ปัญหาสุขภาพจิตในประเทศไทย กลายเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่มีเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่มีโรคอุบัติใหม่อย่างโควิด-19 เข้ามา ซึ่งนอกจากปัญหาความเครียดแล้ว ยังมีอีกปัญหาอย่าง โรคแพนิค ที่เป็นอีกหนึ่งโรคที่หลายคนยังขาดความเข้าใจ และขาดการตระหนักรู้ วันนี้ Mamastory จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับโรคนี้ให้มากขึ้น เพื่อที่จะได้เข้าใจและอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุขค่ะ !
โรคแพนิค คืออะไร ?
โรคแพนิค (Panic Disorder) หรือโรคตื่นตระหนก เป็นหนึ่งในภาวะวิตกกังวลประเภทหนึ่ง ที่เกิดจากระบบประสาทอัตโนมัติ โดยระบบประสาทนี้เป็นระบบที่ควบคุมการทำงานของร่างกายหลายส่วน จึงทำให้เกิดอาการหลายอย่างร่วมกัน เช่น หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออก ท้องไส้ปั่นป่วน มีอาการวิงเวียนคล้ายจะอาเจียน
โดยโรคแพนิคนับเป็นการตื่นตระหนกโดยไม่มีเหตุผล หรือหาสาเหตุไม่ได้ ซึ่งต่างจากอาการหวาดกลัวทั่วไป เนื่องจากอาจเกิดทั้งที่ตนเองไม่ได้เผชิญหน้ากับเหตุการณ์ดังกล่าว ไม่กล้าออกไปไหน หมกมุ่นเรื่องสุขภาพ จนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน ส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกอาย เนื่องจากไม่สามารถควบคุมตัวเอง ให้ดำเนินชีวิตประจำวันได้ปกติ
สาเหตุของโรคแพนิค
โรคแพนิคเกิดขึ้นได้กับคนทั่วไป มีได้หลายสาเหตุ โดยเป็นการเกิดจากความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง ทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติไวต่อสิ่งเร้ากว่าปกติ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการที่แตกต่างกันออกไป ไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่ามาจากปัจจัยใดที่แท้จริง โดยสามารถแบ่งได้ 2 ปัจจัย ดังนี้
บทความที่เกี่ยวข้อง : ภาวะซึมเศร้า อาการเป็นอย่างไร แม่ท้องเป็นซึมเศร้าอันตรายไหม?
1. ปัจจัยทางกายภาพ
- การถ่ายทอดทางพันธุกรรม : ผู้ที่คนในครอบครัวมีประวัติป่วยแพนิค หรือมีปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ มีโอกาสเป็นร่วมด้วยมากกว่าครอบครัวที่ไม่มีประวัติผู้ป่วย
- ความผิดปกติของสมอง : เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน ที่ทำให้สารเคมีหรือสารสื่อประสาท มีการเสียสมดุลในการทำงาน ทำให้เกิดเป็นโคแพนิคได้
- การรับสารเคมี : รวมไปถึงผู้ที่ใช้สารเสพติด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือเครื่องดื่มคาเฟอีน มีโอกาสเป็นได้มากกว่า โดยรวมไปถึงผู้ที่สูบบุหรี่ด้วย
2. ปัจจัยทางสุขภาพจิต
- พฤติกรรมในชีวิตประจำวัน : ความเครียดหรือความวิตกกังวล อาจเป็นส่วนกระตุ้นให้เกิดอาการแพนิคได้ เช่น การใช้เวลาเร่งรีบ ไม่มีเวลาพักผ่อน เผชิญกับสภาวะกดดันต่อเนื่อง
- ผลกระทบจากสภาพจิตใจ : เหตุการณ์ร้ายที่เคยเกิดขึ้น อาจส่งผลให้เป็นแพนิคได้ เช่น การสูญเสียคนในครอบครัว การผิดหวังอย่างรุนแรง อาจกลายเป็นภาวะต่อเนื่องที่เกิดซ้ำได้เรื่อย ๆ จนกลายเป็นแพนิค
อาการของโรคแพนิค
ผู้ป่วยโรคแพนิคจะรู้สึกหวาดกลัว หรือตื่นตระหนกอย่างไม่มีสาเหตุ โดยอาการจะเกิดขึ้นกะทันหันและเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เป็นอาการที่รุนแรงกว่าความเครียดทั่วไป มักเกิดเป็นเวลานาน 10-20 นาที ในผู้ป่วยบางรายอาจเกิดนานเป็นชั่วโมง โดยผู้ป่วยจะมีอาการแพนิคดังนี้
- ใจสั่น เต้นแรง แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก รู้สึกเหมือนขาดอากาศหายใจ
- เหงื่อออกมาก หนาว ๆ ร้อน ๆ มือเท้าสั่น
- หายใจถี่ หายใจตื้น หายใจไม่อิ่ม รู้สึกหอบ เจ็บหน้าอก
- วิงเวียน รู้สึกตัวลอย คล้ายจะเป็นลม
- รู้สึกกลัวไปหมดทุกอย่าง โดยเฉพาะกลัวตาย รู้สึกว่าไม่สามารถควบคุมสิ่งต่าง ๆในชีวิตได้
- ควบคุมตัวเองไม่ได้ รู้สึกอยู่คนเดียวไม่ได้
- หวาดกลัวและพยายามหลีกเลี่ยงสถานที่หรือสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกหวาดกลัว
ผู้ที่ยังไม่ได้ป่วยเป็นโรคแพนิคแต่มีอาการข้างต้น รวมถึงผู้ที่ต้องสงสัยว่าจะเป็นแพนิค ควรไปหาหมอเพื่อทำการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด แม้ว่าจะไม่อันตรายถึงชีวิต แต่ก็เป็นปัญหาที่ร้ายแรงเช่นเดียวกับโรคความดันโลหิตสูง โรคระบบหลอดเลือดหัวใจ และหัวใจวายเฉียบพลัน
อาการร่วมของโรคแพนิคกับโรคอื่น
ผู้ป่วยโรคแพนิคจะมีอาการ “panic attack” ที่อาจจะมีอาการจิตเวชอื่นร่วมด้วย ซึ่งในขณะเดียวกันผู้ป่วยจิตเวชอื่น ๆ ก็มีอาการเหล่านี้ได้เช่นกัน โดยมีโรคจิตเวชอื่นที่สามารถมีอาการ “panic attack” ได้ดังนี้
- โรคกลัวที่ชุมชน (Agoraphobia) : คือความกังวลต่อการต้องอยู่ในสถานที่ที่ลำบาก สถานที่ที่เสี่ยงต่อการไม่ได้รับความช่วยเหลือ เช่น การออกจากบ้านคนเดียว การต้องอยู่ท่ามกลางคนหมู่มาก การต้องอยู่กับคนไม่รู้จัก
- โรคกลัวเฉพาะอย่าง (Specific Phobia) : ความกังวลหรือหวาดกลัวขั้นรุนแรงเมื่อต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์เฉพาะ สถานการณ์ที่มีแค่ไม่กี่อย่าง เช่น การขึ้นลิฟต์ การลงบันไดเลื่อน
- โรคกลัวสังคม (Social Phobia) : การกลัวที่ต้องคุยในกลุ่มคนหมู่มาก หรือสถานการณ์ที่มีแต่คนมองมาที่ตัวเองคนเดียว เช่น การพูดต่อหน้าคนจำนวนเยอะ ๆ
- โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive-Compulsive Disorder) : โรคจิตเวชอื่นที่มีปัญหาเฉพาะ เช่น คนที่กลัวเชื้อโรคจึงเลี่ยงการอยู่ในที่คนเยอะ หรือต้นเหตุของความสกปรก รวมไปถึงการทำความสะอาดตลอดเวลาด้วย
- โรคเครียดภายหลังจากเหตุการณ์ร้ายแรง (Posttraumatic Stress Disorder) : เช่น คนที่หลีกเลี่ยงสิ่งเร้าที่เกี่ยวข้องกับความกดดันที่รุนแรงที่เคยเกิดขึ้นกับตัวเองเมื่อในอดีต
- โรควิตกกังวลจากการพรากจาก (Separation Anxiety Disorder) : หลีกเลี่ยงการห่างจากบ้านหรือญาติ
การรักษาโรคแพนิค
ถึงแม้อาการแพนิคไม่ได้เป็นโรคร้ายแรง หรือเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต แต่ก็เป็นโรคที่ทำให้เกิดความกังวลต่อผู้ที่เป็น และเป็นผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน โดยแบ่งการรักษาออกเป็น 2 วิธีคือ
1. การรักษาด้วยยา
เพราะโรคแพนิคเป็นการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมอง ดังนั้นการทานยาเพื่อปรับสมดุลในสมองจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น และใช้เวลาในการรักษาประมาณ 8-12 เดือน โดยขึ้นอยู่กับอาการและปัจจัยของผู้ป่วย ซึ่งสามารถรักษาให้หายขาดได้ หากมีการฝึกฝนควบคุมจิตใจร่วมกัน
2. การรักษาทางจิตใจ
การรักษาทางจิตใจ หรือ การทำจิตบำบัดปรับความคิดและพฤติกรรมสามารถทำได้หลายวิธี ซึ่งเป็นการรักษาที่คนรอบข้างควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้ และควรให้กำลังใจผู้ป่วย รวมไปถึงการฝึกรู้เท่าทันอารมณ์ของตน บอกกับตัวเองว่าอาการที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องชั่วคราว สามารถหายได้และไม่อันตรายถึงแก่ชีวิต เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่สามารถช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวล นอกจากนี้ควรอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข
อย่างที่บอกว่าแม้โรคแพนิคไม่ได้เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่โรคนี้ก็สามารถสัมพันธ์กับปัญหาสุขภาพอื่น จนเกิดเป็นความร้ายแรงได้ หากสงสัยว่าตัวเองเป็นโรคแพนิค การไปพบแพทย์เพื่อเตรียมรักษา จึงเป็นเรื่องที่ควรทำมากที่สุด นอกจากนี้การเอาตัวเองไปพักผ่อน ลดความเครียดและความวิตกกังวล ก็จะยิ่งช่วยให้ตัวผู้ป่วยหายได้ไว และลดความเสี่ยงในการเป็นแพนิคเรื้อรังได้ด้วยค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
โรคเบาหวาน (Diabetes) สาเหตุ อาการ และความเชื่อผิด ๆ
โรคลมบ้าหมู หรือ โรคลมชักในเด็ก พ่อแม่รู้เท่าทัน ลูกรักก็ปลอดภัย !
เครียดลงกระเพาะ อาการเป็นอย่างไร รับมือด้วยวิธีไหนได้บ้าง?
ที่มา : 1