คนท้องเป็นตะคริว เกิดขึ้นได้บ่อยในช่วงตั้งครรภ์ ซึ่งบางครั้งก็สร้างความเจ็บปวดให้กับคุณแม่ไม่น้อย ยิ่งเมื่อคุณแม่เป็นตะคริวตอนท้องแก่ละก็ ขอบอกเลยว่าทรมานสุด ๆ เพราะยากที่จะขยับตัว และเคลื่อนไหว อีกทั้งแม่ท้องบางคนยังมักมีอาการตะคริวในตอนกลางคืน จนทำให้นอนไม่หลับ และนอนไม่เต็มที่ วันนี้ Mama Story จะพาไปดูกันว่าคนท้องเป็นตะคริวเกิดจากอะไร และมีวิธีรับมืออย่างไร แม่ท้องคนไหนที่มีอาการตะคริว ไปดูกันเลย
ทำไมแม่ท้องมักเป็นตะคริว
ในช่วงตั้งครรภ์ ร่างกายของคุณแม่ท้องจะมีฟอสฟอรัสมากเกินไป และมีแคลเซียมในกระแสเลือดน้อยไป เมื่อคุณแม่ยืน เดิน หรือนั่งทำงานอยู่ที่โต๊ะเป็นเวลานาน ๆ ก็จะทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก เกิดเลือดคั่งบริเวณน่อง เลือดไหลเวียนลงไปส่วนล่างไม่สะดวก จนทำให้เกิดกล้ามเนื้อหดตัว และอาการตะคริวนั่นเอง นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้คุณแม่เป็นตะคริว ดังต่อไปนี้
- มีภาวะขาดน้ำ และความผิดปกติของเกลือแร่ในร่างกาย
- อากาศเย็น และมีเลือดคั่งบริเวณน่องมากขึ้น จนทำให้เกิดตะคริว
- นั่งทำงาน หรือนั่งขดขาในท่าเดิมเป็นเวลานาน ๆ จนทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก
- ท้องขยายใหญ่มากขึ้น จนมดลูกไปกดทับตำแหน่งของอุ้งเชิงกราน ส่งผลให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก กล้ามเนื้อบริเวณน่องขาดออกซิเจน จนทำให้มีอาการตะคริวนั่นเอง
คนท้องเป็นตะคริวเกิดตอนไหน
ส่วนใหญ่แล้วคุณแม่มักมีอาการตะคริวในช่วง 2-3 เดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะคุณแม่ที่ยืน เดิน หรือนอนท่าเดิมเป็นเวลานาน ๆ จนทำให้เกิดเลือดคั่งบริเวณน่องขาจนเป็นตะคริวนั่นเอง คุณแม่หลายคนอาจปวดเกร็งเฉพาะที่ แต่บางรายก็อาจปวดลามถึงด้านหลังขาอ่อน นอกจากนี้ การที่น้ำหนักตัวของคุณแม่เพิ่มขึ้น ก็ส่งผลให้ขาทั้งสองข้างแบกรับน้ำหนักตัวมากขึ้นนั่นเอง ส่งผลให้ระบบไหลเวียนเลือดทำงานได้ไม่สะดวก จนเกิดเป็นอาการตะคริว
วิธีลดอาการเจ็บเมื่อเป็นตะคริว
หากคุณแม่มีอาการตะคริว สามารถใช้วิธีดังต่อไปนี้ เพื่อช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด และผ่อนคลายความปวดให้ทุเลาลงได้
- เมื่อคุณแม่มีอาการตะคริว ให้ค่อย ๆ ใช้มือประคอง และยืดกล้ามเนื้อข้างที่เป็น ให้อยู่ในความยาวปกติ จากนั้นให้ยืดกล้ามเนื้อนั้นจนกระทั่งหายปวด โดยอาจให้เวลาประมาณ 1-2 นาที จากนั้นลองปล่อยมือดูว่ายังมีอาการเกร็งอยู่หรือไม่ หากยังเกร็งอยู่ให้ทำซ้ำ ๆ จนอาการเหล่านั้นหายไปค่ะ
- ใช้มือประคองเท้า หรือขาข้างที่เป็น จากนั้นค่อย ๆ ดันปลายเท้าขึ้นลง หรือใช้ผ้ายาว ๆ คล้องไว้ที่ปลายเท้าแล้วดึงผ้า เพื่อให้ปลายเท้ากระดกเข้าหาตัว ก็จะช่วยบรรเทาอาการได้ดีขึ้น
- ให้คุณสามีช่วยจับปลายเท้าข้างที่เป็นตะคริว แล้วค่อย ๆ กระดกเท้าขึ้น
- หากคุณแม่เป็นตะคริวที่ขา ให้ค่อย ๆ เหยียดหัวเข่าให้ตรง แล้วยกเท้าขึ้นจากพื้นเล็กน้อย และกระดกปลายเท้าลดลง จนอาการค่อย ๆ หายไป
บทความที่เกี่ยวข้อง : ตะคริว เกิดจากอะไร เป็นตะคริวบ่อยรักษาอย่างไรให้หายดี?
