อาการปวดหัวหน่วง ๆ ปวดรอบด้วยตา อาจสันนิษฐานได้ว่ามาจาก ไซนัส (Sinus) ที่อักเสบ จนทำให้รู้สึกคล้ายกับอาการหวัด ซึ่งผู้ป่วยบางคนอาจจะไม่ทันระวัง และปล่อยไว้นานจนกลายเป็นอาการเรื้อรัง ที่รักษาได้ยากขึ้นและเสียชีวิตในที่สุด วันนี้ Mamastory จะพาไปทำความรู้จักกับไซนัสอักเสบเพิ่มขึ้น เพื่อที่จะได้ดูแลและรักษาได้ถูกวิธี ก่อนที่จะเรื้อรังจนรักษาได้ยากค่ะ หากพร้อมแล้วก็สามารถอ่านต่อได้ที่ด้านล่างได้เลยค่ะ !
ไซนัส คืออะไร ?
ไซนัส (Sinus) คือ ช่องว่างหรือโพรงอากาศที่อยู่ในกะโหลกศีรษะ บริเวณใบหน้ารอบ ๆ จมูก มีด้วยกัน 4 คู่ มีรูเปิดติดต่อกับช่องจมูก ภายในไซนัสมีเยื่อบุต่อเป็นผืนเดียวกับเยื่อบุภายในช่องจมูก จมูก ทำหน้าที่ปรับอากาศที่หายใจเข้าไป ช่วยถ่ายเทความร้อนให้เหมาะสมกับร่างกาย
โดยทั่วไปโพรงอากาศไซนัสจะมีรูขนาดเล็ก ช่วยให้อากาศภายในสามารถไหลเวียนได้ หากมีการอุดตันจะทำให้เกิดการคั่งค้างของน้ำมูก มีสภาวะที่เหมาะแก่การเติบโตของเชื้อโรคจนเกิดการอักเสบ หรืออาจเกิดจากการอักเสบของรากฟันบน แล้วลุกลามไปในไซนัสก็ได้ ซึ่งไซนัสมี 4 คู่ ได้แก่
- บริเวณโหนกแก้ม 2 ข้าง (maxillary sinus)
- ระหว่างลูกตา บริเวณหัวตา 2 ข้าง (ethmoid sinus)
- บริเวณหน้าผากใกล้กับหัวคิ้ว 2 ข้าง (frontal sinus)
- อยู่ในกะโหลกศีรษะ ใกล้ฐานสมอง (sphenoid sinus)
ไซนัสอักเสบ คืออะไร ?
ไซนัสอักเสบ (sinusitis) เป็นโรคที่พบบ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งสามารถพบได้ทุกฤดูกาลตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงที่มีอากาศชื้น ส่วนใหญ่มักมีอาการคล้ายกับไข้หวัด ผู้ป่วยจึงไม่ระวัง ปล่อยไว้นานไม่ได้รักษา เมื่อพบอีกทีก็คือเป็นเรื้อรังไปแล้ว
โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดหน่วง ๆ บริเวณศีรษะ หน้าผาก หัวตา โหนกแก้ม รอบดวงตา น้ำมูกเป็นหนองข้น หากปล่อยไว้จนอาการลามไปถึงกระดูก อาจทำให้การอักเสบกระจายไปสู่สมอง เป็นต้นเหตุของการเสียชีวิตในที่สุด
ไซนัสอักเสบ มีกี่ชนิด ?
1. ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน (acute sinusitis)
เป็นอาการป่วยที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือเชื้อรา เป็นตัวการที่ทำให้อักเสบ มีเสมหะมากขึ้น ส่วนใหญ่มักเป็นผู้ป่วยที่มีอาการน้อยกว่า 4 สัปดาห์ หรือรักษาหายใน 3 สัปดาห์ และในหนึ่งปี มีอาการไม่ถึง 4 ครั้ง
2. ไซนัสอักเสบเรื้อรัง (chronic sinusitis)
เป็นอาการป่วยที่พัฒนามาจากการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือเชื้อรา เป็นอาการที่มีภาวะเรื้อรังที่นานกว่า 14 สัปดาห์ และในหนึ่งปีเป็นมากกว่า 4 ครั้ง
นอกจากนี้ยังมีอีกกลุ่ม ที่เป็นผู้ป่วยไซนัสอักเสบ ที่มีอาการไม่เข้าข่าย 2 ข้อข้างบน กล่าวคือเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการในช่วง 4-12 สัปดาห์ โดยแพทย์จะเรียกกลุ่มนี้ว่า “โรคไซนัสอักเสบชนิดกึ่งเฉียบพลันกึ่งเรื้อรัง”
อาการของผู้ป่วยไซนัสอักเสบ
สำหรับผู้ป่วยไซนัสอักเสบ โดยส่วนใหญ่มักเกิดอาการหลังจากการเป็นหวัด ไข้หวัดใหญ่ หรือภูมิแพ้ ที่เป็นต้นเหตุให้เยื่อบุภายในช่องจมูกเกิดการบวม ก่อนที่จะส่งผลให้โพรงไซนัสที่ติดต่อกับจมูกตีบตัน และเกิดเป็นภาวะไซนัสอักเสบ ซึ่งบางรายอาจจะเป็นจากการติดเชื้อที่รากฟัน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยสูงอายุ ที่กระดูกบางลงตามอายุ
สำหรับอาการของผู้ป่วยไซนัสอักเสบ ที่สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า และหากผู้ป่วยมีอาการดังต่อไปนี้ นับว่าเข้าข่ายการเป็นไซนัสอักเสบ ซึ่งสามารถไปหาหมอเพื่อตรวจเพิ่มเติมได้ โดยอาการดังกล่าวได้แก่
- ปวดหน่วง ๆ ตามบริเวณไซนัสอักเสบ
- ปวดศีรษะ มักเป็นมากช่วงเช้าหรือบ่าย โดยเฉพาะเมื่อก้มศีรษะ หรือเปลี่ยนท่า
- น้ำมูกเป็นหนองข้นสีเขียวหรือเหลือง รู้สึกน้ำมูกไหลลงคอ
- คัดแน่นจมูก หายใจมีกลิ่นเหม็นคาว
- ปวดหู หูอื้อ
- เจ็บคอ
- มีไข้
- อ่อนเพลีย
ปัจจัยกระตุ้นให้เกิดไซนัสอักเสบ
- เป็นไข้หวัดมาก่อน เพราะเชื้อหวัดมักส่งผลให้เยื่อบุจมูกอักเสบ ที่อาจส่งผลต่อไซนัส
- เป็นโรคภูมิแพ้ ซึ่งอาการแพ้อาจทำให้เกิดสารคัดหลั่งคั่งในไซนัส และเกิดการติดเชื้อ
- ฟันผุ ฟันหรือรากฟันติดเชื้อ เป็นปัจจัยเสี่ยงราว 10% ทำให้เป็นไซนัสแมกซิลลาอักเสบ
- มีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในรูจมูก ทำให้เกิดการอุดตัน และติดเชื้อ โดยส่วนใหญ่มักพบในเด็ก
นอกจากนี้การว่ายน้ำหรือการดำน้ำ ที่เกิดอาการสำลักน้ำในจมูกและไซนัส อาจจะมีเชื้อโรค หรือสารคลอรีน เข้าไปกระตุ้นการอักเสบของเยื่อบุโพรงไซนัสได้เช่นกัน
ไซนัสอักเสบ กับ ไข้หวัดต่างกันอย่างไร ?
ไข้หวัดโดยส่วนใหญ่ มักเกิดจากการติดเชื้อทางเดินหายใจจากไวรัส ซึ่งผู้ป่วยไข้หวัดจะเกิดอาการไซนัสอักเสบได้ แต่จะหายหลังจากนั้นประมาณ 10 วัน โดยไม่จำเป็นต้องรับยาปฏิชีวนะ แต่ถ้ายังไม่หายและอาการไม่ดีขึ้น หรืออาการดีขึ้นและกลับไปแย่ลง จะถือว่าเป็นผู้ป่วยไซนัสอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งต้องตรวจหาสาเหตุเพิ่มเติม เพื่อทำการรักษาให้เหมาะกับผู้ป่วย
บทความที่เกี่ยวข้อง : แผลร้อนใน เกิดจากอะไร เป็นร้อนในบ่อยรักษาอย่างไรดี?
