มะเร็งอัณฑะ พบได้ไม่บ่อย แต่ถ้าพบแล้ว เป็นปัญหาหนักใจคุณผู้ชาย !

เมื่อพูดถึงตัวการโรคร้ายอย่างมะเร็ง อีกหนึ่งอาการป่วยที่ควรต้องพูดถึงนั่นก็คือ มะเร็งอัณฑะ (Testicular Cancer) ที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคุณผู้ชายทุกคน  

 704 views

เมื่อพูดถึงตัวการโรคร้ายอย่างมะเร็ง อีกหนึ่งอาการป่วยที่ควรต้องพูดถึงนั่นก็คือ มะเร็งอัณฑะ (Testicular Cancer) ที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคุณผู้ชายทุกคน แต่ก็เป็นโรคร้ายที่พบได้ไม่บ่อย เรียกได้ว่าไม่ถึง 2% ของโรคมะเร็งทั้งหมดเลยก็ว่าได้

แต่ไม่ใช่ว่าพบได้ไม่บ่อย แล้วจะสามารถละเลยอาการเจ็บป่วยนี้ทิ้งไป วันนี้ Mamastory จะพาไปรู้จักกับโรคนี้ให้มากขึ้นกับโรคที่ทำให้คุณผู้ชายหนักใจได้

มะเร็งอัณฑะ คืออะไร ?

มะเร็งอัณฑะ (Testicular Cancer) เป็นหนึ่งในไม่กี่โรคที่ไม่พบบ่อยนัก ในกลุ่มคุณผู้ชาย เรียกได้ว่ามีโอกาสที่จะมีผู้ป่วยในโรคนี้อยู่ไม่ถึง 2% แถมยังเป็นโรคที่มีความรุนแรงต่ำ และสามารถรักษาให้หายได้ในระยะที่แพร่เชื้อแล้วก็ตาม

มะเร็งอัณฑะโดยส่วนมาก มักพบในกลุ่มผู้ชายที่มีช่วงอายุ 15-35 ปี อีกทั้งผู้ชายที่เป็นหมันตั้งแต่กำเนิด มีโอกาสที่จะเป็นโรคนี้สูงกว่าผู้ชายทั่วไป แต่อย่างที่บอกว่าสามารถรักษาหายได้ แต่ไม่ได้เสมอไปค่ะ เพราะทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับชนิดของเซลล์มะเร็ง ขนาดก้อน อายุและสุขภาพของผู้ป่วยด้วย

ดังนั้นเมื่อผู้ป่วยรู้สึกมีอาการคล้ายจะเป็นมะเร็งอัณฑะ และกังวลว่าจะทำให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ สามารถตรวจคัดกรองได้ด้วยตัวเองเดือนละ 1 ครั้งเพื่อความสบายใจก็ได้ค่ะ

มะเร็งอัณฑะ



อาการของมะเร็งอัณฑะ

เมื่อต้องสงสัยว่าตนเองอาจเป็นมะเร็งอัณฑะ ให้รีบเข้าพบแพทย์ เพื่อทำการวินิจฉัยอย่างชัดเจน พร้อมกับได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้ป่วยโรคมะเร็งอัณฑะสามารถสังเกตอาการตัวได้ ดังนี้

  • คลำเจอก้อนแข็งที่อัณฑะ อาจมีหรือไม่มีอาการเจ็บร่วม
  • ลูกอัณฑะดูมีขนาดใหญ่ หรือบวมขึ้น
  • รู้สึกหนักหรือปวดบริเวณอวัยวะเพศ ขาหนีบ หรือท้องน้อย
  • ความต้องการทางเพศลดลง
  • หน้าอกโตขึ้นโดยไม่ได้ออกกำลังกาย หรือใหญ่ขึ้นจากน้ำหนัก
  • เข้าสู่ภาวะวัยหนุ่มสาวก่อนวัยอันควร

บทความที่เกี่ยวข้อง : ไส้เลื่อน โรคร้ายที่คุณผู้ชายไม่ควรมองข้าม อาการ และการรักษา



สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันว่า เป็นโรคมะเร็งอัณฑะ เมื่อเวลาผ่านไปและมีการกระจายเข้าสู่อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย อาจมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วย เช่น

