นวดเต้านม เทคนิคการนวดเพื่อเพิ่มน้ำนม พร้อมวิธีดูแลเต้านมหลังนวด

คุณแม่ท้องหรือคุณแม่หลังคลอดหลายท่าน โดยเฉพาะคุณแม่มือใหม่ ที่อยากเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อยากสต็อกนมแม่ให้ได้เยอะ ๆ  หลายคนเกิดข้อสงสัยว่า น 

 1666 views

คุณแม่ท้องหรือคุณแม่หลังคลอดหลายท่าน โดยเฉพาะคุณแม่มือใหม่ ที่อยากเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อยากสต็อกนมแม่ให้ได้เยอะ ๆ  หลายคนเกิดข้อสงสัยว่า นอกจากอาหารการกินที่ช่วยเพิ่มน้ำนมได้แล้ว วิธีนวดกระตุ้นน้ำนม หรือการนวดเต้านม นวดเปิดท่อน้ำนม จะช่วยเพิ่มน้ำนมได้จริงหรือไม่ ทั้งยังเป็นกังวลว่าตัวเองจะมีน้ำนมน้อย กลัวว่าน้ำนมจะไม่พอให้ลูกกิน วันนี้ Mama Story มีเคล็ดลับการเพิ่มน้ำนมด้วยวิธี นวดเต้านม ที่จะช่วยทำให้มีน้ำนมมากขึ้นมาฝากกัน ส่วนวิธีกระตุ้นน้ำนมด้วยการนวดจะเป็นอย่างไรบ้างนั้น ไปติดตามกันเลย!

นวดเต้านม ช่วยกระตุ้นน้ำนมได้จริงไหม

การนวดเต้านมให้ผ่อนคลายในท่าต่าง ๆ แบบนวดธรรมชาติทั่วไป ไม่ได้มีการรีดน้ำนมของคุณแม่ให้ออกมาแบบเกลี้ยงเต้า จะมีข้อดีคือ ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของระบบต่าง ๆ ช่วยให้คุณแม่รู้สึกสบาย ผ่อนคลาย ลดปัญหาคัดตึงเต้านมได้ แต่การนวดแบบไม่รีดน้ำนมให้เกลี้ยงเต้า ก็จะไม่ช่วยกระตุ้นการสร้างน้ำนมเท่าที่ควรนะคะ เพราะยังมีน้ำนมค้างเต้าอยู่ ร่างกายของคุณแม่ก็จะไม่สั่งผลิตน้ำนมเพิ่มค่ะ

บทความที่เกี่ยวข้อง : รู้หรือไม่ บริจาคน้ำนม คือทางเลือกรองของการให้นมลูกเท่านั้น !

วิธีนวดกระตุ้นน้ำนม นวดแบบไหนช่วยเพิ่มน้ำนม ?

จากข้อมูลของคุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านนมแม่คุณหมอจะแนะนำให้บีบเต้านมในท่าที่ถูกวิธีด้วยมือรีดน้ำนมของคุณแม่ให้ออกมาจนเกลี้ยงเต้าและการทำกระตุ้นจี๊ดนวดหัวนมไปด้วย เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้น้ำนมเกลี้ยงเต้ามากขึ้น

เมื่อน้ำนมเกลี้ยงเต้าแล้ว ร่างกายก็จะสั่งผลิตน้ำนมใหม่มาทดแทน หากเอาลูกน้อยเข้าเต้าบ่อย ๆ ควบคู่ไปด้วย ร่างกายก็จะรับรู้ว่าลูกมีความต้องการ ก็จะรีบผลิตน้ำนมเพิ่มอีก จะทำให้มีน้ำนมมากขึ้นได้ ซึ่งคุณแม่ต้องรู้วิธีนวดเต้านมที่ถูกต้องก่อนนะคะ และต้องฝึกทำบ่อย ๆ ด้วยค่ะ

