เมื่อไหร่ที่ลูกจะจำชื่อของตัวเองได้นะ ตอนนี้ลูกก็มีอายุหลายเดือนแล้ว วิธีสอนลูกให้จำชื่อตัวเอง ลูกจะเริ่มจดจำได้ตอนไหน เรื่องนี้เป็นไปตามวัยของทารก แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องรู้วิธีเบื้องต้น เพื่อทำให้ลูกเกิดความคุ้นเคยด้วย ทุกหัวข้อที่เรากล่าวมา เรารวมไว้แล้วในบทความนี้
ลูกจะจำชื่อตัวเองได้ตอนกี่ขวบ
โดยปกติแล้วการจดจำชื่อจะมาจากการเรียกชื่อบ่อย ๆ ของคุณพ่อคุณแม่ จนกว่าลูกน้อยจะเข้าเรียนหนังสือ ถึงจะพอสะกดชื่อของตนเองได้ ส่วนกรณีการจดจำชื่อ หรือการออกเสียงทั่วไป ลูกจะเริ่มจดจำได้ราว ๆ 6 เดือน และไม่เกิน 1 ปี ถึงจะช้าที่สุดก็ควรจดจำได้ก่อนเข้าโรงเรียนอนุบาล หากนานกว่านี้อาจหมายถึงลูกมีพัฒนาการช้ากว่าปกติ ผู้ปกครองควรพยายามฝึกลูกในเรื่องของการจดจำ และการออกเสียง โดยปกติแล้วลูกน้อยจะจดจำชื่อที่ไม่ยาก ไม่ซับซ้อนก่อน ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรฝึก หรือเรียกลูกบ่อย ๆ ด้วยชื่อเล่นก่อนชื่อจริงและนามสกุลนั่นเอง
สัญญาณที่บ่งบอกว่าทารกจะสามารถเริ่มจดจำชื่อของตนเองได้ จะเริ่มแสดงออกมาในช่วงวัย 4 – 6 เดือน โดยทารกจะแสดงปฏิกิริยาโต้ตอบหลังได้ยินคุณพ่อคุณแม่ขานเรียกชื่อ เช่น การหันมามอง, การมองสบตา หรือการส่งเสียงร้อง เป็นต้น หากมีพฤติกรรมเหล่านี้แสดงว่าเป็นสัญญาณบวก ทารกเริ่มคุ้นเคยกับชื่อของตนเองแล้ว
บทความที่เกี่ยวข้อง : เทคนิค ! สอนลูกกินข้าวเอง แบบง่าย ๆ ด้วยตัวเอง ทำอย่างไรดี ?
วิดีโอจาก : พี่กัลนมแม่ Pekannommae mother and child care
วิธีสอนลูกให้จำชื่อตัวเอง
คุณพ่อคุณแม่ที่ต้องการฝึกให้ลูกจดจำชื่อของตนเอง ไปจนถึงขั้นสะกดได้ เขียนได้ อย่างน้อยก็ให้สามารถสื่อสารกับผู้อื่นรู้เรื่อง การเรียนรู้ในเรื่องนี้ปกติแล้วจะพัฒนาไปตามวัยอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามการช่วยฝึก หรือรู้เทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ จะสามารถช่วยให้ลูกรักจดจำได้ง่ายขึ้น แต่ละวิธีที่เราหยิบยกมาแนะนำให้ไม่ยากแน่นอน โดยเราจะแบ่งเทคนิคสำหรับทารก และเด็กเล็ก
การสอนสำหรับเด็กทารก
เมื่อทำการสอนทารกให้จดจำชื่อของตัวเอง สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเน้นให้มาก คือ ความบ่อยในการเรียกที่ต้องมากพอ รวมไปถึงเทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ บางอย่างที่จะช่วยให้ทารกจำชื่อของตัวเองได้ง่ายขึ้น ดังนี้
- พยายามเรียกชื่อบ่อย ๆ : การเรียกชื่อเป็นวิธีพื้นฐานที่คุณพ่อคุณแม่ทำอยู่เป็นปกติอยู่แล้ว แต่วิธีง่าย ๆ นี้สำคัญกว่าที่คิดมาก หากเรียกไม่บ่อย ลูกจะยิ่งคุ้นชินได้ยาก ควรเรียกลูกไปพร้อม ๆ กับพูดประโยคต่าง ๆ ไปในตัว จะช่วยให้ลูกเริ่มจับคำได้ว่ามีชื่อตนเองตลอด แสดงว่าเมื่อพ่อแม่พูดคำนี้คือเกี่ยวข้องกับตนเอง เป็นต้น
- ใช้เสียงที่น่าฟัง : การเลือกใช้เสียงในการเลือกลูกก็มีความสำคัญมากเช่นกัน หากใช้เสียงกระซิบ, ใช้โทนเสียงอ่อนนุ่ม ไปจนถึงการเรียกชื่อเป็นจังหวะเหมือนกับเพลง จะทำให้ทารกเกิดความสนใจมากขึ้นได้ กลับกันหากเรียกด้วยเสียงเรียบ ๆ จะดึงความสนใจจากทารกได้น้อยกว่า
