สิทธิประกันสังคมแม่ท้อง มีหลายสิทธิ หากยังเป็นผู้ประกันตน และยังคงจ่ายประกันต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอ จะสามารถใช้สิทธิได้ตั้งแต่ลาคลอดไปจนถึงเบิกค่าฝากครรภ์ ตามที่กฎหมายกำหนด สำหรับคุณแม่คนไหนที่ยังไม่รู้ สามารถศึกษาได้จากบทความนี้
อัปเดตสิทธิประกันสังคมแม่ท้อง 2566 มีอะไรบ้าง ?
แม่ท้องมีประกันสังคมหลายอย่าง ที่คุณแม่อาจมองข้ามไป หากมีเอกสาร และข้อบ่งชี้ตรงตามเงื่อนไข ไม่ว่าจะเป็น ค่าคลอดบุตร, กองทุนกรณีสงเคราะห์บุตร, ลาคลอด, และค่าฝากครรภ์ ทุกสิทธิเป็นของคุณแม่ที่ควรจะได้รับ เพราะเป็นสิทธิของคุณแม่เอง หากคุณแม่ยังไม่รู้ว่าแต่ละสิทธิต้องเตรียมตัวอย่างไร เอกสารที่ต้องมี หรือเงื่อนไขอะไรบ้างที่ต้องรู้ เราจะอธิบายให้คุณแม่เข้าใจเอง
วิดีโอจาก : Around-Review
สิทธิประโยชน์ค่าคลอดบุตร
- การจะใช้สิทธินี้จะต้องจ่ายเงินประกันมาแล้วไม่ต่ำกว่า 5 เดือนขึ้นไป หรือภายใน 15 เดือนก่อนคลอด โดยเงินที่ได้รับจะเป็นแบบเหมาจ่าย 15,000 บาท
- สามารถรับเงินกรณีหยุดงาน โดยจะคิดเป็น 50 % ของค่าจ้าง ในช่วงระยะเวลา 90 วัน
- กรณีทั้งคุณพ่อ และคุณแม่เป็นผู้ประกันตน จะใช้สิทธิได้แค่ 1 คนเท่านั้น แต่ไม่จำกัดจำนวนของบุตร และจำนวนครั้งในการใช้ในครรภ์ต่อ ๆ ไป
เอกสารที่ต้องใช้ในการยื่นเงินคลอดบุตร
- แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน สปส. 2-01 กรอกข้อมูลครบถ้วน
- สำเนาสูติบัตรของบุตร 1 ชุด หากเป็นลูกแฝดให้แนบมาทั้งหมด
- สำเนาบัญชีเงินฝากธนาคารแบบออมทรัพย์ ถ่ายหน้าแรกมีเซ็นรับรอง ธนาคารที่ใช้ได้ คือ ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารทหารไทยธนชาต, ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารซีไอเอ็มบีไทย
- ยื่นเอกสารที่สำนักงานประกันสังคมได้ตามจุดที่สะดวก ยกเว้นสำนักงานใหญ่ที่กระทรวงสาธารณสุข
- หากเป็นคุณพ่อขอใช้สิทธิ ต้องแสดงทะเบียนสมรส หากไม่มีให้ใช้ใบรับรองผู้ประกันตนแทน
โดยการรับเงินจะเป็นการรับโอน หรือรับเป็นเงินสดให้ผู้ขอรับประโยชน์ทดแทน หากผู้ที่มายื่นเอกสารเป็นตัวแทน จะได้รับเป็นเช็ค ผู้ขอรับประโยชน์ทดแทน สามารถยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับจากวันที่แจ้งคำสั่ง หากไม่เห็นด้วยกับการสั่งจ่ายประโยชน์ทดแทนนี้
บทความที่เกี่ยวข้อง : คลอดธรรมชาติดีอย่างไร ทำอย่างไรจึงจะคลอดแบบธรรมชาติได้ ?
