6 วิธี ฝึกลูกตั้งไข่ อย่างไรให้ปลอดภัย สมพัฒนาการที่ดี

ก้าวแรกของพัฒนาการจุดเริ่มต้นของการหัดเดินอย่างมีประสิทธิภาพ คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยฝึกลูกตั้งไข่ เพื่อให้การทรงตัวในช่วงฝึกเดินดีขึ้น ห 

 1524 views

ก้าวแรกของพัฒนาการจุดเริ่มต้นของการหัดเดินอย่างมีประสิทธิภาพ คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยฝึกลูกตั้งไข่ เพื่อให้การทรงตัวในช่วงฝึกเดินดีขึ้น หากลูกมีปัญหาเดินยาก ลุกยาก คุณพ่อคุณแม่ต้องช่วยให้ลูกผ่านพ้นปัญหานี้ และวิธีที่ฝึกลูกภายใต้ความปลอดภัย

ลูกตั้งไข่ คืออะไร พัฒนาการนี้เริ่มตอนไหน

การตั้งไข่ของทารกนั้นจะเริ่มเกิดขึ้นในช่วงอายุประมาณ 9 – 11 เดือน (ช่วงปีแรก) โดยจะเป็นลักษณะท่าทางการเคลื่อนไหวของทารก ที่จะก้มโค้งงอตัวเอง ลักษณะคล้ายการคลาน หรือพยายามจะลุกเดินจากการนั่งนั่นเอง โดยการเคลื่อนไหวของทารกแบบนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของการฝึกยืน เนื่องจากทารกที่สามารถทำได้จะเริ่มหาวัตถุเกาะเพื่อทรงตัว และเริ่มหัดเดินในช่วงแรกตามพัฒนาการต่อไป หากทารกไม่สามารถทำได้ จะทำให้มีพัฒนาการหัดเดินช้ากว่าปกติได้ อย่างไรก็ตามปัญหาทารกที่ไม่สามารถทำได้นี้ คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยได้ ด้วยการส่งเสริมให้ทารกสามารถฝึกทำตัวกลมคล้ายไข่ได้ดีขึ้น

ทารกตั้งไข่ส่งเสริมพัฒนาการได้อย่างไรบ้าง ?

เมื่อทารกเริ่มหัดทำตัวกลม ยืด ลุก จะทำให้ร่างกายของทารกได้ใช้มัดกล้ามเนื้อที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการหัดยืนมากขึ้น ทารกจะเรียนรู้จากประสบการณ์เมื่อล้มลง และมีความเคยชินในการเคลื่อนไหวมากขึ้นตามลำดับ จากการคลานสู่การเดินเพียง 2 ขา โดยเริ่มจากการหาที่เกาะก่อน เช่น เกาะตามผนัง หรือเฟอร์นิเจอร์ จากนั้นจะพัฒนาเป็นการค่อย ๆ เดินได้ด้วยตนเอง ระหว่างนั้นทารกอาจล้มบ้าง ซึ่งเป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ ที่จะป้องกันทารกไม่ให้ได้รับอันตราย เนื่องจากผลการวิจัยจากในประเทศสิงคโปร์บอกไว้ว่า ทารกในช่วงนี้มีโอกาสมากถึง 90 % ที่จะได้รับบาดเจ็บขณะฝึกนั่ง ฝึกยืน หรือฝึกเดิน จากลักษณะพื้นที่ไม่เหมาะสม

บทความที่เกี่ยวข้อง : ฝึกลูกคลาน ตอนไหนดี ? เคล็ดลับง่าย ๆ ที่ทำตามได้ไม่ยาก

วิดีโอจาก : PRAEW


6 วิธีช่วยฝึกลูกตั้งไข่ได้สะดวก ปลอดภัยมากขึ้น

ผู้ปกครองสามารถช่วยเหลือให้ทารกน้อย สามารถฝึกยืน ฝึกเดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ทารกสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างเหมาะสม และปลอดภัย ดังนี้

1. สิ่งแวดล้อมต้องมีความเหมาะสม

สิ่งแรกที่ต้องมาก่อนการฝึก คือ การจัดการสิ่งแวดล้อม ให้มีความเหมาะสมต่อการเคลื่อนไหวของทารก โดยยึดหลักการใช้ประโยชน์ และความปลอดภัยต่อตัวของทารก เช่น อาจใช้คอก หรือรั้วกั้นที่เป็นซี่ ๆ ช่วยให้ทารกจับพยุงตัวเองในการฝึกยืน และฝึกเดิน, วางแผ่นรองพื้นในพื้นที่ของทารก เนื่องจากทารกต้องใช้เวลาในการหัดยืน อาจล้มลงจนเกิดอันตรายได้ และการระมัดระวังข้าวของ หรือเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ที่เป็นของแข็ง หรือมีส่วนมีคมที่อาจทำอันตรายต่อทารกได้ ควรเก็บให้ห่างจากทารก หรือทำให้พื้นที่การฝึกว่างเปล่ามากที่สุดได้ยิ่งดี