- เรียกผ่านกระจก : การอุ้มลูกไปยืนหน้ากระจกแล้วเรียกชื่อลูก เป็นอีกวิธีที่สามารถช่วยให้ลูกมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นได้ เช่น “ดูสินี่ใคร นี่น้อง…เอง” เป็นต้น การได้มอง และการได้ยินได้ฟังที่เกิดขึ้นพร้อมกัน เป็นตัวช่วยที่ดีในการเสริมสร้างทารกให้คุ้นเคยกับตนเอง รวมถึงชื่อมากขึ้น
- ทดสอบการจดจำของลูก : หากคุณพ่อคุณแม่สงสัยว่าลูกน้อยสามารถจดจำชื่อของตนเองได้หรือยัง สามารถทดสอบลูกได้เช่นกัน ด้วยการเอาลูกไว้ในห้องที่ไม่มีเสียงรบกวน และลองเรียกชื่อลูกดู หากลูกมีปฏิกิริยาตอบโต้ใด ๆ แสดงว่าลูกน้อยเริ่มจดจำชื่อของตนได้แล้ว
การสอนสำหรับเด็กเล็ก
หลังจากผ่านช่วงทารกมาแล้ว ลูกคงจำได้แล้วว่าตนเองชื่ออะไร แต่ไม่สามารถสะกด หรือเขียนชื่อได้ ซึ่งผู้ปกครองอาจฝึกลูกบ้างก่อนที่ลูกจะเข้าโรงเรียนอนุบาล โดยมีวิธีการฝึก ดังนี้
- สะกดชื่อช้า ๆ : เมื่อลูกเริ่มมีอายุมากขึ้นไม่ใช่ทารกแล้ว การสะกดชื่อจึงกลายมาเป็นสิ่งสำคัญ การรู้ว่าชื่อของตนเองสะกดแบบไหน เขียนอย่างไร ต้องพึ่งคุณพ่อคุณแม่ในการสะกดให้ดู โดยให้เริ่มสะกดอย่างช้า ๆ ไปทีละตัว มีละพยางค์ และลองให้ลูกพูดตาม
- ฝึกลูกเขียนชื่อตัวเอง : เมื่อลูกมีท่าทีว่าสามารถสะกดชื่อของตนเองได้แล้ว ขั้นต่อไป คือ การให้ลูกฝึกเขียนชื่อตัวเองดูบ้าง โดยให้ผู้ปกครองทำให้ดูก่อน ในขั้นนี้คงต้องใช้ความใจเย็นหน่อย เพราะลูกจำเป็นต้องจำพยัญชนะไทย และสระเบื้องต้นได้บ้างแล้ว
- สร้างแวดล้อมให้ชิน : การสร้างสภาพแวดล้อมให้กับลูกน้อย เพื่อให้เกิดความคุ้นเคยในการสะกดชื่อ และเขียนชื่อของตนเอง สามารถทำได้ด้วยการแปะชื่อจริง นามสกุล และชื่อเล่นไว้ตามสิ่งของภายในบ้าน โดยเฉพาะของที่ลูกหยิบจับบ่อย จะสร้างการจดจำได้ไปในตัว
การสอนให้ลูกจดจำ และสะกดชื่อของตนเองได้ ขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยหลัก ๆ ได้แก่ การจดจำ, การสะกด, และการเขียน หากทำบ่อยมากพอ คอยสอนลูกดูลูกอย่างใกล้ชิด ไม่นานลูกรักจะสามารถจดจำชื่อของตนเองได้อย่างแน่นอน
ไม่ต้องกังวลมากเกินไปในการจดจำชื่อ
แม้ว่าจะดูเป็นเรื่องสำคัญ แต่การจดจำชื่อโดยทั่วไปแล้ว ไม่ใช่เรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ควรกังวลแต่อย่างใด เนื่องจากหากคุณพ่อคุณแม่เรียกชื่อลูกบ่อย ๆ หยอกล้อพูดชื่อเป็นประจำ ทารกก็จะสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ปัญหาการจดจำชื่อตัวเองไม่ได้แทบจะไม่เกิดขึ้นเลย ยกเว้นว่าทารกมีแนวโน้มว่าอาจมีปัญหาเกี่ยวกับสติปัญญา หรือสุขภาพจิต อย่างไรก็ตาม หากทารกเข้าโรงเรียนอนุบาล และตลอดเวลาที่ผ่านมาผู้ปกครองก็เรียกชื่อบ่อยมาก ทำตามที่เราแนะนำไปแล้ว แต่ลูกก็ยังจำไม่ได้ ผู้ปกครองสามารถพาลูกไปพบกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการตรวจ และรับคำแนะนำต่อไป
ในช่วงวัยเด็กพัฒนาการพื้นฐานจะเป็นไปตามอายุ หากผู้ปกครองคอยช่วยเหลือมากพอ และเข้าใจ วิธีสอนลูกให้จำชื่อตัวเอง การจดจำเรียนรู้มักเกิดจากผู้ปกครองก่อนเสมอ รวมไปถึงการจดจำชื่อของลูกเองด้วย หากผู้ปกครองไม่ค่อยขานชื่อลูก ทารกก็อาจใช้เวลาในการทำความคุ้นเคยของชื่อตนเองนานกว่าที่ควรจะเป็นได้
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
แปรงฟันให้ลูก เริ่มได้ตอนไหน ? ฟันน้ำนมใครว่าไม่สำคัญ
ระวังพฤติกรรมเลียนแบบในเด็ก เรื่องเล็กน้อยของพ่อแม่ แต่ลูกไม่ลืม