สิทธิสงเคราะห์บุตร
- ต้องเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 หรือ 39
- จ่ายเงินสมทบไม่ต่ำกว่า 12 เดือน ในช่วง 36 เดือน ก่อนเดือนที่ได้รับผลประโยชน์
- ผู้ประกันตนจะได้เงิน 800 บาท / บุตร 1 คน โดยบุตรจะต้องเห็นชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น
- บุตรจะต้องมีอายุแรกเกิด – 6 ปี ไม่เกิน 3 คน ยกเว้นผู้ประกันตนที่ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต จะได้รับผลประโยชน์ตอนอายุครบ 6 ปี
เอกสารที่ต้องใช้ในการยื่นสงเคราะห์บุตร
- แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกองทุนประกันสังคม (สปส. 2-01)
- กรณีคุณแม่เคยยื่นใช้สิทธิแล้ว และต้องการใช้สิทธิให้บุตรคนเดิม ต้องใช้หนังสือขอใช้สิทธิบุตรคนเดิม 1 ฉบับ
- สำเนาสูติบัตรบุตร 1 ชุด กรณีคุณพ่อขอใช้สิทธิ ใช้สำเนาทะเบียนสมรส หรือสำเนาทะเบียนหย่า พร้อมบันทึกแนบท้ายผู้ประกันตน หรือสำเนาทะเบียนรับรองบุตร หรือสำเนาคำพิพากษา คำสั่งศาลด้วยกฎหมาย พร้อมกับสำเนาสูติบัตรบุตร 1 ชุด
- หากมีการเปลี่ยนชื่อ ให้แนบเอกสารเปลี่ยนชื่อ 1 ชุด
- สำเนาบัญชีเงินฝากธนาคารแบบออมทรัพย์ ถ่ายหน้าแรกมีเซ็นรับรอง ธนาคารที่ใช้ได้ คือ ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารทหารไทยธนชาต, ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารซีไอเอ็มบีไทย
- เอกสารประกอบการยื่นคำขอประโยชน์ทดแทน ทุกฉบับเซ็นรับรองความถูกต้อง และแสดงเอกสารที่เป็นต้นฉบับ กรณีที่พิจารณาเป็นภาษาต่างประเทศ ให้จัดทำคำแปลภาษาไทย และรับรองความถูกต้องด้วย
สิทธิลาคลอด
วันลาคลอด และวันลาตรวจก่อนคลอดรวมแล้ว จะได้วันลาทั้งหมด 98 วัน โดยวันลาคลอดจะมี 90 วัน และวันลาก่อนคลอด 8 วัน โดยประกันจะจ่ายค่าจ้าง 45 วัน และนายจ้างจะจ่ายค่าจ้าง 45 วัน ส่วนในวันลาก่อนคลอด 8 วัน ไม่ได้มีการระบุไว้ว่าใครต้องจ่าย จึงเป็นวันที่คุณแม่อาจไม่ได้รับค่าจ้าง แต่สิทธิในการลาคลอดนี้ อาจมีข้อจำกัด หรือข้อตกลงที่แตกต่างกันไป ซึ่งคุณแม่จะต้องศึกษาในสัญญาของแต่ละบริษัทด้วย
เงื่อนไขการใช้สิทธิลาคลอดของผู้ประกันตน
- จ่ายประกันอย่างน้อย 5 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนคลอดบุตร
- สิทธิลาคลอดใช้ได้เฉพาะคุณแม่เท่านั้น คุณพ่อไม่สามารถใช้ได้
- ยอดการจ่ายรอบละ 15,000 บาท ถึงเงินเดือนจะมากกว่าจะได้รับแค่ 15,000 บาท
- สามารถรับค่าคลอดบุตรไม่จำกัดจำนวนครั้งการมีบุตร
- หากลา 90 วันแล้วกลับมาทำงานตามปกติ จะยังได้รับเงินลาคลอดอยู่
สิทธิฝากครรภ์ของผู้ประกันตน
คณะกรรมการการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม มีประกาศเรื่องฝากครรภ์ตามเกณฑ์คุณภาพ ผู้ประกันตนจะได้รับค่าฝากครรภ์ 5 ครั้ง รวมเป็นเงิน 1,500 บาท แบ่งจ่ายตามอายุครรภ์ ดังนี้
- ไม่เกิน 12 สัปดาห์ จ่ายในอัตราจริงไม่เกิน 500 บาท
- มากกว่า 12 สัปดาห์ ไม่เกิน 20 สัปดาห์ จ่ายในอัตราจริงไม่เกิน 300 บาท
- มากกว่า 20 สัปดาห์ ไม่เกิน 28 สัปดาห์ จ่ายในอัตราจริงไม่เกิน 300 บาท
- เกิน 28 สัปดาห์ ไม่เกิน 32 สัปดาห์ จ่ายในอัตราจริงไม่เกิน 200 บาท
- เกิน 32 – 40 สัปดาห์ขึ้นไป จ่ายในอัตราจริงไม่เกิน 200 บาท
เอกสารที่ต้องใช้ในการเบิกฝากครรภ์
- แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน กองทุนประกันสังคม สปส. 2-01
- ใบเสร็จจากสถานพยาบาลที่คุณแม่ทำการฝากครรภ์
- สมุดบันทึกแม่ และเด็ก หรือใบรับรองแพทย์ ของช่วงอายุครรภ์
- หากคุณพ่อมาเบิกเงินแทนคุณแม่ ต้องมีหลักฐานการสมรสมาด้วย
*เอกสาร สปส. 2-01 ที่ใช้ในการขอยื่นรับสิทธิต่าง ๆ สามารถโหลดได้ ที่นี่
สิทธิประกันสังคมแม่ท้อง มีการเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมในแต่ละปี คุณแม่จึงควรติดตามการประกาศจากสำนักงานประกันสังคม เพื่อสิทธิของตนเองอย่างสม่ำเสมอ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
อัลตราซาวนด์สำคัญอย่างไร เหตุผลที่คุณแม่ท้องควรตรวจทุกไตรมาส
สีปัสสาวะคนท้อง บ่งบอกอะไร ปัสสาวะแบบไหนอันตรายต่อแม่ท้อง ?
ผ่าคลอดแล้ว ท้องต่อไปจะต้องผ่าอีกไหม ครรภ์แบบไหนต้องผ่าคลอด ?