เมื่อผ่านความลำบากในเรื่องของการตั้งครรภ์ไปแล้ว ลำดับถัดมาสำหรับคุณแม่นั่นก็คืออาการหลังคลอดนั่นเองค่ะ ซึ่งอาการหลังคลอดอย่าง ภาวะตกเลือดหลังคลอด (Postpartum Hemorrhage) เป็นหนึ่งในอาการที่เกิดขึ้นได้กับคุณแม่ทุกคน ถือเป็นภาวะรุนแรงที่ควรได้รับการรักษาทันที เพราะคุณแม่อาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกวิธี
วันนี้ Mamastory จะพาคุณแม่ไปทำความรู้จักกับอาการนี้ให้มากขึ้นค่ะ เพราะในประเทศไทยแล้ว ภาวะตกเลือดหลังคลอด นับเป็นหนึ่งในสาเหตุต้น ๆ ของการเสียชีวิตของคุณแม่
ภาวะตกเลือดหลังคลอด คืออะไร ?
ภาวะตกเลือดหลังคลอด หรือ Postpartum Hemorrhage: PPH เป็นหนึ่งในภาวะที่เกิดขึ้น หลังจากที่แม่ท้องคลอดลูกเสร็จแล้ว โดยเป็นการเสียเลือดหลังจากคลอดลูกเป็นปริมาณมากกว่า 1 ลิตร หรือปริมาณมากจนส่งผลให้ร่างกายเกิดความผิดปกติ โดยสามารถเกิดได้ 2 ลักษณะ คือ
- ภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด
- ช่วงหลังจากคลอดไปแล้ว 24 ชั่วโมง ไปจนถึง 12 สัปดาห์
ภาวะตกเลือดหลังคลอด เป็นเหตุการณ์ที่เกิดได้กับแม่ท้องทุกคน ไม่ว่าจะเป็นการคลอดด้วยวิธีไหนก็ตาม เป็นภาวะรุนแรงที่สมควรได้รับการรักษาทันที หากตรวจพบระหว่างที่พักอยู่โรงพยาบาล แพทย์จะทำการรักษาคนไข้เป็นลำดับต่อไป แต่ถ้าหากภาวะนี้เกิดขึ้นในตอนที่กลับบ้านแล้ว เป็นเรื่องที่คนไข้ต้องหมั่นเฝ้าระวัง และเช็กอาการผิดปกติของตนเอง เพราะอาการตกเลือดเป็นหนึ่งในสาเหตุเสี่ยงต่อชีวิตของแม่หลังคลอด
อาการตกเลือดหลังคลอด
โดยทั่วไปแล้ว แม่ที่มีอาการตกเลือดหลังคลอดจะมีอาการแตกต่างกันไป แต่อาการหลัก ๆ ที่พบได้บ่อยก็คือ มีเลือดออกจากช่องคลอดปริมาณมาก โดยมีไหลออกมาเป็นเวลาติดต่อกันนาน ในระยะแรกที่เริ่มเสียเลือด ร่างกายอาจจะยังไม่มีอาการผิดปกติใดให้สังเกตเห็น เป็นเหตุในช่วงแรกหลังคลอดแพทย์จะติดตามอาการอยู่เสมอ
อาการอื่น ๆ ที่อาจพบได้ เช่น เวียนศีรษะ จะเป็นลม คลื่นไส้ อาเจียน เห็นภาพเบลอ หนาวสั่น อ่อนเพลีย หัวใจเต้นเร็ว หายใจไม่อิ่ม ตัวซีด ผิวเย็น ช่องคลอดบวม ปวดบริเวณท้อง ปวดอุ้งเชิงกราน รู้สึกกระวนกระวาย เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อหลังจากการคลอดลูกเสร็จสิ้น และแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้ คุณแม่ควรสังเกตอาการตัวเองบ่อย ๆ หากพบอาการผิดปกติข้างต้น ควรรีบกลับไปพบแพทย์ทันทีอย่างปล่อยไว้
สาเหตุของภาวะตกเลือดหลังคลอด
เมื่อเริ่มตั้งครรภ์ ร่างกายจะสร้างรกเพื่อช่วยในการลำเลียงอาการ และกำจัดของเสียของทารก หลังจากที่แพทย์ทำคลอดแล้ว มดลูกจะหดตัวกลับสู่ขนาดปกติ เพื่อให้ร่างกายกลับสู่กลไกลตามธรรมชาติ ระหว่างนี้แพทย์จะคอยนวดบริเวณมดลูกควบคู่ไปด้วย เพื่อช่วยให้มดลูกหดตัวลงและนำรกออกได้ บางคนอาจพบเลือดยังคงไหลออกจากช่องคลอดไม่หยุด จนเกิดเป็นภาวะตกเลือดหลังคลอดตามมา โดยสาเหตุที่มักพบได้ เช่น
- มดลูกหดตัวไม่แรงพอที่จะหยุดเลือดได้
- เกิดความเสียหายจากการใช้เครื่องมือช่วยทำคลอด
- เกิดความผิดปกติเกี่ยวกับรก
- ป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงบางอย่างที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะตกเลือดหลังคลอดมากขึ้น เช่น
- มดลูกขยายตัวมากผิดปกติ
- ร่างกายมีน้ำคร่ำมากผิดปกติ
- การทำคลอดที่ใช้เวลานาน
- การทำคลอดด้วยวิธีผ่าคลอด
- มีประวัติตกเลือดหลังคลอด
- เคยทำคลอดมาแล้วหลายครั้ง โดยเฉพาะผู้ที่เคยคลอดมามากกว่า 5 ครั้ง
- ตั้งครรภ์หลังอายุ 35 ปี
- มีเนื้องอกมดลูกขนาดใหญ่
- การใช้ยาจำพวกยากระตุ้นคลอด ยาต้านการหดตัวของมดลูก หรือยาระงับความรู้สึก
