ผู้ปกครองงงไหม ลูกบอกว่าโตไปจะต้องเป็นนักกีฬาอีสปอร์ตให้ได้ ใคร ๆ ก็รู้ว่านักกีฬา คืออะไร แต่ไม่เข้าใจว่า อีสปอร์ต คืออะไร กีฬานี้เพิ่งได้รับการยอมรับได้ไม่นานในไทย และเป็นกีฬาแบบใหม่ ไม่แปลกที่จะมีคนไม่รู้จัก วันนี้เราจะอธิบายให้ฟังเองดีกว่าในบทความนี้
อีสปอร์ต คืออะไร
สำหรับ “อีสปอร์ต (E-sports)” คือ กีฬาประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นมาใหม่ ซึ่งเป็นการแข่งขันกันด้วยการใช้เกมนั่นเอง หรือเรียกง่าย ๆ ว่า “เล่นเกมแข่งกัน” มีทั้งแบบเดี่ยว และแบบทีม มีแข่งในนามทีมชาติเหมือนกับกีฬาชนิดอื่น ๆ ที่เราเห็นกันตามทีวี จริง ๆ แล้วกีฬาอีสปอร์ตเกิดขึ้นมาพักใหญ่แล้ว และเป็นที่ยอมรับในสากล โดยเฉพาะต่างประเทศทั้งยุโรป และเอเชีย เพียงแต่ว่าประเทศไทย เพิ่งมีการยอมรับกีฬานี้ และเพิ่งได้รับความนิยมเมื่อไม่นานมานี้เอง เพราะในอดีตชาวไทยกลุ่มหนึ่งมองว่าเกมเป็นสิ่งไม่ดี ทำให้กีฬาประเภทนี้ถูกต่อต้านในประเทศไทยพอสมควรในช่วงแรก
กีฬาประเภทนี้หากไม่วัดกันที่เอาเกมต่าง ๆ มาแข่งขัน ยังนับว่าเป็นอาชีพหลักได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งมีความคล้ายกับ YouTuber หรือ Streamer เพียงแต่ว่าการเป็นนักกีฬาอีสปอร์ตจะเข้าถึงได้ยากกว่ามาก และต้องใช้ความพยายามสูง รวมไปถึงการแข่งขันที่มากกว่าหลายเท่า มีคนจำนวนมากอยากเป็นนักกีฬาอีสปอร์ต ทั้งที่ในความจริงแล้วจำนวนนักกีฬาชนิดนี้มีพื้นที่ไม่มากพอที่จะทำให้ทุกคนสามารถเป็นได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : 5 เกมมือถือสำหรับเด็ก ได้ความรู้ และความคิดสร้างสรรค์
วิดีโอจาก : We Mahidol
ทำไมนักกีฬาอีสปอร์ตจึงเป็นได้ยาก ?
ตามที่เราได้กล่าวไปว่าการเป็นนักกีฬาอีสปอร์ตทำได้ยาก เพราะการแข่งขันสูงมาก ผู้ปกครองต้องมองภาพอีสปอร์ตว่าเป็นกีฬา คือ การที่จะแข่งได้ต้องเป็นคนที่ถูกจัดว่าเก่งในเกมนั้น ๆ จึงไม่ใช่ทุกคนที่จะไปได้แข่ง นักแข่งบางคนก็เคยลงแข่งแต่เมื่อแพ้บ่อย ๆ หรือทำผลงานไม่ดี ก็อาจหายหน้าหายตาไปจากวงการกีฬาประเภทนี้ได้ง่าย ๆ เหมือนกัน หรือให้มองว่าการแข่งขันโอลิมปิก ต้องใช้ตัวแทนทีมชาติไทยไปแข่ง ไม่ใช่ใครก็ได้ไปแข่ง นักกีฬาอีสปอร์ตก็เช่นเดียวกัน จะต้องมีการคัดเลือกคนที่เป็นตัวแทนของประเทศ หรือภูมิภาคต่าง ๆ จากจำนวนหลายร้อย หลายพัน สุดท้ายก็หาคนที่เหมาะสมเพียงไม่กี่คนไปลงแข่งเท่านั้น ดังนั้นหากลูกอยากเป็นนักกีฬาอีสปอร์ตคงไม่ใช่เรื่องง่ายแน่นอน
นักกีฬาอีสปอร์ตเป็นอาชีพหลักได้อย่างไร ?
