ลูกช่างสงสัยแปลกไหม รับมืออย่างไรเมื่อลูกถามเยอะ

เมื่อลูกเห็นอะไรก็อยากรู้ไปหมด ลูกช่างสงสัยแปลกไหม เกิดจากอะไร ควรรับมืออย่างไรดี หลากคำถามที่ถาโถมเข้ามาหาคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ ไม่ต้องเป 

 1081 views

เมื่อลูกเห็นอะไรก็อยากรู้ไปหมด ลูกช่างสงสัยแปลกไหม เกิดจากอะไร ควรรับมืออย่างไรดี หลากคำถามที่ถาโถมเข้ามาหาคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ ไม่ต้องเป็นห่วงไป บทความนี้จะพาไปหาคำตอบทุกข้อเอง

ลูกช่างสงสัยแปลกไหม ?

ลูกน้อยอายุ 2 – 3 ปีขึ้นไป ชอบถามแทบทุกเรื่องที่ใกล้ตัว สงสัยแม้เรื่องแปลก ๆ หากคุณพ่อคุณแม่เคยมีลูกมาก่อนแล้ว คงจะสามารถรับมือได้ไม่ยากแน่นอน แต่สำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ อาจสงสัยว่าลูกจะถามทำไม จะตอบให้เข้าใจก็ยาก เพราะบางเรื่องเหตุผลมันวิชาการมาก การที่เด็กเล็กถามคำถามเกี่ยวกับสิ่งรอบตัวไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไร เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็กเล็กทุกคนอยู่แล้ว คุณพ่อคุณแม่ตอนอายุยังน้อยก็เป็นไม่ต่างกัน เพราะการตั้งคำถามบ่อย ๆ แสดงถึงพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็กวัยนี้ ที่เริ่มสื่อสารได้มากขึ้น และมีความสนใจสิ่งรอบตัวเสมอ เพราะเป็นสิ่งใหม่สำหรับเด็ก

เมื่อไม่ใช่เรื่องแปลกแล้ว ผู้ปกครองก็ไม่ต้องเป็นกังวลไป แต่สิ่งที่ไม่ง่าย คือการรับมือกับการตอบคำถามของลูกบ่อย ๆ หรือบางคำถามที่อธิบายได้ยาก แต่ไม่ต้องเป็นห่วงไป เพราะเรามีวิธีมาแนะนำว่า ควรรับมือกับลูกขี้สงสัยอย่างไร จะตอบคำถามที่อธิบายได้ยากกับลูกแบบไหน เรามาดูกัน

บทความที่เกี่ยวข้อง : ทำไมลูกถึงชอบปีนป่าย ลูกอย่าไม่นิ่งควรทำอย่างไร ลูกจะชอบปีนป่ายเมื่อไหร่

วิดีโอจาก : Mamaexpert official

3 วิธีรับมือลูกขี้สงสัย ถามแทบทุกเรื่อง

สิ่งแรกที่ผู้ปกครองจะต้องมีก่อนเลย คือ ความเข้าใจและความอดทน ต้องรู้ว่าพฤติกรรมแบบนี้ของลูกเป็นไปตามพัฒนาการอยู่แล้ว และพยายามเลือกคำตอบที่เหมาะสมกับช่วงวัยของลูกด้วย ดังนี้

1. ทำใจและอดทนกับเด็กเล็ก

การถามคำถามทุกเรื่องรอบตัวเด็ก พวกเขาไม่รู้จึงถาม และหลายครั้งที่ลูก ๆ อาจถามไปแล้ว แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็อาจถามซ้ำอีก เรื่องนี้เกิดขึ้นได้ คุณพ่อคุณแม่ควรทำความเข้าใจว่า เมื่อลูกถามอีก ก็ต้องตอบอีก เป็นเพราะลูกอาจไม่ได้พบเจอสิ่งนั้น ๆ บ่อย เหมือนกับสิ่งอื่น ทำให้เกิดความสงสัยขึ้นมาอีก ถ้าพ่อแม่แสดงท่าทีรำคาญ หรือดุใส่ลูก อาจทำให้ลูกไม่กล้าถาม และคิดไปว่าการสงสัยสิ่งต่าง ๆ เป็นเรื่องที่ผิด จะยิ่งทำให้ลูกไม่กล้าพูด ขี้อายไม่กล้าแสดงออก ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ในระยะยาวได้ ยิ่งปล่อยไว้อาจส่งผลต่อพฤติกรรมโลกส่วนตัวสูงได้

