ท้อง5เดือน อาการแม่ท้อง สิ่งที่คุณแม่ต้องเผชิญ และวิธีการรับมือ

การตั้งท้อง 5 เดือน หรือช่วงอายุครรภ์ประมาณ 21-24 สัปดาห์ เป็นอีกช่วงเวลาหนึ่งที่สร้างความตื่นเต้นให้กับว่าที่คุณแม่หลังจากที่อาจเพิ่งทราบเพศ 

 1912 views

การตั้งท้อง 5 เดือน หรือช่วงอายุครรภ์ประมาณ 21-24 สัปดาห์ เป็นอีกช่วงเวลาหนึ่งที่สร้างความตื่นเต้นให้กับว่าที่คุณแม่หลังจากที่อาจเพิ่งทราบเพศของลูกน้อย โดยช่วงที่ ท้อง5เดือน ครรภ์ของคุณแม่ก็ยังคงมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งพัฒนาการของทารกในครรภ์ และร่างกายของคุณแม่เอง ดังนี้

อาการแม่ท้องที่ต้องเจอ

เจ็บท้องหลอก

แม้มักเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ แต่ก็อาจเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 หรือช่วงที่ท้อง 5 เดือนได้เช่นกัน โดยมีอาการคล้ายปวดประจำเดือน ปวดบีบแบบไม่สม่ำเสมอซึ่งเกิดขึ้นในระยะเวลาสั้น ๆ และอาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัวบ้าง แต่ไม่ได้เป็นสาเหตุทำให้ปากมดลูกเปิดเหมือนเจ็บคลอดจริง

ปวดหลัง

การตั้งครรภ์ทำให้กระดูกสันหลังแอ่นตัว และสร้างความตึงเครียดให้กับกล้ามเนื้อหลัง โดยเฉพาะในช่วงที่ท้องประมาณ 5 เดือน หรือการตั้งครรภ์แฝด ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการปวดหลังเรื้อรังได้



ท้อง5เดือน



ท้อง5เดือน กับร่างกายที่เปลี่ยนแปลง

ผิวแตกลาย

เมื่อน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นก็อาจทำให้ขนาดตัวของคุณแม่ขยายใหญ่ขึ้น จนอาจส่งผลให้เกิดปัญหาท้องลาย ขาลาย หรือหน้าอกลาย แต่ปัญหาผิวแตกลายมักจะค่อย ๆ จางลงหลังคลอด

หน้ามันและเป็นสิว

เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ซึ่งทำให้ต่อมใต้ผิวหนังผลิตไขมันออกมามากขึ้น จนเป็นสาเหตุทำให้หน้ามัน และหากไขมันเหล่านั้นไปอุดตันในรูขุมขนก็จะทำให้เกิดการอักเสบและเป็นต้นเหตุของการเกิดสิว

เหงือกบวมหรือมีเลือดออกตามไรฟัน

การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในระหว่างตั้งครรภ์ทำให้เลือดไหลเวียนภายในเหงือกมากขึ้น จึงส่งผลให้เหงือกบวมและบอบบางกว่าปกติ ซึ่งอาจทำให้เกิดการระคายเคือง เป็นแผล หรือมีเลือดออกตามไรฟันได้ด้วย

ข้อเท้าและเท้าบวม

เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้กับคุณแม่ที่ท้อง 5 เดือน ซึ่งการยกขาสูง การเดินออกกำลังกายเป็นประจำ หรือการดื่มน้ำมาก ๆ อาจช่วยบรรเทาอาการบวมได้ แต่หากเท้าหรือข้อเท้ามีอาการบวมอย่างมาก หรือบวมกะทันหัน ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนของภาวะครรภ์เป็นพิษได้

บทความที่เกี่ยวข้อง : 7 สัญญาณเตือนก่อนคลอด มีอาการอะไรบ้างที่คุณแม่ห้ามพลาด


ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ

น้ำหนักของมดลูกที่กดกระเพาะปัสสาวะอาจขัดขวางการไหลเวียนของน้ำปัสสาวะและทำให้เกิดการติดเชื้อขึ้น ซึ่งการดื่มน้ำมาก ๆ รับประทานวิตามินซี เบต้าแคโรทีน และธาตุสังกะสี รวมถึงไม่อั้นปัสสาวะก็อาจช่วยป้องกันหรือบรรเทาอาการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะได้

ท้องผูก

ฮอร์โมนโพรเจสเทอโรนที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้กล้ามเนื้อในทางเดินอาหารคลายตัว ทำให้อาหารเคลื่อนผ่านลำไส้เล็กช้าลง รวมถึงมดลูกที่ขยายตัวอาจไปกดทับไส้ตรงจนทำให้ท้องผูกได้

