ระวังพฤติกรรมเลียนแบบในเด็ก เรื่องเล็กน้อยของพ่อแม่ แต่ลูกไม่ลืม

เมื่อทะเลาะ หรือพูดคุยกัน เราทำแบบนั้นก็ว่าไม่เป็นไร ไม่ต้องขอโทษ เราไม่ต้องขออนุญาต เพราะเราสนิทกัน เป็นคนในครอบครัวมีความเข้าใจกันสูง แต 

 1407 views

เมื่อทะเลาะ หรือพูดคุยกัน เราทำแบบนั้นก็ว่าไม่เป็นไร ไม่ต้องขอโทษ เราไม่ต้องขออนุญาต เพราะเราสนิทกัน เป็นคนในครอบครัวมีความเข้าใจกันสูง แต่สายตาดวงน้อยกำลังจ้องมองเราอยู่ และกำลังจดจำเพื่อนำไปใช้ พฤติกรรมเลียนแบบในเด็ก อาจเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองไม่ทันระวัง เพราะลูกน้อยเรียนรู้ไวกว่าที่คิด

พฤติกรรมเลียนแบบในเด็กเกิดจากอะไร ?

ผู้ปกครองหลายท่านอาจเข้าใจว่าการทำอะไรให้เด็กวัยเรียนรู้เห็น จะทำให้เด็กเกิดการเลียนแบบได้ แต่แท้จริงแล้ว ลูกน้อยนั้นสามารถจดจำ และเรียนรู้ได้ตั้งแต่ช่วงทารกขวบแรกแล้ว การที่ทารกลืมตามองดูสิ่งต่าง ๆ ถึงแม้จะยังเคลื่อนไหวไม่สะดวก พูดไม่ได้ชัดเจนมาก ดูเหมือนกับว่าอาจจะยังเลียนแบบอะไรไม่ได้ แต่ทารกนั้นยังจดจำพฤติกรรมต่าง ๆ ของบุคคลรอบตัวและเก็บเอาไว้ เมื่อถึงเวลาหนึ่งที่ทารกโตมากขึ้น อาจแสดงพฤติกรรมนั้นออกมาเอง โดยที่ผู้ปกครองไม่จำเป็นต้องทำให้ลูกน้อยเห็นก็ได้ ด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นที่มาของการที่ผู้ปกครองมองเด็กเล็กที่มีพฤติกรรมต่าง ๆ และพูดขึ้นว่า “นิสัยเหมือนพ่อจัง” หรือ “นิสัยเหมือนแม่จัง”

รศ.นพ.พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรม กล่าวถึงรูปแบบการจดจำของทารกวัย 1 ปี ว่ามีการทำงานของสมองได้ดีกว่าที่ผู้ปกครองคิด คือ ทารกอายุตั้งแต่แรกเกิดถึง 1 ปี มีการทำงานของเซลล์สมอง เรียกว่า “เซลล์สมองกระจกเงา (Mirror Neuron) ” ที่จะเรียนรู้สิ่งที่ผู้ปกครองทำ และจดจำเอาไว้ก่อน ไม่ใช่แค่พฤติกรรมของคนรอบตัวเท่านั้น แต่ยังรวมสื่อต่าง ๆ ด้วย เมื่อถึงเวลาที่พร้อมเด็กจะใช้พฤติกรรมจาก Mirror Neuron เพื่อแสดงออกมาได้นั่นเอง นอกจากพฤติกรรมของคนรอบตัวแล้ว เด็กยังจดจำพฤติกรรมจากสื่อต่าง ๆ ได้อีกด้วย

บทความที่เกี่ยวข้อง : ปัญหาเด็กยุคใหม่ ลูกติดมือถือ จับไม่ยอมวาง ทำอย่างไรดี ?