  • ปวดหลังส่วนล่าง หรือปวดท้อง
  • ปวดศีรษะ หรือรู้สึกมึนงง
  • เจ็บแปลบ ชา หรืออ่อนแรงบริเวณต้นขา
  • หายใจลำบาก แน่นหน้าอก



แต่ทั้งนี้ อาการที่กล่าวด้านบน อาจจะไม่ใช้อาการบ่งชี้ชัดเจนว่าเป็นมะเร็งอัณฑะเพียงโรคเดียว อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย แต่ผู้ที่มีอาการเหล่านี้ ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยอย่างชัดเจน เพื่อหาสาเหตุการเจ็บป่วย อีกทั้งเพื่อรับการรักษาและดูแลที่ถูกวิธี

ประเภทของมะเร็งอัณฑะ

1. มะเร็งอัณฑะชนิดเจิมเซลล์ (Germ Cell Tumors) 

ซึ่งชนิดนี้เกิดขึ้นมาจากเจิมเซลล์ เป็นเซลล์ที่ร่างกายใช้ในการผลิตสเปิร์ม ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่พบ มักอยู่ในกลุ่มนี้ แต่ยังสามารถแบ่งออกได้อีก 2 ประเภทย่อย ได้แก่

  • เซมิโนมา (Seminomas) : มะเร็งอัณฑะที่มีอัตราการเติบโตหรือแพร่กระจายช้ากว่า
  • นอนเซมิโนมา (Non-seminomas) : มะเร็งอัณฑะชนิดที่มีแนวโน้มแพร่กระจายไปสู่เนื้อเยื่ออื่นเร็ว โดยเฉพาะต่อมน้ำเหลือง อีกทั้งยังสามารถแพร่เข้าสู่กระแสเลือดไปยังเนื้อเยื่อส่วนอื่นของร่างกายได้



ซึ่งนอกจากนี้ยังมีการพบเซลล์มะเร็งอัณฑะรูปผสม ที่เกิดจากการที่เซมิโนมามีหลายเซลล์อยู่ร่วมกัน โดยจะได้รับการรักษาคล้ายกับนอนเซมิโนมา

บทความที่เกี่ยวข้อง : กรดไหลย้อน (GERD) อาการอันตรายที่ควรต้องรู้ เพราะเกิดหลังการทานอาหาร !

2. มะเร็งอัณฑะชนิดสโทรมอล (Stromal Tomors) 

เป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นมาจากสโทรมอลเซลล์ หรือเซลล์เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ซึ่งมีหน้าที่ช่วยเหลือเซลล์หลักในร่างกาย ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่

  • มะเร็งเลย์ดิกเซลล์ : มะเร็งประเภทนี้เกิดขึ้นจากเซลล์ที่ใช้ในการผลิตฮอร์โมนเพศชาย
  • มะเร็งเซอร์โทไลเซลล์ : มะเร็งที่เกิดขึ้นมาจากเซอร์โทไลเซลล์ ซึ่งเป็นเซลล์ที่ทำหน้าที่เป็นตัวช่วยเจิมเซลล์ในการผลิตสเปิร์ม



3. มะเร็งอัณฑะทุติยภูมิ (Secondary Testicular Cancer)

คือมะเร็งที่ไม่ได้มีต้นกำเนิดมาจากเซลล์ของอัณฑะ แต่เกิดขึ้นจากการลุกลามมาจากอวัยวะอื่น โดยจะมีชื่อเรียกตามแหล่งกำเนิดของเซลล์มะเร็ง เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง, มะเร็งเม็ดเลือดขาว

สาเหตุของมะเร็งอัณฑะ

ในปัจจุบันยังไม่สามารถหาสาเหตุที่แน่ชัด ของการเกิดเซลล์มะเร็งอัณฑะนี้ได้ แต่ก็มีปัจจัยเสี่ยงอื่น ที่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งได้ ซึ่งจากการศึกษาได้ผลสรุปว่าเซลล์มะเร็งอัณฑะส่วนใหญ่ จะมีความผิดปกติของโครโมโซมลำดับที่ 12 ที่เกิดขึ้นเกินกว่าปกติ แต่ในบางครั้งความผิดปกติของโครโมโซม ก็เกิดขึ้นในลำดับหรือรูปแบบอื่น เช่น การมีจำนวนโครโมโซมมากเกินกว่าปกติ เป็นต้น

