เป็นปีที่ลูกโตขึ้นอีกปีแล้ว พัฒนาการเด็ก 4 ขวบ วัยนี้เปลี่ยนไปพอสมควร พร้อมเรียนรู้แล้ว มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปบ้าง และมีแนวทางในการเลี้ยงเด็กวัยนี้อย่างไร ชวนผู้ปกครองมาอ่านบทความนี้กัน
พัฒนาการเด็ก 4 ขวบ มีอะไรบ้างที่เปลี่ยนไป
เมื่อลูกก้าวเข้าสู่วัย 4 ปี เป็นช่วงเวลาแรก ๆ ที่ลูกสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างคล่องแคล่วมากขึ้นแล้ว ทั้งในเรื่องของการสื่อสาร และการเคลื่อนไหวร่างกาย เด็กในช่วงนี้จึงเริ่มแสดงจินตนาการ และความสงสัย พร้อมเรียนรู้ในหลาย ๆ ด้าน ดังนี้
วิดีโอจาก : Samitivej Hospitals
1. ช่วงวัยแรกของจินตนาการ
เด็กวัย 4 ปีจะแสดงความคิด และจินตนาการออกมาได้ชัดเจน เด็กอาจตกอยู่ในจินตนาการแบบเด็ก ๆ เช่น การเล่นตุ๊กตา หรือเล่นขายของได้ด้วยตนเองในเด็กผู้หญิง หรือเด็กผู้ชายที่สมมติว่าตนเองเป็นนักรบกับดาบของเล่น เป็นต้น ในวัยนี้เป็นวัยที่เหมาะกับการเจอเด็กคนอื่น ๆ ในวัยเดียวกัน จะทำให้มีโอกาสในการเล่นด้วยกัน สร้างการเข้าสังคมได้ดี นอกจากนี้ยังเป็นวัยที่ผู้ปกครองควรเล่นบทบาทสมมติกับลูกด้วย
บทความที่เกี่ยวข้อง : แนะนำ 4 การเล่นบทบาทสมมติ เสริมการเรียนรู้ได้ไร้ขอบเขต
2. ร่างกายที่คล่องแคล่วมากขึ้น
วัยนี้จะมีพัฒนาการทางด้านร่างกาย โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวที่มีความรวดเร็ว คล่องแคล่วมากขึ้น สามารถวิ่ง หรือหยุดเปลี่ยนทิศทางได้ เพราะกล้ามเนื้อมัดเล็ก และกล้ามเนื้อมัดใหญ่ทำงานได้มากขึ้นนั่นเอง นอกจากการเคลื่อนไหวแล้ว การทรงตัวยังทำได้ดีอีกด้วย เรียกว่าลูกช่วงนี้ สามารถหมดห่วงในเรื่องของการเดิน หรือวิ่งได้แล้ว แต่ผู้ปกครองก็ยังต้องระวังอยู่ เพราะเด็กวัยนี้มีความซุกซน อาจวิ่งหรือเข้าไปยังพื้นที่อันตรายได้ด้วยตนเอง โดยที่ผู้ปกครองไม่รู้ตัวได้
การเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระมากขึ้นนี้เอง ส่งผลดีต่อการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ได้ เช่น ผู้ปกครองอาจหากีฬาง่าย ๆ มาให้เล่นกับลูกได้ โดยเฉพาะการโยนรับลูกบอล จะช่วยให้ลูกฝึกใช้มือทั้ง 2 ข้างได้ดียิ่งขึ้นไปอีก
3. ทำอะไรด้วยตนเองได้กว่าที่เคย
ลูกน้อยวัย 4 ปี สามารถลงมือทำสิ่งต่าง ๆ ขั้นพื้นฐานได้ด้วยตนเองหลายอย่าง เช่น เข้าห้องน้ำเองได้ หรือแต่งตัวเองได้แล้ว แต่ก็ต้องพึ่งการฝึกฝนจากผู้ปกครองก่อนหน้านี้ด้วย สัญญาณเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าผู้ปกครองควรวางใจ และสอนสิ่งต่าง ๆ ให้กับลูก ปล่อยให้ลูกได้ฝึก ได้ทำด้วยตนเอง เป็นช่วงที่ลูกพร้อมที่จะเรียนรู้แล้ว หากยังทำทุกอย่างให้ลูกต่อไป อาจทำให้ลูกกลายเป็นเด็กที่มีการเรียนรู้ช้า พัฒนาการไม่ดี และกลายเป็นว่าทำอะไรด้วยตนเองไม่เป็นเลย
4. เริ่มสงสัย อยากที่จะเรียนรู้
