เรื่องความฉลาด เรียนรู้ไว ลูกเราต้องไปแพ้คนอื่นในอนาคต หากคุณพ่อคุณแม่กำลังคิดแบบนี้ เรามี 6 เทคนิคพัฒนาสมองเด็ก มาแนะนำให้ วิธีที่ทำได้ง่าย ๆ เน้นการทำบ่อย ๆ ในชีวิตประจำวัน พยายามให้ลูกได้ฝึกความคิด และเรียนรู้อยู่เสมอ พร้อมแล้วมาติดตามกันไปทีละข้อเลย
6 เทคนิคพัฒนาสมองเด็ก ทำได้ไม่ยาก
ใคร ๆ ก็อยากให้ลูกรักโตไปสมองดี มีพัฒนาการทางสมอง และระบบประสาทพร้อมเรียนรู้ในทุก ๆ เรื่อง การช่วยลูกในเรื่องนี้ทำได้ไม่ยาก แต่ต้องรีบทำ ทำก่อน ก็เป็นประโยชน์ต่อลูกก่อนแน่นอน วิธีที่เรานำมาแนะนำให้ เป็นวิธีที่ไม่ต้องลงทุนอะไร คุณพ่อคุณแม่สามารถหาโอกาสทำได้เลย ไม่ต้องรอโอกาส และเวลา ดังนี้
1. เตรียมพร้อมตั้งแต่ตั้งครรภ์
การเตรียมความพร้อมให้ลูกน้อยมีพัฒนาการที่ดี สมองดี ทำให้ลูกสามารถเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้มาก ควรเริ่มเตรียมการตั้งแต่ทารกยังไม่คลอด ซึ่งวิธีที่สามารถทำได้ก็ไม่ได้ยากอะไร เช่น การทานอาหารที่มีประโยชน์เน้นให้ครบ 5 หมู่, การพยายามลูบท้องบ่อย ๆ หรือพูดคุยกับลูก ไปจนถึงเปิดเพลงให้ลูกในท้องฟัง เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะทำให้การทำงานด้านสมอง และระบบประสาทถูกกระตุ้นเรื่อย ๆ เมื่อลูกคลอดออกมาแล้ว จะทำให้เป็นเด็กที่เรียนรู้ไว เพราะสมองเคยได้รับการฝึก และกระตุ้นมาตั้งแต่ในครรภ์นั่นเอง
บทความที่เกี่ยวข้อง : 10 เทคนิค เลี้ยงลูกอย่างไรให้ฉลาด อารมณ์ดี เป็นอัจฉริยะ
วิดีโอจาก : Kids Family เลี้ยงลูกให้ฉลาด
2. อ่านนิทานให้ลูกฟังบ่อย ๆ
การหาหนังสือสำหรับเด็กมาอ่านกับลูกบ่อย ๆ โดยเฉพาะนิทานภาพ ไม่เน้นตัวหนังสือ เน้นสี และภาพง่าย ๆ ที่ลูกน้อยพอจะเข้าใจ เรียนรู้ได้ง่าย เวลาลูกเกิดความสงสัยจะได้ฟังคำอธิบายที่ไม่ยุ่งยาก เนื้อหาตรงไปตรงมาชัดเจน ไม่ต้องผ่านการแปลความ หรือแฝงความหมายลึกซึ้ง เพราะหนังสือนิทานสำหรับเด็กเล็กมาก ๆ มีเป้าหมายเพื่อเสริมพัฒนาการเรียนรู้เบื้องต้นของการฟัง การพูด และการมองเห็นเท่านั้น รู้หรือไม่ว่าทุกครั้งที่คุณพ่อคุณแม่อ่านนิทานกับลูก จะเป็นการกระตุ้นการทำงานของสมองสร้างเส้นใยของเซลล์ประสาท ทำให้ลูกรักโตขึ้นมามีพัฒนาการเรียนรู้ที่ดีขึ้นได้
3. Baby Talk ช่วยได้
“Baby Talk” หรือ “ภาษาเด็ก” คุณพ่อคุณแม่อาจงงว่าคืออะไร ต้องไปเรียนแบบภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่นอะไรแบบนั้นไหม คุณพ่อคุณแม่หมดห่วงได้ เพราะภาษาแบบ Baby Talk ก็คือการพูดคุยด้วยภาษาไทยแบบปกตินี่แหละ แต่จะแตกต่างกับที่เราพูดกันแบบปกติตรงโทนเสียงเท่านั้นเอง โดย Baby Talk จะใช้โทนเสียงสูง – ต่ำ สลับไปกับการพูดย้ำไปย้ำมาเชิงหยอกเล่น หรือที่คนไทยชอบเรียกติดปากกันว่า “เสียงสอง” นั่นแหละ เป็นแบบเดียวกับที่เราชอบทำเวลาเห็นเด็กเล็ก หรือสัตว์เลี้ยงน่ารัก ๆ
