คุณแม่ตั้งครรภ์ 28 สัปดาห์ เป็นช่วงที่กำลังเข้าสู่ท้องแก่อย่างเป็นทางการ ทารกที่มีพัฒนาการทางระบบประสาท และสมอง รวมถึงการมองเห็นที่มากขึ้น ประกอบกับครรภ์ที่ใหญ่ขึ้น ทำให้คุณแม่ต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงให้ดี เพื่อไม่ให้เป็นอันตราย ในอายุครรภ์นี้ มีอะไรที่สำคัญ ที่คุณแม่จะต้องรู้บ้าง มาอ่านในบทความนี้ได้เลย
แม่ท้องกับการตั้งครรภ์ 28 สัปดาห์
ในช่วงของครรภ์ 28 สัปดาห์ เป็นสัปดาห์สุดท้ายของครรภ์ในไตรมาสทรี่ 2 ทำให้สุขภาพครรภ์ของคุณแม่ท้องในภาพรวมจะเข้าสู่ครรภ์แก่แล้ว แน่นอนว่าขนาดของครรภ์จะใหญ่ขึ้นมาก หากไม่ปรับตัวให้ดีจะทำให้มีอาการล้า เหนื่อยง่าย, ปวดหลัง หรือหลับยาก ตื่นบ่อย ทำให้ต้องนอนมากขึ้น ซึ่งขนาดของครรภ์ที่ใหญ่ขึ้น เป็นการบ่งบอกว่าทารกในครรภ์มีพัฒนาการ ไปพร้อม ๆ กันด้วย ถือว่าเป็นเรื่องปกติ ในช่วงนี้คุณแม่ควรดูแลครรภ์ให้ดี ทานอาหารที่มีประโยชน์ และไปพบแพทย์ตามนัดหมายจากการฝากครรภ์ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนอันตรายต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัว
บทความที่เกี่ยวข้อง : ครรภ์ 37 สัปดาห์ ช่วงแรกของกำหนดคลอด มีอะไรที่สำคัญบ้าง ?
วิดีโอจาก : Messy Kids At Home
พัฒนาการของทารกครรภ์ 28 สัปดาห์
ในช่วงของอายุครรภ์ในตอนนี้จะเป็นสัปดาห์สุดท้ายของครรภ์ไตรมาสที่ 2 คือ ในช่วงสัปดาห์ที่ 15 – 28 สัปดาห์ เมื่อผ่านสัปดาห์ที่ 28 เข้าสู่สัปดาห์ที่ 29 นั้นจะเป็นไตรมาสที่ 3 แล้ว ดังนั้นในช่วงนี้ทารกในครรภ์จะมีพัฒนาด้านระบบสมอง และระบบประสาทที่มากขึ้น รวมถึงการเตะท้องก็จะชัดเจนขึ้นด้วย ดังนี้
- น้ำหนักของทารกในครรภ์จะเพิ่มขึ้น เป็นไปตามขนาดของหน้าท้องคุณแม่ที่ใหญ่ขึ้น โดยทารกจะใหญ่ขึ้นมาอีกประมาณ 2 – 3 ขีด ลำตัวยาวอยู่ในช่วงประมาณ 13 – 14 นิ้ว และหนักประมาณ 990 กรัม
- ทารกในครรภ์จะพักผ่อนมากขึ้น โดยจะเริ่มมีช่วงเวลาในการนอนนานขึ้นครั้งละประมาณ 20 – 30 นาที
- ในส่วนของระบบประสาทของทารก จะพัฒนาไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น ส่งผลให้สมองจะโตขึ้น จนมีขนาดเต็มกะโหลกศีรษะ รวมถึงมีรอยหยักบนพื้นผิวสมองมากขึ้นด้วย การพัฒนาในด้านนี้บ่งบอกว่าลูกพร้อมต่อการจดจำมากขึ้นไปด้วยในอนาคต
- ทารกในครรภ์สามารถสื่อสารถึงความต้องการ และความรู้สึกต่าง ๆ ของตนเองให้คุณแม่รับรู้ได้ ด้วยการดิ้น และเตะซึ่งคุณแม่จะรู้สึกได้ชัดเจนมากขึ้นกว่าช่วงไตรมาสแรก
- ในช่วงของการตั้งครรภ์ 28 สัปดาห์นั้น เซลล์สมอง และวงจรของระบบประสาทในทารก จะประสานกันอย่างสมบูรณ์มากขึ้น โดยระบบประสาทที่เกี่ยวกับการมองเห็นเริ่มทำงานได้แล้ว ทำให้ทารกน้อยเริ่มมองเห็นแสงได้
- ในส่วนของเส้นผมของทารกกำลังงอกขึ้นมา ความชัดเจนของเส้นผมที่สามารถสังเกตได้ จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับทารกแต่ละคน และลักษณะทางพันธุกรรมด้วย
- ถุงลมปอดของทารกถูกสร้างขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นการเตรียมพร้อม สำหรับการหายใจหลังจากคลอดในปลายไตรมาสสุดท้ายที่กำลังจะมาถึง
อาการของคุณแม่ในช่วงนี้จะเป็นอย่างไรบ้าง ?
