มีคำกล่าวที่พูดต่อกันมาว่า วิตามินบี 1 หากได้รับในปริมาณที่ไม่เพียงพอ อาจเป็นต้นเหตุของการเสียชีวิต คำกล่าวนี้จริงหรือไม่ แล้วแม่ท้องจะต้องระวังแค่ไหน วันนี้ Mama Story มีคำตอบมาให้ทุกคนค่ะ!
ก่อนอื่นต้องเข้าใจกันก่อนว่าในปัจจุบันนี้ มีผลสำรวจที่ระบุไว้ว่าคนไทยส่วนใหญ่ มีภาวะการขาดวิตามินบี 1 เป็นจำนวนมาก ซึ่งสาเหตุหลักมากจากการบริโภคอาหารในแต่ละวันไม่ครบ 5 หมู่ ซึ่งวิตามินชนิดนี้ อยู่ในกลุ่มสารอาหารที่สามารถละลายในน้ำ ร่างกายจึงไม่กักเก็บไว้ใช้และขับออกมาจนหมดโดยอัตโนมัติ ดังนั้น คนปกติและคุณแม่ตั้งครรภ์จึงควรรับวิตามินบี 1 เข้าสู่ร่างกายเป็นประจำทุกวัน เพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคขาดสารอาหาร อาการมือชา เท้าชา ลามไปถึงโรคหัวใจได้
วิตามินบี 1 คืออะไร ?
ไทอามีน (thiamine) หรือที่รู้จักกันในชื่อ วิตามินบี 1 เป็นวิตามินที่ละลายในน้ำ ดังนั้น หลังจากรับประทานแล้ววิตามินชนิดนี้จะอยู่ในร่างกายไม่นานนัก หลังจากนั้นจะถูกขับออกจากร่างกายผ่านทางไตแล้วขับออกไปกับปัสสาวะ ไม่เก็บสะสมไว้ในร่างกายและมนุษย์ไม่สามารถสร้างวิตามินชนิดนี้ได้เอง เราจึงต้องการวิตามินบี 1 จากอาหารที่รับประทานอย่างสม่ำเสมอ
หน้าที่หลัก ๆ ของวิตามินชนิดนี้คือ ทำหน้าที่เป็นโคเอนไซม์ (coenzyme) ของการสร้างพลังงานในร่างกาย โดยเฉพาะการเผาผลาญแป้ง ช่วยให้เกิดการสร้างพลังงานให้แก่อวัยวะต่าง ๆ ได้ตามปกติ นอกจากนี้ยังเป็นส่วนประกอบสำคัญของเนื้อเยื่อประสาทอีกด้วย
ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับระบบอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกาย หากขาดหรือได้รับไม่เพียงพอ จะทำให้สูญเสียการควบคุม ระบบประสาทไม่สั่งงาน มีความเสี่ยงต่อโรคเหน็บชา และภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ อย่างเช่น ตัวบวม เริม ภูมิแพ้ และภาวะหัวใจเต้นเร็ว
บทความที่เกี่ยวข้อง : คนท้องกินโยเกิร์ตได้ไหม ช่วยบำรุงครรภ์ได้จริงหรือไม่?
สัญญาณเตือนว่า กำลังขาดวิตามินบี 1
อย่างที่กล่าวว่าการขาดวิตามินบี 1 ทำให้เกิดโรคเหน็บชาได้ง่าย ซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ทุกวัย เช่น โรคเหน็บชาในทารก หรือ Infantile Beriberi พบว่ามีอัตราการเสียชีวิตมากทั้งผู้ใหญ่และเด็ก ในประเทศที่นิยมรับประทานข้าวขัดสีหรือข้าวขาวเป็นหลัก โดยจะแสดงอาการ ดังนี้
อาการทั่วไป
- รู้สึกเหนื่อยง่าย เมื่อยล้า ไม่ค่อยมีแรง
- เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอ
- อารมณ์ไม่คงที่ ขี้ลืม มึนงงบ่อย ๆ
อาการขั้นรุนแรง
- การเคลื่อนไหวไม่สัมพันธ์กับระบบประสาท
- สมองไม่สั่งงานมือและเท้า
- เกิดอาการชา ตามนิ้วมือ นิ้วเท้า
- เป็นอัมพาต
- ภาวะหัวใจวาย
