ลูกอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย อย่าปล่อยไว้อาจเสี่ยงโรคไบโพลาร์ พ่อแม่ต้องสังเกต !

จริงอยู่ที่การพัฒนาการของเด็ก เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้รวดเร็วในเด็กเล็ก โดยเฉพาะช่วงก่อนเข้าโรงเรียน เป็นช่วงที่อาจจะมีพัฒนาการรวดเร็วท 

 1086 views

จริงอยู่ที่การพัฒนาการของเด็ก เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้รวดเร็วในเด็กเล็ก โดยเฉพาะช่วงก่อนเข้าโรงเรียน เป็นช่วงที่อาจจะมีพัฒนาการรวดเร็วทั้งร่างกายและจิตใจ ซึ่งทั้งสองอย่างอาจจะทำให้ ลูกอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย ข้อนี้พ่อแม่อาจจะต้องหมั่นสังเกต เพื่อรู้ทันอาการของลูกตัวเอง เพราะในบางครั้งการที่อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย หรือเปลี่ยนรวดเร็ว อาจจะเป็นสัญญาณบอกโรคร้ายอย่าง โรคไบโพลาร์

เมื่อเวลาผ่านไปอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลง จะเป็นตัวกำหนดว่าลูกมีพัฒนาการทางด้านอารมณ์อย่างไร ความโกรธของลูกที่พ่อแม่เจอ เป็นความโกรธที่สามารถรับมือได้ตามอายุ และช่วงวัยของลูก หรือว่าอารมณ์นั้นแสดงออกในรูปแบบที่รุนแรงขึ้น อาจจะเป็นตัวบ่งบอกชั้นดี ซึ่งพ่อแม่หรือผู้ปกครอง ควรจะต้องสอนลูกในวิธีการบริหาร หรือการจัดการกับอารมณ์ของตัวเอง หรือหากไม่สามารถทำได้ด้วยวิธีการฉบับครอบครัว อาจจะต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้อารมณ์ของลูกอยู่ในระดับที่ปกติ

วันนี้ Mamastory จะพาไปทำความรู้จักเกี่ยวกับอารมณ์การเปลี่ยนแปลงของเด็กให้เพิ่มขึ้น เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางในการสังเกต ว่าลูกของคุณพ่อคุณแม่มีการพัฒนาทางด้านอารมณ์เป็นอย่างไรบ้าง

ลูกอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย



ลูกมีอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย หมายถึงอะไร ?

ในช่วงที่ลูกอายุเข้าใกล้ 2 ขวบ อาจจะเริ่มมีอาการอารมณ์ขึ้นลงแบบสุด ๆ ในบางครั้งอาจจะเรียกอาการนี้ว่า “วัยทอง 2 ขวบ” ที่มาจากการที่สมองส่วนของอารมณ์ มีการพัฒนามากขึ้น แต่สมองส่วนเหตุผลเติบโตได้ช้ากว่า ทำให้พฤติกรรมสุดโต่งอาจจะมีให้เห็นมากกว่า ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ จะแสดงออกแบบไหนขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดู

พฤติกรรมวัยทอง 2 ขวบ อาจจะเป็นพฤติกรรมหรืออารมณ์ที่พ่อแม่ไม่คุ้นชิน คาดเดาได้ยาก ที่ในบางครั้งอาจจะออกมาในรูปแบบของความไม่พอใจ เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย หรืออาจจะมีอาการเช่น ดีใจสุด โกรธสุด เสียใจสุด มักจะไม่ค่อยมีเหตุผล คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยสังเกตลูก เพื่อจะได้หาวิธีรับมือได้อย่างเหมาะสม แต่ถ้าเริ่มจะรับมือไม่ไหว ควรปรึกษาคุณหมอด้านพัฒนาการเด็กเพื่อรับคำแนะนำที่ถูกต้อง

ลูกอารมณ์รุนแรงอาจเป็นไบโพลาร์

การป่วยไบโพลาร์ นับเป็นปัญหาทางด้านจิตเวชที่ไม่ได้มีความเสี่ยงแค่ในผู้ใหญ่เท่านั้น แต่เด็กก็มีโอกาสเป็นได้เช่นกัน เพียงแต่จะแตกต่างกันที่การแสดงออก ในวัยผู้ใหญ่อาจจะมีอาการอารมณ์ดีผิดปกติ คึกคักผิดปกติ มีความมั่นใจในตนเองสูง หรือมีความคิดในการทำโครงการที่ดูยิ่งใหญ่เกินไป มีอารมณ์ทางเพศสูง ไม่อยากนอน นอนน้อยแต่ไม่อ่อนเพลีย

