การตั้งครรภ์เป็นอีกหนึ่งขั้นตอนที่หลายคนสงสัย การเปลี่ยนตัวเองเพื่อดูแลลูกน้อย เป็นเรื่องที่หลายคนกังวล ยิ่งไปกว่านั้นหากครอบครัวไหนที่เป็นการตั้งท้องครั้งแรก ยิ่งมีความสงสัยเป็นอย่างมาก ไปฝากครรภ์จะต้องเตรียมตัวอย่างไร เอกสารและขั้นตอน ไปฝากครรภ์ มีอะไรบ้างที่ต้องใช้ ซึ่งในวันนี้ Mama Story มีคำตอบมาให้ทุกครอบครัว เพื่อตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับการฝากครรภ์กันค่ะ
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า การฝากครรภ์ไม่ใช่เรื่องที่ต้องเตรียมตัวอะไรเป็นพิเศษ คุณแม่สามารถรับประทานอาหาร และดื่มเครื่องดื่มได้ตามปกติ ซึ่งหลังจากการกรอกประวัติลงทะเบียนแล้ว จะเป็นการพบแพทย์เพื่อซักประวัติและตรวจร่างกายนั่นเองค่ะ!
ทำความเข้าใจ การฝากครรภ์
การฝากครรภ์ ก็คือการตรวจสุขภาพของแม่ท้องและทารกในครรภ์ ที่เริ่มตั้งแต่วันแรกที่รู้ตัวว่าท้อง ไปจนถึงวันที่คลอดค่ะ ซึ่งการฝากครรภ์เป็นเสมือนการดูแล การเฝ้าระวัง และการติดตามอาการของการตั้งครรภ์ โดยที่อาจจะเกิดความผิดปกติได้ระหว่างการตั้งครรภ์ ซึ่งแพทย์ที่ดูแลจะให้ความรู้ และคำแนะนำที่เกี่ยวข้องกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการปฏิบัติตัวระหว่างการตั้งท้อง โดยจะมีการนัดตรวจสุขภาพ และติดตามอาการตลอดการตั้งครรภ์ค่ะ
การฝากครรภ์พิเศษคืออะไร ?
การฝากครรภ์พิเศษ ก็คือการฝากครรภ์กับคุณหมอเพียงท่านเดียว โดยคุณหมอท่านนี้จะเป็นผู้ทำคลอดให้ด้วย ซึ่งการฝากครรภ์นี้มักเป็นขั้นตอนของโรงพยาบาลเอกชน ดังนั้นเมื่อไปฝากครรภ์ในโรงพยาบาลเอกชนจะเป็นการฝากพิเศษโดยอัตโนมัติ เปรียบเสมือนมีสูตินรีแพทย์ประจำตัวไปจนถึงตอนคลอดเลยค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : คลอดลูกในน้ำ ดีอย่างไร ช่วยให้คลอดลูกง่ายจริงไหม?
ฝากครรภ์สำคัญอย่างไร
ต้องเข้าใจก่อนว่าการฝากครรภ์ ไม่ควรคิดว่าเป็นเรื่องยุ่งยากหรือเสียเวลา เพราะการฝากครรภ์เป็นการดูแลสุขภาพครรภ์ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ไปจนถึงก่อนคลอด เป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่ง คุณแม่มือใหม่ที่เริ่มตั้งครรภ์ควรพบแพทย์เพื่อฝากครรภ์ทันทีเมื่อทราบว่าตัวเองตั้งครรภ์ และเข้ารับการตรวจครรภ์ตามที่แพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ ไม่จำกัดแค่ว่าท้องแรก แต่ไม่ว่าจะเป็นท้องที่ 2 หรือ 3 ก็ควรต้องฝากครรภ์ทั้งสิ้น
การฝากครรภ์เป็นเรื่องที่แพทย์จะช่วยดูแลให้สุขภาพของผู้ตั้งครรภ์และทารกแข็งแรงปลอดภัย พร้อมทั้งให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพครรภ์อย่างถูกต้อง แพทย์จะนัดตรวจความเจริญเติบโตและความผิดปกติของทารก ในครรภ์ทุกระยะของการตั้งครรภ์ และจะนัดตรวจถี่ขึ้นเมื่อช่วงอายุครรภ์มากขึ้น ทั้งนี้การฝากครรภ์จะช่วยให้แพทย์เห็นความผิดปกติในระหว่างตั้งครรภ์ และสามารถรักษาได้ทันเวลา เช่น โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ โรคลมชัก ครรภ์เป็นพิษ เป็นต้น
ประโยชน์ของการฝากครรภ์
1. เพื่อส่งเสริมสุขภาพร่างกาย และจิตใจของคุณแม่
