ท้อง 9 เดือนมีเพศสัมพันธ์ได้ไหม ต้องระวังมากแค่ไหน ?

ในระหว่างที่คุณแม่ท้องกำลังอยู่ในช่วงดูแลครรภ์ ห่วงความปลอดภัยของทารกในแง่ต่าง ๆ แต่คุณพ่อเองก็อาจมีความต้องการที่จะมีเพศสัมพันธ์ แต่สำห 

 2351 views

ในระหว่างที่คุณแม่ท้องกำลังอยู่ในช่วงดูแลครรภ์ ห่วงความปลอดภัยของทารกในแง่ต่าง ๆ แต่คุณพ่อเองก็อาจมีความต้องการที่จะมีเพศสัมพันธ์ แต่สำหรับคุณแม่ท้องแก่นั้นอาจมีความกังวล เช่น ท้อง 9 เดือนมีเพศสัมพันธ์ได้ไหม เบื้องต้นนั้นควรเลี่ยงไปก่อน เพราะเป็นช่วงที่ต้องระวังอาการคลอด โดยเฉพาะแม่ท้องแฝดยิ่งต้องระวัง

คนท้อง 9 เดือนจะมีอารมณ์ทางเพศหรือไม่ ?

ในช่วงที่ตั้งครรภ์ตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรก จนถึงไตรมาสที่ 3 ตลอดช่วงเวลานี้ ร่างกายของคุณแม่จะมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายมากกว่าปกติ จนส่งผลกระทบต่อร่างกาย หรือความรู้สึกของคุณแม่ได้หลายอย่าง หนึ่งในนั้น คือ อาจทำให้มีความรู้สึกทางเพศเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วยได้นั่นเอง ดังนั้นในช่วงที่คุณแม่ท้อง 9 เดือนจะมีความต้องการมีเพศสัมพันธ์ จึงไม่ใช่สิ่งที่ผิดปกติแต่อย่างใด ถือว่าเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ ซึ่งแตกต่างจากความเข้าใจของคนทั่วไปว่าคนท้องจะไม่ได้มีความต้องการมีเพศสัมพันธ์ แต่ในขณะเดียวกันแม่ท้องบางคนก็อาจมีความต้องการน้อยลงจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนด้วยเช่นกัน

ถึงคุณแม่จะมีความต้องการ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถทำได้โดยไม่ระมัดระวัง เนื่องจากจะต้องมีช่วงเวลาที่เหมาะสม มีช่วงเดือนที่ต้องหลีกเลี่ยง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบในแง่ลบต่อทารกในครรภ์ด้วย

บทความที่เกี่ยวข้อง : อาการท้อง 9 เดือน ที่สำคัญมีอะไรบ้าง ? และการฝึกหายใจเตรียมคลอด

https://www.youtube.com/watch?v=WdDbCysDMBY

วิดีโอจาก : DrNoon Channel

แม่ท้อง 9 เดือนมีเพศสัมพันธ์ได้ไหม

ในช่วงเวลาที่เหมาะสมที่คุณแม่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ จะอยู่ในช่วงของการตั้งครรภ์ 4 – 6 เดือน หรือไตรมาสที่ 2 ดังนั้นคุณแม่ที่ท้องในช่วงเดือนที่ 9 หรือในไตรมาสสุดท้ายนั้นควรงดไปก่อน เนื่องจากเป็นช่วงที่ต้องคอยดูแลครรภ์ที่พร้อมต่อการคลอด และเฝ้าดูสัญญาณของการคลอดด้วย ส่วนในช่วงไตรมาสแรก หรือ 3 เดือนแรก ที่ต้องงด เนื่องจากเป็นช่วงที่คุณแม่มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนใหม่ ๆ อาจมีอาการที่ไม่คุ้นชิน ต้องพึ่งการปรับตัวก่อน หากมีเพศสัมพันธ์ในช่วงนี้ อาจทำให้คุณแม่ไม่พร้อม และส่งผลเสียต่อร่างกาย หรือความรู้สึกได้นั่นเอง