แต่อาการไบโพลาร์ในเด็กอาการจะไม่ชัดเจนเท่าไร อาจจะสังเกตได้จากการที่ลูกมีอาการหงุดหงิดผิดปกติ อารมณ์รุนแรง มีความมั่นใจในตนเองมากขึ้น พูดมากขึ้น เหมือนมีเรื่องอยากทำมากขึ้นหลายอย่าง และจะแตกต่างจากโรคสมาธิสั้น เพราะไบโพลาร์ในเด็กจะมีอาการเป็นช่วงสั้น ๆ

สำหรับเด็กที่ยังมีอาการไม่รุนแรง อาจจะมีอาการในช่วง 4 วัน ถึง 1 สัปดาห์ได้ พ่อแม่อาจจะเริ่มมองเห็นว่าลูกมีความผิดปกติไป พฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิม การเรียนรู้ หรือการทำงาน การเรียนไม่ดีในช่วงเวลาหนึ่ง ส่วนในเด็กที่มีอาการรุนแรง สามารถสังเกตได้จากอาการหลงผิด ก้าวร้าว หูแว่ว หรือเห็นภาพหลอน

ลูกอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย



สาเหตุที่ทำให้ลูกเป็นไบโพลาร์

  • พันธุกรรม : หากในครอบครัวมีคนป่วยเป็นโรคนี้ มีโอกาสทำให้ลูกเป็นด้วยสูงถึง 25% แต่ถ้าหากบ้านไหนพ่อแม่ป่วยเป็นโรคนี้ทั้งคู่ ลูกมีโอกาสเป็นร่วมด้วยถึง 75%
  • สมองผิดปกติ : หากลูกมีอาการป่วย ด้วยโรคที่มีความผิดปกติทางระบบสมอง ที่ทำงานไม่สมดุลกัน มีโอกาสที่จะทำให้ลูกป่วยไบโพลาร์ได้
  • สภาพแวดล้อม : เพราะโรคนี้มีเรื่องของอารมณ์มาเกี่ยว หากบ้านไหนที่มีสภาพแวดล้อมของครอบครัวที่ไม่ปกติ เช่น ความสูญเสีย ความซึมเศร้า ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ป่วยได้



ปัจจัยความโกรธ ที่ทำให้เด็กควบคุมตัวเองไม่ได้

  1. ร่างกาย : ได้แก่ โรคภัยไข้เจ็บ สมาธิสั้น ออทิสติก โครงสร้างสมอง และระดับสารสื่อประสาทที่ไม่สมดุลก็ส่งผลให้เด็กใจร้อน หงุดหงิด ซึมเศร้าได้
  2. จิตใจ : ได้แก่ พื้นฐานธรรมชาติทางอารมณ์ของเด็ก เช่น ขี้โมโห เจ้าอารมณ์ ขาดความอดทน เป็นต้น
  3. สภาพแวดล้อม : ได้แก่ การเลี้ยงดู เช่น เด็กเติบโตในครอบครัวที่ใช้ความรุนแรง พ่อแม่เจ้าอารมณ์ การรับเนื้อหาเกี่ยวกับความรุนแรงผ่านสื่อต่าง ๆ ก็มีผลเช่นกัน

บทความที่เกี่ยวข้อง : เทคนิค!! สอนลูกให้หายขี้กลัว ลูกขี้กลัวไปหมดทุกอย่างต้องทำอย่างไร?



ลิสต์ความโกรธน่าเป็นห่วง

จริงอยู่ที่พฤติกรรมของลูกน้อย อาจจะไม่สามารถควบคุมความโกรธ และแสดงพฤติกรรมรุนแรงได้ ตั้งแต่ช่วงอายุ 1 ขวบ เป็นต้นไป แต่ก็สามารถจำแนกความเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์ ที่เป็นอันตรายเบื้องต้นได้ ดังนี้

  • หยิก
  • ดึงผม
  • ฉุดกระชาก
  • ดื้อมากไม่ฟังใคร
  • ขว้างปาข้าวของ
  • โมโหร้าย อาละวาด
  • ชักดิ้นชักงอ
  • ร้องไห้นานเป็นชั่วโมง
  • ตบหน้าพ่อแม่หรือทำร้ายคนเลี้ยงดู เช่น พี่เลี้ยง
  • ทุบตีหรือทำร้ายเพื่อนที่โรงเรียนและผู้อื่น



วิธีสังเกตว่าลูกอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่ายหรือไม่

1. สังเกตความร่าเริง

พ่อแม่อาจจะต้องหมั่นสังเกตว่า ลูกเรามีความร่าเริงลดลงหรือไม่ ดูจากการที่ลูกอาจไม่ยิ้มแย้ม เริ่มไม่ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ ทำสิ่งเหล่านี้ลดลง เพราะสิ่งเหล่านี้อาจนำพาไปสู่พฤติกรรมก้าวร้าวหรืออารมณ์รุนแรงได้

