ทารกแพ้นมแม่ได้จริงหรือ ? ทำไมจึงมีอาการผิดปกติหลังกินนมแม่

เกิดข้อสงสัยเมื่อทารกแพ้อาหารได้ แล้วทารกแพ้นมแม่ได้ไหม ถ้าแพ้ไม่ได้ทำไมลูกน้อยจึงมีอาการเหมือนกับแพ้อาหารเมื่อกินนมแม่ แท้จริงแล้วทารก 

 1260 views

เกิดข้อสงสัยเมื่อทารกแพ้อาหารได้ แล้วทารกแพ้นมแม่ได้ไหม ถ้าแพ้ไม่ได้ทำไมลูกน้อยจึงมีอาการเหมือนกับแพ้อาหารเมื่อกินนมแม่ แท้จริงแล้วทารกนั้นแพ้สารอาหารที่คุณแม่ทานเข้าไปต่างหาก ซึ่งส่งผลโดยตรงกับนมแม่ ดังนั้นคงจะดีหากคุณแม่รู้วิธีรับมือที่ถูกต้องเหมาะสม

ทารกแพ้นมแม่ได้จริงหรือไม่ ?

คุณแม่หลายท่านอาจมีความสงสัยว่า นมจากแม่แท้ ๆ ซึ่งเป็นอาหารมื้อแรกของทารกโดยธรรมชาติ จะทำให้ลูกน้อยแพ้ได้จริง ๆ หรือเปล่า ? เพราะแม่หลายท่านอาจไปเห็นข่าว หรือเห็นบทความอื่น ๆ ที่บอกว่าทารกมีอาการคล้ายคลึงกับอาการแพ้ หลังจากทานนมแม่ไป ซึ่งอาการเหล่านั้นไม่ใช่อาการที่แพ้นมของคุณแม่แต่อย่างใด แต่เป็นอาการที่ทารกได้รับผลกระทบจากสารอาหารที่ได้รับจากนมแม่ต่างหาก หรือจริง ๆ แล้วอาการแพ้ของทารกนั้นมาจากอาหารที่คุณแม่ทานเข้าไปนั่นเอง เนื่องจากส่วนประกอบของน้ำนมจะถูกผลิตมาจากร่างกายของคุณแม่ รวมไปถึงสารอาหารในตัวของคุณแม่นั้น จะถูกส่งผ่านไปสู่ทารก หากทารกแพ้สารอาหารเหล่านั้น จะแสดงอาการผิดปกติออกมา

บทความที่เกี่ยวข้อง : 5 สารอาหารในนมกล่อง เลือกแบบไหนให้ลูกแข็งแรงสมวัย


วิดีโอจาก : พี่กัลนมแม่ Pekannommae mother and child care

ทำไมทารกจึงแพ้สารอาหารในนมแม่ ?

โดยปกติแล้วเด็กทารกจะเกิดอาการแพ้ต่อสารอาหารบางอย่าง ที่คุณแม่ได้ทานเข้าไปเท่านั้น ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับตัวของทารกด้วย หากแม่ดื่ม หรือทานอาหารที่มีส่วนผสมของ “โปรตีนเคซีน (Casein)”  ที่มักพบเจอในนมวัว ซึ่งทารกมีโอกาสแพ้มากที่สุด สามารถส่งผลกระทบต่อการย่อยอาหารของทารกได้ ทารกจะมีลมในท้อง, ท้องเสีย และปวดท้อง อาจเกิดผื่นขึ้นที่ปาก และก้นได้ แต่ไม่ใช่แค่นมเท่านั้นที่ทำให้ทารกแสดงอาการแพ้ อาหารอย่างอื่นที่ทารกอาจแพ้ยังมีอีกหลายอย่าง ตัวอย่างเช่น ถั่วชนิดต่าง ๆ เป็นต้น

ส่วนอาการที่ชัดเจนนอกจากท้องเสียนั้น ทารกอาจแสดงอาการอื่น ๆ ด้วย เช่น แหวะนมบ่อย, ตาเยิ้ม, หายใจติดขัด, จมูกตัน หรือมีมูกหรือเลือดในอุจจาระ เป็นต้น นอกจากนี้อาการคล้ายแพ้อาหารในทารก อาจมาจากภาวะย่อยแล็กโทสผิดปกติ (Lactose Intolerant)

ภาวะย่อยแล็กโทสผิดปกติ คืออะไร ?

ภาวะย่อยแล็กโทสผิดปกติ (Lactose Intolerant) แต่ภาวะนี้ไม่เหมือนกับการแพ้อาหารอย่างที่หลายคนเข้าใจ เพราะไม่ได้ทำให้ภูมิคุ้มกันเกิดการต่อต้าน และไม่ได้อันตรายร้ายแรง หากพบว่าทารกมีภาวะย่อยแล็กโทสผิดปกติ คุณแม่ไม่ต้องงดดื่มนมก็ได้ เพราะภาวะนี้สามารถค่อย ๆ บรรเทาหายไปได้เองตามเวลา ส่วนอาการที่สังเกตได้ว่าลูกเสี่ยงเป็นภาวะย่อยแล็กโทสผิดปกติ ได้แก่ แหวะนม, มีลมในท้อง, ท้องอืด, หงุดหงิด, ท้องเสีย และโตช้า เป็นต้น

ทารกแพ้นมแม่


3 วิธีรับมือเมื่อพบว่าลูกแพ้นมแม่

หากพบว่าทารกมีอาการแพ้ หรืออาการใกล้เคียงกัน สิ่งแรกที่ควรทำเลย คือ พาทารกไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยก่อน และสอบถามในเรื่องที่สงสัย หรือการรับมือ สำหรับคุณแม่ให้นมที่มีความกังวลในเรื่องนี้ สามารถจัดการกับปัญหานี้ได้ใน 3 ขั้นตอน ดังต่อไปนี้