2. คำถามยากก็ตอบให้สร้างสรรค์ไปเลย

หลายครั้งที่คำถามของลูกอาจยากเกินไปสำหรับเด็ก หากต้องอธิบายความจริง เช่น ลูกถามว่า “ทำไมมีน้ำหล่นลงมาจากฟ้า” เมื่อคุณพ่อคุณแม่ตอบว่า “เขาเรียกว่าฝนลูก” เด็กเล็กอาจถามกลับมาอีกว่า “แล้วฝนมาจากไหน” ถ้าผู้ปกครองต้องมานั่งอธิบายวัฏจักรน้ำให้เด็กวัย 2 – 3 ปีฟังก็ดูจะไม่เข้าท่าเท่าไหร่ ผู้ปกครองจึงอาจเลือกตอบให้สร้างสรรค์ไปเลยเช่น “เพราะก้อนเมฆอุ้มฝนอยู่ แล้วจะปล่อยลงมาในบางครั้ง” เป็นต้น การตอบแบบนี้จะทำให้เด็กเล็กมีความเข้าใจมากกว่า และเมื่อลูกโตพอแล้วจะเข้าใจ ลูกจะได้เรียนในชั้นเรียนเอง หรือผู้ปกครองอาจหาจังหวะเวลามานั่งเรียนรู้จริงจังในภายหลังก็ได้เช่นกัน

ลูกช่างสงสัยแปลกไหม


3. เป็นฝ่ายถามลูกก่อนว่าจำได้ไหม

ปัญหาลูกขี้สงสัยอยากถามเรื่องเดิมซ้ำ ๆ เมื่อเจอเหตุการณ์ หรือสิ่งของใด ๆ แทนที่จะรอให้ลูกเดินเข้ามาถามก่อน ผู้ปกครองอาจใช้วิธีการถามลูกก่อนเลยว่า “จำได้ไหมว่าอันนี้เรียกว่าอะไร” หรือ “จำได้ไหมว่าทำไมอันนี้ถึงเป็นแบบนี้” เป็นต้น การถามแบบนี้จะทำให้ลูกวัยเรียนรู้ได้นึกได้คิด เป็นการฝึกการจดจำได้มากขึ้น และถึงแม้ว่าลูกจะจำไม่ได้ ผู้ปกครองก็ควรบอก ควรตอบลูกเหมือนเดิม ไม่ควรดุ หรือใช้อารมณ์เช่นกัน

การที่ลูกถามบ่อย แล้วถามย้ำไปย้ำมาในเวลาสั้น ๆ หรือหลายครั้งแม้เวลาจะผ่านไปไม่นานเช่น ตอนเช้าถาม ตอนเย็นถามคำถามเดิมอีก หรือถามแล้วพอได้คำตอบ ลูกก็ถามซ้ำทันที หากพบว่ามีพฤติกรรมแบบนี้ เด็กอาจเสี่ยงอาการทางจิตได้ ผู้ปกครองควรพาลูกไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อรับการวินิจฉัยให้แน่นอน และรับคำแนะนำในการรับมือได้

3 เทคนิคช่วยให้ลูกขี้สงสัยกลายเป็นเด็กฉลาด

นอกจากวิธีการรับมือที่เราแนะนำไป ยังมีเทคนิคที่ผู้ปกครองสามารถหยิบนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ เพื่อให้ลูกน้อยเกิดการเรียนรู้มากกว่าการตั้งคำถาม ไม่ว่าจะเป็นในเชิงรับคำถาม หรือเชิงรุกเพื่อให้เกิดความรู้ ดังนี้