2. สังเกตการควบคุมอารมณ์

อาการแรกเริ่มของเด็กอารมณ์แปรปรวนง่าย บางครั้งก็มาจากอารมณ์ของตัวเด็กเอง คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตว่า ลูกโมโหร้ายหรือโกรธง่ายขึ้นหรือไม่ การแสดงอารมณ์ของลูกเปลี่ยนไปหรือเปล่า หากกิจกรรมของตัวเองที่ยังไม่สมบูรณ์ แล้วมีการแสดงอาการหงุดหงิด หรือแสดงอารมณ์รุนแรงบ้างไหม

3. สังเกตการเก็บตัว

พ่อแม่อาจจะต้องดูว่า ลูกยังชอบเล่นกับผู้คนหรือเปล่า หรือชอบในการอยู่คนเดียวมากกว่า มีการพูดคุยน้อยลงมั้ย หรือว่าไม่สนใจของเล่นเดิม เริ่มเล่นคนเดียวและอยากอยู่เงียบ ๆ มากกว่าคุยกับคนอื่น อาจจะเป็นหนึ่งในสาเหตุที่อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่ายก็ได้

ลูกอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย



นอกจากนี้แล้ว การรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์ของลูก อาจจะต้องดูสิ่งเหล่านี้ประกอบ ว่าลูกของเรายังสามารถรับมือได้หรือไม่ เช่น หากลูกอารมณ์รุนแรง แต่พ่อแม่ยังดุ ปลอบ หรือสอนให้อารมณ์ดีได้ เท่ากับว่าเด็กคนดังกล่าวยังสามารถรับมือได้ ยังไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ แต่ถ้าหากลูกมีอาการที่รุนแรงขึ้น ไม่สามารถทนฟังได้ ทำร้ายพ่อแม่หรือคนใกล้ตัว เช่น กัดและหยิกจนเป็นแผล อาจจะต้องพาลูกไปพบผู้เชี่ยวชาญ เพื่อหาทางรักษาต่อไป

วิธีการรักษา หากลูกเป็นไบโพลาร์

หากผู้ปกครองไม่สามารถรับมือได้ วิธีการรักษาที่ดีที่สุด คือการปรึกษาจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธี ประกอบด้วย

  • ซักประวัติ : ตรวจความปกติทางอารมณ์ และพฤติกรรมของเด็กและพ่อแม่ผู้ปกครอง หากสิ่งแวดล้อมโดยรอบมีความสงบเป็นปกติ แต่เด็กโกรธรุนแรงจนผิดสังเกต ควรพิจารณาโรคของเด็กเพื่อหาสาเหตุ
  • การปรับเปลี่ยนร่วมกับสมาชิกในครอบครัว : การรู้จุดแข็ง จุดอ่อน จุดเปราะบางของลูก และพร้อมเปิดใจที่จะปรับเปลี่ยนไปพร้อมกัน ภายใต้คำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดไปพร้อมกันทั้งครอบครัว
  • รับประทานยา : หากอาการกความโกรธของเด็กนั้นยังไม่ดีขึ้น การทานยาอาจช่วยให้อาการของเด็กดีขึ้นได้ 70-80% เว้นแต่พ่อแม่ผู้ปกครองจะมีอารมณ์และพฤติกรรมที่ส่งผลให้เด็กขาดกำลังใจ ผลของยาจะเหลือไม่ถึง 40%



การที่ลูกน้อยจะมีอารมณ์โกรธ หรือมีความแปรปรวนแค่ไหน ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย ได้แก่ ตัวเด็กเองและการเลี้ยงดูของครอบครัว อารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงของเด็ก สามารถเกิดขึ้นได้เป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะเด็กเล็ก ที่อยู่ในช่วงของการเรียนรู้ คุณพ่อคุณแม่ควรที่จะต้องเรียนรู้วิธีการแก้ไขพฤติกรรมดังกล่าวให้ถูกต้อง การสอนให้ลูกรู้จักกับความโกรธ และสามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ เป็นเรื่องที่ควรอธิบายและให้เหตุผลไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งเขารู้ว่าสิ่งไหนที่ทำได้ สิ่งไหนที่ไม่ควรทำ สิ่งไหนเหมาะสมและสิ่งไหนที่ไม่เหมาะสม ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลา เพราะเรากำลังพัฒนาสมองส่วนหน้า ที่ควบคุมการใช้เหตุผล

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

5 วิธีแก้ลูกติดแม่ ไปไหนลำบาก เพราะลูกงอแงเกินควบคุม

ระวังพฤติกรรมเลียนแบบในเด็ก เรื่องเล็กน้อยของพ่อแม่ แต่ลูกไม่ลืม

ทำไมลูกถึงชอบปีนป่าย ลูกอย่าไม่นิ่งควรทำอย่างไร ลูกจะชอบปีนป่ายเมื่อไหร่

ที่มา : 1