เมื่อพูดถึงอาการตาเหล่ ตาเข คุณแม่บางคนอาจรู้สึกกลุ้มใจว่าลูกน้อยของตัวเองมีอาการตาเหล่หรือเปล่า เพราะอาการตาเหล่อาจเป็นปัญหาสุขภาพดวงตาอย่างหนึ่ง ที่สร้างความยากลำบากในการใช้ชีวิต ทราบหรือไม่คะ ว่าที่จริงแล้วอาการตาเหล่สามารถรักษาให้หายได้ โดยเฉพาะสำหรับเด็กเล็กที่รู้ว่าลูกมีอาการตาเหล่ ตาเข คุณแม่ก็สามารถไปพบแพทย์เพื่อรักษาได้ค่ะ วันนี้ Mama Story จึงรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอาการตาเหล่ ว่าจริง ๆ แล้ว ตาเหล่เกิดจากอะไร รักษาได้ด้วยวิธีไหนบ้าง มาดูพร้อมกันเลยค่ะ
ตาเหล่คืออะไร?
ตาเหล่ (Strabismus) คือ ปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็นที่ลูกตาทั้ง 2 ข้างไม่มองไปในทิศทางเดียวกัน โดยผู้ป่วยจะใช้ตาข้างปกติจ้องวัตถุ ส่วนข้างที่เหล่ อาจมองยังด้านบน ด้านล่าง หรือด้านข้าง ๆ ทำให้ตาข้างนั้นไม่ทำงาน ตาเหล่สามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ช่วงเด็ก ๆ โดยอาจจะเรียกว่าเป็นตาเหล่เทียม (Pseudostrabismus) สำหรับเด็ก ๆ ที่สันจมูกยังไม่โตเต็มที่ และมีบริเวณหัวตากว้าง จึงอาจทำให้ดูคล้ายตาเหล่ แต่เมื่อโตขึ้นอาการเหล่านี้ก็จะหายไป ในขณะที่หากเกิดขึ้นกับผู้ใหญ่ จะทำให้ผู้ป่วยเห็นภาพซ้อน ซึ่งอาจเป็นปัญหาในการมองเห็นได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : ตาบอดสี เกิดจากอะไร รักษาหายได้ไหม จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกตาบอดสี?
ตาเหล่เกิดจากอะไร?
โดยส่วนใหญ่แล้ว ตาเหล่เกิดจากการที่กล้ามเนื้อของดวงตาทำงานไม่สัมพันธ์กัน ทำให้ลูกตาไม่สามารถขยับไปยังทิศทางเดียวกันได้ อย่างไรก็ตามอาการตาเหล่ในบางคน อาจยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเกิดจากสาเหตุใดกันแน่ แต่โดยทั่วไปแล้วตาเหล่มักเกิดขึ้นจากสาเหตุ ดังต่อไปนี้
- พันธุกรรม : ตาเหล่สามารถเกิดขึ้นจากพันธุกรรมได้ โดยสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ ซึ่งบางครั้งตาเหล่นั้น อาจเกิดจากโรคทางพันธุกรรม เช่น กลุ่มอาการเอ็ดเวิร์ด เป็นต้น
- การมองเห็นผิดปกติ : สำหรับเด็กที่มองไม่ชัด จะทำให้กล้ามเนื้อตาทำงานอย่างหนัก จนเกิดอาการตาเหล่ ตาเข ซึ่งการมองเห็นไม่ชัดนั้น อาจเกิดจากโรคต่าง ๆ เช่น โรคมะเร็งจอตา หรืออาการจอตาผิดปกติแต่กำเนิด เป็นต้น
- กล้ามเนื้อตาไม่สัมพันธ์กัน : หากกล้ามเนื้อของดวงตาทำงานไม่สมดุลกัน ก็จะส่งผลให้ดวงตาขยับตามที่สมองสั่งไม่ได้ โดนสาเหตุนี้มักเกิดตั้งแต่กำเนิด หรือโรคบางอย่างที่พบในเด็กได้นั่นเอง
- ระบบประสาทส่วนกลางผิดปกติ : เมื่อระบบประสาทส่วนกลางทำงานบกพร่อง ก็จะส่งผลให้กล้ามเนื้อดวงตาทำงานผิดปกติ และยังส่งผลต่อการพัฒนาทางร่างกาย และสมองอีกด้วย
ประเภทของตาเหล่
โดยปกตินั้น กล้ามเนื้อของดวงตาทั้งสองข้าง จะทำงานประสานกัน และเคลื่อนไหวไปทิศทางเดียวกัน แต่หากกล้ามเนื้อของดวงตาทั้งสองข้างนั้น ไม่สามารถเคลื่อนไหวไปทางเดียวกันได้ ก็จะทำให้เกิดอาการตาเหล่ และยังส่งผลให้สมองไม่สามารถรวมภาพของตาเข้าด้วยกันได้ โดยตาเหล่สามารถแบ่ง ได้ดังนี้