ทั้งนี้สาเหตุการขาดวิตามินบี 1 มาจากการรับสารอาหารในแต่ละวันไม่เพียงพอ ประกอบกับการบริโภคคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป จนทำให้ใช้ไทอามีนในการเผาผลาญเยอะ อีกทั้งวิตามินได้ถูกทำลายจากการปรุงด้วยอุณหภูมิที่ร้อนจัด หรือถูกทำลายจากแอลกอฮอล์ คาเฟอีน น้ำ อากาศ อยู่เป็นประจำ รวมไปถึงการใช้ยาลดกรดในกระเพาะ และยาในกลุ่มซัลฟา เป็นต้น
ปริมาณวิตามินบี 1 ที่แนะนำในแต่ละวัน
- ผู้ใหญ่ทั่วไป ควรได้รับวิตามินบี 1 จากอาหารวันละ 1-1.5 มิลลิกรัมต่อวัน
- หากต้องรับวิตามินบี 1 ในรูปแบบของอาหารเสริม ควรได้รับปริมาณวันละ 25-500 มิลลิกรัมต่อวัน (ในรูปแบบของวิตามินบีรวม)
- คุณแม่ตั้งครรภ์และคุณแม่ให้นมบุตร ควรได้รับวิตามินบี 1 จากอาหารมากกว่า 1.6 มิลลิกรัมต่อวัน
- ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าขาดวิตามินบี 1 และคนดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ควรได้รับวิตามินบี 1 ปริมาณมากกว่าคนปกติ
วิตามินบี 1 มีประโยชน์อย่างไร
- ช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตของร่างกาย ช่วยในการสร้างกล้ามเนื้อ
- มีส่วนสำคัญในกระบวนการย่อยคาร์โบไฮเดรต หรืออาหารจำพวกแป้ง
- สำคัญต่อระบบประสาท ช่วยบำรุงสมอง สมาธิ สติปัญญาให้มีความจำดีขึ้น
- บำรุงกล้ามเนื้อหัวใจให้ทำงานได้ดี
- ป้องกันและรักษาอาการเหน็บชา และปลายประสาทต่าง ๆ
- ลดอาการเมา มึนงง ขณะเดินทาง เช่น เมารถ เมาเครื่องบิน
- ลดอาการปวดหลังทำฟัน
- มีส่วนช่วยรักษา โรคงูสวัด
- ป้องกันโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
อาหารที่สามารถรับ วิตามินบี 1
ถ้าพูดถึงการเสริมวิตามินเสริมต่าง ๆ ให้แก่ร่างกาย คนทั่วไปมักจะนึกถึงการรับประทานในรูปแบบของอาหารเสริม แต่จริง ๆ แล้วในชีวิตประจำวัน เราสามารถรับประทานอาหารที่มีวิตามินบี 1 จากธรรมชาติได้ไม่ยาก ซึ่งแหล่งอาหารที่พบวิตามินบี 1 ในปริมาณมาก ได้แก่
1. ข้าวไม่ขัดสี ข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอร์รี
เรามักจะถูกสอนว่า กินข้าวกล้อง ช่วยป้องกันโรคเหน็บชา เรื่องนี้คือความจริงค่ะ เพราะในข้าวกล้องหรือข้าวไม่ขัดสีมีไทอามีนสูง ซึ่งข้าวกล้อง 100 กรัมมีปริมาณวิตามินบี 1 ถึง 0.55 มิลลิกรัม
2. ข้าวเหนียวดำ
ข้าวเหนียวดำ ข้าวที่มักถูกนำมาทำเป็นของหวานไทย มีความหนึบเหนียว อร่อย ให้ประโยชน์ทางโภชนาการสูง เป็นแหล่งวิตามินบี 1 ซึ่งในปริมาณ 100 กรัมจะมีไทอามีนถึง 0.55 มิลลิกรัม
3. เมล็ดทานตะวัน
พืชตระกูลถั่ว เป็นอาหารที่มีวิตามินและแร่ธาตุสูง ซึ่งเมล็ดทานตะวันเป็นอีกหนึ่งธัญพืชสามารถรับประทานได้ตั้งแต่ต้นอ่อน และนำเมล็ดไปสกัดน้ำมัน รวมถึงเมล็ดที่ถูกนำมาอบเพื่อรับประทานเล่น ซึ่งเมล็ดทานตะวันอบธรรมชาติ 100 กรัม จะมีวิตามินบี 1 สูงถึง 1.48 มิลลิกรัมทีเดียว
4. ถั่วแมคาเดเมีย