ริดสีดวงทวาร

การขยายตัวของมดลูก ปัญหาท้องผูก รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนโพรเจสเทอโรนอาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดริดสีดวงทวารได้ในช่วงตั้งครรภ์



ท้อง5เดือน

การเปลี่ยนแปลงร่างกายของแม่ตั้งครรภ์ 5 เดือน

1. น้ำหนักขึ้น

เมื่อเวลาผ่านไป ลูกน้อยจะเริ่มตัวใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งช่วงสัปดาห์ที่ 23 ของการตั้งครรภ์คุณแม่จะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 5-7 กิโลกรัม และอาจมากหรือน้อยกว่านั้นแล้วแต่บุคคล จึงเป็นช่วงที่เริ่มสังเกตได้ชัดว่ากำลังตั้งครรภ์

2. เส้นเลือดขอด

การขยายตัวของมดลูกในขณะตั้งครรภ์ทำให้ความดันของหลอดเลือดดำที่ขาเพิ่มขึ้น อีกทั้งฮอร์โมนโพรเจสเทอโรนยังทำให้หลอดเลือดขยายตัวและมีการไหลเวียนของเลือดเพิ่มมากขึ้น จึงมีแนวโน้มทำให้เกิดเส้นเลือดขอดบริเวณขา ช่องคลอด และทวารหนัก ซึ่งมักจะมีอาการดีขึ้นหลังคลอด

เคล็ดลับการดูแลตัวเองของแม่ตั้งครรภ์

ไปพบแพทย์ตามนัดฝากครรภ์

คุณแม่ที่ท้อง 5 เดือนจะต้องไปพบแพทย์ตามนัดหมายเสมอ เพื่อตรวจเลือด ระดับน้ำตาลในเลือด ความผิดปกติทางพันธุกรรม และอัลตราซาวนด์เพื่อตรวจสุขภาพของทารกในครรภ์

บทความที่เกี่ยวข้อง : คลอดธรรมชาติดีอย่างไร ทำอย่างไรจึงจะคลอดแบบธรรมชาติได้ ?


ดื่มน้ำมาก ๆ

หรือดื่มอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว เพราะอาจช่วยให้ลำเลียงสารอาหารไปยังทารกในครรภ์ได้ดีขึ้น รวมทั้งยังช่วยป้องกันและบรรเทาอาการท้องผูก การติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ หรือริดสีดวงทวารได้เช่นเดียวกัน

นอนตะแคง

ท้องที่มีขนาดใหญ่ขึ้นอาจไปกดทับเส้นเลือดใหญ่บริเวณหลังจนอาจทำให้เลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงทารกในครรภ์ได้น้อยลง การนอนตะแคงไม่เพียงช่วยลดการกดทับเส้นเลือดใหญ่ แต่อาจช่วยลดความเสี่ยงไม่ให้ทารกเสียชีวิตในครรภ์ได้ ซึ่งคุณแม่อาจเริ่มจากการใช้หมอนหนุนหลัง และใช้หมอนอีกใบรองไว้ระหว่างขาหรือหัวเข่า เพื่อให้ร่างกายคุ้นเคยกับการนอนตะแคงมากขึ้น

ออกกำลังกายด้วยวิธีที่ปลอดภัย

เช่น การว่ายน้ำ หรือการเดิน เป็นต้น เพราะนอกจากจะส่งผลดีต่อสุขภาพของว่าที่คุณแม่แล้ว ยังส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ด้วย

สวมเสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี

เช่น ผ้าฝ้าย เป็นต้น เพราะอากาศร้อนอาจส่งผลต่ออารมณ์ของคุณแม่และอาจส่งผลเสียต่อทารกในครรภ์ได้

ทาครีมที่หน้าท้อง

เพื่อลดการเกิดปัญหาท้องลายและอาการคันผิวหนัง

ไปพบทันตแพทย์

การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในระหว่างตั้งครรภ์อาจส่งผลต่อการไหลเวียนเลือดในร่างกาย ทำให้เหงือกบวมหรือมีเลือดออกตามไรฟันได้ง่าย รวมถึงอาจทำให้เกิดการติดเชื้อและการก่อตัวของคราบพลัคได้

อาหารบำรุงครรภ์ 5 เดือน

เนื่องจากระบบการทำงานของฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลง และมดลูกของคุณแม่เริ่มมีการขยายขึ้นอย่างต่อเนื่อง เริ่มส่งผลกับร่างกายอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้น คุณแม่ควรเลือกกินอาหาร ดังนี้

