูกวิธี เมื่อเวลาผ่านไป ทารกคงคลานได้เป็นปกติ แต่การที่ผู้ปกครองเข้ามาช่วยให้ลูกปรับตัว จะส่งผลทางบวกได้ดีกว่าแน่นอน ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้
1. เริ่มจากการใส่ใจในสิ่งแวดล้อม
การเคลื่อนไหวของทารกจะทำได้ ทำได้น้อย สิ่งแวดล้อมเองก็ปัจจัยภายนอกข้อแรก ๆ ที่ผู้ปกครองควรคำนึงถึง ด้วยพื้นที่แคบ หรือมีสิ่งของกีดขวาง ทำให้ทารกคลานไปได้นิดหน่อยก็ต้องหยุดชะงัก แน่นอนว่าส่งผลต่อโอกาสในการฝึกคลานให้ถูกต้องโดยตรง ผู้ปกครองควรเก็บข้าวของให้ลูกมีพื้นที่ อาจมีพื้นผิว หรือสิ่งที่สามารถให้ลูกจับเพื่อขยับ หรือทรงตัวได้บ้าง และควรหาเบาะ หรือพื้นผิวที่ป้องกันการกระแทกมาปูพื้นบริเวณนั้น เพื่อป้องกันทารกบาดเจ็บขณะที่กำลังฝึกเคลื่อนไหวอยู่ และเพื่อพัฒนาการที่ดี ควรเปลี่ยนพื้นผิวให้ลูกได้ลองสัมผัสหลาย ๆ รูปแบบด้วย
2. ใช้ของเล่นกระตุ้นช่วย
วัยทารกชอบที่จะเล่นของเล่น มีของเล่นชิ้นโปรด รู้จักเข้าใจในความเป็นเจ้าของ และตอบสนองได้ดีต่อของเล่นที่มีเสียง หรือมีสีสันที่สดใส ผู้ปกครองสามารถหาของเล่นดังกล่าววางไว้ไม่ให้ห่างจากตัวลูกมาก พอลูกเข้ามาใกล้ก็เขยิบของเล่นออกทีละนิดทีละน้อย แต่ระวังควรให้ลูกได้สัมผัส หรือเล่นบ้าง ไม่อย่างนั้นทารกอาจร้องไห้งอแงได้ จะยิ่งทำให้เกิดความวุ่นวายเสียเปล่า ๆ อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรพลาด คือ การสังเกตว่าลูกตอบสนองต่อของเล่นชิ้นไหนได้ดี ก็ให้พยายามฝึกลูกคลานด้วยของเล่นลิ้นนั้นบ่อย ๆ
3. ช่วยลูกทรงตัว และใช้กล้ามเนื้อหลายส่วน
ปัญหาของพัฒนาการกล้ามเนื้อที่ไม่พอดีกัน ทำให้เกิดปัญหาการคลานที่ไม่ปกติได้ การช่วยให้ลูกได้ฝึกการใช้กล้ามเนื้อส่วนที่เกี่ยวข้องกับการคลาน ให้มีความแข็งแรงขึ้น เป็นพื้นฐานที่ทำได้ไม่ยาก ด้วยการจับลูกให้อยู่ในท่า “ตั้งคลาน” คือจับลูกคว่ำลง แล้วจับแขนและขาของลูกยกขึ้นมาให้ดันกับพื้น อยู่ในท่าคล้ายกับการคลาน แต่ไม่จำเป็นต้องให้ลูกดันตัวเคลื่อนไหวก็ได้ การให้ลูกอยู่ในท่านี้บ่อย ๆ จะช่วยให้กล้ามเนื้อที่มีพัฒนาการช้ากว่า ได้ออกแรงและแข็งแรงขึ้น
4. ใช้ความใกล้ชิดของพ่อแม่กระตุ้นทารก
ทารกสามารถจดจำคนใกล้ตัว โดยเฉพาะผู้เป็นพ่อแม่ได้ดีที่สุด มีความไว้ใจ ต้องการเล่นด้วย และอยู่ใกล้ ๆ เสมอ เรื่องนี้สามารถนำมาใช้เป็นประโยชน์ สำหรับการช่วยทารกน้อยฝึกคลาน เพื่อแก้ปัญหาทารกที่คลานถอยหลัง ด้วยการเข้าไปอยู่ใกล้ ๆ ในบริเวณที่ลูกอยู่ อาจเรียกชื่อลูก ปรบมือเพื่อให้ลูกอยากเข้าไปหา ระวังไม่ให้อยู่ไกลลูกมากเกินไป ลูกจะพยายามคลานเพื่อเข้าไปผู้ปกครอง ทางตรงกันข้ามการที่อยู่ใกล้ลูก อุ้มจับลูกตลอด จะทำให้ลูกไม่ค่อยได้มีโอกาสเคลื่อนไหว จะยิ่งทำให้กล้ามเนื้อไม่แข็งแรงได้