1. หาชนิดอาหารที่ลูกแพ้ให้เจอก่อน

ขั้นตอนแรกต้องเริ่มจากการหาสาเหตุของอาการแพ้ให้เจอก่อน เนื่องจากเด็กแต่ละคนมีอาหารที่แพ้ไม่เหมือนกัน ถึงแม้ส่วนมากอาจพบเจอว่าแพ้นมวัว แต่ก็อาจแพ้อาหารอื่นได้เช่นกัน เช่น ไข่, ถั่ว หรืออาหารทะเล เป็นต้น โดยการสังเกตนั้นสามารถทำได้ด้วยการจดบันทึกมื้ออาหารที่กินในแต่ละมื้อ แต่ละวัน และบันทึกอาการของทารกน้อยหลังจากกินนมแม่ ว่ามีอาการผิดปกติหรือไม่ อย่างไร มีอาการที่เข้าข่ายแพ้สารอาหารในนมแม่หรือเปล่า วิธีนี้จะทำให้คุณแม่สามารถจัดการเตรียมตัวเพื่อป้องกันอาการแพ้ของลูกต่อไปได้

2. งดอาหารที่คาดว่าเสี่ยงไปก่อน

หลังจากการจดบันทึกอาการของทารกแล้ว หากพบว่าอาหารชนิดใดเสี่ยงทำให้ทารกเกิดอาการแพ้ คุณแม่สามารถช่วยลูกได้ด้วยการงดทานอาหารเหล่านั้นอย่างต่ำ 3 สัปดาห์ ระหว่างนั้นให้สังเกตว่า ทารกเมื่อกินนมแม่ยังคงมีอาการผิดปกติอะไรเพิ่มใหม่ หรืออาการเบาลง ไม่ได้เป็นซ้ำหรือเปล่า หากอาการทารกดีขึ้น และไม่เป็นซ้ำแสดงว่าอาหารที่คุณแม่งดไปนั้น เป็นสารอาหารที่ลูกแพ้จริง ๆ คุณแม่ควรงดทานอาหารชนิดนั้นต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าลูกจะหย่านม หากอาการของทารกไม่ดีขึ้น หรือเกิดขึ้นซ้ำ เป็นไปได้ว่าอาหารที่คุณแม่งดไป อาจไม่ใช่อาหารที่ลูกแพ้นั่นเอง

3. ระวังอาการพร้อมปรึกษาแพทย์

ถึงแม้อาการแพ้สารอาหารในนมแม่จะสามารถบรรเทาได้ และป้องกันได้ หากรู้ว่าทารกน้อย แพ้อาหารชนิดไหน แต่หากอาการของทารกไม่ดีขึ้น หรือผู้ปกครองมีความสงสัยเกี่ยวกับอาการต่าง ๆ ไม่ควรตัดสินใจสั่งซื้อยาด้วยตนเอง หรือรักษาตามคำบอกเล่าอย่างเด็ดขาด ผู้ปกครองควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำตอบที่ถูกต้องปลอดภัย ประกอบกับการตามดูอาการของทารกอย่างใกล้ชิด หากรู้ว่าทารกแพ้อะไร และรู้ว่าอาการไม่อันตรายมาก ขอทานแค่มื้อเดียวคงไม่เป็นอะไร หากคิดแบบนี้อาจเกิดอันตรายขึ้นได้ เพราะยังมีกลุ่มอาการที่อาจเกิดขึ้นอย่างรุนแรงได้ หากไม่ระวังให้ดี

ทารกแพ้นมแม่ 2


หากลูกแพ้สารอาหารในนมแม่ต้องรับบริจาคนมไหม ?

คุณแม่หลายคนอาจรู้จักกับธนาคารนมแม่ ที่จะมีบริการเก็บน้ำนมเอาไว้ใช้สำหรับทารกที่มีข้อบ่งชี้ว่า ไม่สามารถรับนมแม่โดยธรรมชาติได้ ซึ่งต้องเป็นการยืนยันจากแพทย์เท่านั้น สำหรับทารกที่แพ้สารอาหารในนมแม่นั้น สามารถแก้ปัญหาได้จากการปรับมื้ออาหารของคุณแม่ เพียงเท่านี้ก็จะสามารถช่วยแก้ปัญหาได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องรับบริจาคน้ำนมแต่อย่างใด เพราะการรับน้ำนมจากแม่คนอื่นนั้น อาจมีความเสี่ยงต่าง ๆ แฝงมาด้วย ถึงแม่ที่บริจาคจะรับการตรวจแล้วก็ตาม นอกจากแพทย์จะลงความเห็นว่าทารกควรรับบริจาคนมเท่านั้น จึงจะควรทำ และต้องทำตามขั้นตอนที่ถูกต้องด้วย

ทารกแพ้นมแม่ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ ปัญหานี้เป็นหนึ่งในปัญหาที่สามารถพบเจอได้ แต่หากรู้วิธีรับมือ และวิธีการป้องกันที่ถูกต้อง ผู้ปกครองจะมั่นใจได้ว่าทารกจะปลอดภัยได้มากขึ้นแน่นอน

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

รีวิว 6 นม UHT สำหรับเด็ก ยี่ห้อไหนดี ช่วยให้สารอาหารสมองดีที่สุด

ทารกท้องอืด เกิดจากสาเหตุใด คุณแม่รับมือกับอาการนี้ได้อย่างไรบ้าง ?

DHA กับ 3 คุณประโยชน์ที่มากกว่าแค่พัฒนาสมอง และดวงตา

ที่มา : 1, 2