สำหรับคุณแม่ที่ ตั้งครรภ์ 2 เดือน หรือ ตั้งครรภ์ 5 – 8 สัปดาห์ ในระยะนี้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรกับคุณแม่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นเจ้าตัวเล็กที่อยู่ในท้อง รวมถึงลักษณะโดยรวมของร่างกายคุณแม่ โดยเฉพาะคุณแม่มือใหม่ ที่ทุกอย่างคือประสบการณ์หน้าใหม่ ให้ต้องคอยลุ้น ว่าจะมีอาการเหล่านี้บ้างหรือไม่ ลองมาเช็กไปพร้อม ๆ กันเลยค่ะ
ท้อง 2 เดือน นับเป็นกี่สัปดาห์ ?
สำหรับคุณแม่มือใหม่หลาย ๆ คน อาจจะงงกับการนับเดือน นับสัปดาห์ของการตั้งครรภ์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดค่ะ ดังนั้นเรามาเคลียร์ความเข้าใจในการนับอายุครรภ์กันก่อนเลยดีกว่า ซึ่งการตั้งครรภ์นั้น เราจะแบ่งออกเป็นทั้งหมด 3 ไตรมาส แต่ละไตรมาส จะมีด้วยกัน 3 เดือน คือ 1 – 3, 4 – 6 และ 7 – 9 ซึ่งเดือนที่ 9 ก็คือการครบกำหนดคลอดนั่นเอง
ไตรมาสที่ 1 :
- อายุครรภ์ 1 เดือน จะมีด้วยกัน 4 สัปดาห์ คือสัปดาห์ที่ 1, 2, 3 และ 4
- อายุครรภ์ 2 เดือน จะมีด้วยกัน 4 สัปดาห์ คือสัปดาห์ที่ 5, 6, 7 และ 8
- อายุครรภ์ 3 เดือน จะมีด้วยกัน 4 สัปดาห์ คือสัปดาห์ที่ 9, 10, 11 และ 12
ไตรมาสที่ 2 :
- อายุครรภ์ 4 เดือน จะมีด้วยกัน 4 สัปดาห์ คือสัปดาห์ที่ 13, 14, 15 และ 16
- อายุครรภ์ 5 เดือน จะมีด้วยกัน 4 สัปดาห์ คือสัปดาห์ที่ 17, 18, 19 และ 20
- อายุครรภ์ 6 เดือน จะมีด้วยกัน 4 สัปดาห์ คือสัปดาห์ที่ 21, 22, 23 และ 24
ไตรมาสที่ 3 :
- อายุครรภ์ 7 เดือน จะมีด้วยกัน 4 สัปดาห์ คือสัปดาห์ที่ 25, 26, 27 และ 28
- อายุครรภ์ 8 เดือน จะมีด้วยกัน 4 สัปดาห์ คือสัปดาห์ที่ 29, 30, 31 และ 32
- อายุครรภ์ 9 เดือน จะมีด้วยกัน 4 สัปดาห์ คือสัปดาห์ที่ 33, 34, 35 และ 36
ดังนั้นในช่วงอายุครรภ์ 2 เดือน เราอาจจะหมายถึง สัปดาห์ที่ 5, 6, 7 หรือ 8 ก็ได้ นั่นเป็นสาเหตุว่า ทำไมตำราหลายเล่ม และข้อมูลจากหลายเว็บไซต์ มักจะนับอายุครรภ์เป็นรายสัปดาห์ เพื่อเป็นการระบุอายุครรภ์ที่ละเอียด และชัดเจน
บทความที่เกี่ยวข้อง : ท้อง 4 เดือน อาการคนท้อง 4 เดือน และพัฒนาการทารกในครรภ์
ตั้งครรภ์ 2 เดือน ร่างกายเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง ?