นอกจากนี้สำหรับคุณแม่ที่มีความเสี่ยงบ่งชี้เกี่ยวกับการสูญเสียบุตร เช่น คุณแม่ที่มีประวัติแท้งบุตรมาก่อน หรือถูกวินิจฉัยว่ามีลูกยาก ควรงดการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงตั้งครรภ์ออกไปก่อน เพราะมีความเสี่ยงมากกว่าแม่ท้องทั่วไป หรือควรปรึกษาแพทย์ก่อนเพื่อรับคำแนะนำ ไม่ควรตัดสินใจด้วยตนเอง เพราะคิดว่าคงมาเป็นอะไร

แม่ท้องแฝด 9 เดือนมีเพศสัมพันธ์ได้ไหม ?

โดยปกติแล้ว แม่ท้องแฝดมักจะอยู่ในกลุ่มที่มีความต้องการทางเพศลดลง เนื่องจากความเกี่ยวเนื่องของความยากลำบากในการตั้งครรภ์ คือ ในช่วงไตรมาสแรกที่มีอาการแพ้ท้องรุนแรงกว่าแม่ท้องทั่วไป ทำให้ความต้องการในเรื่องนี้ลดลงตามไปด้วย หรือในช่วงที่ไตรมาสที่ 2 ที่คุณแม่มีขนาดครรภ์ใหญ่ขึ้นมาก ทำให้เคลื่อนไหวได้ลำบาก รู้สึกเหนื่อยล้า อาจไม่ต้องการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ใช้แรง และไตรมาสที่ 3 ที่คุณแม่ท้องแฝดจะเหนื่อยมากขึ้นจากครรภ์ที่ใหญ่กว่าเดิม และท้องแฝดที่มีโอกาสแท้ง หรือคลอดก่อนกำหนดสูงจึงควรให้ความสำคัญกับการดูแลครรภ์ มากกว่าเรื่องเพศสัมพันธ์

ทางที่ดีสำหรับคุณแม่ท้องแฝด อาจต้องงดการมีเพศสัมพันธ์ไปก่อน หากรู้ตัวว่าตนเองไม่พร้อม หรือเหนื่อย ยิ่งในช่วงที่ท้องใหญ่มาก หรือช่วงไตรมาสสุดท้าย ควรเลี่ยงให้ได้มากที่สุด เพื่อความปลอดภัย แต่ด้วยครรภ์แฝดที่ต้องดูแลมากเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะในช่วงเวลาไตรมาสไหนก็ควรปรึกษาแพทย์ก่อนจะดีที่สุด

ท้อง 9 เดือนมีเพศสัมพันธ์ได้ไหม


ท่าไหนปลอดภัยสำหรับการมีเพศสัมพันธ์ ?

สำหรับแม่ท้อง 9 เดือนมีเพศสัมพันธ์ได้ไหม เราคงจะได้คำตอบแล้ว ในเบื้องต้นควรหลีกเลี่ยง แต่สำหรับคุณแม่ที่ท้องยังไม่ถึง 9 เดือน หรือแพทย์ลงความเห็นว่าสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ ต้องมั่นใจในเรื่องของแรงที่ใช้ในกิจกรรมดังกล่าว ที่ต้องไม่รุนแรง คิดถึงความปลอดภัยของแม่ท้องก่อนเสมอ โดยท่าที่เหมาะสม มีดังนี้