  • ผลไม้

ขึ้นชื่อว่าผลไม้ส่วนใหญ่แล้วจะมีประโยชน์ แต่ในช่วงที่คุณแม่ตั้งครรภ์อยู่นี้ ต้องเลือกกินกันหน่อยแล้วล่ะค่ะ ซึ่งผลไม้ที่แนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ 5 เดือน เช่น แอปเปิ้ล กล้วยน้ำว้า (เพราะถ้ากล้วยหอมอาจทำให้คุณแม่บางคนท้องอืดได้) ส้ม สตรอว์เบอร์รี กีวี และแคนตาลูป เป็นต้น

  • คาร์โบไฮเดรต

กลุ่มนี้คุณแม่อาจต้องระวังนะคะ เพราะถ้าเป็นกลุ่มเบเกอรี่แบบนี้อาจทำให้คุณแม่ยิ่งท้องผูกได้ คุณแม่ควรเลือกกินเป็นพวกข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ มันฝรั่ง หรือขนมปังโฮลวีต หรือจะเปลี่ยนพวกซีเรียลบาร์ก็ได้ค่ะ (ควรเลือกแบบไม่หวาน)

  • โปรตีน

อาหารกลุ่มนี้สำคัญมาก ๆ สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ เนื่องจากโปรตีนเป็นสารอาหารที่ช่วยในการเสริมสร้างอวัยวะและเนื้อต่าง ๆ ในร่างกายของลูกน้อยในครรภ์ อาหารกลุ่มโปรตีนนี้ได้แก่ เนื้อหมู เนื้อวัว และเนื้อไก่ หรือจะเป็นแซลมอน ปลาทูก็จะดีมากเลยค่ะ เพราะนอกจากจะได้ในเรื่องของโปรตีนแล้ว ลูกน้อยยังจะได้โอเมก้า 3 ซึ่งมีส่วนสำคัญในการสร้างเซลล์สมองอีกด้วยค่ะ

  • วิตามินบี 1

พบมากในธัญพืชต่าง ๆ เนื้อวัว เนื้อหมู เต้าหู้ ข้าวกล้อง ถั่วหมัก งา และกระเทียม สารอาหารในกลุ่มนี้จะช่วยป้องกันคุณแม่ให้ห่างไกลจากอาการเหน็บชา หรือตะคริวได้ดี

  • สังกะสี

ช่วงนี้ลูกน้อยในครรภ์เริ่มมีเล็บมือและเล็บเท้าแล้วค่ะ ในขณะที่เส้นผมก็เริ่มงอกเป็นขนอ่อน ดังนั้น สารอาหารประเภทสังกะสีจึงมีความสำคัญซึ่งช่วยในการเจริญเติบโตของลูกน้อยในครรภ์ให้เป็นไปอย่างปกติ และยังป้องกันการคลอดก่อนกำหนดอีกด้วย อาหารที่อุดมไปด้วยสังกะสี เช่น หอยนางรม เมล็ดฟักทอง และถั่วชนิดต่าง ๆ (ถั่วก็ไม่ควรกินเยอะนะคะ เพราะจะส่งผลให้คุณแม่ท้องอืดได้ค่ะ)



ท้อง5เดือน



หากเกิดอาการเหล่านี้ควรพบแพทย์

  • ปวดท้องหรือปวดบริเวณอุ้งเชิงกรานอย่างหนัก ปวดบ่อยครั้ง หรือปวดผิดปกติ
  • มีสัญญาณเตือนของการคลอดก่อนกำหนด เช่น ปวดหรือรู้สึกแน่นที่ท้องส่วนล่างอย่างสม่ำเสมอ มีเลือดออกทางช่องคลอด น้ำคร่ำแตก และรู้สึกได้ถึงแรงดันในอุ้งเชิงกรานหรือช่องคลอด เป็นต้น
  • ไม่รู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์มาสักระยะหนึ่ง
  • หากพบอาการหรือความผิดปกติอื่น ๆ ที่ทำให้ไม่สบายตัวหรือไม่สบายใจคุณแม่ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์



นอกจากนี้ หากพบอาการหรือความผิดปกติอื่น ๆ ที่ทำให้ไม่สบายตัวหรือไม่สบายใจ คุณแม่ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ เช่น การคลอดก่อนกำหนด ถุงน้ำคร่ำแตก ภาวะปากมดลูกหลวม หรือครรภ์เป็นพิษ เป็นต้น

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

ตั้งครรภ์ 2 เดือน ท้องใหญ่แค่ไหน มีอาการอย่างไร?

ท้อง 4 เดือน อาการคนท้อง 4 เดือน และพัฒนาการทารกในครรภ์

อาการคน ท้อง 7 เดือน และพัฒนาการทารกในครรภ์ เป็นอย่างไร ?

ที่มา : 1