เพราะระหว่างการตั้งครรภ์ แพทย์จะทำหน้าที่ดูแลโดยหวังว่า จะทำให้คุณแม่มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงที่สุด โดยจะให้คำแนะนำและตอบคำถามที่ควรปฏิบัติระหว่างการตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารการกิน การออกกำลังกาย การปฏิบัติตน และอื่น ๆ ที่อาจจะเป็นปัญหา ซึ่งคุณแม่สามารถสอบถามหรือให้คุณหมอตรวจได้ว่ามีความผิดปกติหรือไม่
2. เพื่อตรวจสอบว่าการตั้งครรภ์ดำเนินไปอย่างปกติหรือไม่
ระหว่างการฝากครรภ์ แพทย์จะช่วยวินิจฉัยโรคบางอย่างที่เกิดขึ้น ในระหว่างตั้งครรภ์ที่อาจเป็นอันตรายต่อคุณแม่และลูกน้อยได้เช่นครรภ์เป็นพิษโรคโลหิตจางซิฟิลิสติดเชื้อเอดส์ฯลฯรวมทั้งตรวจดูว่าท่านอนของทารกในครรภ์ผิดปกติหรือไม่
3. ช่วยป้องกันอาการแทรกซ้อนในระหว่างการตั้งครรภ์
เพื่อให้การตั้งครรภ์เป็นปกติ และคลอดลูกได้ตามปกติมากที่สุดถ้ามีโรคแทรกซ้อนหมอก็จะช่วยให้เกิดอันตรายน้อยที่สุดติดเชื้อน้อยที่สุดหรือเสียเลือดน้อยที่สุด
4. ช่วยป้องกันอันตรายที่เกิดขึ้นกับทารกในครรภ์
เพราะการฝากครรภ์นั้น สามารถช่วยลดอัตราการแท้งบุตร การคลอดลูกก่อนกำหนด ลูกเสียชีวิตในท้อง หรือคลอดลูกแล้วเสียชีวิตได้มาก และยังช่วยป้องกันการอักเสบติดเชื้อในตัวลูกน้อยได้อีกด้วย
5. ช่วยดูแลทารกในครรภ์
ทำให้ลูกน้อยในครรภ์เติบโตสมบูรณ์ แข็งแรง และมีน้ำหนักตัวที่เหมาะสม ตามคำแนะนำของแพทย์
เอกสารและขั้นตอน ไปฝากครรภ์
ในเรื่องของการฝากครรภ์สำหรับคุณแม่ป้ายแดง คำถามแรกที่ผุดขึ้นมาเลย คือ ควรไปฝากครรภ์ที่ไหนดีนะ ซึ่งหลักเกณฑ์ในการเลือกสถานที่นั้นไม่ได้กำหนดเอาไว้ตายตัว แต่สามารถพิจารณาตามความเหมาะสม และความสะดวก ได้ดังนี้
- เลือกสถานที่ใกล้และสะดวกที่สุด เพื่อความสะดวกในการเดินทาง
- ฝากครรภ์กับคุณหมอที่ไว้ใจ โดยพิจารณาจาก ประสบการณ์ของแพทย์ ประวัติการทำงาน
- รพ.รัฐ หรือ รพ.เอกชน เลือกตามงบประมาณและความต้องการความสะดวกสบาย
ในส่วนของเอกสารที่ต้องใช้ ก็คือ บัตรประชาชนของคุณแม่ และคุณพ่อ, ประวัติการเจ็บป่วย อาทิ การแพ้ยา การคลอดลูก โรคประจำตัว การแท้งบุตร โดยเฉพาะประวัติความเสี่ยงต่อโรคทางพันธุกรรม จะเป็นสิ่งที่สำคัญมาก และข้อมูลการมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย โดยนับจากวันแรกของการมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย
ขั้นตอนการฝากครรภ์
- แพทย์จะซักถามประวัติอย่างละเอียด เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ที่เท่าไร ลักษณะการคลอด ในกรณีไม่ใช่ท้องแรก เคยแท้งหรือไม่ โรคประจำตัว ประวัติการเจ็บป่วย ยาที่กินเป็นประจำ ฯลฯ
- แพทย์จะตรวจร่างกายอย่างละเอียด วัดความดันโลหิต ดูการบวมตามร่างกาย ตรวจปริมาณน้ำตาล โปรตีนในปัสสาวะ
- ตรวจครรภ์ โดยการคลำความสูงของมดลูกว่า สมควรหรือเหมาะสมกับอายุครรภ์หรือไม่
- ฟังการเต้นของหัวใจทารก หรืออัลตราซาวนด์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอายุครรภ์ที่เหมาะสม
- แพทย์สั่งจ่ายยาบำรุง พร้อมทั้งนัดวันตรวจครรภ์ครั้งหน้า
การฝากครรภ์ ต้องตรวจอะไรบ้าง ?
