กำลังเป็นที่นิยมเลยกับการ คลอดลูกในน้ำ เมื่อคุณแม่เดินทางมาครบ 40 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ นั่นก็แปลว่าจะถึงกำหนดคลอดแล้ว ซึ่งโดยปกติ วิธีการคลอดลูกที่เรารู้จักกันก็จะมีอยู่สองแบบ คือ การคลอดแบบธรรมชาติ และแบบผ่าคลอด แต่ก็จะมีการคลอดธรรมชาติอีกรูปแบบหนึ่ง เป็นทางเลือกที่จะน่าสนใจสำหรับแม่ท้อง คือ คลอดลูกในน้ำ ที่สามารถช่วยบรรเทาความเจ็บปวดที่จะเกิดขึ้นขณะคลอด จะเป็นอย่างไรบ้าง ตามไปอ่านกันเลย
คลอดลูกในน้ำ
เป็นวิธีหนึ่งของการ คลอดลูกแบบธรรมชาติ แต่จะแตกต่างจากการคลอดลูกธรรมชาติทั่วไป ตรงที่จากปกติแล้วแม่ท้องจะทำการเบ่งคลอดอยู่บนเตียง ในทางกลับ กันการคลอดลูกในน้ำ ก็คือการที่แม่ท้องทำการเบ่งคลอด ขณะที่อยู่ในน้ำ ซึ่งการคลอดลูกในน้ำนั้น ปลอดภัยต่อทั้งคุณแม่ และทารกอย่างแน่นอน เนื่องจากน้ำที่แม่ท้องใช้ในการคลอดนั้น จะต้องผ่านการฆ่าเชื้อโรค และกำจัดแบคทีเรียที่อาจทำให้เกิดอันตรายเรียบร้อยแล้ว ถึงแม้การคลอดในน้ำ จะไม่ค่อยเห็นได้บ่อย ๆ ในไทย แต่วิธีนี้เป็นที่นิยมเป็นอย่างมากในต่างประเทศมาเป็นเวลานานแล้ว ซึ่งวิธีนี้สามารถช่วยลดความเครียดให้ทารกขณะคลอดได้ด้วย เนื่องจากพวกเขาได้ใช้เวลาสักครู่ในน้ำเพื่อปรับสภาพร่างกายอีกด้วย
บทความที่เกี่ยวข้อง : ผ่าคลอดแล้ว ท้องต่อไปจะต้องผ่าอีกไหม ครรภ์แบบไหนต้องผ่าคลอด ?
อุปกรณ์ที่ใช้ในการคลอด
- อ่าง หรืออ่างอาบน้ำที่ได้รับการฆ่าเชื้อ ทำความสะอาด จนปราศจาก เชื้อโรคและแบคทีเรียเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ทั้งแม่ท้องและทารกที่กำลังจะคลอด
- น้ำอุณหภูมิที่เหมาะสม ซึ่งได้แก่ 35-37 องศาเซลเซียส และน้ำก็ต้องผ่านการฆ่าเชื้อเรียบร้อยแล้ว
- ในคุณแม่บางรายอาจต้องมีการติดเครื่องมือแพทย์เพื่อติดตามอัตราการเต้นของหัวใจ ความดันอย่างใกล้ชิด
การคลอดลูกในน้ำ แบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอนดังนี้
- ในช่วงก่อนคลอด ให้คุณแม่ลงไปนั่งเตรียมตัว แช่อยู่ในอ่างน้ำอุ่นขนาดใหญ่ ที่มีน้ำอยู่ท่วมท้องบริเวณท้องของคุณแม่ เพื่อเป็นการปรับตัวก่อนคลอด น้ำจะต้องเป็นอุณหภูมิที่อุ่นพอดี อยู่ที่ประมาณ 35-37 องศาเซลเซียส เป็นอุณหภูมิที่ใกล้เคียงกับเวลาที่ทารกอยู่ในครรภ์ของแม่
- เมื่อปากมดลูกเปิดเต็มที่แล้ว ให้คุณแม่ทำการเบ่งคลอดได้ตามปกติ โดยไม่ต้องกังวลว่าทารกจะจมน้ำ หรือขาดอากาศ เนื่องจากในช่วงแรก ทารกจะยังได้รับออกซิเจนผ่านทางสายสะดือ และแรงดันของน้ำจะช่วยในการพยุงตัวทารกไม่ให้จม เหมือนกับตอนที่ยังอยู่ในครรภ์ของแม่ ดังนั้น ทารกจะอยู่ในน้ำได้ประมาณ 1 นาทีอย่างปลอดภัย พอลูกน้อยออกมาแล้วแพทย์ก็จะทำการช่วยอุ้มทารกขึ้นมาจากน้ำ ตัดสายสะดือ และนำทารกไปทำความสะอาดให้เรียบร้อยต่อไป
การคลอดในน้ำนั้น จริง ๆ แล้วสามารถทำได้ในอ่างที่บ้าน แต่ห้ามทำด้วยตัวเองนะคะ ยังจำเป็นที่จะต้องมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อคอยดูแลขั้นตอนทุกกระบวนการการคลอด ดังนั้นเราแนะนำให้เลือกคลอดในน้ำที่โรงพยาบาลจะดีที่สุด นอกจากนี้แม่ที่คลอดลูกในน้ำบางคน ยังจำเป็นที่จะต้องติดเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อ ติดตามว่าร่างกายมีความผิดปกติเกิดขึ้นขณะคลอดหรือไม่ และเพื่อตรวจเช็กอัตราการเต้นหัวใจของทารกด้วย (ในส่วนนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ ในบางครั้งอาจไม่ต้องติดเครื่องมือต่าง ๆ ก็ได้)