- ตาเขเข้าด้านใน (Esotropia) : เป็นภาวะที่ดวงตาเคลื่อนเข้ามาด้านในบริเวณสันจมูก ซึ่งบางครั้งอาจเรียกว่า ตาขี้เกียจ (Amblyopia) โดยอาการดังกล่าวมักเกิดขึ้นกับเด็ก และผู้ที่มีสายตายาว ส่งผลให้สูญเสียการควบคุมการมองเห็นแบบปกติ
- ตาเขออกนอก (Exotropia) : เป็นภาวะที่ดวงตามองออกไปด้านนอก โดยมักเกิดขึ้นในช่วงนอนหลับ ฝันกลางวัน และเหนื่อยล้า โดยจะเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ หากดวงตาทั้งสองข้าง ไม่สามารถทำงานได้ประสานกัน โดยตาข้างใดข้างหนึ่งเบนออกด้านนอกก่อน อาจเรียกว่าภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนกำลัง (Convergence Insufficiency) ได้นั่นเอง
- ตาเหล่ขึ้นบน (Hypertropia) และตาเหล่ลงล่าง (Hypotropia) : อาการตาเหล่ทั้ง 2 ลักษณะนี้ เกิดขึ้นจากการที่แกนสายตามองขึ้นด้านบนหรือด้านล่างอยู่ตลอดเวลา ซึ่งถือเป็นอาการตาเหล่ที่พบได้น้อยกว่าแบบอื่น ๆ โดยตาเหล่ประเภทนี้มักเกิดขึ้นกับเด็กโต และผู้ใหญ่ ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของตำแหน่งศีรษะ และเกิดอาการอัมพาตของกล้ามเนื้อตา
อาการของตาเหล่
อาการตาเหล่ที่เกิดขึ้นกับเด็ก และผู้ใหญ่ อาจมีความแตกต่างกัน เพราะปกติแล้ว ดวงตาของเด็กทารกมักมองไปทิศทางเดียวกันไม่ได้ แต่เมื่ออายุ 3-4 เดือน ก็จะกลับมาเป็นปกติ แต่หากเด็กที่มีอายุ 4 เดือนแล้ว แต่ยังไม่สามารถกลับมามองในทิศทางเดียวกัน คุณแม่ควรรีบพาพวกเขาไปพบแพทย์ อย่างไรก็ตาม เด็กทารกที่มีอาการตาเหล่มักไม่แสดงปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น แต่คุณพ่อคุณแม่จะมองว่าดวงตาของเด็กมองไม่ตรง ทั้งนี้เด็กที่ยังพูดไม่ได้ อาจหันหัวไปยังสิ่งของที่จ้อง ส่วนผู้ใหญ่ที่มีอาการตาเหล่ จะเห็นภาพเบลอ ตาล้า และมองเห็นภาพซ้อนนั่นเอง โดยอาการตาเหล่ที่มักพบได้บ่อย ๆ มีดังนี้
- ชนสิ่งของ
- ดวงตาไม่สามารถเคลื่อนไหวได้พร้อมกัน
- ดวงตาทั้งสองข้างไม่สามารถมองไปยังทิศทางเดียวกัน
- เกิดอาการแสบตา ต้องหลับตาข้างหนึ่งเมื่อเจอแสงแดด
จ้องหน้าจอนาน ๆ เป็นตาเหล่ได้จริงไหม?
คุณแม่หลายคนอาจเคยได้ยินว่าการให้ลูกเล่นโทรศัพท์นาน ๆ อาจทำให้เด็กมีอาการตาเหล่ จนต้องไปผ่าตัดรักษา จึงอาจตั้งคำถามว่าการจ้องหน้าจอนาน ๆ ส่งผลให้เกิดอาการตาเหล่ได้จริงไหม ในความเป็นจริงแล้ว ยังไม่มีการศึกษาที่พบว่าการจ้องมองโทรศัพท์นาน ๆ จะทำให้เกิดอาการตาเหล่ขึ้น เพราะอาการดังกล่าว มักเกิดขึ้นจากความผิดปกติแต่กำเนิด ดังนั้นการจ้องหน้า หรือเล่นมือถือเป็นเวลานาน จึงไม่สามารถทำให้เกิดอาการตาเหล่ ตาเขได้จริง ๆ ค่ะ อย่างไรก็ตาม การจ้องมือถือนาน ๆ ก็อาจส่งผลให้ประสาทตาเบลอ และเอียงได้ด้วย โดยอาจเรียกว่าเป็นภาวะตาเขชั่วคราว เป็นอาการที่เกิดขึ้นเพียงช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่อาการถาวร นอกจากนี้การจ้องโทรศัพท์ และคอมพิวเตอร์นาน ๆ ก็อาจไม่ใช่เรื่องที่ดีต่อสุขภาพ ดังนั้นคุณแม่ควรให้ลูกเล่นโทรศัพท์แต่พอดี และควรให้ลูกพักสายตาด้วยการทำกิจกรรมอย่างอื่นแทนค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : ปัญหาเด็กยุคใหม่ ลูกติดมือถือ จับไม่ยอมวาง ทำอย่างไรดี ?