โดยในการฝากครรภ์ ไม่ว่าจะเป็นครรภ์ที่เท่าไร สิ่งที่แพทย์จะตรวจเมื่อเป็นการฝากครรภ์ครั้งแรก จะมีการตรวจร่างกาย และสุขภาพครรภ์ ดังต่อไปนี้
ตรวจปัสสาวะ
สิ่งแรกที่ต้องทำเมื่อไปฝากครรภ์ ก็คือการตรวจปัสสาวะ เพื่อดูว่ามีน้ำตาลในปัสสาวะบ้างหรือไม่ เพื่อให้แน่ใจว่าคุณแม่ไม่ได้เป็นเบาหวานแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ และดูว่ามีโปรตีนหรือไม่ ถ้ามีจะบ่งว่าไตทำงานไม่ปกติ ถ้าตรวจพบในช่วงหลังของครรภ์ ร่วมกับมีความดันโลหิตสูง แสดงว่ามีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะมีอาการครรภ์เป็นพิษ
ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง
การวัดส่วนสูงเป็นการบอกถึงขนาดเชิงกรานคร่าว ๆ ถ้าคุณแม่ตัวเล็กอาจทำให้คลอดยากได้ ถ้าไม่ได้สัดส่วนกับขนาดของลูก และคุณแม่อาจต้องชั่งน้ำหนักทุกครั้งเมื่อมาฝากครรภ์ เพื่อดูว่าน้ำหนักเพิ่มตามเกณฑ์หรือไม่
ตรวจเลือด
เมื่อไปฝากครรภ์ คุณแม่จะต้องถูกเจาะเลือดที่บริเวณข้อพับ เพื่อตรวจดูความเข้มข้นของเลือด ส่วนประกอบของเลือด กรุ๊ปเลือด โรคเลือดธาลัสซีเมีย และตรวจหาโรคติดเชื้อบางอย่าง เช่น ไวรัสตับอักเสบ ซิฟิลิส หัดเยอรมัน และเอดส์
วัดความดันโลหิต
การวัดความดันโลหิต จะทำทุกครั้งที่ไปฝากครรภ์ โดยจะมีตัวเลข 2 ค่าค่าแรกเป็นความดันโลหิตขณะที่หัวใจบีบตัวดันให้โลหิตสูบฉีดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายส่วนค่าหลังเป็นความดันโลหิต
ตรวจหน้าท้อง หรือ อัลตราซาวนด์
การฝากครรภ์จะมีการตรวจหน้าท้องของคุณแม่ เพื่อดูท่าของทารกว่าอยู่ท่าใด ส่วนนำเป็นศีรษะหรือไม่ ประมาณขนาดและน้ำหนักของทารกในครรภ์ เพื่อตรวจให้แน่ใจว่า ท่าของทารกไม่เป็นอันตรายต่อตัวทารกเองและตัวคุณแม่เองด้วย
บทความที่เกี่ยวข้อง : ทำหมันหญิง เป็นอย่างไร คุณแม่อยากทำหมันต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง?
ฝากครรภ์กี่ครั้ง
สำหรับการฝากครรภ์นั้น แพทย์จะแบ่งเป็น 3 ไตรมาส และจะมีการตรวจที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้
ไตรมาสแรก (0-14 สัปดาห์) นัดตรวจทุก 1 เดือน
- ตรวจปัสสาวะ เพื่อยืนยันการตั้งครรภ์
- ตรวจการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด หรือกระเพาะปัสสาวะ
- ตรวจเลือด สำหรับฝากครรภ์ครั้งที่ 1
- ตรวจเลือด เพื่อคัดกรองความผิดปกติทางพันธุกรรม หรือวัดสารเคมีบ่งชี้ดาวน์ซินโดรม
- ตรวจอัลตราซาวนด์ เพื่อกำหนดอายุครรภ์ และคัดกรองความผิดปกติทารกเบื้องต้น
ไตรมาสที่ 2 (15-28 สัปดาห์) นัดตรวจทุก 1 เดือน
- ตรวจเลือดคัดกรองภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์
- ตรวจเลือด สำหรับฝากครรภ์ครั้งที่ 2
- เจาะน้ำคร่ำ ตรวจโครโมโซมของทารกในครรภ์ (กรณีมีความเสี่ยง)
- ตรวจอัลตราซาวนด์ ดูเพศ และพัฒนาการของทารกในครรภ์
ไตรมาสที่ 3 (29-42 สัปดาห์) นัดตรวจทุก 2 สัปดาห์
- สอนนับลูกดิ้น
- ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และบาดทะยัก
- ตรวจเลือด สำหรับฝากครรภ์ครั้งที่ 3
- ตรวจอัลตราซาวนด์ คำนวณน้ำหนักตัว และตรวจสุขภาพทารก
การฝากครรภ์ ถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์มาก ไม่ใช่แค่การตรวจสุขภาพร่างกายของคุณแม่ แต่แพทย์จะตรวจพัฒนาการการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ เพื่อคอยดูความผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้นได้ และเพื่อรักษาได้อย่างทันท่วงทีค่ะ!
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ผ่าคลอดแล้ว ท้องต่อไปจะต้องผ่าอีกไหม ครรภ์แบบไหนต้องผ่าคลอด ?
คลอดธรรมชาติดีอย่างไร ทำอย่างไรจึงจะคลอดแบบธรรมชาติได้ ?