1. ตอบคำถามด้วยการถามกลับ

เมื่อลูกสงสัยแล้วเข้ามาถาม เมื่อเราตอบไปก็คงจบ แต่ถ้าอยากฝึกให้ลูกใช้ความคิดด้วยในเวลาเดียวกัน เพื่อเพิ่มโอกาสให้ลูกจดจำคำตอบได้มากขึ้น อาจรับมือด้วยการถามกลับแทน เช่น ถ้าลูกเดินเข้ามาถามว่า “ทำไมลูกนกถึงบินไม่ได้” ผู้ปกครองอาจถามกลับไปว่า “แล้วลูกคิดว่าทำไมลูกนกถึงบินไม่ได้เหมือนพ่อกับแม่เหรอ” เมื่อลูกแสดงความคิดของตนเองออกมาแล้ว ค่อยให้ผู้ปกครองตอบว่าถูกหรือไม่ จากนั้นจึงอธิบายเพิ่มเติมเพื่อให้ลูกเข้าใจ

อย่างไรก็ตามวิธีนี้เป็นวิธีที่ไม่ควรทำบ่อย ๆ เพราะการถามกลับจะกลายเป็นว่า ลูกที่ตั้งใจอยากได้คำตอบกลับต้องมาเป็นฝ่ายตอบเองก่อนตลอดเลย คงไม่ใช่สิ่งที่เด็กเล็กชอบเท่าไหร่ เด็กอาจจดจำไปเองว่าไม่ถามดีกว่า เพราะถ้าถามแล้วก็จะต้องมาคิดมาตอบเองก่อนอีกนั่นแหละ

ลูกช่างสงสัยแปลกไหม 2


2. ทำกิจกรรมเพื่อหาคำตอบ

อะไรที่ได้มาง่าย ๆ อาจถูกลืม เช่นเดียวกับการเรียนรู้ของเด็กเล็ก เพื่อเพิ่มโอกาสที่ลูกจะไม่ถามคำถามเดิมซ้ำ แถมยังดีต่อพัฒนาการด้วย การนำกิจกรรมต่าง ๆ มาให้ลูกทำเพื่อหาคำตอบจึงสำคัญสุด ๆ เช่น การให้ลูกฟังเพลงเกี่ยวกับสิ่งนั้น ๆ ให้ร้องตาม และเต้นตามไปด้วย หรือจะเป็นการคิดกิจกรรมบทบาทสมมติง่าย ๆ ขึ้นมา เช่น ลูกสงสัยว่า “ทำไมผู้ใหญ่ถึงชอบดูข่าว” แทนที่จะอธิบายไปเลย ก็อาจจำลองเหตุการณ์ให้ลูกรู้ว่าการรู้ข่าวสาร ทำให้เราสามารถปรับตัว และระมัดระวังการดำเนินชีวิตได้ดีขึ้น เป็นต้น

3. ทุกเวลาคือการเรียนรู้

การทำกิจกรรมในแต่ละวัน ที่เป็นกิจวัตรประจำวันอยู่แล้ว เช่น พาลูกไปตลาด หรืออ่านนิทานให้ลูกฟัง ระหว่างนี้ผู้ปกครองสามารถชี้นิ้วถามนั่นถามนี่ไปด้วยได้ คอยให้ความรู้ลูกด้วยคำที่ง่าย ๆ หรือลองฝึกให้ลูกทำบางอย่างด้วยตนเองที่ไม่ยากเกินไปสำหรับเด็ก เช่น ให้ลูกช่วยจ่ายตลอด เพื่อให้ลูกเข้าใจการแลกเปลี่ยนของสังคม หรือให้ลูกช่วยพับผ้า เพื่อให้ลูกจดจำว่าหลังซักผ้า ตากแล้วต้องเอาผ้ามาพับก่อนเสมอ เป็นต้น

ลูกช่างสงสัยแปลกไหม และจะรับมืออย่างไร ตอนนี้ผู้ปกครองคงได้คำตอบแล้ว และสามารถสบายใจได้เพราะโดยเฉลี่ยแล้ว เด็กช่างถามก็คือเด็กที่ต้องการเรียนรู้ หัวไว และมีแนวโน้มว่าโตไปจะฉลาดมากด้วยนั่นเอง

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

ลูกอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย อย่าปล่อยไว้อาจเสี่ยงโรคไบโพลาร์ พ่อแม่ต้องสังเกต !

เทคนิค !! สอนลูกให้หายขี้กลัว ลูกขี้กลัวไปหมดทุกอย่างต้องทำอย่างไร ?

ปัญหาเด็กยุคใหม่ ลูกติดมือถือ จับไม่ยอมวาง ทำอย่างไรดี ?

ที่มา : 1, 2