การคลานของทารกมีหลายรูปแบบ
การที่ผู้ปกครองจะตัดสินว่าทารกคลานแบบปกติแล้วหรือยัง อาจทำได้ลำบากหน่อย เพราะท่าคลานของทารกมีหลายแบบ หลายท่าเหลือเกิน โดยเราจะยกตัวอย่างมาให้ ดังนี้
- การคลานแบบปกติ : การคลานแบบปกติ คือ การที่ทารกใช้มือ และเข่าในการคลานด้วยการยกตัวขึ้นอย่างพอดี เป็นท่าคลานทั่วไปที่สามารถพบเจอได้บ่อย
- คลานแบบปู : คือการคลานในท่าที่กำลังนั่งอยู่ แล้วใช้มือกับขาเพียงข้างใดข้างหนึ่งเพื่อดันตัวเขยิบตัวไปด้านหน้า ทำให้การเคลื่อนไหวดูเอียง ๆ คล้ายการเดินของปู
- คลานด้วยก้น : ลักษณะคล้ายการคลานแบบปกติ เพียงแต่ทารกจะใช้แขนในการดันตัวเองนำหน้า ส่วนขาไม่ยกขึ้น แต่จะไถก้นไปข้างหน้าแทน
- การคลานผสมกลิ้ง : ทารกบางคนอาจคลานแบบปกติ แต่อาจไม่เต็มที่ ไม่สมบูรณ์ จึงออกมาแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ ระหว่างการคลานแบบยกตัว และการกลิ้งไปบนพื้นนั่นเอง
ฝึกลูกแล้วสังเกตพัฒนาการ และรอเวลา
การแก้ปัญหาลูกที่คลานถอยหลัง อาจไม่สามารถสำเร็จได้รวดเร็ว เพราะปัจจัยที่สำคัญก็คือพัฒนาการทางด้านการทำงานของกล้ามเนื้อ และกระดูกของทารกเอง ทารกมีพัฒนาการที่เป็นไปตามวัยอยู่แล้ว อาจช้าบ้างเร็วบ้างไม่เหมือนกันในทารกแต่ละคน ดังนั้นเมื่อช่วยลูกเท่าที่ทำได้แล้ว ต่อมาก็คอยสังเกตลูกเรื่อย ๆ ว่ามีการคลานที่ถูกต้องดีขึ้นไหม ลดการคลานถอยหลังได้บ้างไหม และหากเวลาผ่านไปก็ยังไม่ได้ผล ไม่มีท่าทีว่าลูกจะคลานได้แบบปกติเลย ผู้ปกครองก็สามารถพิจารณาพาลูกไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยได้เช่นกัน
พัฒนาการของทารกวัยหัดคลาน ทารกคลานถอยหลัง อาจเกิดปัญหาคลานไม่ปกติ ทั้งนี้ผู้ปกครองต้องเข้าใจว่า ทารกไม่ได้มีพัฒนาการทุกอย่างเป๊ะตามตาราง บางอย่างอาจช้า ต้องพึ่งเวลา บางอย่างก็เร็วจนผู้ปกครองไม่ทันสังเกต จึงเป็นเรื่องที่สมควร หากผู้ปกครองจะคอยติดตามพัฒนาการของทารกในทุก ๆ ด้านอย่างใกล้ชิด ไม่ใช่แค่การคลานของเขาเท่านั้น
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
พัฒนาการทารก 4 เดือน วัยที่พยายามเรียนรู้การสื่อสาร
6 เคล็ดลับให้ลูกหลับง่าย ทำได้ไม่ยาก ถ้ารู้วิธี !