เมื่อลูกสื่อสารได้ เคลื่อนไหวได้อย่างเต็มที่มากขึ้น ช่วงวัยนี้จึงเป็นช่วงวัยแรก ๆ ที่เข้าสู่การสำรวจอย่างเต็มตัว ลูกจะไปดู ไปจับสิ่งต่าง ๆ เกิดความสงสัย และกลายเป็นเด็กช่างถามนั่นเอง ทั้งหมดนี้เป็นไปตามพัฒนาการหากพ่อแม่สามารถรับมือได้ดี จะเป็นการเรียนรู้ชั้นยอดของลูกน้อยไปในตัวได้ ในวัยนี้จะมีความต้องการที่จะเล่นแทบทุกอย่างรอบตัวเลย ดังนั้นควรระวังข้าวของเครื่องใช้ที่อาจเป็นอันตรายต่อลูกน้อยด้วย จะต้องเก็บหรือจัดพื้นที่ให้ดี
5. มีความทรงจำที่ดีขึ้น
เด็กวัยนี้สามารถจดจำ แยกแยะสิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้มากขึ้น มีความเข้าใจเรื่องรูปร่าง ลักษณะสิ่งของ เพราะสามารถสื่อสาร สอบถามพูดคุยได้คล่องกว่าเดิมนั่นเอง ในวัยนี้สามารถที่จะสอนให้เริ่มจดจำชื่อนามสกุลของตนเองได้แล้ว หรือลองให้ฝึกภาษาที่ 2 แบบเบื้องต้นได้ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามการฝึกในที่นี้ไม่ควรเป็นการเรียนรู้จริงจัง ไม่ใช่วัยที่ต้องมานั่งฟังครูพูดเป็นชั่วโมง แต่เป็นวัยที่ควรเรียนรู้จากการทำกิจกรรมเช่น ฟังเพลง หรือเล่นกับผู้ปกครอง เป็นต้น
6. อาจเกิดการทะเลาะกับคนอื่น
เมื่อลูกสื่อสารได้ พูดได้ มีอิสระทางการเคลื่อนไหวได้มากขึ้น โดยเฉพาะเด็กที่มีเพื่อนในวัยเดียวกัน อาจเกิดการทะเลาะกันได้ เพราะแม้ว่าจะเข้าใจในหลายเรื่อง แต่เด็ก 4 ปี จะยังไม่สามารถแยกแยะได้ว่าสิ่งไหนควรทำ สิ่งไหนไม่ควรทำ แน่นอนว่าจะต้องเป็นหน้าที่ของผู้ปกครองอีกเช่นเคย ที่จะต้องคอยบอก คอยเตือนในเรื่องนี้ และต้องสังเกตเวลาลูกเล่นกับเพื่อนให้ดี เพราะถ้ามีแววว่าเด็กจะทะเลาะกันจะได้เข้าไปห้ามได้ทัน อย่างไรก็ตามการทะเลาะกันของเด็กในช่วงวัยนี้ จะเกิดขึ้น และหายอย่างรวดเร็ว
แนวทางการเลี้ยงลูกวัย 4 ปี
- อย่าปล่อยให้ทำอะไรเดิม ๆ น่าเบื่อ ให้หากิจกรรมหลากหลายแบบมาเล่นกับลูกเสริมจินตนาการ และร่างกายได้ดี หรือการพาออกไปเล่นข้างนอก พบเจอกับเด็กคนอื่น ๆ เป็นต้น
- ส่งเสริมจินตนาการของลูกอย่างเต็มที่ผ่านการทำกิจกรรมต่าง ๆ เป็นส่วนสำคัญมากในการเรียนรู้ และให้ลูกได้ใช้เวลาในความคิดของตนเอง เป็นการฝึกสมองไปในตัว เช่น วาดรูป, ระบายสีภาพ หรือบทบาทสมมติ
- พยายามให้ลูกได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ เด็กวัยนี้ต้องการเวลานอน 10 – 13 ชั่วโมง / วัน และระวังไม่ให้ลูกเล่นมือถือมากเกินไปด้วย
- ช่วยสอนลูกในด้านจริยธรรม ความถูกต้อง สิ่งไหนผิด สิ่งไหนถูก เพื่อให้มีความเข้าใจตั้งแต่ยังเล็ก อาจสอนผ่านเหตุการณ์ต่าง ๆ หรือการยกตัวอย่างขึ้นมาให้ลูกตอบ จะทำให้ลูกเข้าใจกว่าการพูดคุยเฉย ๆ
- ตอบคำถามลูกเสมอ แม้เป็นเรื่องที่ลูกถามซ้ำ หรือเป็นเรื่องที่เด็กอาจไม่เข้าใจ เพราะการที่ลูกสงสัยแล้วถาม เป็นการเปิดโอกาสเรียนรู้ที่ดีของเด็ก ๆ
พัฒนาการเด็ก 4 ขวบ เป็นไปในทิศทางของการเรียนรู้ช่วงแรกเป็นหลัก ในช่วงนี้อะไรที่สำคัญ โดยเฉพาะความรู้ ความเข้าใจในเรื่องพื้นฐานของสังคม เป็นช่วงที่ดี ที่จะปูพื้นฐานเหล่านั้นให้ลูกตอนนี้ เพื่อลดปัญหาเมื่อลูกจะต้องอยู่กับคนอื่น ๆ โดยเฉพาะเด็กวัยเดียวกัน
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
การฝึกลูก ๆ วาดรูป ตั้งแต่ยังเด็ก ส่งผลต่อพัฒนาการอย่างไรบ้าง?
7 วิธีแก้เมื่อ ลูกหวงของ ให้มีน้ำใจ เป็นเด็กชอบแบ่งปัน