นวดเต้านม



ประเภทของการ นวดเต้านม

  1. การนวดเต้านมแบบ TBML และบีบน้ำนมด้วยมือ เป็นเทคนิคที่คุณแม่ที่ให้นมแม่สามารถนำไปปฏิบัติต่อได้ด้วยตนเอง ทำได้ทุกที่ ทุกเวลา ทุกสถานที่ ไม่มีค่าใช้จ่าย
  2. การนวดเต้าเน้นเป็นการนวดที่นุ่มนวล โดยใช้การลูบไล้ไปในทิศทางตามระบบท่อต่อมน้ำเหลือง ซึ่งทางกายภาพระบบต่อมน้ำเหลือง จะมีตัวต่อมฝังในร่างกายส่วนต่าง ๆ และจะมีท่อนำน้ำเหลืองกระจายออกมา ท่อต่อมน้ำเหลืองส่วนใหญ่ อยู่บริเวณผิวหนัง ไม่ได้อยู่ลึก ผู้นวดจึงไม่ต้องกดน้ำหนักลงไปลึก
  3. การที่คุณแม่มีเต้านมคัด ของเหลวที่อยู่ในเต้านม ไม่ได้มีเพียงน้ำนมเท่านั้น แต่ยังประกอบด้วยสารคัดหลั่งภายในเต้านมด้วย
  4. การนวดตามหลักการของ lymphatic system คือ ไล่ระบายสารคัดหลั่งกลับสู่ต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ได้ง่าย สะดวกขึ้น อาการคัดตึงเต้านม อาการเป็นก้อนจากท่อน้ำนมอุดตัน และความเจ็บปวดจะลดลง
  5. ใช้การประคบเย็นภายหลังการนวดเพื่อช่วยลดบวม

วิธีกระตุ้นน้ำนม เพิ่มน้ำนมแม่ 

มาดูกันว่า ต้องทำอย่างไรให้มีน้ำนมมากขึ้น แต่ก่อนอื่นคุณแม่ต้องมั่นใจ และเชื่อมั่นในตัวเองก่อน ว่าจะสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ หลังจากนั้นก็ทำตามวิธีเพิ่มน้ำนมแม่ดังนี้

  1. ให้นมลูกบ่อยขึ้นและนานขึ้น ไม่ควรน้อยกว่า 8 ครั้งต่อวัน ถ้าไม่ได้อยู่กับลูก ก็ควรบีบหรือปั๊มนมออกให้เกลี้ยงเต้าทุก 3 ชั่วโมง
  2. กระตุ้นเต้านม โดยใช้ผ้าอุ่นจัดประคบเต้านม 3 – 5 นาที จากนั้นนวดเต้านม และคลึงหัวนมเบา ๆ ก่อนให้นมลูก
  3. ให้ลูกดูดนมแม่อย่างถูกวิธี ที่สำคัญต้องให้ลูกงับหัวนม จนถึงลานนมได้ลึกพอ
  4. ไม่ควรป้อนน้ำ นมผสม หรืออาหารเสริมอื่น ก่อนที่ลูกจะมีอายุได้ 6 เดือน
  5. หายใจลึก ๆ ทำใจให้สบาย ไม่เครียด เพื่อให้รู้สึกผ่อนคลาย ขณะให้นมลูก หรือขณะปั๊มนม
  6. ทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ และรับประทานอาหาร หรือสมุนไพรที่มีคุณสมบัติเพิ่มน้ำนม
  7. ดื่มน้ำมาก ๆ
  8. ให้ลูกดูดข้างหนึ่ง ปั๊มนมอีกข้างหนึ่งไปพร้อม ๆ กัน เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างน้ำนมเพิ่ม แถมยังช่วยให้ปั๊มน้ำนมออกง่ายกว่า การปั๊มนมตอนที่ลูกไม่ได้ดูดเต้าอีกด้วย แต่วิธีนี้ควรใช้เมื่อน้ำนมสร้างได้มากพอ กล่าวคือประมาณหลัง เดือนไปแล้ว
  9. เพิ่มรอบปั๊มนม ให้แต่ละรอบห่าง 3-4 ชั่วโมง หรือช่วงที่ลูกนอนหลับนานเกิน 3 ชั่วโมง

นวดเต้านม



การปั๊มนมด้วยมือ 

ทุกครั้งที่ไปนอกบ้าน คุณแม่หลาย ๆ ท่านก็อาจจะติดปัญหาที่จะต้องพกเครื่องปั๊มนมไปด้วย จึงทำให้ไม่ได้ปั๊มนมนานหลายชั่วโมง ทำให้นมแข็งเป็นไตซึ่งคุณแม่บางคน อาจยังไม่รู้ว่าถึงไม่ใช้เครื่องแต่ก็ยังสามารถปั๊มนมได้เหมือนเดิมหากรู้วิธีที่ถูกต้อง

บทความที่เกี่ยวข้อง : เครื่องปั๊มนม จำเป็นอย่างไร เลือกอย่างไรให้ปลอดภัยต่อคุณแม่?