การรักษาโรคไซนัสอักเสบ
ผู้ป่วยโรคไซนัสอักเสบบางราย สามารถรับการรักษาให้หายขาดได้ บางรายอาจจะมีโอกาสรักษาหาย แต่ก็สามารถกลับมาเป็นใหม่ได้ ทางที่ดีที่สุดคือการรักษาให้เชื้อหมด เพราะหากปล่อยไว้อาจจะเกิดอาจก่อให้เกิดอาการเรื้อรัง โดยสามารถแบ่งวิธีรักษาออกได้ 2 วิธี คือ
1. รักษาด้วยยา
การรักษาผู้ป่วยไซนัสด้วยยา คือการจ่ายยาปฏิชีวนะต่าง ๆ ซึ่งโดยปกติแล้วหากตรวจพบเชื้อแบคทีเรีย ที่ก่อให้เกิดไซนัสอักเสบ แพทย์จะจ่ายยาให้ทานราว 5-10 วัน ขึ้นอยู่กับชนิด แต่ถ้าหากผู้ป่วยมีอาการเรื้อรัว แพทย์อาจจะพิจารณาให้รักษาด้วยสเตียรอยด์พ่นจมูก หรือสเตียรอยด์ผสมน้ำเกลือล้างจมูก
2. รักษาด้วยการผ่าตัด
ส่วนใหญ่แล้วการผ่าตัด มักพิจารณาจากการเป็นอักเสบเฉียบพลันที่ไม่หายได้ด้วยยา และผู้ป่วยเรื้อรังที่ควบคุมอาการไม่ได้ ซึ่งปัจจุบันสามารถผ่าตัดผ่านการส่องกล้องได้เกือบทั้งหมด ไม่ทำให้มีแผล ใช้เวลาพักฟื้นไม่นาน ทั้งนี้การผ่าตัดต้องผ่านการพิจารณาจากแพทย์ก่อน
ภาวะแทรกซ้อนของไซนัสอักเสบ
- เสี่ยงต่อภาวะหอบหืด : เนื่องจากเกิดผลกระทบต่อเยื่อบุทางเดินหายใจ ที่ส่งผลให้เกิดการอักเสบที่เยื่อบุลำคอ กล่องเสียง หลอดลม
- สูญเสียการมองเห็น : เกิดจากการอักเสบลุกลามไปยังตา เนื้อเยื่อโดยรอยอักเสบ จนเกิดอาการปวดตา การมองเห็นลดลง
- เยื่อหุ้มสมองอักเสบ : เกิดจากการลุกลามของไซนัสไปยังสมอง ที่ส่งผลต่อการมองเห็น ปวดศีรษะ อาจลุกลามไปยังเนื้อสมอง จนเกิดอันตรายถึงชีวิตได้
- ไซนัสอักเสบลุกลามกระดูก : อาจทำให้รักษาได้ยากขึ้น การอักเสบกระจายไปยังสมอง ส่งผลให้เสียชีวิต
วิธีป้องกันการอักเสบของไซนัส
- ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่
- งดการใกล้ชิดหากมีผู้ป่วยไข้หวัด หรือผู้ป่วยติดเชื้อทางเดินหายใจ
- งดการสูบบุหรี่ หรือบริเวณที่มีมลพิษเยอะ
- อยู่ในสถานที่ที่มีการถ่ายเทอากาศที่ดี
- ใช้เครื่องกรองอากาศ หากรู้สึกถึงมลพิษจนหายใจไม่สะดวก
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ
- ทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อไม่ให้จมูกแห้ง
อย่างที่บอกไปข้างต้นค่ะ ว่าไซนัสอักเสบเป็นหนึ่งในอาการที่สามารถพบได้ในผู้ป่วยทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ อีกทั้งเมื่อไรที่มีอากาศชื้น จะยิ่งกระตุ้นให้เป็นได้ง่ายมากขึ้น อีกทั้งไซนัสอักเสบยังเป็นหนึ่งในอาการป่วย ที่เบื้องต้นไม่มีความรุนแรงเท่า ไร อีกทั้งยังใช้เวลาไม่นานก็สามารถหายไปได้ด้วยภูมิคุ้มกันในร่างกาย
แต่ถ้าหากปล่อยไว้โดยไม่รับการรักษา อาจเกิดเป็นภาวะเรื้อรัง ที่ทำให้การรักษายากขึ้น และอาจเป็นต้นตอของโรคร้ายอื่น ๆ ดังนั้นเมื่อเห็นคนใกล้ตัว หรือหากรู้สึกต้องสงสัยว่าอาจจะเป็นไซนัสอักเสบ หรือมีอาการต่าง ๆ ติดต่อกันนานเกิน 10 วัน สันนิษฐานได้ว่าอาจเป็นไซนัสอักเสบแบบเฉียบพลัน ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้าน หู คอ จมูก เพื่อตรวจรักษาอย่างถูกต้องนะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
โรคแพนิค โรคที่ไม่ได้แค่นิสัยขี้ตกใจ แต่เป็นภัยร้ายทำลายสุขภาพจิต
กรดไหลย้อน (GERD) อาการอันตรายที่ควรต้องรู้ เพราะเกิดหลังการทานอาหาร !