เมื่อทารกหลับได้ยาก อาจเป็นเพราะความรู้สึกไม่ค่อยสบายตัว หรือสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม จึงสำคัญมากหากผู้ปกครองจะเรียนรู้เคล็ดลับให้ลูกหลับง่าย ซึ่งจะมาช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้
แนะนำ 6 เคล็ดลับให้ลูกหลับง่าย
ลูกหลับยากจนรู้สึกว่าเป็นปัญหาในชีวิตแก้ได้ด้วยการเรียนรู้เคล็ดลับให้ลูกหลับ ที่สามารถทำได้ไม่ยาก ขึ้นอยู่กับการเตรียมตัวในช่วงก่อนนอนว่าทำถูกต้องหรือไม่ และการเข้าใจพฤติกรรมการนอนของเด็กในช่วงวัยต่าง ๆ มากขึ้น ได้แก่
บทความที่เกี่ยวข้อง : 5 วิธีแก้ลูกติดแม่ ไปไหนลำบาก เพราะลูกงอแงเกินควบคุม
1. ปรับสภาพแวดล้อมให้มีความเหมาะสม
ทารกควรได้รับการนอนพักผ่อนในสภาพแวดล้อมที่มีความเหมาะสมต่อการนอน ไร้สิ่งรบกวนใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นแสงที่ต้องระวังไม่ให้สว่าง ถึงแม้ในห้องอาจจะไม่มีแสงไฟ แต่อย่าลืมตรวจสอบแสงจากข้างนอก หากมีมากไปก็ควรปิดผ้าม่าน หากไม่มีผ้าม่านก็อาจเปลี่ยนตำแหน่งการนอนของทารก, ระวังเรื่องเสียง ทารกอาจหลับก่อนผู้ปกครอง หลังจากนั้นกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งในบ้าน หรือรอบตัวบ้าน อาจส่งผลให้เกิดเสียงดัง เช่น เสียงทีวี หรือเสียงเพลง เป็นต้น ถึงแม้จะไม่ได้เปิดในห้องของทารกก็ตาม รวมไปถึงอุณหภูมิของห้อง ที่จะไม่ร้อนเกินไป และไม่หนาวเกินไป ต้องอยู่ในระดับที่พอดี สามารถนอนหลับได้สบายเหงื่อไม่ออก หรือหนาวสั่นจนเป็นทารกเสี่ยงไม่สบาย เป็นต้น
วิดีโอจาก : พี่กัลนมแม่ Pekannommae mother and child care
2. ให้ความสำคัญกับกิจวัตรแต่ละวัน
ในช่วงทารก ไปจนถึงเด็กเล็ก หนึ่งในวิธีการเรียนรู้ที่พวกเขามักใช้ นั่นก็คือการจดจำ เลียนแบบสิ่งต่าง ๆ รอบ ๆ ตัว และทำตามในความเข้าใจของตนเอง หรือตามความเคยชินที่ถูกฝึกมา ผู้ปกครองต้องวางแผนกิจวัตรประจำวันให้เป็นระบบ เช่น ในเรื่องของการเข้านอน เมื่อลูกทานข้าว / ป้อนข้าวทารกแล้ว หลังจากอาบน้ำเตรียมตัวเสร็จในตอนกลางคืน ก็ถึงเวลาพาลูกเข้านอน การทำแบบนี้ซ้ำ ๆ ในทุก ๆ วัน จะช่วยให้ลูกน้อยเริ่มจดจำเวลาได้ว่า เขาต้องนอนเวลาไหน ก่อนนอนต้องทำอะไร หรือพอทำสิ่งนี้ไปแล้ว ต่อไปก็ต้องเข้านอนนั่นเอง
3. เข้าใจพฤติกรรมการนอนของลูก
แต่ละช่วงวัยของทารก ไปจนถึงเด็กเล็กจะมีพฤติกรรมการนอนที่แตกต่างกันนิดหน่อย เป็นไปตามอายุ ซึ่งการนอนส่วนมากแล้วจะแบ่งเป็นนอนกลางวัน และการนอนกลางคืน หากไม่สามารถจัดสรรแบ่งเวลานอนให้เหมาะสม การนอนกลางวันมากเกินพอดี จะส่งผลให้ลูกน้อยไม่ง่วงในการตอนกลางคืนได้ โดยเรามีข้อมูลประมาณเวลาในการนอนของแต่ละวัย ดังนี้
- ทารกแรกเกิด – 2 เดือน : ช่วงนี้จะไม่มีเวลานอนที่ชัดเจน จะหลับ ๆ ตื่น ๆ ตลอด สำหรับช่วงกลางวันอาจหลับ 3 – 4 ครั้ง โดยใน 1 วันจะนอนประมาณ 12 – 20 ชั่วโมง
- ทารก 3 เดือน – 5 เดือน : สามารถฝึก และจดจำการนอนได้บ้างแล้ว โดยจะนอนกลางวันประมาณ 4 ชั่วโมง กลางคืนนอนประมาณ 8 ชั่วโมง รวมเวลานอนใน 1 วัน ประมาณ 10 – 16 ชั่วโมง
- อายุ 6 เดือน – 11 เดือน : ช่วงวัยนี้จะต้องการนอนกลางวัน 2 – 3 วัน / วัน โดยตอนกลางวันจะนอนประมาณ 3 ชั่วโมง และกลางคืน 9 ชั่วโมง ใน 1 วันจะต้องการเวลานอน 9 – 15 ชั่วโมง