วิธีป้องกันอาการตะคริว
โดยปกติแล้ว อาการตะคริวในช่วงตั้งครรภ์มักหายได้เอง และเกิดในช่วงเวลาสั้น ๆ รวมทั้งยังไม่ส่งผลต่อสุขภาพของคุณแม่ และลูกในครรภ์ แต่บางครั้งก็อาจสร้างความเจ็บปวด และรบกวนเวลานอนของคุณแม่ได้ เรามาดูวิธีป้องกันอาการตะคริวคนท้องกันค่ะ
1. ยืดกล้ามเนื้อขา
เมื่อคุณแม่มีอาการตะคริว ให้ลองยืดกล้ามเนื้อบริเวณน่อง และเท้าเพื่อลดอาการเจ็บได้นะคะ โดยคุณแม่สามารถนั่งเหยียดขา และกระดกปลายเท้าค้างไว้ ก็จะช่วยให้อาการตะคริวลดลง นอกจากนี้ คุณแม่ควรบริหารกล้ามเนื้ออย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในช่วงก่อนนอน คุณแม่อาจใช้ท่าบริหารโดยการวางเท้าขวาไว้หลังเท้าซ้าย เอนตัวไปให้ข้างให้มือแตะกำแพง แล้วยืดหลังให้ตรง ดันสะโพกเล็กน้อย ทำค้างไว้ประมาณ 30 วินาที แล้วสลับข้าง ก็จะช่วยป้องกันอาการตะคริวได้เป็นอย่างดี
2. หมั่นเคลื่อนไหวร่างกาย
คุณแม่ควรหมั่นเคลื่อนไหวร่างกายอยู่บ่อย ๆ ไม่นั่ง ยืน หรือเดิมในท่าเดิม ๆ เป็นเวลานาน คุณแม่ควรเดิน นั่ง และยืนในท่าที่ถูกต้อง หลังตรง ไม่โก้งโค้ง งอขา และไม่นั่งไขว้ขา นั่งพับขา และยกของหนัก เพราะนอกจากจะทำให้เกิดอาการตะคริวแล้ว ยังทำให้เกิดอาการปวดหลัง ปวดขาได้ นอกจากนี้ คุณแม่ควรหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น เดิน เล่นโยคะ หรือว่ายน้ำ ก็จะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด และป้องกันการเกิดตะคริวได้ค่ะ
3. ดื่มน้ำให้เพียงพอ
หากคุณแม่มีภาวะขาดน้ำ ก็จะทำให้เกิดอาการตะคริวได้ ยิ่งในช่วงอากาศร้อน ๆ ร่างกายก็ต้องเสียเหงื่อมากกว่าปกติ คุณแม่จึงควรดื่มน้ำสะอาดบ่อย ๆ วันละ 6-8 แก้ว ก็จะช่วยกำจัดของเสียในร่างกาย ช่วยในการสร้างเซลล์ และป้องกันอาการตะคริว นอกจากนี้ ยังส่งผลดีต่อสุขภาพในด้านอื่น ๆ อีกด้วย
บทความที่เกี่ยวข้อง : 6 ประโยชน์ของน้ำสะอาด ที่คุณแม่ตั้งครรภ์อาจไม่รู้
4. รับประทานอาหารที่มีแคลเซียม
การขาดแคลเซียมก็สามารถทำให้เกิดอาการท้องตะคริวได้ ดังนั้น คุณแม่จึงควรรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมให้เพียงพอ เช่น โยเกิร์ต ปลา ถั่วเหลือง ผลิตภัณฑ์จากนม เต้าหู้ เป็นต้น และควรรับประทานอาหารเสริมแคลเซียมที่คุณหมอจ่ายให้ด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายของคุณแม่ขาดแคลเซียม จนส่งผลให้เกิดอาการตะคริว นอกจากนี้ คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มบางอย่าง เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม และแอลกอฮอล์ เพราะอาจไปขัดขวางการดูดซึมแคลเซียมได้
5. สวมถุงน่อง
การสวมถุงน่อง หรือถุงเท้า ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังช่วยลดอาการบวม ลดเส้นเลือดขอด และลิ่มเลือดอุดตันที่ขาได้ นอกจากนี้ คุณแม่ควรสวมรองเท้าที่ใส่สบาย มีขนาดพอดี และไม่คับหรือหลวมเกินไป ก็จะช่วยป้องกันอาการตะคริวได้ค่ะ
6. ปรับท่าทางเวลานอน
คุณแม่ที่มีอาการตะคริวเวลานอน ควรปรับเปลี่ยนท่าทางเวลานอนโดยการยกขาสูง อาจใช้หมอน หรือผ้าห่มหนา ๆ รองบริเวณขา และเท้าให้สูงกว่าลำตัวเล็กน้อย ก็จะช่วยให้ขาไม่ต้องแบกรับน้ำหนัก และช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดบริเวณกล้ามเนื้อน่องได้ดีขึ้น ส่งผลให้คุณแม่ไม่มีอาการตะคริว หรือลดอาการตะคริวในช่วงนอนหลับ
คนท้องเป็นตะคริวถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ แต่หากคุณแม่เป็นตะคริวอย่างต่อเนื่อง รู้สึกเจ็บไม่หาย ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย เพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อตัวคุณแม่ และลูกในครรภ์ได้ นอกจากนี้ คุณแม่ควรเสริมแคลเซียมบ่อย ๆ ด้วยการรับประทานผักใบเขียว อัลมอนด์ ฟักทอง เต้าหู้ และปลา เพราะในช่วงท้องอาจเกิดการขาดแคลเซียมได้ เพียงเท่านี้ก็จะช่วยแก้อาการตะคริวได้แล้วค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
อาการเจ็บท้องระหว่างตั้งครรภ์ เรื่องสำคัญที่แม่ท้องควรรู้
ปวดข้อมือ เป็นอย่างไร? ลักษณะอาการที่คุณแม่ควรต้องระวัง!