สาเหตุของการตกเลือดในภายหลัง
การตกเลือดในภายหลัง มักแสดงอาการในช่วง 1-2 สัปดาห์หลังคลอด โดยมีสาเหตุส่วนใหญ่มาจาก การที่มดลูกไม่สามารถหดตัวกลับสู่สภาวะปกติได้ ร่วมกับการมีเลือดออกผิดปกติ หรือที่รู้จักในชื่อ “มดลูกไม่เข้าอู่” โดยมีสาเหตุดังนี้
- มีภาวะติดเชื้อภายในโพรงมดลูก
- มีเศษรกค้างภายในโพรงมดลูก
- มีแขนงของเส้นเลือดโป่งพองภายในโพรงมดลูก
- มีลักษณะของน้ำคาวปลาที่ผิดปกติ
ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อภายในโพรงมดลูก
- การผ่าตัดคลอดบุตร
- มีประวัติมีเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด
- มีประวัติน้ำเดินก่อนคลอด
- มีภาวะติดเชื้อในถุงน้ำคร่ำก่อนคลอด
- มีภาวะทารกถ่ายขี้เทาในถุงน้ำคร่ำ
- ได้รับยาเร่งคลอดเป็นเวลานาน
- แม่ตั้งครรภ์อายุน้อยกว่า 20 ปี
- แม่ตั้งครรภ์ทารกแฝด
- แม่มีน้ำหนักตัวมากกว่าปกติ
วิธีดูแลตัวเอง หากเกิดอาการตกเลือดหลังคลอด
ภาวะตกเลือดหลังคลอดเฉียบพลัน เป็นระยะวิกฤตที่แพทย์ต้องให้การรักษา เมื่อหลังคลอดแล้วต้องสังเกตตัวเองว่า มีเลือดออกทางช่องคลอดมากผิดปกติ เลือดออกเป็นลิ่ม ๆ มีอาการหน้ามืด วิงเวียนคล้ายจะเป็นลม หรือมีอาการคล้ายคลึงเหล่านี้หรือไม่ หากมีต้องรีบแจ้งให้ทราบโดยด่วน
บทความที่เกี่ยวข้อง : ติดเชื้อหลังคลอด ภาวะแทรกซ้อนต่อแม่เด็ก สาเหตุสำคัญที่แม่ท้องเสียชีวิต!
หากมีอาการเลือดออกหลังกลับไปพักฟื้นที่บ้าน แล้วผู้ป่วยมีการติดเชื้อในโพรงมดลูก หรือมีเศษรกค้างในโพรงมดลูก ปริมาณเลือดที่ออกจะไม่มากในทันที อาจเป็นเลือดสด ๆ ออกมาเล็กน้อยก่อน แล้วค่อย ๆ เพิ่มปริมาณขึ้นในภายหลัง อาจมีอาการอย่างอื่นร่วมด้วย ซึ่งผู้คลอดต้องแยกภาวะเลือดออกผิดปกติกับน้ำคาวปลาหลังคลอดให้ออก โดยสีน้ำคาวปลาจะค่อย ๆ จางลง ไม่กลับมามีสีแดงสดอีก และจะไม่มีไข้หรือมีการปวดท้องน้อย
ภาวะแทรกซ้อนของภาวะตกเลือดหลังคลอด
ตกเลือดหลังคลอดหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกวิธี อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นจากการเสียเลือด อาทิ อาการเวียนหัวตอนยืน อ่อนเพลีย โลหิตจาง ช็อก รวมไปจนถึงการเสียชีวิต ซึ่งนอกจากนี้ ภาวะตกเลือดหลังคลอดยังอาจส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดกลุ่มอาการชีแฮน (Sheehan Syndrome) หรืออาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะรุนแรงอย่างโรคหัวใจขาดเลือดได้
วิธีป้องกันภาวะตกเลือดหลังคลอด
เมื่อถึงกำหนดก่อนคลอด หรือก่อนการคลอด ควรแจ้งข้อมูลและประวัติสุขภาพของคุณแม่ตั้งท้อง ให้แพทย์ทราบโดยละเอียด โดยเฉพาะกรุ๊ปเลือด รวมไปถึงประวัติโรคที่เกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด และภาวะตกเลือดครั้งก่อนด้วย เพื่อให้แพทย์พิจารณาความเสี่ยง และเตรียมการคลอดได้อย่างเหมาะสมกับคุณแม่
อย่างที่บอกค่ะว่าภาวะตกเลือดหลังคลอด เป็นหนึ่งในความเสี่ยงของการเสียชีวิต ต่อแม่ตั้งครรภ์หลายคน และเป็นภาวะที่สามารถพบได้ในทุกคน อีกทั้งถ้ามีประวัติเคยตกเลือดในครรภ์ก่อนหน้า ก็มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นได้ซ้ำกับครรภ์ต่อไป และอีกข้อที่สำคัญสำหรับคุณแม่ท้องก็คือ ในระหว่างการฝากครรภ์ ควรจะต้องรับประทานยาบำรุงให้สม่ำเสมอ เพื่อที่จะได้มีเม็ดเลือดแดงมากพอ ในยามสำรองที่อาจจะเกิดอาการตกเลือดหลังคลอดด้วยค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ภาวะแท้งคุกคาม ภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ อันตรายที่เกิดได้ในไตรมาสแรก
เกล็ดเลือดต่ำระหว่างตั้งครรภ์ อันตรายที่ต้องควรระวัง หากเจอช้าแม่ท้องเสี่ยงเสียชีวิต !