สำหรับอาการของคุณแม่ ในภาพรวมจะเป็นอาการต่อเนื่องจากช่วงก่อน ๆ แต่อาการที่เด่นชัด และอาจเป็นกันได้ทุกรายนั่นคือ ผลกระทบจากที่ขนาดของมดลูกใหญ่ขึ้น จนเกิดการกดทับระบบย่อยอาหาร หรือระบบปัสสาวะ ทำให้เสี่ยงภาวะต่าง ๆ และขนาดมดลูกที่ส่งผลต่อการนอนหลับ ได้แก่
- คุณแม่ท้องหลายคนอาจเริ่มมีอาการปวดขา หรือมีอาการบวมตามมือตามเท้า รวมไปถึงมีอาการปวดหลังร้าวลงมาถึงที่ขา เนื่องจากน้ำหนักตัวที่เพิ่มมากขึ้น จากทั้งการทานอาหารที่อาจไม่สามารถควบคุมได้ หรือเป็นน้ำหนักที่เกิดจากขนาดของครรภ์ เป็นต้น
- อาการต่าง ๆ ที่เกิดจากการแพ้ท้องหลายอาการจะยังคงเห็นได้อยู่ โดยเฉพาะอาการที่เกี่ยวกับอารมณ์ ทำให้มีอารมณ์แปรปรวน, หงุดหงิด และอารมณ์เสียง่าย เป็นต้น
- แม่ท้องในช่วงนี้จะนอนหลับได้ยากมากขึ้น จะรู้สึกไม่สบายเวลานอน ส่งผลให้แม่ท้องมักง่วงบ่อยในตอนกลางวัน เพราะกลางคืนนอนน้อย แนะนำให้คุณแม่นอนตะแคง หรือมีหมอนมาช่วยหนุนด้วย เพราะจะไม่ทำให้มดลูกกดเลือดในท้องนั่นเอง
- อาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการท้องผูกได้บ่อยมากขึ้น จากการกดทับลำไส้ และระบบย่อยอาหาร จากการที่มดลูกมีขนาดใหญ่ อาจถึงขึ้นเป็นโรคริดสีดวง นอกจากนี้ยังส่งผลต่อการกดทับระบบปัสสาวะได้ด้วย ทำให้คุณแม่อาจปัสสาวะบ่อยขึ้นด้วย
- ในช่วงนี้คุณแม่บางคนอาจประสบกับปัญหาผิวหนังมีรอยแตกลาย โดยเฉพาะบริเวณหน้าท้อง เพราะท้องขยายใหญ่มากขึ้น มักจะเห็นเป็นรอยแดงมองชัดเจน อาจใช้เวลาเป็นปีกว่ารอยจะจางหายไป สามารถบรรเทารอยได้ด้วยการใช้ครีมทาหน้าท้อง หรือครีมลดรอยแตกลาย เป็นต้น
บทความที่เกี่ยวข้อง : ตั้งครรภ์ 42 สัปดาห์ ครรภ์เกินกำหนด ทำอย่างไรดี ?
ควรดูแลครรภ์ 28 สัปดาห์อย่างไรดี ?
ในช่วงนี้คุณแม่ที่กำลังจะเข้าสู่ครรภ์ไตรมาสสุดท้ายจะเกิดความสัมพันธ์ต่อทารกในครรภ์ ซึ่งคนอื่นอาจไม่เข้าใจ หรือไม่สามารถรับรู้ได้ สำหรับคนรอบตัวที่เห็นว่าหน้าท้องของคุณแม่มีขนาดใหญ่ขึ้น ก็มักจะมีคนขอเข้ามาจับ หรือขอเข้ามาลองแตะ ๆ ดู ทำให้อาจเกิดความรำคาญขึ้นได้ หากคุณแม่ไม่ค่อยพอใจสามารถปฏิเสธไปได้เลยตรง ๆ อย่างสุภาพ ในด้านของคนรอบตัวก็ต้องระมัดระวังในเรื่องนี้ด้วย ในช่วงนี้คุณแม่ต้องให้ความสำคัญของคุณประโยชน์จากมื้ออาหาร ดื่มน้ำเปล่าสะอาดให้มากขึ้น และทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ไม่ลืมผักผลไม้ ควรแบ่งทานเป็นมื้อย่อย ๆ มากกว่าทานมื้อใหญ่ทั้งหมด
ในส่วนของขนาดครรภ์ที่ใหญ่ขึ้น ทำให้คุณแม่ต้องระมัดระวังการทำกิจกรรมต่าง ๆ ตามไปด้วย ไม่ควรทำอะไรเร็วเกินไป เพราะจะทำให้เกิดอาการบาดเจ็บได้ คุณแม่สามารถเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกายได้ ด้วยการออกกำลังกายอย่างง่าย ๆ ที่เหมาะกับคนท้อง เช่น การเล่นโยคะ เป็นต้น หรือปรึกษากับแพทย์เกี่ยวกับกีฬาที่เหมาะกับตนเองก็ได้
การดูแลครรภ์นั้นสำคัญมาก หากพบความผิดปกติ หรือมีอาการปวดท้อง เจ็บท้องรุนแรง ควรรีบเข้าพบแพทย์ไว้ก่อน ไม่ควรรีรอ ดังนั้นแม่ท้องจึงไม่ควรอยู่คนเดียว หรือควรพกเครื่องมือสื่อสารติดตัว ไปจนถึงการเลือกสถานพยาบาลฝากครรภ์ที่ใกล้กับที่พักอาศัยด้วย
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ตั้งครรภ์ 29 สัปดาห์ พัฒนาการทารกในครรภ์ ไตรมาสที่ 3
ตั้งครรภ์ 30 สัปดาห์ พัฒนาการทารกในครรภ์เป็นอย่างไรบ้าง ?
อาการท้อง 9 เดือน ที่สำคัญมีอะไรบ้าง ? และการฝึกหายใจเตรียมคลอด