ถั่วแมคาเดเมียที่นำไปทำขนมเพื่อเพิ่มรสชาติและความอร่อย ซึ่งในถั่วนี้มีวิตามินบี 1 อยู่ประมาณ 0.71 มิลลิกรัม จากถั่ว 100 กรัม แต่ต้องระวังปริมาณไขมันด้วย ถึงแม้จะเป็นไขมันดี แต่ควรรับประทานอย่างเหมาะสม
5. ถั่วเหลือง
คนทั่วไปนิยมดื่มน้ำนมถั่วเหลืองและนำเต้าหู้มาประกอบอาหารอยู่เป็นประจำค่ะ นอกจากในถั่วเหลืองจะมีโปรตีนสูงแล้ว ในปริมาณ 100 กรัม ให้วิตามินบี 1 อยู่ 0.73 มิลลิกรัม และคุณแม่ท้องสามารถรับประทานได้ทุกวัน
6. ฝักและเมล็ดถั่วลันเตา
ถ้าพูดถึงถั่วลันเตาแบบฝักอ่อน สามารถนำมาผัดกับเนื้อสัตว์เป็นอาหาร หรือเครื่องเคียง ส่วนเมล็ดที่โตแล้วจะถูกนำมาประกอบอาหารอื่น ๆ ได้อีกเช่นกัน รวมถึงนำไปอบเป็นของว่างทานเล่น ทราบหรือไหมว่า ถั่วลันเตาแบบเมล็ดกลม ๆ มีไทอามีนสูง อยู่ที่ 0.386 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัมเลยค่ะ
7. ต้นหน่อไม้ฝรั่ง
หน่อไม้ฝรั่ง ถือเป็นแหล่งของไทอามีนที่ดี โดยหน่อไม้ฝรั่ง 1 ถ้วย จะมีวิตามินบี 1 อยู่ 0.19 มิลลิกรัม ผักชนิดนี้ดีสำหรับแม่ท้อง เพราะให้ธาตุเหล็กสูงอีกด้วย
8. ขนมปังธัญพืช หรือโฮลวีต
สำหรับคุณแม่ท้องแนะนำให้เลี่ยงขนมปังขาวไปก่อน โดยหันมารับประมาณขนมปังชนิดโฮลวีต หรือโฮลเกรนแทนค่ะ เพราะให้ไฟเบอร์สูง แถมยังดีต่อระบบขับถ่าย ซึ่งในขนมปังเหล่านี้มีวิตามินบี 1 สูง 0.47 มิลลิกรัมต่อขนมปัง 1 แผ่นใหญ่หรือประมาณ 80-100 กรัม
9. เนื้อสัตว์
เนื้อสัตว์อย่าง หมูเนื้อแดงไร้ไขมัน จะมีไทอามีนเยอะมาก หากกำลังตั้งครรภ์ ควรเลือกบริโภคเนื้อไม่ติดมัน เช่น ส่วนสันในและสันนอก ซึ่งเนื้อหมูหรือเนื้อวัว 100 กรัม จะให้วิตามินบี 1 สูงถึง 1.12 มิลลิกรัม
10. ปลาเทราต์
ใครที่ไม่รับประทานเนื้อสัตว์เพราะกลัวย่อยยาก หรือเบื่อปลาแซลมอนแล้ว ลองหันมากินปลาเทราต์ดูค่ะ เพราะในเนื้อปลาเทราท์ 100 กรัม มีวิตามินบี 1 อยู่ 0.43 มิลลิกรัม การกะปริมาณปลา ลองวัดจาก 8-10 ช้อนโต๊ะ จะเท่ากับ 100-150 กรัม
วิตามินบี 1 คล้ายสารอาหารที่ถูกมองข้าม เพราะคนส่วนใหญ่เน้นไปที่การรับประทานวิตามินบีรวม แบบอาหารเสริม แต่ความจริงแล้ว เราต้องใส่ใจกับอาหารที่รับประทานเข้าไปในแต่ละมื้อ โดยเฉพาะคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ ที่ต้องเพิ่มและแบ่งสารอาหารไปสู่ทารก อีกทั้งคนปกติ หากขาดวิตามินบี 1 แล้ว จะเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา เช่น ไตวาย โรคหัวใจล้มเหลว ไทรอยด์เป็นพิษ อย่างไรก็ตามการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ถูกหลักโภชนาการ ย่อมเป็นผลดีต่อคนทุกเพศทุกวัยค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
แม่ท้องกินไฟเบอร์ ช่วยบรรเทาอาการท้องผูกจริงหรือไม่ ?
แม่ท้องควรรู้! ทาน โอเมก้า 3 อย่างไร ให้ปลอดภัยต่อลูกในครรภ์
แม่ท้องกินไข่ ดีอย่างไร ทานวันละกี่ฟองถึงจะดี?
ที่มา : 1