มีข้อดีและข้อเสียอย่างไร
ข้อดี
- แม่ท้องที่ทำคลอดในน้ำจะรู้สึกสบายตัว และผ่อนคลายความเครียดได้ มากกว่าการคลอดบนบกปกติ เนื่องจากต้องมีการควบคุมอุณหภูมิของน้ำให้อุ่นพอดี ประมาณ 35-37 องศาเซลเซียส
- ช่วยลดความดันโลหิตที่เกิดจากการวิตกกังวลได้ รวมถึงอาการวิตกกังวลด้วยเช่นกัน
- แม่ท้องสามารถขยับตัวได้อย่างอิสระเนื่องจากน้ำ จะช่วยทำการพยุงตัวคุณแม่ไว้ด้วย คุณแม่สามารถปรับตำแหน่ง ท่าคลอดให้สบายตัวยิ่งขึ้นได้
- ความดันน้ำ มีส่วนช่วยให้ปากมดลูกเปิดไวกว่า เนื่องจากเป็นน้ำจะไปช่วยกระตุ้น ซึ่งดีต่อแม่ท้องที่ยังไม่มีสัญญาณเตือนคลอดนั่นเอง
- น้ำอุ่น ๆ จะช่วยลดความเจ็บปวดของแม่ท้องได้มากกว่า โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการปวด
- ช่วยลดแรงเบ่งของแม่ท้อง อีกทั้งลดการฉีกขาดของช่องคลอด
- ร่างกายของแม่ท้องหลังคลอด ที่คลอดในน้ำ มักจะฟื้นตัวได้ไวกว่า
- ช่วยลดอาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อได้
ข้อเสีย
- ทารกมีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายกว่า เนื่องจากการเจริญเติบโตของเชื้อโรคในน้ำจะมีมากกว่าการคลอดแบบปกติ
- ทารกอาจหายใจไม่ออก เนื่องจากถูกช่องคลอดบีบอัด หรือสายสะดือถูกบิดงอ หรือสำลักน้ำได้ แต่กรณีดังกล่าวพบได้น้อยมาก หากมีแพทย์ดูแลอย่างใกล้ชิด
- บางรายที่สายสะดือสั้นอาจเกิดการฉีกขาดระหว่างทารกคลอดออกมาได้ง่าย
- หากรักษาความสะอาดในขั้นตอนต่าง ๆ ได้ไม่ดี อาจเกิดการติดเชื้อตามมาภายหลัง
บทความที่เกี่ยวข้อง : 10 วิธีการเตรียมตัวก่อนคลอด มีอะไรบ้างที่คุณแม่ควรเตรียมให้พร้อม
แม่ท้องคนไหนคลอดในน้ำได้บ้าง
โดยปกติแล้วการคลอดลูกในน้ำนั้นเป็นวิธีที่ปลอดภัย จึงเหมาะสำหรับแม่ท้องที่แข็งแรงทุกคน แต่ก็มีข้อจำกัดอยู่บางประการ ได้แก่
- แม่ท้องที่มีอายุต่ำกว่า 17 ปี หรืออายุมากกว่า 35 ปี
- แม่ท้องที่ตั้งครรภ์ลูกแฝด
- ทารกในครรภ์ของแม่ท้องไม่ได้อยู่ในท่าที่พร้อมคลอดปกติ ซึ่งคือท่าเอาหัวลง
- ทารกที่มีน้ำหนักตัวเยอะเกินไป
- คุณแม่ที่มีภาวะคลอดก่อนกำหนด
- คุณแม่ที่มีโรคประจำตัว อย่างเช่น โรคความดันโลหิตสูง หรือลมชัก เป็นต้น
- คุณแม่ที่มีโรคติดต่อ การคลอดในน้ำเสี่ยงทำให้ติดโรคได้ง่ายกว่าปกติ
- คุณแม่ที่เสี่ยงติดเชื้อได้ง่าย
- คุณแม่มีภาวะครรภ์เป็นพิษ หรือเลือดเป็นพิษ
- คุณแม่ที่มีอาการตกเลือด
เป็นอีกทางเลือกที่ดีเลยใช่ไหมคะ ในการคลอดลูก นอกจากจะปลอดภัยมาก ๆ แล้วยังช่วยบรรเทาความเจ็บปวด แถมยังได้คลอดเองด้วยนะคะ แต่เนื่องจากในประเทศไทยยังไม่ค่อยมีโรงพยาบาลที่รองรับการคลอดลูกในน้ำเยอะมากนัก ราคาก็จะค่อนข้างสูงอยู่ที่ราว ๆ 60,000 บาทไปจนถึงแสนได้เลยทีเดียว ดังนั้นคุณแม่ที่อยากคลอดในน้ำควรศึกษารายละเอียดให้ดีก่อน และอย่าลืมดูแลตัวเองขณะตั้งครรภ์ ให้แข็งแรงที่สุดอยู่เสมอนะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
5 สัญญาณคลอดก่อนกำหนด แม่ท้องรู้ไว้ จะได้รับมือทัน!
เรื่องน่ารู้! บล็อกหลังคลอด ตัวช่วยบรรเทาความเจ็บปวด สำหรับแม่ท้องคลอดลูก
ซึมเศร้าหลังคลอด โรคที่ต้องรู้ เพราะแม่หลายคนต้องเผชิญ!
ที่มา : 1 2 3