2. เท้าเปล่าสำคัญมากต่อพัฒนาการ

ถึงแม้จะจัดคอก หรือรั้วกั้นพื้นที่สำหรับให้ทารกฝึก แต่การฝึกที่ดีที่สุดวิธีหนึ่ง คือ การฝึกให้ลูกลองยืน หรือเดินด้วยเท้าเปล่า พยายามทรงตัวด้วยตนเอง โดยไม่ต้องพยายามพิงสิ่งใด การฝึกวิธีนี้ สามารถทำได้ด้วยการช่วยเหลือจากผู้ปกครอง คุณพ่อคุณแม่ควรคอยดูแลทารกเมื่อฝึกด้วยวิธีนี้ คอยให้กำลังใจ และไม่กดดันทารก การเดินด้วยเท้าเปล่าของทารก จะทำให้ทารกเกิดการสัมผัสกับพื้น จนเกิดความเคยชิน ส่งผลต่อประสาทสัมผัสในการเดิน ในภาพพื้นที่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงไม่ควรใส่รองเท้า หรือใส่ถึงเท้าหัดยืน หรือหัดเดิน

3. เลี่ยงรถหัดเดินเพราะส่งผลเสียต่อท่าเดินทารก

ผู้ปกครองบางบ้านอาจคิดว่าในช่วงนี้ การให้ลูกหัดยืน ด้วยการใช้รถหัดเดิน จะช่วยให้ลูกมีพัฒนาการด้านนี้ไวมากขึ้น แต่การกระทำแบบนี้นั้นผิด เนื่องจากการใช้รถหัดเดิน มีผลวิจัยจากประเทศสิงค์โป บ่งบอกว่าเด็กทารกที่ใช้รถหัดเดินจะมีพัฒนาการช้ากว่าปกติประมาณ 4 – 6 สัปดาห์ และยังส่งผลต่อท่าเดินของเด็กที่ดูผิดคุณลักษณะ เนื่องจากที่นั่งรถจะต้องจิกเท้าลงพื้นขณะหัดยืน หรือหัดเดิน ต่างจากทารกทั่วไปที่หัดยืน หัดเดินด้วยการใช้เท้าเหยียบพื้นเต็มใบ

ฝึกลูกตั้งไข่


4. ใช้สิ่งเร้าที่ทารกชอบ

ปกติทารกจะมีของเล่น หรือสิ่งของใด ๆ ที่ชอบอยู่แล้ว การใช้สิ่งของเหล่านี้สามารถกระตุ้นการเคลื่อนไหวของทารกได้เป็นอย่างดี เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ด้วยการนำของเล่นชิ้นนั้นไปวางยังพื้นที่ต่าง ๆ ที่ทารกมองเห็น โดยทารกจะพยายามไปหาของสิ่งนั้นด้วยตนเอง เช่น วางเอาไว้บนโซฟา เพื่อให้ลูกมาเกาะมาปีน (โซฟาไม่มีส่วนแหลมคม และพื้นที่ปลอดภัยมีแผ่นรองรับ) หรือจะใช้เสียงเพลงช่วยให้ทารกอยากเต้นก็ได้เช่นกัน เมื่อทารกพยายามลุกเต้น ถือเป็นการฝึกไปในตัวด้วย

5. หัดเดินด้วยตนเองได้ยิ่งดี

ผู้ปกครองสามารถช่วยทารกได้ด้วยการเฝ้าดูอยู่ห่าง ๆ และเข้าไปช่วยพยุงลูกเมื่อล้มลงได้ หรือช่วยจูงมือทรงตัวบ้าง แต่การให้ลูกฝึกดีที่สุดวิธีหนึ่ง ที่จะทำให้ทารกลุกยืนได้ด้วยตนเอง คือ การให้ลูกฝึกเดินเอง การที่ทารกล้มลง แล้วพยายามลุกขึ้นมาใหม่จะเกิดการเรียนรู้ขึ้นได้มากขึ้น และไม่ควรพยุงเด็กและบังคับเดิน ทั้ง ๆ ที่เด็กทารกยังไม่มีความพร้อม จะยิ่งทำให้ทารกมีพัฒนาการช้าลง

6. อย่าเปรียบเทียบทารกด้วยกันเอง

สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องทำความเข้าใจ คือ เด็กแต่ละคนมีพัฒนาการช้า, เร็ว และพอดีแตกต่างกัน การที่ทารกอื่น สามารถยืน หรือเดินได้แล้วในเวลานั้นแม้มีอายุเท่ากัน ไม่ได้หมายความว่าลูกน้อยของเราจะต้องทำได้ในแบบเดียวกัน พัฒนาการนั้นขึ้นอยู่กับทารกแต่ละคน ไม่ควรเปรียบเทียบ นำมากดดันตนเอง หรือทารกเด็ดขาด ทำได้เพียงพยายามส่งเสริมทารกได้เท่านั้น อย่างไรก็ตามหากผู้ปกครองมีความเห็นว่าทารกมีพัฒนาการที่ช้ามากจนเกินไป ก็สามารถพาลูกน้อยไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจ และรับคำแนะนำได้

ฝึกลูกตั้งไข่ได้ผลมากหรือน้อยนั้น โดยหลักแล้วขึ้นอยู่กับตัวของทารกเอง ไม่ควรเร่งรัดเขา การส่งเสริม การให้กำลังใจ และทำให้การฝึกสนุก เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สามารถทำเพื่อลูกน้อยได้ เป็นการส่งเสริมอย่างมีประสิทธิภาพ และดีที่สุดแล้ว

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

แปรงฟันให้ลูก เริ่มได้ตอนไหน ? ฟันน้ำนมใครว่าไม่สำคัญ

การกระโดด มีประโยชน์อย่างไรต่อลูกน้อย ลูกน้อยควรเริ่มกระโดดเมื่อไหร่ ?

ระวังพฤติกรรมเลียนแบบในเด็ก เรื่องเล็กน้อยของพ่อแม่ แต่ลูกไม่ลืม

ที่มา : 1, 2, 3