วิดีโอจาก : Kids Family เลี้ยงลูกให้ฉลาด

ถึงลูกจะเรียนรู้มา แต่การไม่เลียนแบบเสมอไป

แสดงพฤติกรรมเลียนแบบในเด็กบางคน อาจไม่แสดงออกมาให้เห็นก็ได้เช่นกัน ซึ่งเกิดจากการเรียนรู้ การเข้าใจ และความยับยั้งชั่งใจ รู้ข้อมูลข้อเท็จจริงของเด็ก แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้จากการที่ผู้ปกครองเป็นคนปลูกฝังให้กับเด็ก ๆ นั่นเอง ตัวอย่างเช่น ผู้ปกครองไม่ส่งเสริมการใช้ความรุนแรง เมื่อมีข่าว หรือมีการพูดถึงเรื่องเหล่านี้ ผู้ปกครองต้องแสดงการไม่ยอมรับการใช้ความรุนแรงออกมา เช่น พูดว่าไม่ใช่สิ่งที่ถูก พูดว่าไม่ใช่สิ่งที่ครอบครัวจะยอมรับได้ เพื่อให้ลูกได้ยิน ได้ฟัง จนเกิดการจดจำไปเอง

นอกจากนี้ยังสามารถฝึกลูกน้อยได้ด้วยการไม่ตามใจลูก เพื่อให้ลูกมีทักษะในการหยุดยั้งความต้องการของตนเอง สามารถควบคุมตนเองไม่ให้ทำในสิ่งที่ต้องการเสมอไป เช่น เมื่อลูกหิว แต่ยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมในการทานข้าว ผู้ปกครองจะต้องอธิบายให้เข้าใจ ว่ายังไม่ถึงเวลา ต้องอดทนรอก่อน ไม่ใช่ทำตามใจลูกตลอด เป็นต้น

พฤติกรรมเลียนแบบในเด็กเกิดขึ้นตอนไหน ?

ส่วนมากในช่วงเด็กอายุ 1 – 3 ปี จะยังสามารถเห็นเด็กเรียนรู้ และมีความไร้เดียงสามากกว่าจะเลียนแบบไปหมดทุกอย่าง ซึ่งพฤติกรรมเลียนแบบจะเห็นชัดเจนตั้งแต่อายุ 3 – 5 ปี พฤติกรรมอาจจะมีทั้งดี – ไม่ดี รวมถึงการเลียนแบบผ่านสื่อที่เด็กดูได้เช่นกัน ซึ่งผู้ปกครองต้องคอยช่วยกันสอดส่องดูแล หลังจากที่ลูกเข้าสู่วัยเรียนการเลียนแบบผู้ปกครองจะลดน้อยลง เพราะเด็กจะได้เจอกับสังคมเพื่อน ที่เข้ามามีบทบาทและส่งผลต่อพฤติกรรมแทนได้พอสมควร

ระวังตนเองเพื่อลูกน้อยดีที่สุด

พฤติกรรมที่มาจากบุคคลภายในบ้าน มาจากครอบครัวของเด็ก เมื่อเด็กเลียนแบบจะต้องตามแก้ไข ดังนั้นจะดีกว่าหาก ผู้ปกครอง และบุคคลรอบตัวเด็กจะระวังกิริยามารยาท วางความสนิท ความเป็นกันเองจนเกินตัว เพราะสายตัวของเด็กกำลังมอง และจดจำอยู่ ยึดคติที่ว่าไม่อยากให้ลูกทำอะไร ก็อยากทำแบบนั้นให้ลูกเห็น

รศ.พญ.นิชรา เรืองดารกานนท์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าหากเด็กมีพฤติกรรมเลียนแบบที่ไม่เหมาะสม ไม่ควรส่งเสริม หรือแสดงความสนใจว่าเป็นสิ่งที่ถูก ในทางกลับกันหากเด็กมีความสนใจในสิ่งที่ไม่ได้ผิดแปลก และไม่มีคนรอบตัวคอยบอกให้สนใจ อาจเป็นเพราะสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ตัวของเด็กชอบมากจริง ๆ หากไม่ได้มีผลเสียใด ๆ ผู้ปกครองควรให้การชื่นชม และการส่งเสริมกับเด็ก ๆ