- เด็กอายุ 1 – 2 ปี : การนอนกลางวันจะลดลง แต่เด็กจะยังต้องการอยู่ โดยเวลานอนจะย้ายมาช่วงบ่ายประมาณ 2 ครั้ง / วัน รวมเวลานอนกลางวัน 2 ชั่วโมง กลางคืน 9 ชั่วโมง รวมใน 1 วันจะนอนประมาณ 9 – 13 ชั่วโมง
- เด็กอายุ 3 – 4 ปี : ในช่วงนี้จะเป็นช่วงที่เข้าสู่วัยเรียนแล้ว การนอนกลางวันจะเหลือ 1 ครั้ง / วัน เด็กบางคนอาจไม่ต้องการนอนเลย ขึ้นอยู่กับพัฒนาการ ใน 1 วันจะรวมเวลานอนประมาณ 12 ชั่วโมง
4. อาบน้ำอุ่นพร้อมเสียงเพลง
การที่ทารกจะนอนจะต้องอาบน้ำทำความสาดร่างกายเสียก่อน ในช่วงของการอาบน้ำผู้ปกครองควรเลือกน้ำอุ่นมากกว่าน้ำแบบอื่น ๆ เพราะจะช่วยผ่อนคลายทารกได้ดี นอกจากนี้ระหว่างที่อาบน้ำอยู่ ผู้ปกครองสามารถสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลายให้กับทารกได้ เพื่อให้ทารกมีความพร้อมที่จะนอนหลับได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้เสียงในเวลาอาบน้ำที่อ่อนโยน ยังสร้างการจดจำของทารกได้ดีด้วย เพราะเมื่อเขาอาบน้ำพร้อมกับเสียงเพลง ต่อไปทารกจะเข้าใจได้เองว่า ใกล้ถึงเวลานอนของเขาแล้ว
5. ช่วยให้ลูกรู้สึกสบายตัว
สำหรับทารกน้อย การที่จะนอนหลับสบายตลอดคืนได้อาจเป็นเรื่องที่ยาก ทารกอาจตื่นมาระหว่างดึกได้ แต่เพื่อให้ทารกเกิดความผ่อนคลายตลอดช่วงของการนอนหลับ ผู้ปกครองควรเลือกเสื้อผ้าที่สวมใส่สบาย ไม่ระคายเคืองผิว ไม่คับแน่นจนหายใจลำบาก หลังจากอาบน้ำ อย่าลืมที่จะดูเช็ดตัวให้แห้งสนิท เพราะอาการเปียกชื้นเล็กน้อยตามร่างกาย อาจทำให้ทารกรู้สึกไม่สบาย และหลับได้ยากกว่าเดิมนั่นเอง
6. สัมผัสเบา ๆ ให้รู้สึกอบอุ่น
ส่วนหนึ่งที่ทารกสามารถหลับได้ เพราะเขามีความไว้ใจพ่อแม่ของตนเองมาก จะดีกว่าหากก่อนที่ทารกจะหลับตาลง ผู้ปกครองอาจสัมผัสตัวของทารกเบา ๆ อาจลูบที่หลัง หรือตบก้นเบา ๆ เพื่อให้ทารกรู้สึกถึงความรัก และความอบอุ่นที่ผู้ปกครองมีให้ นอกจากนี้ยังสามารถร้องเพลงให้ทารกฟังเบา ๆ ได้เป็นการกล่อมนอน เพื่อให้ทารกรู้สึกปลอดภัย และพร้อมที่จะหลับอย่างสบายที่สุด
อย่ามองข้ามปัญหาของทารกตื่นกลางดึก
ถึงแม้ผู้ปกครองจะทำอย่างดีที่สุดแล้ว เพื่อให้ทารกหลับสบาย แต่อย่าลืมว่าตามเกณฑ์การนอน พฤติกรรมของเด็กทารกนั้น มักหลับ ๆ ตื่น ๆ ตลอดเวลา จึงเลี่ยงได้ยากที่ลูกน้อยจะไม่ตื่นในตอนกลางคืน ในเวลาที่ผู้ปกครองอาจกำลังนอนหลับพักผ่อนอยู่ ซึ่งคงไม่สามารถเลี่ยงได้ ที่จะต้องมาคอยกล่อม มาคอยดูลูกน้อยให้หลับอีกครั้ง หลายบ้านอาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ จากความเครียดที่ไม่ได้พักผ่อน ซึ่งหน้าที่นี้ไม่ควรเป็นหน้าที่ใครคนเดียว แต่ควรช่วยกันเสมอ ๆ ทั้งพ่อและแม่ หากพบว่ามีความเครียดมากเกินไป การปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางออกที่ถูกต้อง และปลอดภัยก็ควรที่จะทำ ไม่ควรมองข้าม
เคล็ดลับให้ลูกหลับง่ายที่เราได้แนะนำไปนั้น เป็นเพียงวิธีพื้นฐานเท่านั้น ผู้ปกครองต้องหมั่นคอยตรวจดูทารกด้วย หากทารกไม่หลับ ร้องตลอดเวลา อาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองต้องคอยระวัง และพาไปพบแพทย์หากมีอาการใด ๆ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
6 วิธีฝึกลูกไหว้สวัสดี ยิ่งฝึกเร็ว ยิ่งได้ผลดี !
4 เทคนิคสอนลูกเดินขึ้นลงบันได เรื่องที่พ่อแม่อาจมองข้ามไป