ขั้นตอนปั๊มนมด้วยมือ

เป็นขั้นตอนการปั๊มนมด้วยมือ ที่สามารถทำได้ร่วมกับผ้าคลุมให้นม เพราะเมื่ออยู่ข้างนอก อาจมองหาสถานที่ปลอดสายตาผู้คนได้ยาก ผ้าคลุมให้นมจึงเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ต้องพกติดตัว

  1. เตรียมถุงเก็บน้ำนม หรือภาชนะใส่น้ำนม ที่ผ่านการล้างและต้มในน้ำเดือดเพื่อฆ่าเชื้อโรค และควรเป็นขวดปากกว้าง หรือถ้วยที่ทำจากแก้วหรือพลาสติกแข็ง ไม่ควรใช้ภาชนะโลหะ เนื่องจากเม็ดเลือดขาวที่อยู่ในน้ำนมจะเกาะภาชนะ ทำให้ภูมิต้านทานที่ลูกจะได้รับมีปริมาณลดลง
  2. ทำจิตใจให้สบายและผ่อนคลาย พยายามอยู่ในห้องที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก วางภาชนะหรืออุปกรณ์ไว้ใกล้ ๆ มือ
  3. ล้างมือให้สะอาด ด้วยน้ำและสบู่ ก่อนทำการบีบน้ำนม
  4. ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบเต้านม ประมาณ 1 – 3 นาที ก่อนบีบน้ำนม
  5. นวดและคลึงเต้านมเบา ๆ ให้เป็นลักษณะวงกลม เริ่มจากฐานเต้านมเข้าหาหัวนม จากนั้นใช้นิ้วดึงหัวนม และคลึงเบา ๆ เพื่อกระตุ้นการหลั่งน้ำนม
  6. วางปลายนิ้วโป้งและนิ้วชี้ ห่างจากขอบลานนมเล็กน้อย ในตำแหน่งที่ตรงข้ามกัน โดยจะมีลักษณะเป็นรูปตัว C และวางให้นิ้วห่างจากหัวนม ประมาณ 3 – 4 เซนติเมตร กดนิ้วโป้งและนิ้วชี้เข้าหาผนังหน้าอก
  7. บีบนิ้วโป้งและนิ้วชี้เข้าหากันเบา ๆ ลึกลงไปด้านหลังของลานนม แล้วปล่อยมือออกให้เป็นจังหวะ โดยการบีบจะเป็นการเลียนแบบลักษณะการดูดนมของลูก อย่าบีบแต่ตรงปลายหัวนม และไม่ควรรีดคั้นเต้านม กดหัวนม หรือดึงหัวนม เพราะอาจทำให้หัวนมอักเสบได้
  8. ทำตามข้อ 7 ซ้ำ ๆ โดยต้องใจเย็น ๆ เพราะน้ำนมอาจจะยังไม่ไหลออกมาทีเดียว บางครั้งอาจต้องทำไปถึง 1 หรือ 2 นาที กว่าน้ำนมจะไหล
  9. หากเริ่มรู้สึกว่าน้ำนมเริ่มน้อยลง ให้เปลี่ยนตำแหน่งของนิ้วโป้งและนิ้วชี้ ที่กดลานนมไปรอบ ๆ ให้ทั่ว จากนั้นค่อย ๆ บีบน้ำนมออกมา
  10. เปลี่ยนไปนวดคลึง และบีบน้ำนมออกจากเต้านมอีกข้าง โดยปกติจะใช้เวลาบีบน้ำนมข้างละ 5 – 10 นาที และหากเมื่อยนิ้วมือ ก็สามารถเปลี่ยนมาอีกข้างได้
  11. คุณแม่ควรบีบน้ำนมสลับกันไปมาทั้ง 2 ข้าง จนกว่าจะรู้สึกว่า เต้านมนิ่มลงและไม่มีน้ำนมแล้ว หรือจนกว่าจะได้น้ำนมตามปริมาณที่ต้องการ ซึ่งจะใช้ระยะเวลาทั้งหมดประมาณ 20 – 30 นาที