สำหรับคุณแม่ที่กำลังมีอายุครรภ์ 8 สัปดาห์ หรือท้องเข้าสู่เดือนที่ 2 ร่างกายของคุณแม่ในช่วงนี้ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรที่ชัดเจน บางรายอาจรู้สึกว่าตนเองมีหน้าท้องที่ขยายเพิ่มขึ้น คล้ายช่วงที่ทานข้าวอิ่มใหม่ ๆ ซึ่งหากถามคนภายนอกว่าจะทราบหรือไม่ว่าคุณตั้งครรภ์อยู่ ก็ต้องบอกเลยว่า ดูได้ยากมากค่ะ
อาการเมื่ออายุครรภ์ 8 สัปดาห์
แม้ว่าร่างกายจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน เมื่อคุณท้องได้ 5 – 8 สัปดาห์แล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่จะบ่งบอกถึงอาการท้องได้ นั่นก็คืออาการแพ้ท้องนั่นเอง ซึ่งคุณแม่แต่ละคน จะมีลักษณะอาการแพ้ท้องมาก – น้อย แตกต่างกันออกไป โดยเราได้รวบรวมอาการที่มักจะเกิดขึ้น ดังนี้
- มีอาการแพ้ท้อง คลื่นไส้
อาการแพ้ท้อง (Morning sickness) แต่ละคนจะมีอาการที่แตกต่างกันออกไป คุณแม่บางคนมีอาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งอาการดังกล่าวมีสาเหตุเกิดจากระดับฮอร์โมนที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน ในระยะนี้หากคุณแม่มีอาการแพ้ท้องมาก ควรนอนพักผ่อนให้เพียงพอ และคอยดื่มน้ำกลั้วคอทุกครั้ง เมื่อมีอาการอาเจียนเกิดขึ้น
- เบื่ออาหาร
อาหารที่เคยชื่นชอบ อาจจะรู้สึกรสชาติเปลี่ยนไป หรือรู้สึกเบื่อหน่าย บางครั้งขยาดแม้กระทั่งกลิ่นอาหารที่ทานอยู่ประจำ หรืออยากทานอาหารที่ไม่เคยคิดจะทาน อาการเหล่านี้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเช่นกัน ซึ่งตัวคุณแม่สามารถจัดการกับอาการเหล่านี้ได้ด้วยการเลือกทานอาหารที่สามารถย่อยได้ง่าย และไม่มีรสจัด เช่น ข้าวต้ม ต้มจืด เป็นต้น
- อ่อนเพลียได้ง่าย
ระดับโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งมดลูกต้องการเลือดในปริมาณเพิ่มขึ้นเพื่อไปเลี้ยงทารกในครรภ์ ทำให้ร่างกายของคุณแม่ จำเป็นจะต้องทำงานหนักเพิ่มขึ้นเท่าตัว ส่งผลให้ร่างกายเกิดอาการอ่อนเพลียอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นคุณแม่ควรระมัดระวังในการเคลื่อนไหวร่างกายให้มากเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นการลุกยืน ลุกนั่ง หรือทำกิจกรรมใด ๆ ก็แล้วแต่ อาจส่งผลให้เกิดอาการหน้ามืด เป็นลมได้
- มีอารมณ์แปรปรวน
เป็นอีกหนึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนอย่างรวดเร็ว ทำให้อารมณ์ของคุณแม่แปรปรวน เดี๋ยวยิ้ม เดี๋ยวร้องไห้ และมักจะอ่อนไหวกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้ง่ายกว่าปกติ ดังนั้นไม่แปลกใจเลย หากคุณแม่ได้ยินคำพูดแย่ ๆ เพียงนิด แต่กลับสามารถร้องไห้กับคำพูดนั้นได้ทั้งวัน
- ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ
แม้ว่ามดลูกจะมีขนาดที่เล็กมาก และมีการขยายตัวเพียงเล็กน้อย แต่ก็ทำให้เกิดการกดทับของกระเพาะปัสสาวะ ทำให้เกิดการปัสสาวะบ่อย และถี่ขึ้นกว่าปกติ
- เต้านมคัด
ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน และเอสโตรเจน จะเป็นฮอร์โมนที่ไปกระตุ้นให้ร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะบริเวณของเต้านมที่จะเกิดอาการตึง และคัดเต้านม เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมในการผลิตนมให้กับลูกน้อยในครรภ์นั่นเอง
- ท้องผูก ท้องเฟ้อ และท้องอืด
เพราะฮอร์โมนในร่างกาย มีการเปลี่ยนแปลง ทำให้ระบบการย่อยของคุณแม่ทำงานได้ช้าลงกว่าปกติ ซึ่งจะส่งผลให้คุณแม่มีอาการท้องอืด และท้องผูก ได้ง่ายขึ้น การดื่มน้ำเยอะ ๆ เลือกรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูง และการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม จะช่วยให้คุณแม่ได้ดียิ่งขึ้น
- มีตกขาว หรือมีเลือดออกทางช่องคลอด
แม้ว่าครรภ์จะเข้าสู่เดือนที่ 2 แล้ว หากคุณแม่มีอาการปวดบริเวณท้องน้อย จนมีตกขาวออก ซึ่งหากตกขาวนั้นมีกลิ่นเหม็น หรือมีสีขาว ออกเหลือง รวมถึงการมีเลือดออกบริเวณช่องคลอด ควรรีบพบแพทย์ทันที เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุของอาการที่เกิดขึ้นเพื่อลดความเสี่ยง
บทความที่เกี่ยวข้อง : ตั้งครรภ์ 4 สัปดาห์ พัฒนาการทารกในครรภ์ ไตรมาสที่ 1
ท้อง 2 เดือน ท้องมีโอกาสแข็งหรือไม่ ?