  • การสอดใส่จากด้านหลัง : การมีเพศสัมพันธ์ด้วยการหันหลังมีความเหมาะสมกับคุณแม่ที่มีขนาดหน้าท้องเริ่มใหญ่ขึ้น ไปจนถึงคุณแม่ท้องแก่ เนื่องจากขนาดท้องทำให้มีการเคลื่อนไหวที่ลำบากมากขึ้นกว่าเดิม การหันจากด้านหลังจึงช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้
  • ให้คุณแม่อยู่ด้านบน : ข้อดีของการให้คุณแม่อยู่ด้านบนนั้นอยู่ที่การคุมจังหวะของคุณแม่ เนื่องจากการให้คุณพ่อคุมจังหวะอาจมีความรุนแรง อาจเกิดอันตรายต่อคุณแม่ได้ เมื่อคุณแม่ควบคุมเองได้ จะทำให้รู้ว่าจุดไหนควรลดจังหวะลงเพื่อไม่ให้รู้สึกเจ็บจนเกิดอันตราย
  • นอนราบทั้งคู่ : การนอนราบด้วยกันทั้งคู่ จะทำให้คุณพ่อไม่สามารถเร่งจังหวะได้เร็วนัก ส่งผลให้ท่านี้มีความเนิบ ค่อยเป็นค่อยไป มีความปลอดภัยมากขึ้นสำหรับแม่ท้องแน่นอน อีกทั้งคุณแม่ยังรู้สึกได้พักจากการนอนราบ ไม่ต้องพยุงตัว หรือแบกครรภ์เหมือนกับท่าอื่น ๆ ด้วย
  • ให้คุณแม่อยู่ในท่านั่ง : การได้นั่งพักก็เป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์เหมือนกัน โดยใช้โต๊ะหรือเก้าอี้ ที่มีความแข็งแรง และมีความสูงที่เหมาะสม เพื่อลดอาการปวดเมื่อยที่อาจเกิดขึ้นกับคุณแม่ได้


มีเพศสัมพันธ์ช่วงตั้งครรภ์จะมีอันตรายต่อทารกแค่ไหน ?

การมีเพศสัมพันธ์สำหรับแม่ท้องนั้น อาจมีความกังวลหลายอย่างนอกจากจะเป็นเรื่องท่าทางที่ต้องเหมาะสมแล้ว อาจมีความกังวลอื่น ๆ ด้วย เช่น หากหลั่งในจะส่งผลให้ทารกในครรภ์ติดเชื้อหรือไม่ สำหรับในเรื่องนี้คุณแม่สามารถเบาใจได้ เนื่องจากระบบป้องกันจากการตั้งครรภ์แข็งแรงกว่าที่คิด ทารกน้อยในครรภ์มีทั้งรก, ถุงน้ำคร่ำ และเมือกที่ปิดปากมดลูก ทำให้สามารถช่วยป้องกันเชื้อโรค หรือสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ได้พอสมควร

ถึงแม้ว่าจะสามารถเบาใจได้ไปบ้าง แต่การมีเพศสัมพันธ์ด้วยการหลั่งใน ขาดการป้องกัน ยังมีความเสี่ยงในเรื่องอื่นอยู่ที่ไม่ควรมองข้าม นั่นคือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งจะส่งผลเสียได้มากกว่า และเกิดขึ้นโดยตรงต่อคุณพ่อ และคุณแม่เอง ดังนั้นจึงควรป้องกันเอาไว้ก่อน ไม่ว่าจะตอนตั้งครรภ์ หรือตอนไม่ได้ตั้งครรภ์ นอกจากคู่รักที่กำลังวางแผนจะมีลูก

นอกจากเรื่องของการมีเพศสัมพันธ์แล้ว ในเรื่องอื่น ๆ คุณแม่ไม่ควรตัดสินใจเอง ไม่ควรเชื่อจากการถามผู้อื่น ควรสอบถามแพทย์เท่านั้น เนื่องจากร่างกายของคุณแม่แต่ละคนมีความแตกต่างกันโดยที่คุณแม่อาจไม่รู้ตัว

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ตั้งครรภ์ 42 สัปดาห์ ครรภ์เกินกำหนด ทำอย่างไรดี ?

ท่านอนคนท้องที่ปลอดภัย ท้องอ่อน ท้องแก่ ต้องนอนแบบไหน ?

ตั้งครรภ์ 1 สัปดาห์ พัฒนาการทารกในครรภ์ ไตรมาสที่ 1

ที่มา : 1, 2, 3