ปัจจัยเสี่ยงเป็นมะเร็งอัณฑะ

  1. ภาวะลูกอัณฑะไม่ลงถุง ตั้งแต่เป็นทารกก่อนคลอด
  2. บุคคลในครอบครัว เคยเป็นมะเร็งอัณฑะมาก่อน
  3. ผู้ที่มีเชื้อ HIV
  4. การเจริญที่ผิดปกติของอัณฑะ หรือโรคพันธุกรรมที่ทำให้อัณฑะมีการฝ่อตัว
  5. อายุ ช่วงอายุที่พบได้บ่อยคือ 15-35 ปี
  6. เชื้อชาติ พบได้ในคนผิวขาวมากกว่าคนผิวดำ
  7. ผู้ชายที่เป็นหมันแต่กำเนิด
  8. เคยบาดเจ็บหรืออักเสบบริเวณอัณฑะ



มะเร็งอัณฑะ



โรคมะเร็งอัณฑะกับระยะ

  • ระยะที่ 1 : เป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นเฉพาะในอัณฑะ ยังไม่ลุกลาม ซึ่งมีโอกาสในการรักษาหาย 90-100%
  • ระยะที่ 2 : เป็นระยะที่มะเร็งลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง ที่อยู่บริเวณช่องท้อง มีโอกาสในการรักษาหาย 80-90%
  • ระยะที่ 3 : เป็นระยะที่สารมะเร็งมีปริมาณในเลือดสูง มักแพร่กระจายเข้าสู่สมองและปอด มีโอกาสในการรักษาหาย 50-70%



อย่างไรก็ตามทั้ง 3 ระยะ เป็นการจำกัดความ เพื่อให้แพทย์วางแผนการรักษาได้อย่างถูกต้อง และได้ผลดีต่อคนไข้ที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยรายนั้นมีอาการดื้อต่อรังสีรักษา หรือยาเคมีบำบัด ก็มีโอกาสที่จะรักษาไม่หายได้เช่นกัน

การตรวจคัดกรองอัณฑะด้วยตนเอง ทำอย่างไร ?

การตรวจอัณฑะด้วยตนเอง เป็นเรื่องที่ควรทำเดือนละครั้ง เมื่ออายุเกิน 15 ปีขึ้นไป เพื่อเป็นการคัดกรองโรคมะเร็งอัณฑะให้ได้ ตั้งแต่ในระยะแรก ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงสูง

วิธีการตรวจที่ดีที่สุด คือควรทำเมื่อถุงอัณฑะอยู่ในสภาพที่ผ่อนคลาย หรือหลังการอาบน้ำอุ่น โดยใช้นิ้วโป้งและนิ้วอื่น ๆ ไล่คลำบริเวณอัณฑะทั้ง 2 ข้าง เพื่อดูว่ามีก้อนเนื้อหรือไม่ ขณะตรวจควรจับองคชาตออกไป หากพบว่าอัณฑะมีขนาดต่างกัน อยู่ในระดับไม่เท่ากัน ถือเป็นเรื่องปกติ

อย่างที่บอกค่ะว่า โรคมะเร็งอัณฑะ ยังไม่มีวิธีป้องกัน หรือการตรวจคัดกรองที่ได้ผล และมีประสิทธิภาพที่ดีที่สุด ดังนั้นการสังเกตตัวเองอยู่เสมอ และพบแพทย์ทันทีที่มีอาการผิดปกติ ก็จะเป็นการช่วยลดปัจจัยเสี่ยงในการเป็นได้ค่ะ อีกทั้งการรู้ตัวได้ไว ก็สามารถรักษาให้หายได้ไว หากปล่อยทิ้งไว้และไม่ได้รับการรักษา นอกจากจะได้โรคแล้ว ยังสร้างบาดแผลที่กระทบจิตใจคุณผู้ชายอีกด้วยค่ะ

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

ช็อกโกแลตซีสต์ โรคที่ผู้หญิงทุกคนเสี่ยง แต่ถ้ายิ่งปวดหนักยิ่งอันตราย

ลูคีเมีย หรือ มะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคร้ายที่ต้องกังวล หากเครียดหนัก

ไซนัส (Sinus) โรคใกล้ตัวที่น่ารำคาญ รักษาง่าย ไม่ยากอย่างที่คิด อย่าปล่อยไว้ !

ที่มา : 1