ตาเหล่รักษาอย่างไร?
สำหรับผู้ที่มีอาการตาเหล่ ควรรีบไปรักษาโดยเร็วที่สุด ซึ่งวิธีการรักษานั้น ก็ขึ้นอยู่กับสาเหตุ และระดับของความรุนแรงด้วย โดยอาการเหล่ ตาเขนั้น สามารถรักษาได้ด้วยวิธี ดังต่อไปนี้
- สวมแว่นตา : การสวมแว่นตาสามารถช่วยรักษาอาการตาเหล่ระดับอ่อน ๆ ได้ โดยแพทย์จะให้ผู้ป่วยใส่แว่นตาที่สามารถช่วยให้กลับมามองเห็นได้ตรงตามปกติ
- ใช้วิธีปิดตา : วิธีการปิดตา เป็นการรักษาอาการตาขี้เกียจในเด็ก โดยแพทย์จะให้ผู้ป่วยปิดตาข้างที่ปกติ และใช้ดวงตาข้างที่อ่อนแอกว่า ใช้กล้ามเนื้อเพื่อมองเห็นภาพมากขึ้น โดยการปิดตานั้นจะช่วยดวงตาอีกข้างแข็งแรง และปรับสายตาของเด็กให้กลับมามองไปยังทิศทางเดียวกันได้
- หยอดตา : หากเด็กไม่ชอบวิธีการปิดตา แพทย์จะแนะนำให้ใช้วิธีการหยอดตาแทน โดยจะใช้สารอะโทรปิน (Atropine) ที่ทำให้ดวงตามองเห็นภาพเบลอ ส่งผลให้ดวงตาข้างที่อ่อนแอต้องทำงานมากขึ้น จนกลับมาแข็งแรง และมองเห็นภาพได้เป็นปกติ
- ผ่าตัดกล้ามเนื้อดวงตา : หากพบว่าวิธีการรักษาทั้งหมดข้างต้นนั้นไม่ได้ผล แพทย์จะให้ผู้ป่วยผ่าตัดกล้ามเนื้อ เพื่อปรับสายตาให้มองเห็นเป็นปกติ เพราะผู้ที่ตาเหล่นั้น เกิดจากภาวะสูญเสียการมองเห็นนั่นเอง จึงจำเป็นที่จะต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อรักษาอาการดังกล่าว
ตาเหล่ป้องกันได้ไหม?
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันอาการตาเหล่ได้ 100% แต่ผู้ป่วยก็สามารถรักษาให้หายได้ หากได้รับการรักษาเร็ว ก็จะทำให้ผู้ป่วยกลับมามองเห็นได้เป็นปกติ และสามารถมองความลึกของสิ่งของต่าง ๆ ได้ดีขึ้น ทั้งนี้เมื่อผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเสร็จ ก็ต้องคอยสังเกตความเปลี่ยนแปลงของดวงตาตัวเอง เพราะตาเหล่สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ นอกจากนี้ผู้ที่ชื่นชอบการเล่นมือถือ หรือคอมพิวเตอร์เป็นประจำ ควรลดเวลาในการจ้องหน้าเป็นเวลานาน เพราะอาจส่งผลให้สายตาเอียง และประสาทตาเบลออีกด้วย คุณแม่จึงควรให้ลูกเล่นมือถือ หรือแท็บเล็ตเป็นประจำนั่นเองค่ะ
แม้ว่าอาการตาเหล่ ตาเข จะไม่สามารถป้องกันได้ แต่คุณแม่ก็สามารถพาเด็ก ๆ ไปรักษาให้หายดี เพราะอาการตาเหล่นั้น ยิ่งรักษาเร็ว ยิ่งกลับมาหายเป็นปกติได้ดี ดังนั้นหากคุณแม่สังเกตว่าลูกโตแล้ว แต่ยังมีอาการตาเหล่ ควรพาเขาไปพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุด
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ตาแดง เกิดจากอะไร คุณแม่รับมืออย่างไรเมื่อลูกมีอาการตาแดง?
ตากุ้งยิง เกิดจากอะไร ลูกเป็นตากุ้งยิงบรรเทาอาการอย่างไรได้บ้าง?