นอกจากการไปแข่งขันเพื่อชิงเงินรางวัลแล้ว หากไม่ได้อยู่ในช่วงการแข่งขัน ผู้ปกครองอาจงงว่าจะมีรายได้มาจากทางไหนได้บ้าง เช่น หากลงแข่งขันปีละ 3 ครั้งตามรายการต่าง ๆ แล้วเวลาที่เหลือจะเอาเงินที่ไหนมาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ถ้าแข่งแพ้ก็ไม่มีรายได้อะไรเลยหรือไม่ ? ความจริงแล้วนักกีฬาอีสปอร์ตก็คล้ายกับการเป็นดารา ต้องมั่นใจในตนเอง ที่ไม่ใช่ทุกคนจะเป็นได้ นักกีฬาอีสปอร์ตจึงมักมีคนคอยติดตาม มีชื่อเสียงที่ใช้ในการหารายได้ และแน่นอนว่ามีต้นสังกัดด้วยเช่นกัน แม้ไม่ได้ลงแข่งทางต้นสังกัดก็มีเงินเดือนให้ ซึ่งเงินเดือนเหล่านั้นก็มาจากสปอนเซอร์ หรือการทำธุรกิจต่าง ๆ ของต้นสังกัด ไปจนถึงการแบ่งรายได้จากการออกงาน หรือโฆษณาที่นักกีฬาอีสปอร์ตในสังกัดรับมา เป็นต้น
โดยรายได้ที่เป็นเงินเดือนนั้น โดยปกติแล้วจะแลกกับการที่ต้องฝึกซ้อมอย่างหนัก และจริงจังกับการฝึกซ้อม ทำให้นักกีฬาอีสปอร์ตใช้เวลาส่วนมากในการเล่นเกม แต่ไม่ได้เล่นเพื่อความสนุกเพียงอย่างเดียว เพราะมีความกดดันรวมอยู่ด้วยนั่นเอง นอกจากนี้ด้วยความมีชื่อเสียง และมีคนรู้จักมาก เพราะนักกีฬาอีสปอร์ตไม่ได้มีมากมาย ทำให้นักกีฬาอีสปอร์ตหลายคนมีอาชีพอื่น ๆ ตามมา ซึ่งมักเป็นอาชีพทางสื่อออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับเกม เช่น การเป็น YouTuber ลงวิดีโอเล่นเกม หรือเป็น Streamer ทำการ Live เล่นเกมไปด้วยนั่นเอง
ไม่ใช่ทุกเกมที่ลูกเล่นจะเป็นกีฬาอีสปอร์ต
เนื่องจากกีฬาชนิดนี้ใช้การแข่งขันผ่านเกม แต่เกมที่มีอยู่บนโลกนี้นั้นมีมากมายเหลือเกิน และเกณฑ์อะไรที่จะกำหนดว่าเกมนั้น เกมนี้เป็นเกมที่ใช้ในการแข่งกีฬาอีสปอร์ต คำตอบคือ เกมที่จะถูกเลือกมาแข่งนั้น ขึ้นอยู่กับรายการการแข่งขันว่าจะบรรจุเกมไหนลงไปบ้าง ซึ่งอาจเป็นทั้งเกมที่ลูกน้อยชอบเล่น หรืออาจเป็นเกมอื่น ๆ ก็ได้ อย่างไรก็ตามเกมดัง ๆ ระดับโลกหลายเกมก็มักจัดการแข่งขันของตนเอง และมีมูลค่าทางการตลาดสูงมาก เงินรางวัลหลายรายการอาจมากไปถึงหลักล้านบาท ตัวอย่างเช่น เกม League of Legends, Rov, Fortnite, Counter-Strike: Global Offensive, Dota 2 หรือ FIFA Online 4 เป็นต้น
รายชื่อเกมที่เรายกตัวอย่างมา โดยทั่วไปไม่เหมาะกับเด็กเล็กแน่นอน เพราะเกมเหล่านี้มีความยากในการเล่น และส่วนมากจะเป็นเกมที่มีระบบออนไลน์ คือ ระบบที่ทำให้เราสามารถเจอกับคนอื่นได้ ทำให้เด็ก ๆ อาจไม่เหมาะกับเกมเหล่านี้ หากไม่ได้รับการดูแล หรือให้คำแนะนำจากผู้ปกครอง เพราะการไปเจอคนมากหน้าหลายตาในเกม หลายคนมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ซึ่งอาจกลายมาเป็นเพื่อนของลูกผ่านเกม ทำให้ลูกเลียนแบบพฤติกรรมที่ไม่ดีตามมานั่นเอง
ทำอย่างไรถ้าลูกอยากเป็นนักกีฬาอีสปอร์ต ?
การที่ลูกรักอยากทำอาชีพนี้ไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่สิ่งที่สำคัญคือ การพูดคุยกับลูก เพื่อสร้างความเข้าใจถึงความโหดร้ายของวงการอาชีพนี้ที่เปรียบได้กับวงการบันเทิง คือ มีคนอยากทำอาชีพนี้หลายล้านคน จนสุดท้ายอาจมีไม่ถึง 100 คนที่ประสบความสำเร็จได้ ยิ่งมองในฐานะนักกีฬาการแข่งขันกันเองยิ่งสูง ผู้ปกครองสามารถส่งเสริมลูกได้ด้วยการสนับสนุนอุปกรณ์ หรือซื้อเกมที่ลูกชอบแล้วให้เวลาในการฝึกฝน แต่ก็ต้องอยู่ในอายุที่เหมาะสมด้วย ประกอบกับให้ลูกพยายามทำตามฝัน หากมีความจริงจัง แต่ก็ไม่ควรทิ้งเรื่องการเรียน ระวังการมีโลกส่วนตัวสูงจากการอยู่หน้าจอ และให้มองอาชีพอื่น ๆ เป็นทางเลือกเพิ่มเติมด้วย เพื่อป้องกันความเสี่ยงในอนาคตหากยังไม่ประสบความสำเร็จนั่นเอง
ผู้ปกครองคงเข้าใจแล้วว่า อีสปอร์ต คืออะไร หากลูกอยากเป็นต้องรับมือให้ดี ลูกต้องรู้ถึงความเสี่ยงที่อาจต้องผิดหวังในอนาคต อาจไม่เป็นดั่งฝัน ผู้ปกครองต้องคอยให้คำแนะนำที่เหมาะสม และอยู่กับลูกตลอดทั้งในวันที่ล้มเหลว และประสบความสำเร็จ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
เกมเศรษฐี (Monopoly) ทางเลือกสำหรับเด็ก เรียนรู้การจัดการเรื่องเงิน
มวยปล้ำ การแสดงเพื่อความบันเทิงเด็ก ๆ ชอบ แต่พ่อแม่ต้องระวัง