พฤติกรรมเลียนแบบในเด็ก


พฤติกรรมแบบไหนบ้างที่ผู้ปกครองควรระวัง

  • ความก้าวร้าวทั้งคำพูด และการกระทำ : เมื่อเกิดปัญหา หรือไม่มีปัญหาก็ตาม ภายในครอบครัวที่ใช้คำพูดดุด่า หรือเถียงด่าทอกัน ทะเลาะกันแล้วทำลายข้าวของ ถึงแม้เรื่องจะจบไป แล้วกลับมาดีกันได้เหมือนเดิมแต่สำหรับเด็ก พวกเขาจะจดจำเอาไว้ และนำไปทำตามได้ ด้วยเหตุนี้ผู้ปกครองจึงต้องระวังทั้งการพูด และการกระทำของตนเองแม้ว่าจะโมโหอยู่ ก็ควรคำนึงถึงลูกน้อยที่อยู่ข้าง ๆ ด้วย
  • การใช้สื่อที่ไม่เหมาะสม : ถึงผู้ปกครองจะมั่นใจว่าตนเองไม่ได้แสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่อหน้าลูกน้อยแล้ว แต่ยังมีสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ที่หนูน้อยสามารถเลียนแบบได้ ด้วยการวนดูซ้ำ ๆ จนซึมซับและเข้าใจว่าสามารถทำได้ โดยเฉพาะเด็กสมัยใหม่ที่อาจติดหน้าจอมากขึ้นกว่าเดิมตั้งแต่ยังเล็ก ผู้ปกครองควรให้ลูกดูสื่อที่เหมาะสม และจำกัดการเข้าถึงสื่อที่ปลอดภัยเท่านั้น
  • การพูดโกหก : ใคร ๆ ก็รู้ว่าการโกหกเป็นสิ่งไม่ดี แต่สำหรับผู้ปกครองบางคน อาจเลือกโกหกในบางสถานการณ์ เพื่อลดโอกาสเกิดการขัดแย้ง หรือการทะเลาะ โดยไตร่ตรองแล้วว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ แต่สำหรับเด็กเขาจะมองว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ ไม่ผิดอะไร แถมยังช่วยแก้สถานการณ์ได้ดี ในเรื่องนี้ผู้ปกครองต้องหาจังหวะอธิบายให้ลูกเข้าใจด้วยว่า ทำไปทำไม ทำแล้วส่งผลอย่างไร เพื่อให้เด็กเกิดความเข้าใจมากขึ้น
  • การลักขโมยสิ่งของ : อย่างที่บอกไปหลายครั้งว่าเด็กไม่ได้เข้าใจแบบผู้ใหญ่ การหยิบใช้ของบางอย่างของคนในครอบครัว แล้วไม่ได้นำกลับคืน หรือไม่ได้ขอก่อน ผู้ปกครองจะมีความเข้าใจกันเองว่าไม่เป็นไร แต่เด็กจะจดจำว่าเขาสามารถหยิบของใครก็ได้เช่นกัน ผู้ปกครองควรแก้ไขด้วยการขออนุญาตกันเองก่อน ถึงแม้จะเป็นของเพียงเล็กน้อยก็ตาม เพื่อให้ลูกเข้าใจว่าเขาต้องขออนุญาตทุกครั้งเวลาหยิบสิ่งของใด ๆ ของผู้อื่น


เด็กเล็กเป็นเหมือนผ้าขาว พวกเขาจะต้องพึ่งการเรียนรู้สิ่งรอบข้าง และนำมาใช้ เด็กเล็กจึงไม่อาจแยกแยะได้ด้วยตนเอง จึงต้องพึ่งพาผู้ปกครองคอยบอกกล่าว แนะนำในเรื่องที่ถูก และเรื่องที่ไม่ควรทำอย่างเหมาะสม

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

บูลลี่ ปัญหาที่พบเจอได้ไม่ยาก ทำอย่างไรให้ลูกหลุดพ้นจากการบูลลี่

5 วิธีแก้ปัญหาเมื่อ ลูกทำร้ายตัวเองเวลาโมโห ก่อนสายเกินไป

5 วิธีช่วยแก้ปัญหา เมื่อลูกรักกลายเป็นเด็ก “ขี้อาย”

ที่มา : 1, 2, 3, 4