ปัญหาท่อน้ำนมอุดตัน

ท่อน้ำนมอุดตัน เกิดจากท่อส่งน้ำนมบางส่วนอุดตัน  ทำให้น้ำนมไหลไม่สะดวก และมีน้ำนมค้างภายในเต้านม ทำให้เต้านมบางบริเวณมีลักษณะแข็ง เป็นแผ่นหนา หรือเป็นก้อนอยู่ภายในเต้านม โดยไม่ได้เป็นทั่วทั้งเต้านม ผิวหนังที่บริเวณเหนือก้อน กดเจ็บ และอาจจะบวมแดง ลักษณะหัวนมและลานหัวนมผิดรูป บางครั้งอาจมีเส้นเลือดที่ผิวหนังของเต้านมปูด และอาจพบจุดสีขาวที่บริเวณหัวนม (White dot)

นวดเต้านม



สาเหตุของท่อน้ำนมอุดตัน

  • ลูกดูดนมไม่เกลี้ยงเต้า อาจเกิดจากไม่ได้ให้ลูกดูดนมแม่บ่อย หรือจำกัดเวลาในการดูดนมของลูก
  • คุณแม่ปล่อยให้น้ำนมค้างอยู่ในเต้านมนาน
  • คุณแม่มีปริมาณน้ำนมมากเกินไป และไม่ได้ระบายน้ำนมออก หรือระบายออกไม่สมดุลกับปริมาณที่ผลิต
  • ใส่เสื้อชั้นในที่คับแน่นจนเกินไป ทำให้น้ำนมไหลเวียนได้ไม่สะดวก
  • ใส่เสื้อชั้นในที่หลวม ไม่กระชับ ทำให้เต้านมหย่อนคล้อย กดทับท่อส่งน้ำนม
  • ทานอาหารที่มีไขมันมาก หรือ อาหารที่มีความมันมากเกิน
  • คุณแม่มีอาการเครียด ส่งผลต่อการหลั่งฮอร์โมนที่ทำให้น้ำนมไหลลดลง

อย่าลืมว่า นมแม่ เป็นสารอาหารที่ดีที่สุด เพราะเป็นสุดยอดอาหารที่ครบถ้วนสำหรับทารก ซึ่งคุณแม่บางท่านก็อาจพบปัญหาน้ำนมน้อยจึงต้องใช้วิธี “นวดเต้านม” เพื่อช่วยกระตุ้นการทำงานของท่อน้ำนม ถึงแม้ว่าการนวดเต้านม จะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำนมได้ แต่คุณแม่ให้นมลูก ต้องไม่ลืมให้ความสำคัญกับคุณภาพของน้ำนมไปพร้อมกัน ด้วยการทานอาหารที่มีประโยชน์และครบถ้วนตามที่แพทย์แนะนำ นอกจากบีบนวดเต้านมให้น้ำนมเกลี้ยงเต้าแล้ว อย่าลืมดื่มน้ำเปล่าเยอะ ๆ พักผ่อนให้เพียงพอ และนำลูกน้อยเข้าเต้าบ่อย ๆ ด้วยนะคะ เพราะทำควบคู่กันไป จะเป็นการช่วยกระตุ้นน้ำนมได้ดีเลยค่ะ!

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

ทารกแพ้นมแม่ได้จริงหรือ ? ทำไมจึงมีอาการผิดปกติหลังกินนมแม่

รอบรู้ทุกประโยชน์ของนมแม่ และการเก็บรักษานมเพื่อลูกรัก

อาหารเสริมเพิ่มน้ำนม จำเป็นไหม แม่ท้องกินอะไรแล้วช่วยบำรุงน้ำนม?

ที่มา : 1, 2