อาการท้องแข็งในสตรีมีครรภ์ โดยมากเรามักจะพบกับสตรีที่มีอายุครรภ์เข้าสู่ไตรมาสที่ 3 คือครรภ์อายุที่ 7 – 9 เดือน เพราะในช่วงนั้น ท้องจะมีการขยายที่รวดเร็ว การที่เลือดลมไม่สามารถไหลเวียนได้ดี ก็อาจทำให้เกิดอาการท้องแข็งเกิดขึ้นได้ ซึ่งหากคุณพบเจออาการใกล้เคียงกันในช่วงเข้าสู่ เดือนที่ 2 นั่นแสดงให้เห็นถึงภาวะความเสี่ยงอย่างใดอย่างหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นกับทารกในครรภ์ของคุณ ดังนั้นคุณควรจะรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจสอบโดยทันทีเมื่อรู้สึกว่า ครรภ์ของตนเองแข็ง เมื่ออายุครรภ์ยังน้อย ๆ
ตั้งครรภ์ 2 เดือน มีเพศสัมพันธ์ได้หรือไม่ ?
บางครั้งเรื่องเซ็กซ์เป็นเรื่องไม่เข้าใครออกใคร และการมีเซ็กซ์ในช่วงตั้งครรภ์ก็ไม่ใช่เรื่องผิด ดังนั้นในช่วงที่คุณมีอายุครรภ์ได้ 2 เดือนนั้น การมีเพศสัมพันธ์ จึงไม่ใช่ข้อห้ามสำหรับคุณ หากแต่ ไม่ควรมีเซ็กซ์ที่ผาดโผนจนเกินไป โดยเฉพาะในช่วงของไตรมาสสุดท้าย เพื่อลดการกระทบกระเทือนต่อเด็กในครรภ์นั่นเอง
ทารกในท้อง 2 เดือน มีขนาดแค่ไหน ?
ในช่วงอายุครรภ์ 2 เดือน เด็กยังคงมีขนาดที่เล็กมาก จนหลายคนเทียบขนาดของเด็กในช่วงเดือนนี้ว่ามีขนาดเท่ากับถั่วลันเตา ซึ่งมีขนาดโดยประมาณที่ 1 – 2 ซม. และมีน้ำหนักประมาณ 15 กรัม และเขาจะเริ่มมีมือ เท้า แขน และขาเล็ก ๆ ปรากฏออกมา แม้ว่าจะมีขนาดที่เล็กมากก็ตาม
อัลตราซาวนด์ช่วงท้อง 8 สัปดาห์
แม้ว่าเด็กในครรภ์ในช่วงสัปดาห์ที่ 8 จะเริ่มมีการพัฒนาให้เห็นชัดมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าการงอกของแขน และขา แต่การอัลตราซาวนด์ในช่วงนี้ไม่เป็นที่นิยมมากเท่าที่ควร เพราะด้วยขนาดที่เล็กของตัวเด็ก จะทำให้เราสามารถมองเห็นได้เพียงแค่ลักษณะของก้อนเนื้อก้อนเล็ก ๆ ก้อนหนึ่งเท่านั้น
แต่การทำอัลตราซาวนด์ในช่วงไตรมาสแรกนี้ แพทย์อาจจะแนะนำให้ทำการอัลตราซาวนด์ได้เช่นกัน เพื่อตรวจหาความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เช่น การท้องนอกมดลูก แต่การอัลตราซาวนด์นี้จะเป็นการอัลตราซาวนด์ผ่านช่องคลอด ไม่ใช่การอัลตราซาวนด์ที่หน้าท้อง
ซึ่งหากจะถามว่าอายุครรภ์เท่าไหร่ ถึงจะสามารถทำการอัลตราซาวนด์ได้ โดยปกติแพทย์มักจะแนะนำให้ทำเมื่ออายุครรภ์เข้าสู่ สัปดาห์ที่ 12 – 18 สัปดาห์ หรือช่วงอายุครรภ์ 4 เดือน เนื่องจากในช่วงนี้ จะทำให้เราสามารถทราบเพศ และความสมบูรณ์ของร่างกาย รวมถึงพัฒนาการของทารกในครรภ์ได้ชัดเจนขึ้นนั่นเอง
แม้ช่วงอายุครรภ์เข้าสู่สัปดาห์ที่ 8 หรือท้อง 2 เดือน ร่างกายของคุณแม่ภายนอกจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรมากมาย แต่ร่างกายภายในของคุณแม่ รวมถึงพัฒนาการของทารกในครรภ์ กลับมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย และรวดเร็ว ดังนั้นการดูแลรักษาร่างกายให้มีความพร้อม ทั้งทางด้านโภชนาการ และการพักผ่อนที่เพียงพอ รวมถึงการเข้าถึงการปรึกษา การรักษาจากแพทย์อย่างใกล้ชิด จะทำให้คุณแม่มีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง และนำพลังงานดี ๆ ส่งต่อไปสู่ลูก เพื่อให้เป็นทารกที่แข็งแรงสมบูรณ์เมื่อคลอดออกมานั่นเอง
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ท้อง 1 เดือน อาการตั้งครรภ์ระยะแรก ที่คุณแม่ต้องรับมือ
10 พฤติกรรมที่ควรหลีกเลี่ยงระหว่างตั้งครรภ์ แม่ท้องห้ามทำอะไรบ้าง