แต่การใช้ Baby Talk ไม่สามารถใช้ได้ทันทีจะต้องรอให้ลูกมีอายุครบ 7 เดือนก่อน และควรใช้จนถึงลูกอายุประมาณ 3 ปี ไม่ควรเกินกว่านั้น เพราะเมื่อลูกมีอายุ 3 – 4 ปีขึ้นไป ลูกจะเริ่มเรียนรู้แล้วว่าการใช้ภาษานี้จะใช้สำหรับทารก ลูก ๆ จะต้องการพูดคุยแบบโทนเสียงปกติมากกว่านั่นเอง
4. มีเวลาให้ลูกมาก ๆ
การเรียนรู้ และพัฒนาการทางด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะทางด้านสมอง บางทีก็ไม่ได้ซับซ้อน และยุ่งยากมาก หากต้องการให้ลูกน้อยเติบโตให้สมกับวัย สมองทำงานได้อย่างเป็นปกติ การใช้เวลากับลูกให้มากก็เป็นวิธีพื้นฐานที่คุณพ่อคุณแม่ทุกคนควรจะต้องทำอยู่แล้ว การให้เวลากับลูกไม่ได้หมายถึงการเลี้ยงแบบไกวเปล หรือให้นมเท่านั้น แต่ยังหมายถึงคอยพูดคุยกับลูก พยายามเล่นกับลูกให้มากขึ้น ด้วยกิจกรรมง่าย ๆ เช่น ร้องเพลงให้ลูกฟัง, เล่นปรบมือ หรือเล่นจ๊ะเอ๋ เป็นต้น กิจกรรมเหล่านี้หากทำบ่อย ๆ ทำทุกวัน ก็จะฝึกระบบประสาท และสมองของลูกน้อยได้เช่นกัน
5. ให้ลูกมีส่วนร่วมในกิจวัตรประจำวัน
หลายสิ่งหลายอย่างที่ผู้ใหญ่คิดกันว่าเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องที่จะต้องทำอยู่แล้ว สำหรับทารกแน่นอนว่าจะต้องเป็นเรื่องที่แปลกใหม่ และน่าเรียนรู้เสมอ ๆ การให้ลูกได้เข้ามาช่วยลองทำเพียงลองแตะ ลองจับ เล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นงานบ้านอย่างการพับผ้าอาจพับให้ลูกดู ทำเสียงน่ารัก ๆ ระหว่างพับผ้าไปด้วย คอยพูดคุยเล่นกับลูก ให้ลูกได้สัมผัสเนื้อผ้า หรือระหว่างการเตรียมวัตถุดิบทำอาหาร (ควรเก็บของมีคม หรือของอันตรายให้พ้นจากบริเวณนั้นก่อน) ผู้ปกครองสามารถให้ลูกลองจับวัตถุดิบต่าง ๆ สัมผัสพื้นผิวหลาย ๆ แบบ สิ่งเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นสมอง และระบบประสาท ให้เกิดการเรียนรู้ได้ดี
6. เปิดหูเปิดตาเมื่อมีโอกาส
แม้ว่าทารกจะดูอ่อนแอไม่แข็งแรง ซึ่งเป็นไปตามช่วงวัย แต่เมื่อถึงช่วงอายุได้ 4 – 6 เดือน การพาลูกออกไปยังสถานที่ต่าง ๆ คุณแม่อย่าลืมเตรียมอุปกรณ์จำเป็น และถ้าหากไปผ่านรถยนต์ส่วนตัว อย่าลืมที่จะติดตั้งคาร์ซีทให้เรียบร้อยด้วย และไม่ควรให้ทารกมาอยู่เบาะหน้าเด็ดขาด การไปนอกสถานที่ผู้ปกครองสามารถพูดคุยกับลูกได้ตลอดทาง เมื่อเห็นอะไรก็ลองชี้ ลองคุยให้ลูกมองตามได้ เป็นกิจกรรมง่าย ๆ ที่ช่วยให้ลูกได้พัฒนาสมองระหว่างการเดินทาง ที่ครั้งก่อนอาจเคยน่าเบื่อให้มีความสนุกสนานมากขึ้น
เทคนิคพัฒนาสมองเด็ก ที่เราแนะนำเป็นเพียงบางวิธีที่จะช่วยให้สมองของลูกมีพัฒนาการที่ดีเท่านั้น ยังมีอีกหลายวิธีที่ใช้ได้ผลเหมือนกัน แต่ผู้ปกครองจะต้องระวัง ไม่ให้การเรียนรู้กลายเป็นวิชาการ ซึ่งไม่เหมาะเลยกับทารกน้อยที่ยังไม่ใช่อายุเข้าโรงเรียนอนุบาล พยายามเน้นความสนุก และการสื่อสารก็เพียงพอแล้ว
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
พัฒนาการทางภาษาช้า ทำอย่างไรดี? มาดูวิธีการรับมือไปพร้อมกัน
เคล็ดลับ ! ฝึกลูกเขียนหนังสือ ด้วยวิธีง่าย ๆ เริ่มต้นจากอะไร ?
ทำไมลูกถึงชอบปีนป่าย ลูกอย่าไม่นิ่งควรทำอย่างไร ลูกจะชอบปีนป่ายเมื่อไหร่